เมทิซิลลิน (Meticillin/Methicillin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 23 สิงหาคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- เมทิซิลลินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- เมทิซิลลินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เมทิซิลลินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เมทิซิลลินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- เมทิซิลลินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เมทิซิลลินอย่างไร?
- เมทิซิลลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเมทิซิลลินอย่างไร?
- เมทิซิลลินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยา(Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- เชื้อดื้อยา ซูเปอร์บั๊ก (Superbug)
- เพนิซิลลิน (Penicillin)
- เบต้า-แลคแทม (Beta-Lactam antibiotic)
บทนำ
ยาเมทิซิลลิน (Meticillin หรือ Methicillin) เป็นยาปฏิชีวนะประเภทเบต้า-แลคแทม (Beta-lactam) กลุ่มเพนิซิลลินถูกพัฒนาขึ้นใน ปี ค.ศ.1959 (พ.ศ. 2502) โดย Beecham (กลุ่มบริษัทยา ในประเทศอังกฤษ) จากโครงสร้างทางเคมีทำให้ยาเมทิซิลลินดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ไม่ดีเท่า ไรนัก รูปแบบยาเตรียมจึงต้องเป็นยาฉีด
เมื่อยาเมทิซิลลินเข้าสู่กระแสเลือด ตับจะเป็นผู้เปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยา ซึ่งร่างกาย ต้องใช้เวลาประมาณ 25 - 60 นาทีในการกำจัดยา 50% ออกจากร่างกายโดยผ่านไปกับปัสสาวะ
ถึงแม้ยาเมทิซิลลินจะใช้ต่อต้านแบคทีเรียที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนิซิลลินได้ดีก็ตาม แต่ก็ถูกใช้อยู่ในวงการแพทย์เพียงระยะหนึ่งด้วยผลข้างเคียงบางประการ เช่น ก่อให้เกิดภาวะไตวายหากใช้เป็นเวลานาน ยานี้จึงถูกแทนที่ด้วยตัวยาอื่นโดยยาเหล่านั้นยังมีความคงตัวสูงกว่ายาเมทิซิลลินอีกด้วย เช่นยา Oxacillin, Flucloxacillin , และ Dicloxacillin
เมทิซิลลินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาเมทิซิลลินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:
- รักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะในกลุ่มเพนิซิลลิน เช่น จากเชื้อ Staphylococcus aureus
เมทิซิลลินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาเมทิซิลลินคือ ตัวยาจะยับยั้งการสร้างหรือการสังเคราะห์ผนังเซลล์(อ่านความหมายเพิ่มเติมจากเว็บ haamor.com บทความ เซลล์-เนื้อเยื่อ-อวัยวะ)ของแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโต และไม่สามารถแพร่พันธุ์ได้ในที่สุด
เมทิซิลลินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเมทิซิลลินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาฉีด ขนาด 900 มิลลิกรัม/ขวด
- ยาฉีด ขนาด 3.6 และ 5.4 กรัม/ขวด
เมทิซิลลินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาเมทิซิลลินมีขนาดการบริหารยา/การใช้ยา เช่น
- ผู้ใหญ่: ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ 1 - 2 กรัมทุก 4 - 6 ชั่วโมง หรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 1 กรัมทุก 4 - 6 ชั่วโมง
- เด็กทารกแรกเกิดที่อายุน้อยกว่า 7 วัน: ฉีดเข้าหลอดเลือดดำหรือเข้ากล้ามเนื้อ 50 - 75 มิลลิ กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันโดยแบ่งการฉีดยาทุกๆ 8 - 12 ชั่วโมง
- เด็กทารกที่อายุ 7 วันขึ้นไป: ฉีดเข้าหลอดเลือดดำหรือเข้ากล้ามเนื้อ 75 - 100 มิลลิกรัม/น้ำ หนักตัว 1 กิโลกรัม/วันโดยแบ่งการฉีดยาเป็นทุกๆ 6 - 8 ชั่วโมง
- เด็กเล็กจนถึงเด็กโต(นิยามคำว่าเด็ก): ฉีดเข้าหลอดเลือดดำหรือเข้ากล้ามเนื้อ 100 - 200 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันโดยแบ่งการฉีดยาเป็นทุกๆ 6 ชั่วโมง
*อนึ่ง ขนาดสูงสุดของการใช้ยานี้ไม่ควรเกิน 12 กรัม/วัน
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเมทิซิลลิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หายใจหอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาเมทิซิลลินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาและ/หรือกับอาหารเสริมที่รับประทานอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประ เภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
เมทิซิลลินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเมทิซิลลินสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- เกิดภาวะทางระบบเลือด เช่น มีเม็ดเลือดขาวต่ำ และเกล็ดเลือดต่ำ
- ผื่นคัน
- มีไข้
- หนาวสั่น
- ปวด /เจ็บในบริเวณที่มีการฉีดยา
- ผู้ป่วยที่ใช้ยานี้เป็นเวลานานอาจเกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน ส่ง ผลให้เมื่อตรวจปัสสาวะจะพบโปรตีนในปัสสาวะและมีเม็ดเลือดในปัสสาวะ/ ปัสสาวะเป็นเลือด
- มีอาการปัสสาวะขัด
- บางคนอาจมีอาการชัก
มีข้อควรระวังการใช้เมทิซิลลินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเมทิซิลลิน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้หรือผู้ที่แพ้ยากลุ่มเพนิซิลลิน
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยากลุ่มเซฟาโลสปอริน (Cephalosporin)
- การใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร จะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเมทิซิลลินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
เมทิซิลลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเมทิซิลลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาเมทิซิลลินร่วมกับยา Methotrexate สามารถทำให้ระดับยา Methotrexate ในกระ แสเลือดเพิ่มสูงมากขึ้นจนก่อให้เกิดอาการข้างเคียงตามมา เช่น คลื่นไส้-อาเจียน, ช่องปากเป็นแผล, จนถึงโรคซีด หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยาเมทิซิลลิน ร่วมกับ ยาปฏิชีวนะบางตัว เช่นยา Tetracycline จะทำให้ฤทธิ์ในการรักษาของยาเมทิซิลลินด้อยประสิทธิภาพลงไป จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาเมทิซิลลิน ร่วมกับ ยาเม็ดคุมกำเนิด สามารถทำให้ประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิดด้อยประสิทธิภาพลงไป ระหว่างการใช้ยาทั้งคู่ร่วมกัน ควรต้องใช้วิธีการคุมกำเนิดวิธีอื่นๆร่วมด้วย เช่น ใช้ถุงยางอนามัยชาย
ควรเก็บรักษาเมทิซิลลินอย่างไร?
ควรเก็บยาเมทิซิลลิน:
- เก็บยาในที่มีอุณหภูมิที่เย็น
- ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
เมทิซิลลินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเมทิซิลลิน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Celbenin (เซลเบนิน) | Beecham |
Chibro-flabelline (ชิโบร-ฟลาเบลลีน) | Merck Sharp & Dohme |
Lucopenin (ลูโคเพนิน) | Durascan |
Metin (เมทิน) | CSL |
Staficyn (สแตฟิแคน) | Firma |
Staphcillin (สแตปซิลลิน) | Apothecon |
บรรณานุกรม
1. http://en.wikipedia.org/wiki/Meticillin [2020,Aug22]
2. http://www.drugs.com/drug-interactions/methicillin-index.html?filter=3&generic_only= [2020,Aug22]
3. http://www.drugs.com/sfx/methicillin-side-effects.html [2020,Aug22]
4. http://www.catalog.md/drugs/staphcillin.html [2020,Aug22]