เมทิลนาลเทรกโซน (Methylnaltrexone)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเมทิลนาลเทรกโซน(Methylnaltrexone หรือ Methylnaltrexone bromide หรือ Methylnaltrexone Br) เป็นยาประเภท Opioid antagonists ทางคลินิกนำมาบำบัดอาการท้องผูกในผู้ป่วยที่ได้รับยาแก้ปวดประเภทโอปิออยด์ (Opioid induced constipation) ยาเมทิลนาลเทรกโซนมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นทั้งยาชนิดรับประทานและยาฉีด หลังการถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร ตัวยานี้ในกระแสเลือดจะถูกตับคอยทำลายโครงสร้างทางเคมีอย่างต่อเนื่อง ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมงในการกำจัดยานี้ออกจากร่างกาย โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ ยานี้จะออกฤทธิ์ปิดกั้นผลข้างเคียงของยาแก้ปวดประเภทโอปิออยด์ที่ก่อให้เกิดอาการท้องผูก กลไกการทำงานของยาเมทิลนาลเทรกโซนดังกล่าว ทำให้ผู้ป่วยกลับมาขับถ่ายได้เป็นปกติมากขึ้น อาจกล่าวได้ว่ายาเมทิลนาลเทรกโซนเป็นยาที่เหมาะกับผู้ที่ได้รับยาแก้ปวดประเภทโอปิออยด์ต่อเนื่องเป็นเวลายาวนานจนเกิดผลกระทบ(ผลข้างเคียง)ต่อการทำงานของลำไส้จนทำให้เกิดท้องผูกเรื้อรังรุนแรง

อย่างไรก็ตามมีผู้ป่วยบางกลุ่มที่ไม่เหมาะสมจะได้รับยาเมทิลนาลเทรกโซน อาทิ

  • ผู้ที่แพ้ยานี้
  • ผู้ที่มีสภาพของกระเพาะอาหารหรือลำไส้อุดตัน หรือผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหารรวมถึงผู้ป่วยด้วยลำไส้อักเสบ
  • สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการใช้ยาทุกประเภทซึ่งรวมยาเมทิลนาลเทรกโซน ที่จะเกิดผลข้างเคียงจากยาที่รุนแรง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเมทิลนาลเทรกโซนกับผู้ป่วยที่มีการใช้ยาระบาย/ยาแก้ท้องผูกชนิดอื่นๆอยู่เป็นประจำ ทางคลินิก แนะนำให้หยุดใช้ยาระบายอย่างน้อย 3 วัน จึงหันมา ใช้ยาเมทิลนาลเทรกโซน
  • หากหลังได้รับยาเมทิลนาลเทรกโซนแล้วมีอาการท้องเสียรุนแรง ปวดท้องมาก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ควรต้องหยุดใช้ยานี้ แล้วรีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา

ยาเมทิลนาลเทรกโซนจัดว่าเป็นยารักษาอาการท้องผูกจากการใช้ยาแก้ปวดประเภทโอปิออยด์ที่มีประสิทธิผลตัวหนึ่ง โดยทั่วไปแพทย์จะให้ผู้ป่วยรับประทานยานี้ก่อนอาหารประมาณครึ่งชั่วโมง ซึ่งภายใน 30 นาที ตัวยาจะเริ่มออกฤทธิ์และเกิดการขับถ่ายตามมา ผู้ที่รับประทานยานี้จึงควรอยู่ในสถานที่ที่มีห้องน้ำเพรียบพร้อมอย่างในที่พักอาศัย

ยาเมทิลนาลเทรกโซนยังมีข้อควรระวังปลีกย่อยที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้ยานี้เกินวันละ 1 ครั้ง
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งที่ใช้ยาแก้ปวดกลุ่มOpioids
  • การจะใช้ยานี้ร่วมกับยาระบายชนิดอื่นด้วยหรือไม่ ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น ห้ามผู้ป่วยไปซื้อหายาระบายชนิดใดๆมารับประทานร่วมกับยาเมทิลนาลเทรกโซนโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
  • หลีกเลี่ยงการหยุดใช้ยาเมทิลนาลเทรกโซนด้วยตนเอง เพราะจะทำให้อาการท้องผูกกลับมากำเริบ ซึ่งโดยทั่วไป แพทย์จะหยุดสั่งจ่ายเมทิลนาลเทรกโซนเมื่อมีการหยุดการใช้ยาแก้ปวดประเภทโอปิออยด์
  • ผู้ป่วยโรคตับระดับความรุนแรงกลางขึ้นไป หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาเมทิลนาลเทรกโซน แพทย์จะปรับลดขนาดการใช้ยาลงเหลือ 1 ใน 3 ของขนาดรับประทานปกติ
  • เมื่อใช้ยาเมทิลนาลเทรกโซนร่วมกับยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์ ตัวยาจะมีฤทธิ์ รบกวนการทำงานซึ่งกันและกันจนอาจเป็นเหตุให้เกิดภาวะถอนยาตามมา

อนึ่ง ระหว่างใช้ยาเมทิลนาลเทรกโซน หากพบว่าผู้ป่วยมีอาการเหงื่อออกมาก หนาวสั่น ท้องเสีย ปวดท้อง วิตกกังวล หาวบ่อย หรือมีอาการปวดที่กำเริบมากขึ้น ควรต้องรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล( *ด้วยอาการดังกล่าวเป็นอาการของการได้รับยานี้เกินขนาด) เพื่อแพทย์พิจารณาปรับขนาดการใช้ยานี้ให้เหมาะสม

ทั้งนี้ ผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมาย เพื่อรับการประเมินสภาพร่างกายว่า ได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยาเมทิลนาลเทรกโซนหรือไม่

ยาเมทิลนาลเทรกโซนเป็นยาที่มีประโยชน์ในทางคลินิกก็จริง แต่ก็อาจก่อให้เกิดโทษ/ผข้างเคียงรุนแรงกับผู้ป่วยได้อย่างมากมายหากใช้ยาผิดวิธี ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย/ผู้บริโภคจึงต้องใช้ยาชนิดนี้ตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น

เมทิลนาลเทรกโซนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เมทิลนาลเทรกโซน

ยาเมทิลนาลเทรกโซนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดอาการท้องผูกในผู้ป่วยที่ได้รับยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์

เมทิลนาลเทรกโซนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเมทิลนาลเทรกโซนมีกลไกการออกฤทธิ์ที่ลำไส้ตรงบริเวณตัวรับ(Receptor)ที่มีชื่อว่า Mu-opioid receptor(MOR,ตัวรับที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของสารในกลุ่ม Opioid) และจะออกฤทธิ์ต่อต้านผลข้างเคียงของยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์ที่ไปลดการบีบตัวของลำไส้(ส่งผลให้เกิดท้องผูก) จึงส่งผลให้การเคลื่อนตัว/บีบตัวของลำไส้ของผู้ป่วยกลับมาทำงานได้เหมือนปกติ และทำให้เกิดการขับถ่ายตามมา

เมทิลนาลเทรกโซนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเมทิลนาลเทรกโซน มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ประกอบด้วยตัวยา Methylnaltrexone ขนาด 150 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาฉีดที่ประกอบด้วยตัวยา Methylnaltrexone ขนาด 8 มิลลิกรัม/0.4 มิลลิลิตร และ 12 มิลลิกรัม/0.6 มิลลิลิตร

เมทิลนาลเทรกโซนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาเมทิลนาลเทรกโซนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

ก. ยาเม็ดรับประทาน:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาขนาด 450 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง ก่อนอาหารเช้าประมาณ 30 นาที

ข. ยาฉีดที่ใช้ในสถานพยาบาล:

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง 12 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง

อนึ่ง:

  • เด็ก: การใช้ยานี้ในเด็ก ต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป
  • ยาเมทิลนาลเทรกโซนเป็นยาที่ออกฤทธิ์เร็ว หลังจากได้รับยานี้ควรอยู่ใกล้ห้องน้ำและหลีกเลี่ยงการเดินทางก่อนที่จะมีการขับถ่ายเกิดขึ้น
  • ระยะเวลาการใช้ยานี้ให้เป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเมทิลนาลเทรกโซน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคมะเร็ง รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่เพราะยาเมทิลนาลเทรกโซน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทาน ยาเมทิลนาลเทรกโซน สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประ ทานเป็น 2 เท่า ให้รับประทานที่ขนาดปกติ

อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทาน ยาเมทิลนาลเทรกโซน ตรงตามคำสั่งแพทย์

เมทิลนาลเทรกโซนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเมทิลนาลเทรกโซนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปวดท้อง ท้องอืด คลื่นไส้ ท้องเสีย เกิดแผลในทางเดินอาหาร (เช่น แผลในกระเพาะอาหาร) เป็นตะคริวที่ท้อง อาเจียน
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ตัวสั่น
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เหงื่อออกมาก ใบหน้าแดง
  • ผลต่อหัวใจ: เช่น เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว

มีข้อควรระวังการใช้เมทิลนาลเทรกโซนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเมทิลนาลเทรกโซน เช่น

  • ห้ามใช้ยากับผู้ที่แพ้ยาชนิดนี้
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีอาการถอนยาจากการใช้ ยาแก้ปวด กลุ่มโอปิออยด์
  • ห้ามปรับเปลี่ยนขนาดรับประทานเอง
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก การจะใช้ยานี้กับผู้ป่วย กลุ่มนี้ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องใช้ยาแก้ปวดประเภทโอปิออยด์
  • ห้ามใช้ยานี้เกินวันละ1ครั้ง
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเมทิลนาลเทรกโซนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

เมทิลนาลเทรกโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเมทิลนาลเทรกโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเมทิลนาลเทรกโซนร่วมกับยากลุ่ม Opioid antagonists ด้วยจะทำให้เกิดภาวะถอนยา (Opioid withdrawal) ตามมา

ควรเก็บรักษาเมทิลนาลเทรกโซนอย่างไร?

ควรเก็บยายาเมทิลนาลเทรกโซนในช่วงอุณหภูมิ 20–25 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

เมทิลนาลเทรกโซนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเมทิลนาลเทรกโซน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Relistor (เรลิสเตอร์)Salix Pharmaceuticals, Inc.

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Methylnaltrexone[2017,Sept23]
  2. https://www.drugs.com/pro/relistor.html[2017,Sept23]
  3. http://reference.medscape.com/drug/relistor-methylnaltrexone-342081[2017,Sept23]
  4. https://www.drugbank.ca/drugs/DB06800[2017,Sept23]
  5. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2014/021964s010lbl.pdf[2017,Sept23]