เฟนฟลูรามีน (Fenfluramine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 7 กุมภาพันธ์ 2564
- Tweet
- บทนำ: คือ ยาอะไร?
- เฟนฟลูรามีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
- เฟนฟลูรามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เฟนฟลูรามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เฟนฟลูรามีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- เฟนฟลูรามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เฟนฟลูรามีนอย่างไร?
- เฟนฟลูรามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเฟนฟลูรามีนอย่างไร?
- เฟนฟลูรามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคอ้วน และ น้ำหนักตัวเกิน (Obesity and overweight)
- 5-ไฮดร็อกซีทริปโตเฟน (5-Hydroxytryptophan)
- โรคลิ้นหัวใจ (Valvular heart disease)
- กลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin syndrome)
- ยาลดความอ้วน (Diet pill or Weight loss drug)
- ความดันหลอดเลือดปอดสูง (Pulmonary hypertension)
บทนำ: คือ ยาอะไร?
ยาเฟนฟลูรามีน (Fenfluramine) คือ ยาลดน้ำหนัก โดยมีกลไกการออกฤทธิ์ที่สมอง ตัวยาจะทำให้ร่างกายหลั่งสารสื่อประสาทที่มีชื่อว่า Serotonin ออกมาซึ่งจัดเป็นสารสื่อประ สาทที่มีอิทธิพลต่ออารมณ์และความอยากอาหาร รูปแบบของยาแผนปัจจุบันของยานี้ที่เคยผลิตจะเป็นยาชนิดรับประทาน
หลังจากยาเฟนฟลูรามีนถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ตัวยาจะอยู่ภายในร่างกายได้นานถึงประ มาณ 20 ชั่วโมงก่อนที่จะถูกกำจัดออกจากร่างกายทางปัสสาวะเป็นปริมาณครึ่งหนึ่งหรือ 50% ของปริมาณยาในกระแสเลือด
ยาเฟนฟลูรามีน เคยถูกวางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1973 (พ.ศ. 2516) และ 24 ปีต่อมาได้ถูกเพิกถอนการใช้ ทั้งนี้มาจากเหตุผลทางคลินิกพบว่า เฟนฟลูรามีนทำให้เกิดความ เป็นพิษต่อลิ้นหัวใจ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคลิ้นหัวใจ) กระตุ้นให้ความดันหลอดเลือดปอดสูงขึ้น รวมถึงเกิดมีภาวะที่เรียกว่า Cardiac fibrosis (ภาวะเกิดพังผืดกับลิ้นหัวใจ)
การใช้ยาเฟนฟลูรามีน จะถูกใช้เพื่อการลดน้ำหนักเพียงระยะเวลาสั้นๆ 1 - 2 สัปดาห์ โดยประมาณ ผู้ที่รับประทานยานี้จะรู้สึกเบื่ออาหารและรับประทานอาหารน้อยลง ส่งผลให้ร่างกาย ดึงไขมันที่สะสมออกมาเผาผลาญจนทำให้น้ำหนักตัวลดลงในที่สุด
ประสิทธิภาพของ ยาเฟนฟลูรามีน จะเห็นผลเร็วภายในสัปดาห์แรกที่ใช้ยา แต่ด้วยผลข้างเคียงที่รุนแรง ประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยาก็ได้เพิกถอนทะเบียนของยาเฟนฟลูรามีนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา
อนึ่งยาชื่อการค้าในต่างประเทศของยาตัวนี้ เช่น Ponderax, Adifax
เฟนฟลูรามีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
ยาเฟนฟลูรามีนมีสรรพคุณรักษา/ข้อบ่งใช้:
- ใช้เป็นยาลดน้ำหนัก/ ยาลดความอ้วน
เฟนฟลูรามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเฟนฟลูรามีน เป็นตัวยาที่มีสูตรโครงสร้างใกล้เคียงกับสาร Amphetamine แต่การใช้ยาเฟนฟลูรามีนในขนาดของการรักษาจะทำให้รู้สึกง่วงนอนมากกว่าที่จะกระตุ้นสมองให้ตื่นตัวเหมือน Amphetamine
ยาเฟนฟลูรามีนมีกลไกการออกฤทธิ์ต่อสมอง โดยกระตุ้นให้มีการหลั่งสารสื่อประสาทที่มีชื่อ ว่า Serotonin ส่งผลให้รู้สึก เบื่ออาหาร รับประทานน้อยลง จนเป็นเหตุให้น้ำหนักลดลงในที่สุด
เฟนฟลูรามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเฟนฟลูรามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- เป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 20 มิลลิกรัม/เม็ด
เฟนฟลูรามีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาเฟนฟลูรามีนมีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 20 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้งก่อนอาหาร หากจำเป็นแพทย์อาจเพิ่มขนาดรับประทานเป็นครั้งละ 40 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้ง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 120 มิลลิกรัม/วัน
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): โดยทั่วไปห้ามใช้ยานี้ในเด็ก แต่หากมีความจำเป็นแพทย์ผู้รักษาอาจพิจารณาการใช้ยานี้ในเด็กเป็นกรณีๆไป
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเฟนฟลูรามีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเฟนฟลูรามีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเฟนฟลูรามีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
เฟนฟลูรามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเฟนฟลูรามีน สามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- มีอาการง่วงนอน
- ท้องเสีย
- ปากคอแห้ง
- วิงเวียน
- รู้สึกสับสน
- ปวดหัว
- ซึมเศร้า
- วิตกกังวล
- หงุดหงิด
- นอนไม่หลับ
- อ่อนเพลีย
- ความต้องการทางเพศลดลง
- พูดจาไม่ชัด
- ตาพร่า
- มีเหงื่อออกมาก
- หนาวสั่น
- ปัสสาวะขัด
- ปวดปัสสาวะบ่อย
- ชีพจรเต้นผิดจังหวะ
- ความดันโลหิตต่ำหรือไม่ก็ความดันโลหิตสูง
- เป็นลม
- ระคายเคืองตา
- ความดันของหลอดเลือดแดงในปอดสูง
- อาจพบลมพิษ
- ปวดกล้ามเนื้อ
- มีไข้
- เกิดผื่นคันและรู้สึกแสบร้อนตามผิวหนัง
- เจ็บหน้าอก
- การรับรสชาติอาหารเปลี่ยนไป
****อนึ่ง สำหรับผู้ที่ได้รับเฟนฟลูรามีนเกินขนาด: จะมีอาการ เช่น
- กระสับกระส่าย
- ง่วงนอน
- รู้สึกสับสน
- ใบหน้าแดง
- ตัวสั่น
- มีไข้
- เหงื่อออกมาก
- ปวดท้อง
- หายใจถี่และเร็ว
- รูม่านตาขยาย
- ตากระตุก
- หัวใจเต้นเร็ว
- เกิดอาการชัก
- มีภาวะโคม่า
- หัวใจผิดจังหวะ
- หัวใจหยุดเต้น
***หากพบอาการดังกล่าว ควรต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้เฟนฟลูรามีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเฟนฟลูรามีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับ เด็ก ผู้สูงอายุ สตรีตั้งครรภ์ และ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามปรับขนาดรับประทานเพิ่มหรือใช้ยานานเกินจากคำสั่งของแพทย์
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคหัวใจชนิดต่างๆ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง รวมถึงผู้ป่วยที่มี ความดันหลอดเลือดปอดสูงผิดปกติ
- หากใช้ยานี้ขนาดสูงสุดแล้วภาวะการลดน้ำหนักไม่ดีขึ้น ห้ามปรับขนาดรับประทานเพิ่มโดยเด็ดขาด ให้หยุดการใช้ยานี้แล้วกลับมาปรึกษาแพทย์เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- ยานี้อาจทำให้มีอาการง่วงนอน ผู้ที่ได้รับยานี้จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะใดๆ หรือเลี่ยงการทำงานกับเครื่องจักรต่างๆเพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเฟนฟลูรามีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
เฟนฟลูรามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเฟนฟลูรามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาเฟนฟลูรามีน ร่วมกับ ยา 5-Hydroxytryptophan ด้วยจะก่อให้เกิด กลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin syndrome) ติดตามมา
- ห้ามใช้ยาเฟนฟลูรามีน ร่วมกับยา Phentermine, Phenylpropanolamine ด้วยจะก่อให้เกิดปัญหาต่อการทำงานของหัวใจโดยมีอาการ เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก วิงเวียน เป็นลม ขาและเท้าบวม
- การใช้ยาเฟนฟลูรามีน ร่วมกับยา Bupropion อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอาการชัก เพื่อป้องกันภาวะดังกล่าวควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาเฟนฟลูรามีน ร่วมกับยา Ibuprofen อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดออกง่าย หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาเฟนฟลูรามีนอย่างไร?
ควรเก็บยาเฟนฟลูรามีน:
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยาเฟนฟลูรามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเฟนฟลูรามีน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Pondimin (พอนดิมิน) | Robins Pharm |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Fenfluramine [2021,Feb6]
- https://www.drugs.com/imprints/ahr-6447-2342.html [2021,Feb6]
- https://www.rxlist.com/pondimin-drug.htm [2021,Feb6]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/fenfluramine-index.html?filter=3&generic_only= [2021,Feb6]
- http://www.drugs.com/drug-interactions/fenfluramine-index.html?filter=3&generic_only= [2021,Feb6]