เฟโมดีน (Femodene)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 18 ตุลาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- เฟโมดีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- เฟโมดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เฟโมดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เฟโมดีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- เฟโมดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เฟโมดีนอย่างไร?
- เฟโมดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเฟโมดีนอย่างไร?
- เฟโมดีนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)
- เจสโตดีน (Gestodene)
- เอทินิล เอสตร้าไดออล (Ethinyl estradiol)
- ก้อนในเต้านม (Breast mass)
- การวางแผนครอบครัว (Family planning)
บทนำ
ยาเฟโมดีน(Femodene)เป็นยาชื่อการค้าของยาเม็ดคุมกำเนิดที่ประกอบด้วยฮอร์โมนเพศหญิง 2 ตัว คือ Gestodene และ Ethinylestradiol ที่มีปริมาณต่ำ รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน ใน 1 กล่องมียาที่เป็นฮอร์โมน 21 เม็ด และ ยาหลอกอีก7 เม็ดที่ไม่มีฮอร์โมนผสมอยู่เลย การใช้ยานี้เพื่อคุมกำเนิดจะต้องรับประทานยานี้วันละ 1 เม็ดในเวลาเดียวกันของรอบประจำเดือน ก็สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ดีในระดับหนึ่ง
ผู้ที่จะใช้ยาเฟโมดีนได้นั้น ต้องนำเงื่อนไขของสุขภาพร่างกายบางประการมาประกอบเพื่อพิจารณาความเหมาะสม เช่น
- ต้องไม่แพ้ยานี้
- ต้องไม่มีภาวะประจำเดือนมาผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ต้องไม่มีโรคที่เกิดจากหลอดเลือดแดงผิดปกติ หรือเป็นผู้ป่วยโรคตับระยะรุนแรง
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวจะต้องแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้ง ด้วยการใช้ยานี้อาจ ทำให้อาการของโรคดังกล่าวรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคหัวใจ โรคไต โรคหืด โรคลมชัก ไมเกรน โรคซึมเศร้า ตับอ่อนอักเสบ โรคเบาหวาน
- ห้ามใช้ในผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งที่อาจเติบโตภายใต้อิทธิพลของฮอร์โมนเพศที่ผิดปกติอย่างเช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
- กำลังตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงวางแผนการมีบุตร
- หากเป็นผู้ที่ติดบุหรี่ และมีอายุเกิน 35 ปี จะต้องงดบุหรี่ ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันโรคหลอดเลือด และโรคหัวใจ ที่อาจเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าปกติเมื่อบริโภคยานี้ต่อเนื่องร่วมกับการสูบบุหรี่
- มียาอื่นใดที่รับประทานอยู่ก่อน ควรต้องแจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบ เพื่อ หลีกเลี่ยงภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)ระหว่างยาที่ใช้อยู่ก่อนนั้นกับยาเฟโมดีน โดยเฉพาะตัวยาต่อไปนี้ เช่น Primidone, Phenytoin, Barbiturates, Carbamazepine, Oxcarbazepine, Topiramate, Felbamate, Rifampicin, Rifabutin, Ritonavir, Nevirapine, Penicillins, Tetracyclines, และ Griseofulvin
การรับประทานยาเฟโมดีน/ยาฮอร์โมนเฟโมดีน ที่เป็นเม็ดยาฮอร์โมนเกินขนาด อาจทำให้เกิดอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อาจมีประจำเดือนผิดปกติ กรณีนี้อาจต้องเข้ามาขอคำปรึกษาจากแพทย์/มาโรงพยาบาล
อนึ่ง ผู้บริโภคที่ต้องการทราบรายละเอียดการใช้ยาฮอร์โมนเฟโมดีนเพิ่มเติมสามารถขอแนะนำจากแพทย์ตามสถานพยาบาล หรือจากเภสัชกรตามร้านขายยาได้โดยทั่วไป
เฟโมดีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาเฟโมดีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เป็น ยาเม็ดคุมกำเนิด
เฟโมดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเฟโมดีนมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะยับยั้งการตกไข่ และเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ปากมดลูกโดยจะสร้างสารเมือกที่ขัดขวางการเดินทางของตัวอสุจิ พร้อมกับ ส่งผลให้เยื่อบุโพรงมดลูกมีผนังบางลง ทำให้ไม่เหมาะกับการฝังตัวของไข่ที่ผสมแล้วกับอสุจิในเพศหญิง จึงส่งผลให้เกิดฤทธิ์ป้องกันการตั้งครรภ์ตามสรรพคุณ
เฟโมดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเฟโมดีนเป็นยาเม็ดคุมกำเนิดที่ประกอบด้วย ฮอร์โมนเพศหญิงที่ผสมกัน 2ตัว คือ Gestodene 75 ไมโครกรัม+ Ethinylestradiol 30 ไมโครกรัม/เม็ด
เฟโมดีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาเฟโมดีนมีขนาดรับประทาน ดังนี้ เช่น
- ผู้หญิงวัยเจริญพันธ์: รับประทาน 1 เม็ด วันละ1 ครั้ง โดยสามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารได้
- เด็ก: ห้ามใช้ยานี้กับเด็ก
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเฟโมดีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคความดันโลหิตสูง ไมเกรน รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเฟโมดีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้นหรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
กรณีลืมรับประทานยาเฟโมดีน เม็ดที่ไม่มีฮอร์โมนหรือที่เรียกว่ายาหลอก/เม็ดแป้ง ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกังวล สามารถข้ามการรับประทานยาหลอกเหล่านี้ได้ แต่จะต้องนับวันที่ต้องรับประทานยาให้ตรงกับการมาของรอบประจำเดือน
หากลืมรับประทานยาเม็ดที่มีฮอร์โมน น้อยกว่า 12 ชั่วโมง ให้รีบประทานยาฯทันทีที่นึกขึ้นได้ และรับประทานยาเม็ดที่มีฮอร์โมนถัดไปในเวลาปกติที่เคยรับประทานเป็นประจำ
แต่หากลืมรับประทานยาเม็ดที่มีฮอร์โมนนานมากกว่า 12 ชั่วโมง ให้รับประทานยาฯเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาเม็ดที่มีฮอร์โมนมื้อถัดไป อาจต้องรับประทานยาเป็น 2 เม็ด และรับประทานยาเม็ดที่มีฮอร์โมนเม็ดถัดไป ในขนาดและเวลาปกติที่เคยรับประทานเป็นประจำ
เฟโมดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาฮอร์โมนเจสโตดีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น รู้สึกไม่สบายในระบบทางเดินอาหาร(เช่น ในกระเพาะอาหาร) คลื่นไส้ อาเจียน
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีผื่นคัน ลมพิษ ผมร่วง มีภาวะขนดก
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ง่วงนอน หรือไม่ก็นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ซึมเศร้า อารมณ์ทางเพศถดถอย
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ตัวบวม รับประทานอาหารได้มากขึ้น
- อื่นๆ: เช่น มีไข้ เต้านมขยาย
มีข้อควรระวังการใช้เฟโมดีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเฟโมดีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้ หรือแพ้ฮอร์โมนเพศหญิงที่เป็นส่วนประกอบของยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
- ห้ามใช้ใน ผู้ที่มีภาวะประจำเดือนมาผิดปกติโดยที่ยังไม่ทราบสาเหตุ ผู้ป่วยโรคตับในระดับรุนแรง และผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือด
- ห้ามรับประทานยานี้เกินขนาดที่กำหนด
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคหืด ไมเกรน ผู้ที่มีภาวะบวมน้ำ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
- รับประทานยานี้ตรงเวลา ไม่ควรลืมรับประทานหรือรับประทานยาผิดเวลา ด้วยจะ ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด
- ระหว่างการรับประทานยาเฟโมดีน ควรตรวจคลำเต้านมทุกเดือน หรือ ตามแพทย์ พยาบาล เภสัชกร แนะนำ เพื่อตรวจสอบความผิดปกติ เช่น มีก้อนในเต้านมเกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งหากพบความผิดปกติ ต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
- หากพบอาการผิดปกติใดๆ ของร่างกายในระหว่างการใช้ยาฮอร์โมน เช่น ปวดศีรษะรุนแรง เจ็บหน้าอก อารมณ์เปลี่ยนแปลงเร็ว/อารมณ์แปรปรวน มีตะคริวบ่อย ฯลฯ ให้รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อขอคำปรึกษา เพื่อแพทย์พิจารณาปรับเปลี่ยนการรักษา
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเฟโมดีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
เฟโมดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเฟโมดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาเฟโมดีนร่วมกับยาอื่นบางประเภท เช่น Carbamazepine , Griseofulvin, Phenobarbital, Phenytoin, Rifampicin, อาจทำให้การกำจัดยาเฟโมดีนออกจากร่างกายได้มากขึ้น จนกระทบต่อฤทธิ์ในการคุมกำเนิด หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเฟโมดีนร่วมกับยา Cyclosporine ด้วยจะทำให้การทำลายยา Cyclosporine ของร่างกายลดน้อยลง จึงส่งผลให้ได้รับอาการข้างเคียงที่สูงขึ้นจากยา Cyclosporine ตามมา
ควรเก็บรักษาเฟโมดีนอย่างไร?
เก็บยาเฟโมดีนภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
เฟโมดีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเฟโมดีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Annylyn 21 (แอนนีลิน 21) | Thai Nakorn Patana |
Annylyn 28 (แอนนีลิน 28) | Thai Nakorn Patana |
Ciclomex-20 (ไซโคลเม็กซ์-20) | Sinensix Pharma |
Femodene (เฟโมดีน) | Bayer HealthCare Pharma |
Gynera/Gynera ED (กายเนรา/กายเนรา อีดี) | Bayer HealthCare Pharma |
Lindynette (ลินดิเนท) | Gedeon Richter |
Meliane/Meliane ED (เมลิแอน/เมลิแอน อีดี) | Bayer HealthCare Pharma |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Gestodene [2016,Oct1]
- https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/2544 [2016,Oct1]
- http://www.bayerresources.com.au/resources/uploads/CMI/file9599.pdf [2016,Oct1]