เมทาควอโลน (Methaqualone)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 27 มีนาคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- เมทาควอโลนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ผลข้างเคียงของเมทาควอโลนมีอะไรบ้าง?
- เมทาควอโลนถูกจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาเสพติด (Narcotic drug)
- ประเภทยาเสพติดให้โทษ ยาเสพติด (Illegal drugs)
- วัตถุออกฤทธิ์ (Psychotropic substances)
- บาร์บิทูเรต (Barbiturate)
- เบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine)
- ยากดประสาทส่วนกลาง (CNS depressants)
บทนำ
สาร/ยาเมทาควอโลน(Methaqualone) อยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 ของไทย มีการออกฤทธิ์คล้ายกับยาบาร์บิทูเรท(Barbiturate like) และ เบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine) คือ เป็นยากดระบบประสาทส่วนกลางหรือกดสมอง การสังเคราะห์ยานี้เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศอินเดียเมื่อปี ค.ศ.1951 (พ.ศ.2494) เพื่อใช้รักษาโรคมาลาเรีย ในเวลาต่อมาพบว่า ยาเมทาควอโลนมีฤทธิ์ทำให้รู้สึกง่วงนอน ขณะนั้นจึงมีการสร้างสูตรตำรับใหม่ โดยนำยาเมทาควอโลนมาผสมกับยาไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) เพื่อใช้เป็นยานอนหลับ และจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า แมนแดรก(Mandrax)
ยาเมทาควอโลนที่วางจำหน่ายในท้องตลาด ได้กระจายไปยังประเทศอเมริกาและถูกสั่งจ่ายในฐานะยานอนหลับ โดยเริ่มต้นรับประทานยา 75–150 มิลลิกรัม/วันจะทำให้มีฤทธิ์ง่วงนอนอย่างต่ำๆ แต่แพทย์มักจะสั่งจ่ายยาที่ 300–600 มิลลิกรัม/วันเพื่อช่วยทำให้ผู้ป่วยหลับได้สนิท ผู้ที่รับประทานยานี้ จะเริ่มมีอาการง่วงนอนภายใน 30 นาทีและระยะเวลาการออกฤทธิ์อยู่นานที่ประมาณ 5–8 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตามทางคลินิกได้รวบรวมประสิทธิผลและอาการข้างเคียงต่างๆหลังจากได้รับยาเมทาควอโลนในระยะเวลา 2 เดือนติดต่อกันพบว่า
1. ผู้ที่รับประทานยานี้จะมีอาการติดยา และแพทย์ต้องปรับขนาดรับประทานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจึงจะทำให้นอนหลับ
2. อาการติดยาชนิดนี้ จะคล้ายกับอาการติดยากลุ่มบาร์บิทูเรท
3. มีผู้ลักลอบใช้ยานี้ในฐานะยากระตุ้นความบันเทิงแล้วเกิดอาการถอนยาจนถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งอาการถอนยาเมทาควอโลนประกอบไปด้วย นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ปวดศีรษะ เป็นตะคริวตามร่างกายอย่างรุนแรง และตามมาด้วยภาวะชัก คลุ้มคลั่ง พบเกิดเลือดออกในกระเพาะอาหาร/เลือดออกในทางเดินอาหาร อาการถอนยาจะแสดงฤทธิ์ดังข้างต้นเป็นเวลานานประมาณ 3–5 วัน
4. การรับประทานยาเมทาควอโลนร่วมกับสุรา อาจทำให้เสียชีวิตได้ ด้วยก่อให้เกิดความดันโลหิตต่ำอย่างรุนแรงจนเข้าขั้นโคม่า
ด้วยฤทธิ์ที่ทำให้มีอาการติดยาประกอบกับมีการลักลอบแอบใช้ผิดวัตถุประสงค์แพทย์จนเป็นผลให้สูญเสียชีวิต หลายประเทศจึงประกาศให้ยาเมทาควอโลนอยู่ในขอบข่ายของยาเสพติด หรือเป็นสารควบคุมที่ต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น
เมทาควอโลนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเมทาควอโลน มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะกระตุ้นตัวรับ(Receptor)ที่ชื่อ GABA receptor ในสมอง และที่ระบบประสาทของร่างกาย จนเกิดการปิดกั้นการส่งสัญญาณประสาทของสมอง และส่งผลให้มีอาการง่วงนอนตามมา แต่ก็มีผลทำให้ความดันโลหิตลดลง และยังกดการทำงานของระบบหายใจ ส่งผลต่อการเต้นของหัวใจให้ช้าลง ทั่วไป ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 20–60 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดผ่านทางปัสสาวะ/ไต *กรณีที่ได้รับยาเมทาควอโลนเกินขนาด จะเกิดอาการลมชัก มีไข้ อาเจียน ไตวาย เกิดภาวะโคม่า และเสียชีวิตด้วยหัวใจหยุดเต้น
ผลข้างเคียงของเมทาควอโลนมีอะไรบ้าง?
การใช้ยาเมทาควอโลนตามคำสั่งแพทย์ ก็อาจเกิดผลข้างเคียง(ผลไม่พึงประสงค์จากยา/ อาการข้างเคียง)จากการใช้ยานี้ได้เช่นกัน ดังนี้เช่น
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ชัก เป็นเหน็บชาตามแขน-ขา
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น อาเจียน คลื่นไส้ ปากแห้ง ท้องเสีย เป็นตะคริวที่ท้อง
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน เหงื่อออกมาก
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น มีภาวะซึมเศร้า มีภาวะนกเขาไม่ขัน วิตกกังวล เคลิบเคลิ้ม ฝันแปลกประหลาด
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น กดการหายใจ ทำให้หายใจลำบาก
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นช้าลง
เมทาควอโลนถูกจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าอะไรบ้าง?
ยาเมทาควอโลน มีการจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าดังนี้
1. Mandrax(แมนแดรก): มีส่วนประกอบของ Methaqualone 250 มิลลิกรัม + Diphenhydramine 25 มิลลิกรัม/เม็ด เคยจัดจำหน่ายในอังกฤษและแอฟริกาใต้
2. Quaalude(ควอลูด): มีส่วนประกอบของ Methaqualone 300 มิลลิกรัม/เม็ดเคยจัดจำหน่ายในประเทศสหรัฐอเมริกา
อนึ่ง การลักลอบซื้อขายยานี้ในตลาดมืดจะใช้ชื่อการค้าต่างๆ เช่น ที่อเมริกาใช้ชื่อ Ludes หรือ Sopers, ที่อังกฤษ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ใช้ชื่อ Mandrakes และ Mandies
บรรณานุกรม
- https://pdfs.semanticscholar.org/5567/09130a9aeba0aab82f2bc76b68f4f2715396.pdf [2018,March10]
- https://www.drugs.com/illicit/quaaludes.html [2018,March10]
- https://www.indexmundi.com/thailand/illicit_drugs.html [2018,March10]
- http://permitfortraveler.fda.moph.go.th/Document/%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%9A%203%20NARCO-list-update-26.08.2016.pdf [2018,March10]
- https://www.drugbank.ca/drugs/DB04833 [2018,March10]