เฟนไดเมตราซีน (Phendimetrazine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเฟนไดเมตราซีน(Phendimetrazine หรือ Phendimetrazine tartrate) ตามกฎหมายไทยจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทในประเภท 2 ทางคลินิกนำมาใช้เป็นยาลดน้ำหนัก(ยาลดความอ้วน)ด้วยมีฤทธิ์ทำให้ไม่อยากอาหาร ยาเฟนไดเมตราซีนยังไม่ใช่สารที่ออกฤทธิ์ แต่ร่างกายของมนุษย์จะเปลี่ยนตัวยาเฟนไดเมตราซีนประมาณ 30% ไปเป็นสารที่ออกฤทธิ์ที่ชื่อว่า เฟนเมตราซีน (Phenmetrazine)

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาเฟนไดเมตราซีนเป็นยาชนิดรับประทาน ซึ่งมีทั้งแบบออกฤทธิ์ทันทีและแบบออกฤทธิ์ได้นาน(Extended-release) ยาชนิดนี้จะใช้เวลาประมาณ 4–6 ชั่วโมง เพื่อการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารจนเสร็จสมบูรณ์ ตับจะเป็นอวัยวะที่คอยเปลี่ยนโครงสร้างของยาเฟนไดเมตราซีนอย่างต่อเนื่อง ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ19–24 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด และขับทิ้งไปกับปัสสาวะ

กลไกการออกฤทธิ์ของยาเฟนไดเมตราซีนจะคล้ายๆกับยา/สาร Amphetamine คือกระตุ้นศูนย์รู้สึกอิ่มในสมอง ทางคลินิกจะใช้ยานี้เมื่อแพทย์ตรวจพบว่าผู้ป่วยมีค่าดัชนีมวลกาย(BMI) ตั้งแต่ 30 กิโลกรัม/ส่วนสูงในหน่วยเมตร2

อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วย/ผู้บริโภคบางกลุ่มที่ไม่สามารถใช้ยาเฟนไดเมตราซีน ด้วยจะก่อให้เกิดอันตรายอย่างรุนแรงตามมา อาทิ

  • มีประวัติแพ้ยานี้
  • ผู้ที่มีประวัติป่วยเป็นโรคหัวใจ เช่น ผู้ป่วยหัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ผู้ที่มีโรคความดันโลหิตสูงที่ยังไม่สามารถควบคุมอาการได้ รวมถึงผู้ที่มีความดัน โลหิตของหลอดเลือดในปอดสูง
  • ห้ามใช้กับผู้ที่เพิ่งได้รับยากลุ่มMAOI ภายใน 14 วันที่ผ่านมา ด้วยจะทำให้มี ภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)อย่างรุนแรงตามมา
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนในเลือดสูง(ต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน) ผู้ที่มีภาวะกระวนกระวายใจ ผู้ป่วยโรคต้อหิน ผู้ที่มีประวัติติดยาเสพติด สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
  • ห้ามใช้ร่วมกับยาลดน้ำหนักตัวอื่น นอกจากมีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้เป็นเวลายาวนานกว่าคำสั่งแพทย์ เพราะจะทำให้เกิดอาการ ทางระบบประสาท เช่น นอนไม่หลับ ตัวสั่น วิงเวียน ปวดศีรษะ ตาพร่า รวมถึง ความดันโลหิตสูง ลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติ(โรคลิ้นหัวใจ) ความดันโลหิตในปอดสูง หัวใจเต้นเร็ว ปัสสาวะขัด เป็นต้น

สำหรับการรับประทานยาเฟนไดเมตราซีน ยังแบ่งเป็นอีก 2 ลักษณะ คือ กรณีใช้ยาแบบออกฤทธิ์ทันที ผู้บริโภคต้องรับประทานยานี้วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร และห้ามใช้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี แต่หากใช้ยานี้แบบออกฤทธิ์นาน ก็รับประทานเพียงวันละ1ครั้งโดยห้ามใช้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า17 ปีลงมา

ปัจจุบันยาเฟนไดเมตราซีน ไม่ได้รับอนุญาตให้จัดจำหน่ายในประเทศไทย แต่ที่ต่างประเทศยังมีการจัดจำหน่ายยาเฟนไดเมตราซีนภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายให้เป็นยาประเภทยาควบคุมพิเศษ โดยใช้ชื่อการค้าว่า “Bontril”

เฟนไดเมตราซีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เฟนไดเมตราซีน

ยาเฟนไดเมตราซีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เพื่อ

  • ใช้เป็นยาลดน้ำหนัก/ยาลดความอ้วน

เฟนไดเมตราซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเฟนไดเมตราซีน มีกลไกการออกฤทธิ์เหมือนตัวยาในกลุ่มยากระตุ้นสารสื่อประสาทที่เรียกว่ายา Norepinephrine-dopamine releasing agent (NDRA) โดยกระตุ้นศูนย์ควบคุมความรู้สึกอิ่มพร้อมกับทำให้ปฏิกิริยาการเผาผลาญพลังงานของร่างกายสูงขึ้นกว่าปกติ ด้วยกลไกดังกล่าว จึงทำให้น้ำหนักตัวลดลง

เฟนไดเมตราซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเฟนไดเมตราซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทานแบบออกฤทธิ์ทันที ที่ประกอบด้วยตัวยา Phendimetrazine ขนาด 35 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาแคปซูลชนิดรับประทานแบบออกฤทธิ์นาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Phendimetrazine ขนาด 105 มิลลิกรัม/แคปซูล

เฟนไดเมตราซีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเฟนไดเมตราซีน มีขนาดรับประทาน เช่น

ก. กรณีใช้ยาแบบออกฤทธิ์นาน:

  • ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 17 ปีขึ้นไป: รับประทานยาครั้งละ 105 มิลลิกรัม ก่อนอาหารเช้า 30–60 นาที วันละ1ครั้ง

ข. กรณีใช้ยาแบบออกฤทธิ์ทันที:

  • ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 17 ปีขึ้นไป: รับประทานยาครั้งละ 35 มิลลิกรัม ก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง วันละ 3 ครั้ง เช้า-กลางวัน-เย็น

อนึ่ง:

  • ห้ามรับประทานยานี้นานเกินคำสั่งแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • กรณีมีความผิดปกติ เช่น เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก มีผื่นคันขึ้นใจสั่น ให้หยุดใช้ยานี้ทันที แล้วรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที
  • ยานี้มีระยะเวลาของการรับประทานไม่กี่สัปดาห์ และต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดเท่านั้น
  • ผู้อายุต่ำกว่า 17 ปี : ห้ามใช้ยานี้

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเฟนไดเมตราซีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ โรคต่อมไทรอยด์ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเฟนไดเมตราซีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเฟนไดเมตราซีน สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่า ให้รับประทานยาในขนาดปกติ

เฟนไดเมตราซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเฟนไดเมตราซีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปากแห้ง คลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องเสียหรือ ท้องผูก
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ความดันโลหิตในปอดสูง
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ความรู้สึกทางเพศถดถอย
  • ต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ ตัวสั่น
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติ/โรคลิ้นหัวใจ ชีพจรผิดปกติ หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง หัวใจขาดเลือด ใบหน้าแดง
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด
  • ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เหงื่ออกมาก

มีข้อควรระวังการใช้เฟนไดเมตราซีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเฟนไดเมตราซีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ หรือเคยติดยาเสพติดมาก่อน
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยา/แคปซูลยาแตกหัก
  • ห้ามรับประทานยานี้กับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ ด้วยจะส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงจากยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคหัวใจต่างๆ โรคความดันโลหิตสูง โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ด้วยฤทธิ์ของยานี้สามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียงกับผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างมากมาย จนอาจเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้
  • หากรับประทานยานี้ต่อเนื่องตามเวลาที่แพทย์กำหนด แล้วน้ำหนักตัวไม่ลดลง ควรหยุดการใช้ยานี้ และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อขอคำปรึกษาจากแพทย์อีกครั้ง
  • ระวังการเสพติดยาชนิดนี้
  • มาพบแพทย์ตามนัดหมายเพื่อรับการตรวจร่างกาย และดูความก้าวหน้าของการรักษา
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่งทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเฟนไดเมตราซีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด)รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เฟนไดเมตราซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเฟนไดเมตราซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามการใช้ยาเฟนไดเมตราซีนร่วมกับ ยา Furazolidone ด้วยจะทำให้เกิดภาวะ ความดันโลหิตสูงอย่างรุนแรง จนอาจถึงขั้นเสียชีวิตตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเฟนไดเมตราซีนร่วมกับยา Fluvoxamine, Fluoxetine ด้วยยาดังกล่าว สามารถทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงของยาเฟนไดเมตราซีนมากขึ้น สังเกตจากมีอาการ วิตกกังวล กระสับกระส่าย หรือสะดุ้งผวาตามมา
  • ห้ามการใช้ยาเฟนไดเมตราซีนร่วมกับ ยาPhentermine ด้วยเสี่ยงและเป็นอันตราย กับหัวใจของผู้ป่วย เช่นทำให้ แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก วิงเวียน เป็นลม ขาบวม เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเฟนไดเมตราซีนร่วมกับ ยาTramadol ด้วยเสี่ยงต่อการกระตุ้นให้มีอาการลมชักเกิดขึ้นได้ง่าย

ควรเก็บรักษาเฟนไดเมตราซีนอย่างไร?

ควรเก็บยาเฟนไดเมตราซีน ภายใต้อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

เฟนไดเมตราซีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเฟนไดเมตราซีนมีชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Bontril (บอนทริล)Mallinckrodt Inc.

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่นBontril, Adipost, AnorexSR, Appecon, Melfiat, Obezine, Phendiet, Plegine, Prelu-2, Statobex

บรรณานุกรม

  1. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2012/018074s034lbl.pdf [2017,Dec2]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Phendimetrazine [2017,Dec2]
  3. https://www.drugbank.ca/drugs/DB01579 [2017,Dec2]
  4. https://www.drugs.com/pro/phendimetrazine.html [2017,Dec2]
  5. https://www.drugs.com/dosage/phendimetrazine.html [2017,Dec2]
  6. https://www.drugs.com/imprints/c-8647-11369.html [2017,Dec2]
  7. https://www.drugs.com/drug-interactions/phendimetrazine-index.html?filter=3&generic_only [2017,Dec2]