เพอรินโดพริล (Perindopril)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 22 ธันวาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- เพอรินโดพริลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- เพอรินโดพริลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เพอรินโดพริลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เพอรินโดพริลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- เพอรินโดพริลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เพอรินโดพริลอย่างไร?
- เพอรินโดพริลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเพอรินโดพริลอย่างไร?
- เพอรินโดพริลมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เอซีอี อินฮิบิเตอร์ (ACE inhibitor)
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- ยาลดความดัน ยาลดความดันเลือดสูง ยาลดความดันโลหิตสูง (Antihypertensive drug)
- ยาขับปัสสาวะ (Diuretics Drugs)
- ยาแอมโลดิปีน (Amlodipine)
บทนำ
ยาเพอรินโดพริล(Perindopril หรือ Perindopril erbumine หรือ Perindopril arginine )เป็นยาในกลุ่มเอซีอี อินฮิบิเตอร์ (ACE inhibitor) ทางคลินิกนำมาใช้บำบัดอาการโรคความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ยานี้มีรูปแบบผลิตภัณฑ์เป็นยาชนิดรับประทาน หลังจากยานี้ถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร จะมีปริมาณยาเพียงประมาณ 24% ที่กระจายตัวเข้าสู่กระแสเลือด และจะถูกเมตาโบไลท์ (Metabolite,กระบวนการกำจัดยา) โดยไต อาจต้องใช้เวลาประมาณ 1 – 17 ชั่วโมง เพื่อกำจัดตัวยานี้ออกจากร่างกายทางปัสสาวะ
ยาเพอรินโดพริล ไม่เหมาะกับผู้ป่วยบางกลุ่ม ดังนี้ เช่น
- ผู้ที่มีประวัติแพ้ยาเพอรินโดพริล
- เป็นสตรีตั้งครรภ์
- ผู้ที่มีประวัติบวมตามร่างกายจากอาการแพ้ที่เรียกว่า Angioedema เช่นที่ มือ ใบหน้า ริมฝีปาก ตา คอ ลิ้น โดยมีสาเหตุจากการใช้ยากลุ่มเอซีอี อินฮิบิเตอร์
- ผู้ป่วยโรคไตระยะรุนแรง
- เป็นผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวาน หรือโรคไต ที่มีการใช้ยา Aliskiren
- เป็นผู้ป่วยที่มีการใช้ยาต่างๆดังต่อไปนี้ เช่นยา Cyclosporine, Everolimus, Dextran(สารน้ำที่ใช้แทนพลาสมาในการรักษาภาวะร่างกายเสียน้ำ), Furosemide, HCTZ, NSAIDs, Lithium, และ Sulfonylureas
ลักษณะของการใช้ยาเพอรินโดพริลเพื่อบำบัดความดันโลหิตสูงจะคล้ายกับยาลดความดันโลหิตตัวอื่นๆ เช่น รับประทานยาตรงเวลาในแต่ละวัน ต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่องและไม่ควรลืมที่จะรับประทาน สิ่งสำคัญควรตรวจความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ว่าหลังใช้ยานี้สามารถควบคุมความดันได้เป็นปกติ หากพบว่าอาการของความดันโลหิตสูงไม่ดีขึ้น ควรรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันนัด หรือกรณีที่พบว่าหลังการใช้ยานี้แล้วพบอาการไอ ควรแจ้งแพทย์เพื่อแพทย์อาจพิจารณาปรับเปลี่ยนยา
กลุ่มผู้ป่วยที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเมื่อใช้ยาเพอรินโดพริล ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยที่สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ได้มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ และยานี้ไม่เหมาะที่จะใช้กับเด็กและสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ด้วยยังขาดข้อมูลทางคลินิกมาสนับสนุนการใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว
ผู้ป่วยบางรายที่หลงลืมจนเกิดการรับประทานยาเพอรินโดพริลเกินขนาด อาจพบอาการ เป็นลม วิงเวียนรุนแรง ปวดศีรษะ และอ่อนเพลีย ซึ่งเมื่อพบเกิดอาการเหล่านี้ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนวันนัด
ยาเพอรินโดพริลสามารถใช้ในลักษณะยาเดี่ยว หรือใช้ร่วมกับยาลดความดันโลหิตตัวอื่นๆก็ได้ อย่างเช่น ยาขับปัสสาวะ ทั้งนี้จะต้องเป็นไปตามคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
เพอรินโดพริลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาเพอรินโดพริลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษาภาวะ/โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- รักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Coronary artery disease)
เพอรินโดพริลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเพอรินโดพริลมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะยับยั้งกระบวนการเปลี่ยนสาร Angiotensin I ไปเป็น Angiotensin II มีผลทำให้หลอดเลือดแดงลดความต้านทานโดยมีการขยายตัว จึงเพิ่มการไหลเวียนเลือดได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยลดปริมาณเลือดที่ถูกบีบออกจากหัวใจ ทำให้ความดันโลหิตในหลอดเลือดแดงลดตามไปเช่นกัน สำหรับที่หน่วยไต ตัวยายังเพิ่มการขับออกของเกลือโซเดียมไปกับปัสสาวะอีกด้วย จากกลไกที่กล่าวมา ทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
เพอรินโดพริลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเพอรินโดพริลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
ก. ยาเม็ดชนิดรับประทานที่เป็นยาเดี่ยว เช่น
- Perindopril arginine ขนาด 5 และ 10 มิลลิกรัม/เม็ด หรือ
- Perindopril erbumine ขนาด 4 มิลลิกรัม/เม็ด
ข. ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่น
- Perindopril arginine 5 มิลลิกรัม + Amlodipine 5 มิลลิกรัม/เม็ด
- Perindopril arginine 5 มิลลิกรัม + Amlodipine 10 มิลลิกรัม/เม็ด
- Perindopril arginine 10 มิลลิกรัม + Amlodipine 5 มิลลิกรัม/เม็ด
- Perindopril arginine 10 มิลลิกรัม + Amlodipine 10 มิลลิกรัม/เม็ด
เพอรินโดพริลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาเพอรินโดพริลมีขนาดรับประทาน เช่น
ก.สำหรับรักษาภาวะ/โรคความดันโลหิตสูง:
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานยา Perindopril erbumine 4 มิลลิกรัม หรือยา Perindopril arginine 5 มิลลิกรัม วันละ1 ครั้ง ก่อนอาหาร สำหรับยาเม็ดครั้งแรก ควรรับประทานก่อนนอน ยาเม็ดถัดมาอาจรับประทานระหว่างวัน หรือตามคำสั่งจากแพทย์
ข.สำหรับภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด:
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานยา Perindopril erbumine 4 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง ก่อนอาหาร หรือยา Perindopril arginine 5 มิลลิกรัม วันละ1ครั้งก่อนอาหาร เป็นเวลา 2 สัปดาห์ จากนั้น แพทย์จะค่อยๆปรับขนาดรับประทานเป็น 8 มิลลิกรัมกรณีเป็นยา Perindopril erbumine หรือ 10 มิลลลิกรัมกรณีเป็นยา Perindopril arginine วันละ 1ครั้ง
อนึ่ง:
- เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกของการใช้ยานี้ในเด็ก
- แพทย์อาจพิจารณาปรับขนาดรับประทานลงมาเมื่อใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคไต
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเพอรินโดพริล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไต รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเพอรินโดพริล อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภท สามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเพอรินโดพริล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2เท่า
แต่อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาเพอรินโดพริลตรงเวลา
เพอรินโดพริลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเพอรินโดพริลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น พบอาการไอ หายใจลำบาก/หลอดลมหดเกร็งตัว มีเลือดกำเดา ปอดบวม และเยื่อจมูกอักเสบ
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน ง่วงนอน เป็นลมแดด
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปวดท้อง ท้องผูกหรือท้องเสีย ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน ปากแห้ง ตับอ่อนอักเสบ
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำ ชีพจรเต้นผิดจังหวะ หลอดเลือดดำอักเสบ หน้าแดง หัวใจเต้นเร็ว หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผื่นคัน ลมพิษ แพ้แสงแดดได้ง่าย มีภาวะเหงื่อออกมาก
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น เป็นตะคริว ปวดหลัง ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ
- ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับเพิ่มสูงขึ้น ค่าบิลิรูบินในเลือดสูง ตับอักเสบ ตับวาย ดีซ่าน
- ผลต่อตา: เช่น การมองเห็นผิดปกติไป
- ผลต่อไต: เช่น ค่าสารยูเรียในเลือดสูง สารครีเอตินีน(Creatinine)ในเลือดเพิ่มขึ้น ไตวายเฉียบพลัน กรวยไตอักเสบ
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ค่าน้ำตาลในเลือดต่ำ ระดับเกลือโพแทสเซียมในเลือดสูง ในขณะที่เกลือโซเดียมในเลือดต่ำ
- ผลต่อระบบเลือด: เกิดภาวะ Eosinophilia (เม็ดเลือดขาวชนิด Eosinophil สูง) Leukopenia(เม็ดเลือดขาวต่ำ) Neutropenia(เม็ดเลือดขาวชนิดNeutrophilต่ำ) Agranulocytosis(เม็ดเลือดขาวชนิดGranulocyte ต่ำ) ค่าฮีโมโกลบินลดลง ในผู้ป่วยโรค/ภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี/G6PDที่รับประทานยานี้จะเกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตกจนเป็นเหตุให้เกิดโลหิตจาง
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น อารมณ์ฉุนเฉียว สับสน ซึมเศร้า ประสาทหลอน
- ผลต่ออวัยวะสืบพันธุ์: เช่น สมรรถนะทางเพศในบุรุษถดถอย
มีข้อควรระวังการใช้เพอรินโดพริลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้เพอรินโดพริล เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้หรือแพ้ยาในกลุ่ม ACE inhibitor
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่เป็นแองจิโออีดีม่าชนิดที่เกิดจากพันธุกรรม (Idiopathic angioedema)
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยเบาหวานที่มีการใช้ยา Aliskiren
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ระวังการเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ ดังนั้นระหว่างการใช้ยานี้จะต้องคอยตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ ตามแพทย์ พยาบาล เภสัชกร แนะนำ
- ยานี้อาจมีฤทธิ์กดการทำงานของไขกระดูก ผู้ป่วยจึงอาจได้รับการตรวจเลือดเป็นระยะๆตามที่แพทย์เห็นสมควร
- หากพบอาการ วิงเวียน ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆ หรือเลี่ยง การทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักร เพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- หากพบเกิดมีอาการไอโดยไม่มีสาเหตุ ควรแจ้งแพทย์ เพื่อแพทย์พิจารณาปรับการรักษา
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเพอรินโดพริลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
เพอรินโดพริลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเพอรินโดพริลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาเพอรินโดพริลร่วมกับยาขับปัสสาวะ อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยาเพอรินโดพริลร่วมกับยาที่มีโพแทสเซียมเป็นส่วนประกอบ(เช่น Potassium iodide) อาจทำให้เกิดภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดสูง หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- ห้ามใช้ยาเพอรินโดพริลร่วมกับยา NSAID หรือยา Aspirin ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพในการลดความดันโลหิตด้อยลง
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเพอรินโดพริลร่วมกับยา Lithium ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับพิษ/ผลข้างเคียงจาก Lithium สูงขึ้น
ควรเก็บรักษาเพอรินโดพริลอย่างไร?
ควรเก็บยาเพอรินโดพริลในช่วงอุณหภูมิ 15 – 30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
เพอรินโดพริลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเพอรินโดพริลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Coversyl Arginine (โคเวอร์ซิล อาร์จินิน) | Servier |
Covrix (โควริกซ์) | Sinensix Pharma |
Coveram (โคเวอแรม) | Servier |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ที่จำหน่ายในต่างประเทศ เช่น Coversyl, Coversum, Perindopril erbumine, Aceon, Perigard, Eviper