เฟลอร์บิโพรเฟน (Flurbiprofen)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 1 กรกฎาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- เฟลอร์บิโพรเฟนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- เฟลอร์บิโพรเฟนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เฟลอร์บิโพรเฟนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เฟลอร์บิโพรเฟนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- เฟลอร์บิโพรเฟนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เฟลอร์บิโพรเฟนอย่างไร?
- เฟลอร์บิโพรเฟนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเฟลอร์บิโพรเฟนอย่างไร?
- เฟลอร์บิโพรเฟนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ข้อเสื่อม เข่าเสื่อม (Osteoarthritis)
- โรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)
- ปวดฟัน (Toothache)
- ปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea)
- เลือดออกในทางเดินอาหาร (Gastrointestinal bleeding or GI bleeding)
- แผลเปบติค (Peptic ulcer) / แผลในกระเพาะอาหาร (Gastric ulcer)
- ยาลดความดัน ยาลดความดันเลือดสูง ยาลดความดันโลหิตสูง (Antihypertensive drug)
บทนำ
ยาเฟลอร์บิโพรเฟน (Flurbiprofen) เป็นอนุพันธุ์ของกรดฟีนิลอัลคาโนอิก (Phenyl alkanoic acid, สารธรรมชาติชนิดหนึ่งพบได้ในพืชในสัตว์บางชนิด) และจัดเป็นยาประเภทเอ็นเซดส์ (NSAIDs) ทางคลินิกใช้รักษาอาการปวดจากโรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) ปวดจากข้อเสื่อม รวมถึงอาการปวดฟัน หรือปวดประจำเดือน
รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาเฟลอร์บิโพรเฟนจะเป็นยารับประทานยาเม็ดอมแก้เจ็บคอ และยาหยอดตา การดูดซึมยานี้จากระบบทางเดินอาหารจะเป็นไปได้อย่างสมบูรณ์ การรับประทานยานี้พร้อมอาหารจะทำให้การดูดซึมยานี้ช้าลง แต่ก็มีข้อดีคือช่วยบรรเทาอาการระคายเคืองของกระเพาะ อาหารและลำไส้ หลังรับประทานยานี้ประมาณ 1 - 2 ชั่วโมงยาจึงจะเริ่มออกฤทธิ์
ยาเฟลอร์บิโพรเฟนในกระแสเลือดสามารถซึมเข้าสู่น้ำนมของมารดาได้ และยังรวมตัวกับพลาสมาโปรตีนได้มากกว่า 99% ตับจะเป็นอวัยวะที่คอยเปลี่ยนแปลง/ทำลายโครงสร้างของยานี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 3 - 6 ชั่วโมงในการกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ
ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเฟลอร์บิโพรเฟนหากมีประวัติทางคลินิกดังต่อไปนี้
- เคยแพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับยาเฟลอร์บิโพรเฟน
- มีประวัติการแพ้ยาอื่นๆที่มีอาการผื่นคันอย่างรุนแรง วิงเวียน และหายใจไม่ออก/หายใจลำ บาก
- อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์และอยู่ในภาวะให้นมบุตร
- เพิ่งได้รับการผ่าตัดหลอดเลือดบริเวณหัวใจ
- มีประวัติป่วยด้วยโรคตับ โรคไต โรคเบาหวาน เป็นแผลในกระเพาะอาหาร-ลำไส้ (โรคแผลเปบติค) มีเลือดออกในทางเดินอาหาร โรคความดันโลหิตสูง ป่วยด้วยอาการหอบหืด ร่างกายอยู่ในภาวะขาดน้ำหรือติดสุรา
- ผู้ที่มีการใช้ยาอื่นๆบางประเภทหากได้รับยาเฟลอร์บิโพรเฟนร่วมด้วยจะทำให้เสี่ยงกับการเกิดเลือดออกในกระเพาะอาหาร ยากลุ่มดังกล่าวเช่น Warfarin, Aspirin, Heparin ยากลุ่ม Cortico steroids อย่างเช่น Prednisolone ยากลุ่ม SSRIs อย่างเช่น Fluoxetine
- ยาอื่นบางกลุ่มอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) จากยานั้นๆเพิ่มมากขึ้นหากใช้ร่วมกับยาเฟลอร์ไบโพรเฟนเช่นยา Cyclosporin, Lithium, Methotrexate ยากลุ่ม Quino lones อย่างเช่น Ciprofloxacin หรือยากลุ่ม Sulfonylureas อย่างเช่น Glipizide
- กลุ่มยารักษาโรคความดันโลหิตสูง (ยาลดความดันโลหิต) อาจถูกยาเฟลอร์บิโพรเฟนเข้ารบกวนการออกฤทธิ์จนทำให้ประสิทธิภาพของการรักษาความดันโลหิตสูงด้อยลง ตัวอย่างยารักษาความดันโลหิตสูงดังกล่าวเช่น ยากลุ่ม ACE inhibitors อย่างเช่นยา Enalapril, ยากลุ่ม Beta-blockers อย่างเช่นยา Propranolol, ยาขับปัสสาวะอย่างเช่นยา Furosemide และ Hydrochloro thiazide เป็นต้น
ยาเฟลอร์บิโพรเฟนยังสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียงโดยทั่วไปได้เช่น ท้องผูกหรือไม่ก็ท้องเสีย วิงเวียน ง่วงนอน ปวดศีรษะ แสบร้อนกลางอก คลื่นไส้ และรู้สึกไม่สบายในช่องท้อง เป็นต้น
สำหรับผู้ที่ได้รับยาเฟลอร์บิโพรเฟนเกินขนาดอาจสังเกตได้จากมีอาการปัสสาวะน้อยลง เกิดลมชัก วิงเวียนอย่างรุนแรง หรือถึงขั้นครองสติไม่อยู่ ปวดท้อง และคลื่นไส้อย่างรุนแรง หายใจขัด/หายใจลำบาก หายใจช้าลง อาเจียนอาจมีสีคล้ำเหมือนกาแฟ/อาเจียนเป็นเลือด หากพบอาการดังกล่าวต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน
นอกจากนั้นการใช้ยาเฟลอร์บิโพรเฟนอย่างขาดความระมัดระวังอาจเป็นเหตุให้มีการทำงานของหัวใจและหลอดเลือดเกิดความผิดปกติ หรือเกิดแผลในระบบทางเดินอาหาร และมีภาวะเลือดออกในระบบทางเดินอาหารตามมา อาการผิดปกติต่างๆที่เกิดขึ้นหลังการใช้ยาเฟลอร์บิโพรเฟนอาจมีพัฒนาการขึ้นทีละน้อยๆโดยที่ตัวผู้ป่วยเองก็อาจไม่ทราบเช่นกัน จนกระทั่งอาการดังกล่าวแสดงผลออกมา จึงเป็นเหตุผลเพียงพอที่ผู้ป่วยจะต้องใช้ยานี้ตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดและไม่ไปหาซื้อยาเฟลอร์บิโพรเฟนมารับประทานเอง
ยังมีข้อมูลรายละเอียดอีกมากเกี่ยวกับการใช้ยาเฟลอร์บิโพรเฟนที่ไม่สามารถนำมาลงในบทความได้หมด หากผู้ป่วยต้องการทราบข้อมูลการใช้ยานี้เพิ่มเติมสามารถสอบถามได้จากแพทย์ผู้รักษาหรือจากเภสัชกรได้โดยทั่วไป
เฟลอร์บิโพรเฟนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาเฟลอร์บิโพรเฟนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ
- รักษากระดูกและข้ออักเสบ (Osteoarthritis)
- รักษาโรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)
- เป็นยาบรรเทาอาการปวดเช่น ปวดประจำเดือน
เฟลอร์บิโพรเฟนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเฟอร์บิโพรเฟนมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะยับยั้งการสังเคราะห์สารโพรสตาแกลนดิน(Prostaglandin) จากเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกายส่งผลชะลอกระบวนการอักเสบของเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆ เป็นผลให้เกิดฤทธิ์ระงับปวดตามสรรพคุณ
เฟลอร์บิโพรเฟนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเฟลอร์บิโพรเฟนที่จำหน่ายในประเทศไทยมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 50 และ 100 มิลลิกรัม/เม็ด
เฟลอร์บิโพรเฟนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาเฟลอร์บิโพรเฟนมีขนาดรับประทานเช่น
ก. สำหรับอาการปวดกระดูก/ข้อกระดูก (Osteoarthritis) และอาการปวดจากโรคข้อรูมา ตอยด์:
- ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: รับประทานยาครั้งละ 50 มิลลิกรัมวันละ 4 ครั้ง หรือรับประทาน ยาครั้งละ 100 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้ง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 300 มิลลิกรัม/วัน
ข. สำหรับการปวดประจำเดือน:
- ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: รับประทานยาครั้งละ 50 มิลลิกรัมวันละ 4 ครั้ง
- ในเด็กและผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี: ไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มอายุนี้
- ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันที
- การใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคตับโรคไตควรใช้ขนาดยาต่ำสุดเท่าที่ทำให้อาการปวดดีขึ้น
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเฟลอร์บิโพรเฟน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเฟลอร์บิโพรเฟนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเฟลอร์บิโพรเฟนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาเฟลอร์บิโพรเฟนตรงเวลา
เฟลอร์บิโพรเฟนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเฟลอร์ไบโพรเฟนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น เกิดแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ (แผลเปบติค) อาหารไม่ย่อย ท้องเสียหรือท้องผูก คลื่นไส้ ปวดท้อง อาเจียน กระเพาะอาหารอักเสบ ท้องอืด มีเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร อุจจาระเป็นเลือด
- ผลต่อการทำงานของตับ: เช่น เกิดภาวะตับอักเสบ ดีซ่าน
- ผลต่อการทำงานของไต: เช่น ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะมีสีเข้ม ปัสสาวะน้อย เกิดภาวะไตวาย
- ผลต่อผิวหนัง: เกิดผื่นคัน ผิวแพ้แสงแดดง่าย
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น ปริมาณฮีโมโกลบินในเลือดลดลงทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (Leukopenia) เม็ดเลือดขาวชนิด Eosinophilia สูง และเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocy topenia)
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย นอนไม่หลับหรือง่วงนอน ซึมเศร้า รู้สึกสับ สน เกิดความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน และอาจมีภาวะชัก
- ผลต่อการทำงานของหัวใจ: เช่น ทำให้มีอาการบวมของร่างกาย ความดันโลหิตสูง
- ผลต่อการมองเห็น: เช่น การมองเห็นภาพผิดปกติ
มีข้อควรระวังการใช้เฟลอร์บิโพรเฟนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเฟลอร์บิโพรเฟนเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาชนิดนี้หรือแพ้ส่วนประกอบในตำรับยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคหืด ผู้มีอาการแพ้ทางผิวหนังอย่างเช่น เป็นลมพิษ
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีประวัติด้วยโรคหลอดเลือด โรคหัวใจ โรคตับ และโรคไต รวมถึงระหว่างการใช้ยานี้ผู้ป่วยควรเฝ้าระวังเรื่องความดันโลหิตและเรื่องการทำงานของตับ-ไตควบคู่กันไป
- หากพบอาการแพ้ยานี้อย่างเช่น อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ผื่นคันขึ้นเต็มตัว ให้หยุดการใช้ยานี้ทันทีแล้วรีบนำผู้ป่วยมาโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน
- กรณีใช้ยานี้ตามระยะเวลาที่เหมาะสมแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยา บาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- ผู้ป่วยอาจได้รับอาการข้างเคียงบางอย่างที่อาจก่อผลเสียตามมาอย่างเช่น มีเลือดปนมากับอุจจาระ/อุจจาระเป็นเลือด หรือปัสสาวะเป็นเลือด ความดันโลหิตสูง ปวดท้องอย่างรุนแรง หากพบอาการดังกล่าวไม่ควรเพิกเฉย ควรรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเฟลอร์บิโพรเฟนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกประเภท(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
เฟลอร์บิโพรเฟนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเฟลอร์บิโพรเฟนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเฟลอร์บิโพรเฟนร่วมกับยารักษาความดันโลหิตสูง/ยาลดความดันโลหิต อย่างเช่น ยากลุ่ม ACE inhibitors ยากลุ่ม Angiotensin II receptor antagonist และยากลุ่ม Beta-blockers ด้วยยาเฟลอร์บิโพรเฟนจะทำให้ประสิทธิภาพของยาลดความดันโลหิตดังกล่าวลดน้อยลง
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเฟลอร์บิโพรเฟนร่วมกับยา Lithium และยา Methotrexate ด้วยยาเฟลอร์ บิโพรเฟนจะเพิ่มความเป็นพิษของยากลุ่มดังกล่าวต่อร่างกายมากขึ้น
- ห้ามใช้ยาเฟลอร์บิโพรเฟนร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือดอย่าง Warfarin เพราะจะก่อให้เกิดความเสี่ยงของเลือดออกง่ายตามอวัยวะต่างๆของร่างกาย
ควรเก็บรักษาเฟลอร์บิโพรเฟนอย่างไร?
ควรเก็บยาเฟลอร์บิโพรเฟนในช่วงอุณหภูมิ 15 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
เฟลอร์บิโพรเฟนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเฟลอร์บิโพรเฟนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Ansaid (แอนเซด) | pfizer |
บรรณานุกรม
- http://www.drugs.com/cdi/flurbiprofen.html [2016,June11]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Flurbiprofen [2016,June11]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/flurbiprofen?mtype=generic [2016,June11]
- http://www.medicinenet.com/flurbiprofen/article.html [2016,June11]
- http://www.webmd.com/drugs/2/drug-10612/ansaid-oral/details# [2016,June11]
- http://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2010/018766s015lbl.pdf [2016,June11]