เมทิลีนไดออกซิไพโรวาเลโรน (Methylenedioxypyrovalerone)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 30 มกราคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- สาเหตุการติด MDPV มาจากอะไรบ้าง?
- อาการของผู้ที่เสพ MDPV เป็นเวลานานๆเป็นอย่างไร?
- อาการข้างเคียงที่พบเห็นบ่อยจากการเสพ MDPV คืออะไร?
- อาการของผู้ที่เสพ MDPV เป็นเวลานานๆเป็นอย่างไร?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาเสพติด (Narcotic drug)
- นอร์อิพิเนฟริน-โดพามีน รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์ (Norepinephrine–dopamine reuptake inhibitor)
- ยากระตุ้น (Stimulant drugs)
- กล้ามเนื้อลายสลาย (Rhabdomyolysis)
- แอมเฟตามีน (Amphetamine)
- ประเภทยาเสพติดให้โทษ ยาเสพติด (Illegal drugs)
บทนำ
ยา/สารเมทิลีนไดออกซิไพโรวาเลโรน(Methylenedioxypyrovalerone) หรือเขียนย่อๆว่าMDPV ตามกฎหมายไทย MDPV คือยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 ลักษณะภายนอกเป็นผงผลึกสีขาว การใช้ยาประเภทนี้มีทั้งรับประทานโดยตรง อมใต้ลิ้น เหน็บทวารหนัก ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ และสูดดมทางจมูก MDPVเคยใช้เป็นยารักษาอาการอ่อนเพลียแบบเรื้อรัง และช่วยทำให้เบื่ออาหาร กลไกการออกฤทธิ์จะคล้ายกับกลุ่มยา Norepinephrine-dopamine reuptakeinhibitor (NDRI) MDPVถูกนำมาใช้ผิดวัตถุประสงค์โดยใช้เป็นยากระตุ้น(Stimulant drugs) ทำให้รู้สึกสนุกสนาน ไม่รู้สึกอ่อนเพลีย ทำให้มีความตื่นตัว กระตุ้นอารมณ์ทางเพศได้เล็กน้อย แต่อันตรายที่แอบแฝงนั้นมีหลายประการ เช่น กระตุ้นให้ใจสั่น เกิดเลือดกำเดา ความดันโลหิตสูง ตาพร่า มีไข้ อาเจียน คลุ้มคลั่งเหมือนไม่ใช่คนแต่เป็นผี/ซอมบี ตลอดจนเกิดการติดยา นอกจากนี้การเสพMDPVมากเกินไปสามารถทำให้ หัวใจหยุดเต้น สมองขาดเลือด มีอาการโคม่า อยากทำร้ายตนเอง และถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุด
อนึ่ง ในตลาดมืด เรียกสารMDPA หลากหลายชื่อ เช่น ซอมบี้/ซอมบี(Zombie drug), บาธซอล(Bath salt,เพราะลักษณะสารนี้คล้ายเกลือที่ใช้อาบน้ำในสปา), ยาผีห่า(Flakka), Plant food, Mieow Meow, Meph, Mephedrone, MCAT, 4MMC, Ivory Wave, Plant fertilizer, Vanilla Sky, Energy-1
สาเหตุการติด MDPV มาจากอะไรบ้าง?
มีบันทึกที่ถูกจัดทำขึ้นเพื่อค้นหาสาเหตุที่ทำให้ประชาชนบางกลุ่มติดยา MDPV ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้
1. มีภาวะซึมเศร้า อยากหายโดยไม่อยากไปพบแพทย์
2. มีความเครียด และวิตกกังวล กับการดำรงชีวิตประจำวัน และต้องการพึ่งยา ลดความเครียดและลดความวิตกกังวล
3. มีภาวะตื่นตระหนกจนเกินเหตุ ขี้ระแวง จึงหันมาเสพยาเพื่อทำให้มีความรู้สึกสบายและลดภาวะตื่นตระหนก
4. ขาดความมั่นใจในตัวเอง ต้องการสร้างความมั่นใจ โดยใช้ทางลัดจึงมีการ ทดลองเสพ MDPV และลงท้ายด้วยการติดยา
5. สาเหตุอื่นๆที่ทำให้มีการเสพติด MDPV เช่น อยากทดลอง ถูกหลอกลวง ถูกบังคับให้เสพ หรือแม้แต่ขาดความอบอุ่นในครอบครัว ล้วนแล้วเป็นสาเหตุ ที่มีความเป็นไปได้ทั้งสิ้น
อาการข้างเคียงที่พบเห็นบ่อยจากการเสพ MDPV คืออะไร?
มีรายงานการศึกษาวิจัยระบุว่า ผู้ที่เริ่มเสพ MDPV ในครั้งแรกก็สามารถได้รับอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ต่างๆดังต่อไปนี้ได้แล้ว เช่น
- มีอาการปวดท้องตั้งแต่ระดับต่ำๆไปจนถึงขั้นรุนแรง และมีภาวะอาเจียนเป็นเลือด
- เกิดความเสียหายของกล้ามเนื้อลายตามร่างกาย หรือเรียกว่าเกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย ทำให้มีโปรตีนที่ชื่อ Myoglobin กระจายอยู่ในกระแสเลือดเป็นจำนวนมากที่ส่งผลให้เกิดไตวายตามมา
- การควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายทำได้ไม่ดี โดยมีอาการคล้ายเป็นโรคพาร์กินสัน มีอาการตัวสั่น และกล้ามเนื้อกระตุก เป็นต้น
อาการของผู้ที่เสพ MDPV เป็นเวลานานๆเป็นอย่างไร?
ผู้ที่ได้รับยา MDPV เพียง 1–2 มิลลิกรัมต่อครั้ง ก็สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการต่างๆทางระบบประสาทได้แล้ว เช่น ทำให้รู้สึกตื่นตัว ไม่ง่วงนอน มีสมาธิ ซึ่งการใช้ยาที่ขนาด 1–2 มิลลิกรัมดังที่กล่าวมา มักยังไม่ก่อให้เกิดอาการประสาทหลอนแต่อย่างใด
แต่กรณีที่ได้รับยาMDPVเกินขนาด จะกระตุ้นให้มีอาการเหมือนกับได้รับยาแอมเฟตามีน(Amphetamine) กล่าวคือ มีอาการหวาดระแวง เกิดภาพลวงตา/ภาพหลอน และหูแว่ว(ประสาทหลอน)
การเสพ MDPV เป็นเวลานานๆ จะทำให้เกิดอาการติดยา ผู้เสพจะต้องเพิ่มปริมาณการเสพขึ้นเรื่อยๆ อาการจะแสดงออกมาทางระบบประสาทที่เห็นเด่นชัด คือ การตื่นตระหนกอย่างรุนแรง หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง เหงื่อออกมาก วิงเวียน ชาตามร่างกาย ตัวสั่น และรู้สึกสับสน ทำร้ายตนเอง คลุ้มคลั่ง เหมือนผีซิมบี้ เกิดภาวะโคม่า และเสียชีวิตในที่สุด
สามารถบำบัดรักษาผู้ที่ติด MDPV ได้อย่างไร?
โดยทั่วไป การบำบัดผู้ที่ติด MDPV หรือยาเสพติดชนิดต่างๆนั้น จะต้องส่งตัวผู้ป่วยเข้ารับการฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจตามสถานพยาบาลที่เปิดบริการบำบัดรักษาผู้ที่ติดยาเสพติด ซึ่งมีทั้งหน่วยงานของรัฐและเอกชน อาทิ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลนิติจิตเวช โรงพยาบาลทหารเรือกรุงเทพ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลตากสิน คลินิกยาเสพติดในศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัยกรุงเทพฯ โรงพยาบาลธัญญารักษ์ นอกจากนี้ ยังมี “สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165”
การติดยาเสพติดไม่ว่าจะเป็นชนิดใดล้วนแต่ก่อให้เกิดผลเสียหายร้ายแรงต่อร่างกาย จิตใจ ตลอดจนถึงความมั่นคงของชีวิตตนเอง ของครอบครัว ของสังคมและของประเทศชาติ ส่วนมากผู้ที่ติดยามักจะสูญเสียคุณค่าของการดำรงชีวิตเกือบทั้งหมด หลังการบำบัดฟื้นฟูสุขภาพร่างกายและจิตใจกลับมาเป็นปกติแล้ว จึงควรตั้งต้นหรือตั้งหลักการดำรงชีวิตกันใหม่ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอีกต่อไป ตั้งใจปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีเพื่อ ตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติสืบต่อไป
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Methylenedioxypyrovalerone [2018,Jan13]
- https://drugs-forum.com/wiki/MDPV [2018,Jan13]
- https://psychonautwiki.org/wiki/MDPV [2018,Jan13]
- http://www.addictiontreatmenttherapy.com/what-is-mdpv-methylenedioxypyrovalerone/ [2018,Jan13]
- http://www.narconon.ca/drug-abuse/mdpv-effects.html [2018,Jan13]
- http://iam.hunsa.com/sri6327/article/2940 [2018,Jan13]