เฟนโตลามีน (Phentolamine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 14 พฤษภาคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- เฟนโตลามีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- เฟนโตลามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เฟนโตลามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เฟนโตลามีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- เฟนโตลามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เฟนโตลามีนอย่างไร?
- เฟนโตลามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเฟนโตลามีนอย่างไร?
- เฟนโตลามีนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- ความดันโลหิตต่ำ (Hypotension)
- ฟีโอโครโมไซโตมา (Pheochromocytoma)
- แอลฟา-บล็อกเกอร์ (Alpha-blockers)
- พาราด็อกซิคอลรีแอกชัน (Paradoxical Reaction)
- เบต้า บล็อกเกอร์ (Beta blocker)
บทนำ
ยาเฟนโตลามีน(Phentolamine)เป็นยาประเภทแอลฟา-บล็อกเกอร์ (Alpha-blocker) กลุ่มNon-selective adrenergic blockers ประโยชน์ทางคลินิกใช้เป็นยาลดภาวะความดันโลหิตสูงอย่างเฉียบพลัน(Hypertensive emergency) โดยมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาฉีด และมีใช้แต่ในสถานพยาบาล กรณีฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อจะต้องใช้เวลาประมาณ 15–20 นาที ยานี้จึงจะออกฤทธิ์ และระยะเวลาการออกฤทธิ์จะนานประมาณ 30–45 นาที กรณีฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำตัวยานี้จะออกฤทธิ์ทันทีและมีระยะเวลาการออกฤทธิ์ลดลงเป็นประมาณ 15–30 นาที ยานี้จะโดนทำลายในตับ และจะถูกขับออกไปกับปัสสาวะ
สิ่งที่ต้องระวังขณะที่ได้รับยาเฟนโตลามีน คือ อาการหัวใจเต้นเร็ว และหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งทั่วไป แพทย์จะแก้ไขอาการเหล่านี้โดยใช้ยาประเภท Cardiac glycosides มาบำบัดอาการจนกระทั่งหัวใจกลับมาเต้นเป็นปกติ
ยาเฟนโตลามีนมีกลไกทำให้หลอดเลือดขยายตัว และส่งผลให้ความดันโลหิตลดลง จากกลไกดังกล่าวจะก่อให้เกิดความเสี่ยงเมื่อต้องใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคหัวใจขาดเลือด
*กรณีที่ผู้ป่วยได้รับยาเฟนโตลามีนเกินขนาด แพทย์สามารถตรวจพบจากสัญญาณชีพที่ผิดปกติ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือ หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำ มีอาการช็อก หรือมีสัญญาณเตือนทางกายภาพ เช่น ปวดศีรษะ เหงื่อออก รูม่านตาหดตัว คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ร่วมกับมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลง แพทย์จะรักษาอาการดังกล่าวโดยให้ผู้ป่วยนอนราบ ยกเท้าสูงกว่าศีรษะเพื่อช่วยเรื่องความดันโลหิตต่ำ จากนั้นอาจให้ยา Norepinephrine เพื่อรักษาระดับความดันโลหิตให้กลับมาเป็นปกติ แพทย์จะหลีกเลี่ยงการใช้ยา Epinephrine ด้วยเกรงจะเกิดผลตรงกันข้าม คือ ทำให้ความดันโลหิตลดลงหรือที่เรียกว่า พาราด็อกซิคอล รีแอกชัน(Paradoxical reaction)
ยาเฟนโตลามีนจัดว่าเป็นยาอันตราย มีผลข้างเคียงต่างๆและสามารถสร้างภาวะยาตีกัน/ปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชนิดอื่นๆได้ การใช้ยานี้ได้อย่างปลอดภัยจึงต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์แต่เพียงผู้เดียว
เฟนโตลามีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาเฟนโตลามีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้บำบัดอาการความดันโลหิตสูงแบบเฉียบพลันที่พบในผู้ป่วยโรคฟีโอโครโมไซโตมา (Pheochromocytoma)
เฟนโตลามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเฟนโตลามีนเป็นยาจำพวก Alpha-blocker ตัวยามีกลไกการออกฤทธิ์โดยจะเข้าจับกับตัวรับ(Receptor)ที่ชื่อ Alpha receptorที่ผนังหลอดเลือด ทำให้สารสื่อประสาทอย่าง Norepinephrine และ Epinephrine ไม่สามารถเข้าจับกับตัวรับดังกล่าว จากกลไกเหล่านี้ ทำให้ผนังหลอดเลือดไม่ตอบสนองต่อสารสื่อประสาททั้ง 2 ตัว ส่งผลให้หลอดเลือดขยายตัวและทำให้ความดันโลหิตลดลงมาในที่สุด
เฟนโตลามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเฟนโตลามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาฉีด ที่ประกอบด้วยตัวยา Phentolamine mesylate ขนาด 2 มิลลิกรัม/ขวด
เฟนโตลามีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาเฟนโตลามีนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาสำหรับความดันโลหิตสูงในผู้ป่วยด้วยเนื้องอก ฟีโอโครโมไซโตมา (Pheochromocytoma) เช่น
- ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 2–5 มิลลิกรัม ตามคำสั่งแพทย์
- เด็ก: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ หรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อขนาด 1 มิลลิกรัม ก่อนเข้ารับการผ่าตัด 1–2 ชั่วโมง และระหว่างผ่าตัด แพทย์อาจให้ยานี้อีก 1 มิลลิกรัมเข้าทางหลอดเลือดดำตามดุลยพินิจของแพทย์
อนึ่ง:
- สามารถใช้ยาเฟนโตลามีนวินิจฉัยโรคฟีโอโครโมไซโตมา โดยมีขนาดการใช้ยาใกล้เคียงกับขนาดรักษาโรคความดันโลหิตสูง
- ห้ามใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยโรคไต ผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจล้มเหลว
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเฟนโตลามีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่าง โรคภูมิแพ้ โรคความดันโลหิตต่ำ โรคหัวใจ รวมถึงกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเฟนโตลามีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้น รุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
เฟนโตลามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเฟนโตลามีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำตาลในเลือดต่ำ
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว และ หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น โรคระบบทางเดินปัสสาวะอักเสบ ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด ต่อมลูกหมากโต
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น คัดจมูกจากเหตุหลอดเลือดขยายตัว
- ผลต่อตับ: เช่น ตับทำงานผิดปกติ/ตับอักเสบ
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย
มีข้อควรระวังการใช้เฟนโตลามีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเฟนโตลามีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ขณะได้รับยานี้ แพทย์ พยาบาล จะเฝ้าระวังความดันโลหิตของผู้ป่วยให้เป็นปกติเสมอ
- การใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร ให้เป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์
- เพิ่มความระมัดระวังในการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีประวัติด้วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นเร็ว ผู้ที่มีแผลในระบบทางเดินอาหาร เช่น แผลในกระเพาะอาหาร
- หยุดใช้ยานี้ทันทีเมื่อพบอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Angina)
- ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเฟนโตลามีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมถึงควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
เฟนโตลามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเฟนโตลามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาเฟนโตลามีนร่วมกับ ยาClonidine ด้วยจะทำให้อัตราการเต้นของหัวใจผู้ป่วยช้าลงอย่างมาก
- ห้ามใช้ยาเฟนโตลามีนร่วมกับยา Tizanidine, Clozapine, Tadalafil ด้วยจะทำให้ความดันโลหิตลดต่ำลงอย่างรุนแรง ซึ่งจะแสดงออกมาด้วยอาการ วิงเวียน ปวดศีรษะ เป็นลม และหัวใจเต้นผิดปกติ
ควรเก็บรักษาเฟนโตลามีนอย่างไร?
ควรเก็บยาเฟนโตลามีน ยาภายใต้อุณหภูมิ 15–30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
เฟนโตลามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเฟนโตลามีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
REGITINE (เรจิทีน) | Novartis Pharmaceuticals |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น OraVerse
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Phentolamine [2018,April28]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/phentolamine/?type=brief&mtype=generic [2018,April28]
- https://www.mims.com/philippines/drug/info/phentolamine?mtype=generic [2018,April28]
- https://www.drugs.com/pro/phentolamine.html [2018,April28]
- https://www.drugs.com/sfx/phentolamine-side-effects.html [2018,April28]
- https://www.drugs.com/ppa/phentolamine-mesylate.html [2018,April28]