เพโกลทิเคส (Pegloticase)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 15 มิถุนายน 2559
- Tweet
- บทนำ
- เพโกลทิเคสมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- เพโกลทิเคสมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เพโกลทิเคสมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เพโกลทิเคสมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- เพโกลทิเคสมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เพโกลทิเคสอย่างไร?
- เพโกลทิเคสมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเพโกลทิเคสอย่างไร?
- เพโกลทิเคสมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เกาต์ (Gout)
- ภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี (G6PD deficiency)
- การตรวจเลือด การเจาะเลือดตรวจ (Blood test)
- โรคข้อ (Joint disease)
- เกาต์เทียม (Pseudogout)
บทนำ
ยาเพโกลทิเคส (Pegloticase) เป็นยาที่ใช้บำบัดโรคเกาต์แบบรุนแรงและเรื้อรัง มีรูปแบบผลิตภัณฑ์เป็นยาฉีด ได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการอาหารและยาในอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 2010 (พ.ศ.2553) ตัวยาจะช่วยลดปริมาณกรดยูริคในกระแสเลือดส่งผลลดการสะสมผลึกยูริคตามข้อกระดูกและเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกาย ยาเพโกลทิเคสอาจกระตุ้นให้เกิดการแพ้ยานี้ขึ้นได้ในผู้ป่วยบางกลุ่มโดยจะเริ่มมีอาการภายใน 2 ชั่วโมงหลังใช้ยานี้ อาจสังเกตจากอาการนำที่บ่งบอกให้ทราบล่วงหน้าเช่น เกิดการวิงเวียน เป็นลม หัวใจเต้นแผ่วหรือเร็วขึ้น กระสับกระส่าย มีผื่นคันเริ่มขึ้นตามตัว แน่นหน้าอก มีอาการไอ หายใจขัด/หายใจลำบาก ริมฝีปากบวม เป็นต้น
มีเงื่อนไขบางประการที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบก่อนการใช้ยาเพโกลทิเคสดังนี้เช่น
- หากเป็นผู้มีประวัติแพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบของสูตรตำรับในยาเพโกลทิเคสต้องหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้
- เมื่อเป็นผู้ที่มีระดับกรดยูริคในเลือดสูงแต่ยังไม่แสดงอาการกำเริบรุนแรง ในทางคลินิกไม่แนะนำให้ใช้ยานี้มารักษา
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีความผิดปกติในการทำงานของเอนไซม์ในร่างกายบางชนิดอย่างเช่น ผู้ป่วยภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี (G6PD) ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันเม็ดเลือดแดงถูกทำลายจากยานี้นั่นเอง
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่ยังรับประทานยาลดกรดยูริคตัวอื่นอยู่เช่น Allopurinol หรือ Febuxostat
- สตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการใช้ยาต่างๆทุกประเภทที่จะเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงซึ่งรวมถึงยาเพโกลทิเคสด้วย
- โรคประจำตัวบางอย่างอาจแสดงอาการรุนแรงขึ้นมาหากใช้ยาเพโกลทิเคสอย่างเช่น โรคหัวใจล้มเหลว หรือโรคความดันโลหิตสูง
- แพทย์อาจพิจารณาเป็นกรณีบุคคลโดยผู้ป่วยจะได้รับการสั่งจ่ายยาต้านฮีสตามีน (Antihista mine) เช่นยา Diphenhydramine และ/หรือยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) อย่างเช่นยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone) ก่อนได้รับการฉีดยาเพโกลทิเคสทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการแพ้ยาเพโกลทิเคส
- ยานี้ไม่เหมาะจะใช้กับเด็กหรือผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา
อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยบางรายหลังจากได้รับยาเพโกลทิเคสใน 3 เดือนแรก อาการมีภาวะ/โรคเกาต์กำเริบหรือที่เรียกว่า “Gout flares” แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาเพโกลทิเคสต่อเนื่อง แต่จะมีการสั่งจ่ายยากลุ่ม NSAID อย่างเช่น Ibuprofen หรือยากลุ่ม Colchicine ให้ผู้ป่วยร่วมด้วยเพื่อช่วยบรรเทาภาวะเกาต์กำเริบหรือ Gout flares ดังกล่าว
นอกจากนี้ผู้ป่วยจะต้องได้รับการตรวจเลือดเพื่อยืนยันระดับของกรดยูริคในเลือดว่ากลับมาเป็นปกติหรือยังโดยต้องมารับการเจาะตรวจเลือดทุกครั้งที่แพทย์สั่งตรวจ
อนึ่งหากผู้ป่วย/ผู้บริโภคต้องการทราบข้อมูลยาเพโกลทิเคสเพิ่มเติม ก็สามารถสอบถามได้จากแพทย์ผู้รักษาหรือจากเภสัชกรได้โดยทั่วไป
เพโกลทิเคสมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาเพโกลทิเคสมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อรักษาโรคเกาต์ที่มีภาวะกำเริบระดับรุนแรง
เพโกลทิเคสมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาเพโกลทิเคสคือ ตัวยาจะมีโครงสร้างที่เรียกว่า ยูเรท-ออกซิเดส (Urate-oxidase enzyme) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่สามารถเปลี่ยนกรดยูริคไปเป็นสารเคมีที่ชื่อ Allantoin ที่ร่างกายไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์และกำจัดออกทางปัสสาวะจึงทำให้ระดับกรดยูริคในเลือดลดลง และเกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
เพโกลทิเคสมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเพโกลทิเคสมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาฉีดขนาด 8 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
เพโกลทิเคสมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาเพโกลทิเคสมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาเช่น
- ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: หยดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 8 มิลลิกรัมทุก 2 สัปดาห์ระยะเวลาในการหยดยาแต่ละครั้งไม่ควรต่ำกว่า 2 ชั่วโมงหรือ 120 นาที
- เด็กและผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี: ห้ามใช้ยานี้
อนึ่ง:
- แพทย์อาจสั่งจ่ายยาต้านฮีสตามีน (Antihistamine) และ/หรือยาสเตียรอยด์ร่วมด้วยกับการใช้ยานี้เพื่อป้องกันการแพ้ยานี้
- ร่างกายใช้เวลาประมาณ 14 วันในการกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดจึงส่งผลให้ยานี้อยู่ในร่างกายและคงการรักษาได้นานถึง 2 สัปดาห์ต่อการได้รับยา 1 ครั้ง
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเพโกลทิเคส ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเพโกลทิเคสอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
เพโกลทิเคสมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเพโกลทิเคสสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบ อวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้เช่น
- ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย: เช่น อาจกระตุ้นร่างกายให้สร้างสารภูมิต้าน ทานต่อยานี้ที่เรียกว่า Anti-pegloticase antibodies จนอาจส่งผลให้เกิดการแพ้ยานี้
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น กระตุ้นให้เกิดภาวะเกาต์กำเริบที่เรียกว่า Gout flares อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงระดับกรดยูริคในเลือดอย่างรวดเร็วหลังจากได้รับยานี้ ซึ่งอาจป้องกันภาวะ Gout flares ได้โดยการให้ยา Colchicine และ/หรือยากลุ่ม NSAID ร่วมด้วย
- ผลต่อการทำงานของหัวใจ: เช่น เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ ท้องผูก และอาเจียน
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ท่อทางเดินหายใจอักเสบ/หลอดลมอักเสบ ไอ หายใจลำบาก
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดรอยฟกช้ำตามผิวหนัง ผื่นคัน
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น อาจมีภาวะปัสสาวะน้อยลง
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- อื่นๆ: เช่น มีไข้ หนาวสั่น
มีข้อควรระวังการใช้เพโกลทิเคสอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเพโกลทิเคสเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้และ/หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับเด็ก ผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคเกาต์ที่มีการใช้ยารักษาโรคเกาต์อื่นๆอยู่ก่อน
- ระวังการเกิด Gout flares หลังจากได้รับยานี้
- การใช้ยานี้กับผู้สูงอายุให้ใช้ขนาดเดียวกันกับการใช้ยานี้ในผู้ใหญ่
- หลังการเจือจางยานี้เพื่อให้ทางหลอดเลือดดำกับผู้ป่วย ควรต้องใช้ยาให้หมดภายใน 4 ชั่วโมงเพื่อความคงตัวของยาที่จะมีอายุน้อยลงหลังถูกเปิดเพื่อใช้งาน
- ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดและมาเจาะเลือดเพื่อตรวจสอบระดับกรดยูริคตามนัดทุกครั้ง
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเพโกลทิเคสด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกประเภท (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
เพโกลทิเคสมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเพโกลทิเคสมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- ห้ามใช้ยาเพโกลทิเคสร่วมกับยา Allopurinol, Sulfinpyrazone ด้วยจะทำให้เกิดการรบกวนการแปรผลของระดับกรดยูริคในกระแสเลือด กรณีจำเป็นต้องใช้ยาเพโกลทิเคส ต้องให้ผู้ป่วยหยุดการรับประทานยา Allopurinol และ/หรือ Sulfinpyrazone ก่อนเสมอ
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเพโกลทิเคสร่วมกับยา Pegaptanib (ยาต้านการสร้างหลอดเลือดใหม่ ของร่างกาย), Pegfilgrastim ด้วยตัวยาเพโกลทิเคสจะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยา Pegaptanib และ Pegfilgrastim ด้อยลงไป
ควรเก็บรักษาเพโกลทิเคสอย่างไร?
ควรเก็บยาเพโกลทิเคสในช่วงอุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
เพโกลทิเคสมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเพโกลทิเคสที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Krystexxa (คริสเทกซา) | Savient Pharmaceuticals, Inc. |
อนึ่งยานี้เดิมใช้ยาชื่อการค้าว่า Puricase
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Pegloticase [2016,May28]
- http://www.drugs.com/cdi/pegloticase.html [2016,May28]
- http://www.drugs.com/ppa/pegloticase.html [2016,May28]
- http://www.drugs.com/dosage/pegloticase.html [2016,May28]
- http://www.drugs.com/drug-interactions/pegloticase.html [2016,May28]
- http://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2010/125293s0000lbl.pdf [2016,May28]