เพรดนิโซน (Prednisone)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ : คือยาอะไร?

เพรดนิโซน (Prednisone) คือ ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ชนิดสังเคราะห์ มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย และทำให้การอักเสบของร่างกายตามอวัยวะต่างๆทุเลาลง ทางคลินิกได้นำไปใช้รักษาได้หลายอาการโรค เช่น รักษาอาการโรคหืด,  โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง/โรคซีโอพีดี, อาการโรคข้อรูมาตอยด์, อาการแพ้สิ่งต่างๆของร่างกาย, ลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง,  โรคโครห์น (Crohn’s disease),

ภาวะแคลเซียมในเลือดสูงอันเนื่องจากโรคมะเร็ง,  ต่อมไทรอยด์อักเสบ, กล่องเสียงอักเสบ, ลมพิษ, เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ, โรคลูปัส-โรคเอสแอลอี,  โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง, และป้องกันการปฏิเสธอวัยวะที่ได้รับการปลูกถ่าย, บางกรณียังมีการนำไปใช้รักษาอาการปวดหัวไมเกรน, แผลร้อนในระยะรุนแรง, ใช้ต่อต้านพวกเนื้องอก และอื่นๆ

การใช้ยานี้ระยะสั้นอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงคล้ายกับการได้รับยากลุ่มกลูโคคอร์ติคอยด์ทั่วไป เช่น มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง,  มีอารมณ์เหวี่ยง/อารมณ์แปรปรวน, น้ำหนักตัวเพิ่ม,  ใบหน้าบวม,  ซึมเศร้า, เป็นต้น

การใช้ยาเพรดนิโซนมากกว่า 7 วันขึ้นไปจะเริ่มก่อให้เกิดภาวะกดการทำงานของต่อมไร้ท่อของร่างกาย ทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid)ตามธรรมชาติได้น้อยลง และต้องการยา(ติดยา)เพรดนิโซนแทน การหยุดใช้ยานี้ต้องกระทำแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยแพทย์จะเป็นผู้ปรับลดขนาดการใช้กับผู้ป่วยเพื่อให้ส่งผลเสียต่อผู้ป่วยน้อยที่สุด

รูปแบบยานี้ที่เป็นยาแผนปัจจุบันที่พบเห็นการใช้บ่อยตามสถานพยาบาลจะเป็นยาชนิด รับประทาน ซึ่งปกติการดูดซึมยาของร่างกายจากระบบทางเดินอาหารทำได้ประมาณ 70% และเมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือด ตับจะเปลี่ยนโครงสร้างของ’ยาเพรดนิโซน’ ไปเป็นยา‘เพรดนิโซโลน (Prednisolone)’ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงในการกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

ยาเพรดนิโซน เป็นยาที่รักษาได้หลายอาการโรค มีขนาดรับประทานรวมถึงระยะเวลาของการใช้แตกต่างกันออกไป การเลือกใช้ยานี้ได้อย่างปลอดภัยจึงต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

เพรดนิโซนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

เพรดนิโซน

ยาเพรดนิโซนมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้: 

  • รักษาอาการแพ้ของร่างกาย (Allergic conditions) เช่น โรคภูมิแพ้
  • รักษาโรคลูปัส-โรคเอสแอลอี
  • รักษาภาวะแคลเซียมในเลือดสูงเนื่องจากโรคมะเร็ง
  • รักษาอาการวัณโรคตามอวัยวะต่างๆของร่างกายที่นอกเหนือจากปอด(Extrapulmonary tuberculosis)
  • รักษาโรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)
  • รักษาโรคหืด (Asthma)

เพรดนิโซนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาเพรดนิโซนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของ ร่างกายพร้อมกับต้านการอักเสบของอวัยวะต่างๆ จากกลไกดังกล่าวทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

เพรดนิโซนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเพรดนิโซนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 1, 2.5, 5, 10, 20 และ 50 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาน้ำชนิดรับประทาน ขนาด 1 และ 5 มิลลิกรัม/ มิลลิลิตร

เพรดนิโซนมีขนาดรับประทาน/การบริหารยาอย่างไร?

ขนาดรับประทานทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่ของยาเพรดนิโซนเริ่มต้นอยู่ในช่วง 5 - 60 มิลลิกรัม/วัน ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของโรคและความรุนแรง, อายุของผู้ป่วย, โรคประจำตัวของผู้ป่วย, ซึ่งแพทย์จะคอยปรับขนาดรับประทานที่เหมาะสมให้ผู้ป่วย กรณีใช้ยานี้เป็นเวลานานแล้วอาการโรคดีขึ้น แพทย์จะปรับขนาดรับประทานลดลงมาเป็นลำดับ และผู้ป่วยไม่ควรหยุดการใช้ยาทันทีด้วยตนเองเพราะจะเกิดอาการถอนยา/ลงแดงติดตามมา

*อนึ่ง:

  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): บางชนิดของโรค ขนาดยานี้ต้องขึ้นกับน้ำหนักตัวของเด็กด้วย
  • ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันทีเพื่อลดผลข้างเคียงของยาต่อกระเพาะอาหาร

*****หมายเหตุ:  ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเพรดนิโซน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเพรดนิโซนอาจส่งผลให้อาการโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเพรดนิโซน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับ การรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

เพรดนิโซนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเพรดนิโซนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)  เช่น

  • เกิดภาวะคั่งของน้ำและเกลือโซเดียมในร่างกาย
  • ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
  • ความดันโลหิตสูง
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • มวลของกล้ามเนื้อลดลง/กล้ามเนื้อลีบ
  • กระดูกพรุน
  • เส้นเอ็นปริแตก
  • กระดูกหักง่าย
  • แผลในกระเพาะอาหาร และอาจมีเลือดออกร่วมด้วย
  • ตับอ่อนอักเสบ
  • หากมีบาด แผลจะหายช้ากว่าปกติ
  • ทำให้ผิวบาง
  • ใบหน้าบวม
  • เหงื่อออกมาก
  • อาจกระตุ้นให้เกิดอาการชัก
  • วิงเวียน
  • ปวดหัว
  • ประจำเดือนผิดปกติ (ในสตรีวัยมีประจำเดือน)
  • กดการเจริญเติบโตในผู้ป่วยเด็ก
  • มีน้ำตาลในเลือดสูงจนอาจต้องรับประทานยาเบาหวานเพิ่มขึ้นเมื่อใช้ยานี้กับผู้ป่วยเบาหวาน
  • สามารถกระตุ้นให้เป็นต้อกระจก หรือ ต้อหิน
  • มีลมพิษเกิดขึ้นตามผิวหนัง
  • อาจเกิดภาวะแพ้ยาขึ้นได้

มีข้อควรระวังการใช้เพรดนิโซนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้เพรดนิโซน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาและ/หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มี โรคเชื้อรา,  โรคติดเชื้อไวรัส, ในระบบต่างๆของร่างกาย
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคต่างๆ
  • ระวังการเกิดภาวะติดเชื้อตามมาหลังใช้ยาเพรดนิโซน
  • ระวังการเกิดโรค ต้อกระจก, ต้อหิน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • การหยุดใช้ยานี้จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษา
  • ระวังการเกิดอาการชักของผู้ป่วย
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเพรดนิโซนด้วย) ยาแผนโบราณ   อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

เพรดนิโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเพรดนิโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาเพรดนิโซน ร่วมกับยา Bupropion อาจเป็นเหตุให้เกิดอาการชักในผู้ป่วยได้ง่าย โดยเฉพาะ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่ติดสุรา หรือผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคลมชักอยู่แล้ว การจะใช้ทั้งคู่กับผู้ป่วยต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์เท่านั้น
  • ห้ามใช้ยาเพรดนิโซน ร่วมกับ วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ (Smallpox vaccine) ด้วยอาจก่อความเสี่ยงของการติดเชื้อโรคฝีดาษ/ไข้ทรพิษของผู้ป่วย อีกทั้งสามารถเพิ่มหรือลดการตอบสนองของร่างกายต่อการกระตุ้นด้วยวัคซีน
  • การใช้ยาเพรดนิโซน ร่วมกับ ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย/ยาปฏิชีวนะบางตัว เช่นยา Ciprofloxacin, Norfloxacin สามารถทำให้เกิดอาการเอ็นอักเสบ(เอ็นบาดเจ็บ)และปริแตกได้ มักพบในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป หรือในผู้ป่วยที่ได้รับการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะเช่น เปลี่ยนไต หัวใจ ปอด ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทั้ง 2 กลุ่มร่วมกัน
  • การใช้ยาเพรดนิโซน ร่วมกับยา Phenobarbital, Phenytoin และ Rifampin อาจเร่งให้ตับทำลายยาเพรดนิโซนเพิ่มขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาเพรดนิโซนอย่างไร?

ควรเก็บยาเพรดนิโซน: เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

เพรดนิโซนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเพรดนิโซน  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Eltazon (เอลทาซอน) Ifars
Inflason (อินฟลาชัน) Berlico Mulia Farma
Prednisone tablet (เพรดนิโซน แท็ปเบลท) Hikma Pharmacutica
Pehacort (เพฮาคอร์ท) Phapros

 

บรรณานุกรม

1  https://en.wikipedia.org/wiki/Prednisone   [2021,Dec25]

2 https://www.mims.com/philippines/drug/info/prednisone?mtype=generic   [2021,Dec25]

3 https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=prednisone   [2021,Dec25]

4 https://www.drugs.com/search.php?q=Deltasone&referer=pillid  [2021,Dec25]

5 https://www.drugs.com/pro/prednisone.html  [2021,Dec25]

6 https://www.mims.com/Indonesia/drug/search/?q=prednisone   [2021,Dec25]