เพมโบรลิซูแมบ (Pembrolizumab)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเพมโบรลิซูแมบ(Pembrolizumab ชื่อเดิมคือ Lambrolizumab) เป็นยาในกลุ่มโมโนโครนอลแอนติบอดี(Monoclonal antibody)ที่สังเคราะห์ขึ้นจากเซลล์มนุษย์ (Humanized monoclonal antibody) ใช้สำหรับการรักษาโรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา (Malignant melanoma)ในระยะที่โรคมีการแพร่กระจาย และ/หรือไม่สามารถผ่าตัดได้ รวมถึงเมื่อโรคไม่ตอบสนองต่อยาเคมีบำบัด, มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต (Non-small cell lung cancer), มะเร็งระบบศีรษะและลำคอ (Head and neck cancer เช่น มะเร็งคอหอย)ระยะที่โรคมีการแพร่กระจายและ/หรือไม่ตอบสนองต่อยาเคมีบำบัด ทั้งนี้การใช้ยาเพมโบลิซูแมบอาจพิจาณาใช้เป็นยาเดี่ยว หรือใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัดชนิดอื่นๆได้ นอกจากนี้ ยาเพมโบรลิซูแมบยังอยู่ในระหว่างการศึกษาเพื่อนำมาใช้กับโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ เช่น มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร

ผู้ป่วยที่กำลังได้รับยาเพมโบรลิซูแมบ ควรติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากยานี้ที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดการรักษาด้วยตนเอง และรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล ทันที หากมีอาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นก่อนวันแพทย์นัดทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยและผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยอาการไม่พึงประสงค์ที่มักพบจากยานี้ คือ ปฏิกิริยาการอักเสบที่เกิดขึ้นจากภูมิคุ้มกัน/ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายที่เกิดขึ้นกับอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น อาการ ปอดอักเสบ ลำไส้อักเสบ ตับอักเสบ ต่อมหมวกไตอักเสบ ไตอักเสบ

ยาเพมโบรลิซูแมบมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

เพมโบรลิซูแมบ

ยาเพมโบรลิซูแมบ เป็นยาในกลุ่มโมโนโครนอล แอนติบอดีที่สังเคราะห์ขึ้นจากเซลล์มนุษย์ ใช้สำหรับการรักษามะเร็งผิวหนัง เมลาโนมาระยะที่มีโรคแพร่กระจายหรือไม่สามารถผ่าตัดได้ รวมถึงไม่ตอบสนองต่อยาเคมีบำบัด, มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต, มะเร็งระบบศีรษะและลำคอระยะที่โรคมีการแพร่กระจายและไม่ตอบสนองต่อยเคมีบำบัด ทั้งนี้การใช้ยาเพมโบลิซูแมบอาจพิจาณาใช้เป็นยาเดี่ยว หรือใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัดชนิดอื่นๆได้

ยาเพมโบรลิซูแมบมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเพมโบรลิซูแมบเป็นยาที่ใช้สำหรับรักษามะเร็งผิวหนังเมลาโนมาระยะที่มีการแพร่กระจาย หรือไม่สามารถผ่าตัดได้ รวมถึงไม่ตอบสนองต่อยาเคมีบำบัด, มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต, มะเร็งศีรษะและลำคอระยะที่มีการแพร่กระจาย และไม่ตอบสนองต่อยาเคมีบำบัด ซึ่งยานี้มีกลไกการออกฤทธ์เป็นยาในกลุ่มโมโนโครนอล แอนติบอดีของมนุษย์ (Humanized monoclonal antibody) ซึ่งถูกสังเคราะห์ขึ้นด้วยวิธีการทางการตัดต่อยีนส์ (Recombinant DNA derived)

กลไกการออกฤทธิ์ของยาเพมโบรลิซูแมบ คือ ในร่างกาย มีสารโปรตีนชนิดหนึ่ง ชื่อว่า “Programmed cell death protein 1 ย่อได้เป็น PD-1” เป็นสารโปรตีนอยู่ที่เซลล์เมมเบรน /เยื่อหุ้มเซลล์(Cell membrane)โดยทำหน้าที่เป็นตัวรับ/Receptor ที่เรียกว่า Cell surface receptor พบตัวรับนี้ได้ส่วนใหญ่บนเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย/ระบบภูมิคุ้มกัน เช่น T cells, B cells, และ Macrophages, โดยจะจับกับลิแกนด์(Ligand/โมเลกุลของอะตอมเพื่อใช้ในการยึดเกาะกันของอะตอม) 2 ชนิด คือ “Programmed death ligand 1 (PD-L1)” และ “Programmed death ligand 2 (PD-L2)” ที่มีบทบาทสำคัญในการลดการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันโดยขัดขวางการปลุกฤทธิ์และการทำหน้าที่ของ T cells จึงลดการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันร่างกาย (Autoimmunity) และส่งเสริมการเกิดภาวะที่ระบบภูมิคุ้มกันไม่ตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Self-tolerance) โดยเพิ่มการเกิด Apoptosis (Programmed cell death, การตายด้วยวิธีธรรมชาติของเซลล์)ของเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกัน(Antigen specific T cells)ในต่อมน้ำเหลือง ในขณะที่ลดการเกิด Apoptosis ของเซลล์ที่ชื่อว่า Regulatory T cells (Suppressor T cells) สำหรับลิแกนด์ทั้ง 2 ชนิดดังกล่าวนั้น พบได้บนเซลล์หลายชนิดรวมถึงเซลล์เนื้องอก /เซลล์มะเร็ง ที่เกี่ยวข้องกับ PD-L1 และ PD-L2

การที่เซลล์เนื้องอก/เซลล์มะเร็งมีการปรากฏของ PD-L1 อย่างมากมายทำให้จับกับ PD-1 บน T cells ได้มาก เป็นเหตุให้ลดการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต่อเนื้องอก จึงเป็นการยับยั้งกลไกการเกิดเนื้องอก (Antitumor activity)ของร่างกาย ดังนั้นจึงมีผู้พยายามคิดค้นยาที่ขัดขวางการจับกันของ PD-1 กับ PD-L1 เพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันกลับมาทำหน้าที่จัดการกับเนื้องอก/มะเร็ง โดยหวังประโยชน์ในการนำมาใช้รักษาโรคมะเร็ง ซึ่งยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้ง PD-1 เรียกว่า “PD-1 inhibitors” ซึ่งเป็นกลไกการออกฤทธิ์ของยาเพมโบรลิซูแมบนี้

ยาเพมโบรลิซูแมบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ที่มีจำหน่ายของยาเพมโบรลิซูแมบมี 2 รูปแบบ คือ

  • ผงยาปราศจากเชื้อสำหรับบริหาร/ให้ยาทางหลอดเลือดดำ (Lyophilized Powder for reconstitution) บรรจุในภาชนะแก้ว โดยมีขนาดยา 50 มิลลิกรัมต่อขวด และ
  • สารละลายปราศจากเชื้อสำหรับบริหารทางหลอดเลือดดำ (Solution for injection) มีความแรง 100 มิลลิกรัมต่อ 4 มิลลิลิตร

ยาเพมโบรลิซูแมบมีวิธีใช้ยาอย่างไร?

วิธีการใช้ยา/ขนาดยาเพมโบรลิซูแมบ คือ ตัวยา 2 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1กิโลกรัม หรือ 200 มิลลิกรัมต่อครั้ง ความถี่ในการบริหารยานี้ คือ บริหารยานี้ ทุกๆ 3 สัปดาห์ จนกว่าโรคมะเร็งมีความก้าวหน้า/ลุกลามมากขึ้น หรือผู้ป่วยได้รับพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)จากยานี้ ทั้งนี้ขนาดยาที่ผู่ปวยจะได้รับนั้น ขึ้นกับชนิดโรคมะเร็งที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ ทั้งนี้ควรอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์โรคมะเร็ง เนื่องจากขนาดยาจะมีการปรับเปลี่ยนตามอาการไม่พึงประสงค์จากยาที่ผู้ป่วยได้รับร่วมกับภาวะการทำงานของตับหรือของไตที่บกพร่อง

อนึ่ง คำแนะนำในการเตรียมยาเพมโบรลิซูแมบเพื่อการบริหารยา มีขั้นตอน ดังนี้

ก. สำหรับผงยาปราศจากเชื้อสำหรับบริหารทางหลอดเลือดดำ (Lyophilized Powder for reconstitution) ขนาดยา 50 มิลลิกรัม/ขวด:

1. นำขวดยาที่บรรจุผงยาเพมโบลิซูแมบออกจากตู้เย็น ตั้งทิ้งไว้ ณ อุณหภูมิห้องเป็นเวลาประมาณ 10 – 15 นาที

2. ทำการละลายผงยาด้วยน้ำกลั่นปราศจากเชื้อ(Sterile water for injection) เตรียมน้ำกลั่นปริมาตร 2.3 มิลลิลิตร โดยดูดน้ำกลั่นปริมาตรที่ต้องการเข้าในกระบอกฉีดยาด้วยเข็มฉีดยา

3. วางขวดยาเพมโบรลิซูแมบให้ตั้งขึ้นบนพื้นที่เตรียมยาที่มีลักษณะราบ เสียบเข็มและฉีดน้ำกลั่นปราศจากเชื้อสำหรับยาฉีดเข้าสู่ขวดยาด้วยเทคนิคปลอดเชื้อมาตรฐาน ฉีน้ำกลั่นปราศจากเชื้อลงในขวดยาโดยฉีดเข้าข้างๆในขวดบรรจุผงยา ไม่ฉีดน้ำกลั่นโดยตรงลงบนผงยา

4. แกว่งขวดยาไปรอบๆเป็นแนววงกลมอย่างสม่ำเสมอ ห้ามเขย่าขึ้นลงอย่างแรงโดยเด็ดขาด ตั้งขวดยาที่ผงยาละลายเป็นเนื้อเดียวกับน้ำกลั่นแล้วไว้ประมาณ 5 นาทีเพื่อให้ฟองอากาศที่มีอยู่ในขวดยาหายไป จะได้สารละลายยาที่มีความเข้มข้น 25 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร

5. จากนั้นนำสารละลายยาที่มีลักษณะใสเป็นเนื้อเดียวกันแล้ว ไปเจือจางต่อในสารน้ำ ต่อไปนี้ NSS (0.9% NaCl/Sodium chloride), D5W(5% dextrose in water) ละลายจนได้ความเข้มข้นสุดท้ายของสารละลายยาที่มีความเจือจางเหมาะสม คือ 1 – 10 มิลลิกรัมต่อมิลลิตรสำหรับการบริหารยาแก่ผู้ป่วยต่อไป

ข. สำหรับสารละลายปราศจากเชื้อสำหรับบริหารทางหลอดเลือดดำ (Solution for injection) ขนาดยา 100 มิลลิกรัมต่อ 4 มิลลิลิตร:

นำสารละลายยาที่มีความเข้มข้น 100 มิลลิกรัมต่อ 4 มิลลิลิตร ที่มีลักษณะใสไปเจือจางต่อในสารน้ำ ต่อไปนี้ NSS (0.9% NaCl), D5W ละลายจนได้ความเข้มข้นสุดท้ายของสารละลายยาที่มีความเจือจางเหมาะสม คือ 1 – 10 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร สำหรับการบริหารยาแก่ผู้ป่วยต่อไป

ทั้งนี้ ภายหลังการเจือจางยาฉีดเพมโบรลิซูแมบทั้ง 2 รูปแบบ เพื่อบริหารยาแก่ผู้ป่วย สารละลายยาที่เจือจางแล้วจะคงสภาพได้ 6 ชั่วโมงที่อุณหภูมิห้อง และสามารถคงสภาพได้ 24 ชั่วโมงภายหลังการเจือจางเมื่อเก็บสารละลายยาดังกล่าวในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 2 – 8 องศาเซลเซียส(Celsius) ดังนั้นการบริหารยาแก่ผูป่วย ณ อุณหภูมิห้องควรทำให้เสร็จภายใน 6 ชั่วโมง หากยาฉีดที่เจือจางแล้วมีระยะเวลาเกินกว่าเวลาที่กล่าวไว้ ควรทิ้งยาดังกล่าวไป

วิธีการบริหารยาเพมโบรลิซูแมบ คือ บริหารสารละลายยาเพมโบรลิซูแมบเข้าทางหลอดเลือดดำเป็นเวลานานมากกว่า 30 นาที โดยอาจพิจารณาใช้ชุดตัวกรองยาในการให้ยาด้วย ห้ามให้ยาโดยการฉีดแบบ IV push(Intravenous push ฉีดตัวยาเข้าหลอดเลือดดำโดยไม่ใช่การหยดยา)เด็ดขาด

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเพมโบรลิซูแมบ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยา / แพ้อาหาร / แพ้สารเคมีทุกชนิด
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะ ยาเพมโบรลิซูแมบอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เนื่องจาก ยาเพมโบรลิซูแมบคาดว่าอาจมีผลพิษต่อทารกในครรภ์ได้ ซึ่งอาจก่อให้ทารกเกิดความพิการขึ้นได้ และหากอยู่ในช่วงให้นมบุตร แนะนำให้หลีกเลี่ยงการให้นมบุตร เพราะยาเพมโบรลิซูแมบสามารถถูกขับออกทางน้ำนม ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยานี้ที่รุนแรงแก่ทารกที่กำลังได้นมแม่ได้

กรณีผู้ป่วยสตรี หยุดการใช้ยาเพมโบรลิซูแมบแล้วมีแผนการตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร ควรวางแผนการตั้งครรภ์และให้นมบุตรหลังจากได้รับยาเพมโบรลิซูแมบครั้งสุดท้ายผ่านไปแล้วเป็นเวลา 4 เดือนโดยควรต้องปรึกษาแพทย์ผู้รักษาโรคมะเร็งของผู้ป่วยก่อนเสมอ

หากลืมไปรับยาเพมโบรลิซูแมบควรทำอย่างไร?

กรณีผู้ป่วยลืมไปรับยาเพมโบลิซูแมบตามตารางการได้รับยาที่กำหนด ผู้ป่วยควรต้องรีบติดต่อโรงพยาบาลที่เข้ารับการรักษาโดยทันที เพื่อนัดหมายเข้ารับการบริหารยาดังกล่าวให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อประสิทธิภาพที่ดีในการรักษาด้วยยาเพมโบรลิซูแมบ

ยาเพมโบรลิซูแมบมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

อาการไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ที่อาจพบได้ เมื่อผู้ป่วยได้รับยาเพมโบรลิซูแมบ เช่น

  • อาการทั่วไป เช่น อาการบวมตามอวัยวะส่วนปลาย คือ มือ เท้า (Peripheral edema) อาการเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ
  • อาการทางผิวหนัง เช่น ผื่นคันตามร่างกาย ผิวหนังติดเชื้อได้ง่าย
  • อาการทางระบบต่อมไร้ท่อ เช่น ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ หรือภาวะไทรอยด์ฮฮร์โมนสูง(ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ) ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ภาวะไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง
  • อาการทางระบบเดินทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องเสียหรือท้องผูก ลำไส้อักเสบ
  • ผลลดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค ได้แก่ เกิดการติดเชื้อต่างๆได้ง่าย เช่น การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ/ โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อ/โรคติดทางเดินหายใจส่วนบน เยื่อจมูกอักเสบ ลำคออักเสบ โรคปอดบวม/ปอดอักเสบ

มีข้อควรระวังการใช้ยาเพมโบรลิซูแมบอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเพมโบรลิซูแมบ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้ โดยเฉพาะมีประวัติการแพ้ยาที่สังเคราะห์มาจากโมโนโคลนอล แอนติบอดี(Monoclonal antibody)มาก่อน
  • ยานี้อาจทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้ จึงต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์โรคมะเร็งเท่านั้น
  • เมื่อผู้ป่วยใช้ยานี้ ควรติดตามปฏิกิริยาการอักเสบที่เกิดขึ้นจากภูมิคุ้มกันร่างกายที่เกิดขึ้นกับอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น อาการปอดอักเสบที่เกิดจากภูมิคุ้มกันร่างกายที่มาต่อต้าน (Cell-mediated pneumonitis) ลำไส้อักเสบ (Immune-mediated colitis) ตับอักเสบ (Autoimmune hepatitis) ต่อมหมวกไตอักเสบ (Immune-mediated hypophysitis) ไตอักเสบ (Autoimmune nephritis) นอกจากนี้ยังมีการอักเสบที่เกิดขึ้นกับผิวหนังที่แสดงออกด้วยผิวลอกอักเสบ (Exfoliative dermatitis) ข้ออักเสบ (Arthritis) ช่องปากอักเสบ และคออักเสบ กล้ามเนื้ออักเสบ โดยแพทย์จะพิจารณาให้การรักษาภาวะอักเสบในอวัยวะต่างๆด้วยยาคอร์ติโคสเตียรอยด์(Corticosteroid) เพื่อลดภาวะอักเสบที่เกิดขึ้น
  • การใช้ยาเพมโบรลิซูแมบในช่วงกำลังตั้งครรภ์ ควรหลีกเลี่ยง เนื่องจากยานี้มีผลพิษต่อทารกในครรภ์จนอาจก่อให้ทารกเกิดความพิการขึ้นได้ และหากอยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรหลีกเลี่ยงการให้นมบุตร เพราะยังไม่มีการศึกษาว่ายานี้ถูกขับออกทางน้ำนมหรือไม่ ซึ่งหากยาถูกขับออกทางน้ำนมจริง อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยานี้ที่รุนแรงแก่ทารกที่ได้รับน้ำนมมารดาได้ ดังนั้น ควรพิจารณาหยุดให้นมบุตรหากมารดากำลังได้รับยานี้อยู่ หรือหยุดการใช้ยานี้ในช่วงที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของมารดาต่อภาวะโรคที่กำลังเป็นอยู่ โดยการใช้ยาควรอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ด้านโรคมะเร็งเท่านั้น

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยา เพมโบรลิซูแมบ) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาเพมโบรลิซูแมบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาที่พบว่า ยาเพมโบรลิซูแมบจะเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชนิดอื่นๆ

ควรเก็บรักษายาเพมโบรลิซูแมบอย่างไร?

แนะนำเก็บยาเพมโบรลิซูแมบทั้ง 2 รูปแบบในบรรจุภัณฑ์เดิม เก็บรักษายาในตู้เย็นช่องปกติ (อุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส) เก็บยาให้พ้นจากแสง/แสงแดด ห้ามแช่ยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ระวังวิธีการขนส่งยาโดยขนส่งด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรเขย่าหรือทำให้สารละลายยากระทบกระเทือน

ภายหลังการเจือจางยาฉีดเพมโบรลิซูแมบทั้ง 2 รูปแบบเพื่อบริหารยาแก่ผู้ป่วย สารละลายยานี้ที่เจือจางแล้ว จะคงสภาพได้ 6 ชั่วโมงที่อุณหภูมิห้อง และสามารถคงสภาพได้ 24 ชั่วโมงภายหลังการเจือจางเมื่อเก็บสารละลายยาดังกล่าวในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 2 – 8 องศาเซลเซียส ดังนั้นการบริหารยาแก่ผูป่วย ณ อุณหภูมิห้องควรทำให้เสร็จภายใน 6 ชั่วโมง หากยาฉีดที่เจือจางแล้วมีระยะเวลาเกินกว่าเวลาที่กล่าวไว้ ควรทิ้งยาดังกล่าวไป

ยาเพมโบรลิซูแมบมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเพมโบรลิซูแมบ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
KeytrudaMerck

บรรณานุกรม

  1. Lacy CF. Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 24th ed. Ohio: Lexi-Comp,Inc.; 2015-16.
  2. Micromedex Healthcare Series, Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado
  3. หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. Pembrolizumab..PD-1 monoclonal antibody ที่ใช้รักษามะเร็งผิวหนังและมะเร็งปอด. 2559
  4. หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. PD-1 และ PD-L1…เป้าหมายในการออกฤทธิ์ของยาต้านมะเร็ง. 2559
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Pembrolizumab [2017,July8]