เมทสโคโพลามีน (Methscopolamine) หรือ เมททิลสโคโพลามีน (Methylscopolamine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเมทสโคโพลามีน(Methscopolamine หรือ Methscopolamine bromide ) หรือ เมททิลสโคโพลามีน Methylscopolamine หรือ Methylscopolamine bromide ) เป็นยาในกลุ่มแอนตี้มัสคารินิก (Antimuscarinic) ใช้รักษาแผลในกระเพาะอาหารโดยช่วยการลดการหลั่งกรดของกระเพาะอาหาร นอกจากนั้น ยังลดการหลั่งน้ำลาย จึงใช้รักษาภาวะมีน้ำลายมากเกินปกติ, ทำให้รูม่านตาขยาย, และทำให้กล้ามเนื้อของกระเพาะอาหาร รวมถึงลำไส้หยุดการบีบตัวจึงใช้รักษาอาการ เมารถ-เมาเรือ อาการลำไส้แปรปรวน

ยาเมทสโคโพลามีน มีข้อห้ามใช้กับผู้ที่มีโรคประจำตัวบางประเภท เช่น

  • โรคต้อหิน
  • ภาวะทางเดินปัสสาวะ(เช่น ท่อปัสสาวะ)อุดตัน
  • ต่อมลูกหมากโต
  • โรคหัวใจ
  • โรคหลอดเลือด
  • โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ผู้ป่วยอยู่ในภาวะตกเลือด

นอกจากนี้ ยังต้องระวังการใช้ยาเมทสโคโพลามีนร่วมกับยารักษาโรคประเภทต่างๆ เช่น ยาDigoxin, ยาที่รักษาอาการทางจิตประสาท/ยารักษาทางจิตเวช อย่างยารักษาโรคซึมเศร้า เช่นยา Amitriptyline , ยากลุ่มBeta- blockers เช่นยา Propanolol , หรือยากลุ่มแอนตี้มัสคารินิกด้วยกันเอง

โดยทั่วไป แพทย์จะแนะนำให้รับประทานยาเมทสโคโพลามีนก่อนอาหารประมาณ 30 นาที และก่อนนอน และห้ามใช้ยานี้ร่วมกับยาลดกรด

ทั้งนี้ ยาเมทสโคโพลามีนสามารถทำให้เกิดอาการ วิงเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม หรือ ทำให้ตามีความไวต่อแสงแดด/ตาไม่สู้แสง

ทั้งนี้ ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการใช้ยาเมทสโคโพลามีนกับผู้สูงอายุ ด้วยอาจก่อให้มีภาวะท้องผูก ส่วนในเด็ก ทางการแพทย์ยังไม่ได้รับการยืนยันความปลอดภัยของการใช้ยาเมทสโคโพลามีนอย่างชัดเจน และหากจะใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ หรือสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ต้องได้รับการยืนยันจากแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

*กรณีได้รับยาเมทสโคโพลามีนเกินขนาด ให้สังเกตอาการต่างๆดังนี้ เช่น มองเห็นภาพซ้อน หายใจลำบาก/หายใจไม่ออก มีอาการเวียนศีรษะมาก อาเจียน รูม่านตาขยาย กระหายน้ำมาก ความดันโลหิตต่ำ กล้ามเนื้ออ่อนแรง คลื่นไส้ เกิดอาการง่วงนอน ปากแห้งผิดปกติ อาการชัก และโคม่า เป็นต้น ซึ่งเมื่อเกิดอาการเหล่านี้ ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน ดังนั้นการใช้ยานี้ได้อย่างปลอดภัย จึงควรต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด

อนึ่ง หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมในเรื่องของยาเมทสโคโพลามีน สามารถสอบถามข้อมูลการใช้ยานี้ได้จากแพทย์ที่ทำการรักษา หรือจากเภสัชกรตามร้านขายยาได้โดยทั่วไป

เมทสโคโพลามีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เมทสโคโพลามีน

ยาเมทสโคโพลามีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ รักษาและบรรเทาอาการแผลในกระเพาะอาหาร

เมทสโคโพลามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเมทสโคโพลามีนเป็นยาในกลุ่มแอนตี้มัสคารินิก(Antimuscarinic) โดยมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะออกฤทธิ์กดการทำงานที่ระบบประสาทส่วนกลางหรือสมอง พร้อมกับปิดกั้นสารสื่อประสาทไม่ให้ส่งสัญญาณไปสู่ปมประสาท รวมถึงยังช่วยลดการหลั่งของกรดในกระเพาะอาหาร ลดการเคลื่อนไหวของอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร จากกลไกดังกล่าว จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาได้ตามสรรพคุณ

เมทสโคโพลามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเมทสโคโพลามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 2.5 - 5 มิลลิกรัม/เม็ด

เมทสโคโพลามีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเมทสโคโพลามีนมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 2.5 - 5 มิลลิกรัม ก่อนอาหารประมาณครึ่งชั่วโมง และก่อนนอน ทั้งนี้ กรณีผู้ป่วยมีอาการ ปวดท้องรุนแรง แพทย์อาจ ให้ผู้ป่วยเริ่มต้นรับประทานยาครั้งละ 5 มิลลิกรัม ก่อนอาหาร 3 มื้อ และก่อนอน หรือคิดเป็นปริมาณ 20 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนทางคลินิกด้านความปลอดภัยของการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเมทสโคโพลามีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น ท้องผูก โรคหัวใจ โรคกล้ามเนื้อ่อนแรง รวมถึงกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเมทสโคโพลามีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเมทสโคโพลามีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาเมทสโคโพลามีนตรงเวลา

เมทสโคโพลามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเมทสโคโพลามีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อหัวใจ: เช่น หัวใจเต้นเร็ว ชีพจรเต้นผิดปกติ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ หงุดหงิด สับสน ง่วงนอน เวียนศีรษะ
  • ผลต่อตา: เช่น รูม่านตาขยาย ตาพร่า แรงดันในลูกตาเพิ่ม/ความดันตาสูง
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก ท้องอืด
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น ลมพิษ เหงื่อออกน้อย
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น กดการหลั่งน้ำนมของมารดา
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะขัด

มีข้อควรระวังการใช้เมทสโคโพลามีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเมทสโคโพลามีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคต้อหิน ผู้ป่วยโรคปัสสาวะขัด/หรือท่อทางเดินปัสสาวะตีบ ผู้ป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ห้ามมิให้ผู้ป่วยปรับขนาดรับประทานเอง ให้รับประทานยานี้ตามคำสั่งแพทย์อย่าง เคร่งครัด
  • ห้ามดื่มสุราร่วมกับการรับประทานยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับ เด็ก สตรีตั้งครรภ์ หรือสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์ ห้ามมิให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ใช้ยาด้วยตนเองโดยเด็ดขาด
  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้สูงอายุ
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะโรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้ป่วยหัวใจล้มเหลว ผู้ที่มีหัวใจเต้นผิดจังหวะ และผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมเมทสโคโพลามีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริมและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เมทสโคโพลามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเมทสโคโพลามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาเมทสโคโพลามีนร่วมกับยากลุ่ม TCAs สามารถทำให้ผลข้างเคียงของยาเมทสโคโพลามีนมีมากขึ้นกว่าเดิม หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรเลี่ยงการใช้ร่วมกัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเมทสโคโพลามีนร่วมกับยากลุ่ม Beta blocker และ Digoxin ด้วยจะทำให้เกิดผลข้างเคียงของยา Beta blocker และ Digoxin มากขึ้นกว่าเดิม หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรเลี่ยงการใช้ยากลุ่มดังกล่าวร่วมกัน
  • ห้ามใช้ยาเมทสโคโพลามีนร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะจะส่งผลให้ ผู้ป่วยมีอาการ ง่วงนอน อ่อนเพลีย คล้ายอาการกดการทำงานของระบบประสาท

ควรเก็บรักษาเมทสโคโพลามีนอย่างไร?

ควรเก็บยาเมทสโคโพลามีนที่อุณหภูมิระหว่าง 15 – 30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในรถยนต์หรือในห้องน้ำ

เมทสโคโพลามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเมทสโคโพลามีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Pamine (ปามีน)Mikart, Inc

อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Extendryl, AlleRx, Rescon, Pamine Forte

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Methylscopolamine_bromide [2016,Oct1]
  2. https://www.drugs.com/dosage/methscopolamine.html [2016,Oct1]
  3. https://www.drugs.com/sfx/methscopolamine-side-effects.html [2016,Oct1]
  4. https://www.drugs.com/cdi/methscopolamine.html [2016,Oct1]