เมทิลเทสโทสเตอโรน (Methyltestosterone)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเมทิลเทสโทสเตอโรน (Methyltestosterone) หรือ 17 alpha-methyltestosterone หรือ 17 alpha-methylandrost-4-en-17beta-ol-3-one จัดเป็นฮอร์โมนเพศชายสังเคราะห์ที่ถูกนำมาใช้กับผู้ป่วยที่ร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน(Testosterone)ได้เพียงพอ หรือที่เรียกกันว่าภาวะขาดฮอร์โมนแอนโดรเจน(Androgen deficiency) ซึ่งพบได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิง ผู้ป่วยกลุ่มนี้ จะมีภาวะความต้องการทางเพศถดถอย เป็นหมัน ขนาดอวัยวะเพศเล็ก กล้ามเนื้อลีบ อาจมีอาการทางจิต อย่างเช่น วิตกกังวล นอนไม่หลับ ซึม รวมถึงมีอาการของโรคกระดูกพรุน

ผู้ที่จะใช้ยาเมทิลเทสโทสเตอโรน จะต้องได้รับการตรวจร่างกายกับแพทย์ว่าตนเองมีภาวะพร่องฮอร์โมนแอนโดรเจน/เทสโทสเตอโรน การซื้อหายานี้มาใช้เองอาจทำให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ต่างๆที่รวมไปถึงความเสี่ยงของการเกิด มะเร็งตับ

เภสัชภัณฑ์ของยาเมทิลเทสโทสเตอโรนเป็นยารับประทาน ตัวยาในกระแสเลือดจะถูกทำลายโครงสร้างทางเคมีโดยตับ และร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 6–8 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยาชนิดนี้ทิ้งไปกับปัสสาวะ และส่วนน้อยไปกับอุจจาระ

ยังมีข้อห้ามใช้ของยาเมทิลเทสโทสเตอโรนที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบดังต่อไปนี้ เช่น

  • ห้ามใช้ในสตรีที่กำลังตั้งครรภ์
  • ห้ามใช้ในบุรุษที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
  • นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเมทิลเทสโทสเตอโรนร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด อย่างเช่นยา Warfarin, หรือกับยาCarbamazepine, หรือกับยา Insulin, ด้วยการใช้ร่วมกันจะก่อให้เกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงตามมา
  • การใช้ยาเมทิลเทสโทสเตอโรนกับผู้ป่วยที่มีประวัติ เกล็ดเลือด ทำงานผิดปกติ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน โรคต่อมลูกหมากโต โรคไต โรคตับ หรือ โรคมะเร็งตับ ล้วนแต่จะทำให้อาการโรคต่างๆดังกล่าวกำเริบจนก่อให้เกิดผลเสีย/อัตรายต่อร่างกายผู้ป่วยอย่างรุนแรงตามมา

นอกจากนี้ ผู้ที่ใช้ยาเมทิลเทสโทสเตอโรน อาจได้รับผลข้างเคียงบางอย่างเช่นกัน อาทิเช่น ขนดกผิดปกติ วิตกกังวล ศีรษะล้าน หน้าอก/เต้านมขยายใหญ่ขึ้น ปวดศีรษะ อารมณ์แปรปรวน ซึ่งโดยทั่วไป อาการข้างเคียงดังกล่าวสามารถหายได้เองเมื่อหยุดใช้ยานี้

*การใช้ยาเมทิลเทสโทสเตอโรนมากเกินขนาดนอกเหนือจากคำสั่งแพทย์ จะทำให้การทำงานของตับผิดปกติ เกิดดีซ่าน ตับอักเสบ เกิดเนื้องอกตับ เป็นต้น

ในประเทศไทย เราสามารถพบเห็นการใช้ยาเมทิลเทสโทสเตอโรนได้ตามสถานพยาบาล และอาจพบเห็นในร้านขายยาขนาดใหญ่ได้บ้าง ด้วยยาเมทิลเทสโทสเตอโรนจัดอยู่ในประเภทยาควบคุมพิเศษ การใช้ยานี้จะต้องมีใบสั่งจากแพทย์เพื่อยืนยันอย่างถูกต้องเท่านั้น มีผู้บริโภคบางกลุ่มนำยานี้มาใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์ เช่น ใช้เป็นยาเสริมกล้ามเนื้อในนักกีฬาประเภทเพาะกาย ซึ่งอาจก่อผลเสียในภายหลังดังที่ได้กล่าวแล้ว

อนึ่ง หากผู้ป่วย มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยาเมทิลเทสโทสเตอโรน สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากแพทย์ผู้ที่ตรวจรักษาอาการ หรือสอบถามได้จากเภสัชกรตามร้านขายยาทั่วไป

เมทิลเทสโทสเตอโรนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เมทิลเทสโทสเตอโรน

ยาเมทิลเทสโทสเตอโรนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดอาการผู้ที่มีภาวะพร่อง/ขาดฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน(Testosterone/ Androgen) ซึ่งมักพบเกิดในเพศชาย(Hypogonadism-male)
  • เป็นยาร่วมบำบัดอาการมะเร็งเต้านม (Breast cancer-palliative)
  • บำบัดอาการเจ็บเต้านมหลังจากคลอดบุตร
  • บำบัดเด็กชายที่มีพัฒนาการของร่างกายช้ากว่าปกติ (Delayed puberty-male)

เมทิลเทสโทสเตอโรนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเมทิลเทสโทสเตอโรนเป็นยาสังเคราะห์ประเภทแอนโดรจินิก อะนาโบลิก สเตียรอยด์ ฮอร์โมน (Androgenic anabolic steroid hormone) มีกลไกการออกฤทธิ์ต่อเซลล์ต่างๆ เพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตของร่างกาย รวมถึงช่วยพัฒนาความเป็นบุรุษตามวัยที่เหมาะสมในเด็กชาย

เมทิลเทสโทสเตอโรนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเมทิลเทสโทสเตอโรนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Methyltestosterone ขนาด 10 และ 25 มิลลิกรัม/แคปซูล

เมทิลเทสโทสเตอโรนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเมทิลเทสโทสเตอโรน มีขนาดรับประทาน เช่น

ก. สำหรับผู้ใหญ่ผู้ชายที่ร่างกายพร่องฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน: รับประทานยา 10–50 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง

ข. สำหรับบำบัดอาการมะเร็งเต้านมในผู้ใหญ่ผู้หญิง: รับประทานยา 50–200 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานตามคำสั่งแพทย์

ค.สำหรับบำบัดอาการเจ็บเต้านมหลังคลอดบุตร: รับประทานยา 80 มิลลิกรัม/วัน เป็นเวลา 3–5 วัน

ง. สำหรับเพิ่มพัฒนาการของบุรุษในเด็กชาย: รับประทานยา 10–50 มิลลิกรัม วันละ1 ครั้ง

อนึ่ง:

  • สามารถรับประทานยานี้ ก่อนหรือหลังอาหาร ก็ได้
  • ห้ามนำไปใช้เป็นยาเพาะกายโดยมิได้มีการปรึกษาจากแพทย์
  • เด็ก: การใช้ยานี้ในเด็ก ต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเมทิลเทสโทสเตอโรน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเมทิลเทสโทสเตอโรนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเมทิลเทสโทสเตอโรน สามารถรับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ กรณีที่เวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่ต้องเพิ่มขนาดรับประทานยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาในขนาดปกติ

แต่อย่างไรก็ดี การรับประทานยาเมทิลเทสโทสเตอโรนต้องอาศัยความต่อเนื่องตรงตามคำสั่งแพทย์ จึงไม่ควรลืมรับประทานยาบ่อยครั้ง

เมทิลเทสโทสเตอโรนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเมทิลเทสโทสเตอโรนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น มีอาการบวมตามร่างกาย อาจเกิดภาวะหัวใจวายร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น ทำให้เต้านมโต ไทรอยด์ฮอร์โมนชนิดที4 (T4) ในกระแสเลือดลดต่ำลง
  • ผลต่อไต: เช่น เกิดภาวะคั่งของ โซเดียม , โปแตสเซียม/โพแทสเซียม , คลอไรด์, และน้ำ ในร่างกาย
  • ผลต่อตับ: เช่น ตับอักเสบ/ ตับทำงานผิดปกติ เนื้องอกตับ ดีซ่าน
  • ผลต่อระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินปัสสาวะ: กรณีของบุรุษ: เช่น เชื้ออสุจิน้อยลง เกิดภาวะต่อมลูกหมากโต ทางเดินปัสสาวะอุดตัน อาจเกิดภาวะองคชาติแข็งค้าง, กรณีของสตรี: เช่น ทำให้สตรีมีลักษณะคล้ายบุรุษ มีขนดกแบบผู้ชาย เกิดสิว ประจำเดือนผิดปกติ
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น เกิดภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับที่มักจะเกิดกับผู้ที่มีโรคปอดร่วมด้วย
  • ผลต่อการเกิดเนื้องอก และ มะเร็ง: อาจก่อให้เกิดเนื้องอกตับ มะเร็งตับ ซึ่งมักเกิดกับผู้ที่ใช้ยานี้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิตกกังวล ซึม ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีการเปลี่ยนแปลงของสารหรือปัจจัย(Factor)ที่ใช้ในการแข็งตัวของเลือด อย่างเช่น Factor II, V, VII และ Factor X
  • ผลต่อกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น อาจทำให้ชะลอการเจริญเติบโตของกระดูก
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น ขนดก เป็นสิว ในชายอาจเกิดภาวะศีรษะล้าน
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น มีภาวะเกลือแคลเซียมใน เลือดสูง

มีข้อควรระวังการใช้เมทิลเทสโทสเตอโรนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเมทิลเทสโทสเตอโรน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาชนิดนี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับบุรุษที่ป่วยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ เพราะจะส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีที่มีสภาพของช่องคลอดผิดรูปร่าง
  • กรณีใช้บำบัดผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ต้องระวังภาวะกระดูกพรุนตามมา หากตรวจพบความเปราะบางของมวลกระดูก แพทย์มักจะสั่งหยุดการใช้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยโรคตับอักเสบ ผู้ป่วยดีซ่าน ผู้ที่มีเนื้องอกตับ
  • ระวังการเกิดลักษณะความเป็นชายเมื่อใช้กับผู้ป่วยสตรี เช่น ขนดก เสียงห้าว
  • อาจทำให้เกิด สิว คลื่นไส้อาเจียน กรณีดังกล่าว ผู้ป่วยควรมาปรึกษาแพทย์ เพื่อบำบัดอาการข้างเคียงดังกล่าว
  • ผู้ป่วยต้องรับการตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของตับว่ามีความผิดปกติหรือไม่ตามแพทย์สั่งทุกครั้ง
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมาย เพื่อการตรวจร่างกาย และดูความก้าวหน้าในการรักษาโรค
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเมทิลเทสโทสเตอโรนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เมทิลเทสโทสเตอโรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเมทิลเทสโทสเตอโรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ยาเมทิลเทสโทสเตอโรนสามารถสร้างผลกระทบต่อระดับน้ำตาลในเลือด หากใช้ยานี้กับผู้ป่วยเบาหวานที่ใช้ยาลดน้ำตาลในเลือด แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเมทิลเทสโทสเตอโรนร่วมกับยา Anisindione , Warfarin, ด้วยจะทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่ายตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเมทิลเทสโทสเตอโรนร่วมกับยา Mipomersen(ยาลดไขมันในเลือด) ด้วยจะก่อให้เกิดผลกระทบ/ผลข้างเคียงต่อตับของผู้ป่วยสูงขึ้น
  • การใช้ยาเมทิลเทสโทสเตอโรนร่วมกับยา Hydrocortisone อาจทำให้เกิดภาวะ บวมน้ำ ส่งผลกระทบต่อการทำงานของ หัวใจ ไต และ/หรือตับ ของผู้ป่วย กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาเมทิลเทสโทสเตอโรนอย่างไร?

ควรเก็บยาเมทิลเทสโทสเตอโรนในช่วงอุณหภูมิ 15–30 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

เมทิลเทสโทสเตอโรนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเมทิลเทสโทสเตอโรนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Android (แอนดรอยด์)Valeant Pharmaceuticals Inc.
Methyltestosterone March (เมทิลเทสโทสเตอโรน มาร์ช) March Pharma
Testred (เทสเทรอด)Valeant Pharmaceuticals Inc.

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Methitest,Androral, Metandren, Oraviron, Testred, Virilon

บรรณานุกรม

  1. http://www.mims.com/thailand/drug/info/methyltestosterone/?type=brief&mtype=generic[2017,May13]
  2. https://www.drugs.com/cdi/methyltestosterone.html[2017,May13]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Methyltestosterone[2017,May13]
  4. https://www.drugs.com/mtm/android.html[2017,May13]
  5. https://www.drugs.com/dosage/methyltestosterone.html[2017,May13]
  6. https://www.drugs.com/pro/methyltestosterone.html[2017,May13]
  7. https://www.drugs.com/drug-interactions/methyltestosterone-index.html?filter=3&generic_only=[2017,May13]