เพมิเทรกเซด (Pemetrexed)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเพมิเทรกเซด(Pemetrexed) เป็นยาเคมีบำบัดที่ใช้รักษามะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต (Non small cell lung cancer)และโรคเนื้องอกของเยื่อหุ้มปอด(Pleural Mesothelioma) ยาเพมิเทรกเซดได้รับการยอมรับและขึ้นทะเบียนตั้งแต่ปี ค.ศ.2004 (พ.ศ.2547) สามารถใช้เป็นยาเคมีบำบัดเชิงเดี่ยว หรือจะใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัดตัวอื่น เช่นยา Cisplatin หรือ Carboplatin เพื่อรักษาโรคมะเร็งและเนื้องอกดังกล่าว ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ที่ตรวจรักษา

ยาเพมิเทรกเซดมีรูปแบบของเภสัชภัณฑ์เป็นยาฉีดที่ต้องหยดยาเข้าหลอดเลือดดำ ตัวยาในกระแสเลือดจะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 81% และถือเป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ยานี้อยู่ในร่างกายนานประมาณ 3.5 ชั่วโมงก่อนที่จะถูกกำจัดทิ้งไปกับปัสสาวะ

ยาเพมิเทรกเซดสามารถยับยั้งการเจริญของมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโตและเนื้องอกเยื่อหุ้มปอดโดยมีกลไกการออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ 3 ตัวในเซลล์มะเร็ง คือ Thymidylate synthase , Dihydrofolate reductase, และ Glycinamide ribonucleotide formyltransferase ส่งผลให้ชะลอการสังเคราะห์สาร Purine และ Pyrimidine ซึ่งเป็นสาร ประกอบสำคัญที่เซลล์มะเร็งใช้ในการเจริญเติบโต

โดยทั่วไป การใช้ยาเพมิเทรกเซดกับผู้ป่วย จะให้เป็นรอบของการรักษา เช่น การให้ยาเพมิเทรกเซด 1 ครั้งในทุกๆ 21 วัน สำหรับขนาดการใช้ยานี้ แพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้คำนวณโดยนำพื้นที่ผิวเป็นตารางเมตรของร่างกายผู้ป่วยมาเป็นปัจจัยสำคัญ สำหรับข้อห้ามใช้ยานี้ขึ้นอยู่กับตัวผู้ป่วยว่ามีประวัติแพ้ยา หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับของยาเพมิเทรกเซดหรือไม่

ทางคลินิก มีคำเตือนและข้อควรระวังอยู่หลายข้อที่เกี่ยวกับการใช้ยาเพมิเทรกเซด ซึ่งผู้ป่วยควรทำความเข้าใจเพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติตัวระหว่างการรักษาดังนี้ เช่น

  • ยาเพมิเทรกเซดเป็นยาที่กดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง แต่ก็มีฤทธิ์กดการ เจริญเติบโตของเซลล์ปกติในร่างกายด้วย รวมถึงการกดไขกระดูก ทำให้ร่างกายมีภาวะโลหิตจาง ในทางปฏิบัติ แพทย์จะให้ยาประเภทกรดโฟลิก(Folic acid) มารับประทานก่อนการบำบัดด้วยยาเพมิเทรกเซดล่วงหน้าประมาณ 7 วัน เพื่อป้องกันและบรรเทาอาการโลหิตจาง รวมถึงสั่งฉีดวิตามินบี 12 เพื่อบำรุงร่างกายของผู้ป่วย
  • ยานี้จะถูกกำจัดออกจากร่างกายโดยผ่านไต กรณีที่ผู้ป่วยมีการทำงานของไตผิดปกติโดยวัดจากค่าคลีเอตินินเคลียแรนซ์ (Creatinine clearance) หากน้อย กว่า 45 มิลลิลิตร/นาที จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงและห้ามการใช้ยาเพมิเทรกเซดกับผู้ป่วย กลุ่มนี้
  • การใช้ยาระงับอาการปวดกลุ่ม NSAIDs อย่างเช่นยา Ibuprofen ในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเพมิเทรกเซดจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ด้วยยาทั้ง 2 กลุ่มมีการกำจัดออก จากร่างกายโดยไต ยากลุ่มNSAIDs จึงส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง) จากยาเพมิเทรกเซดได้มากยิ่งขึ้น
  • ขณะที่ได้รับยานี้ ผู้ป่วยต้องเข้ารับการตรวจผลเลือดต่างๆ เช่น CBC เพื่อประเมินร่างกายของตนเองว่าเหมาะสมที่จะได้รับยานี้ในรอบการใช้ยาต่อไปหรือไม่โดยเป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้ เช่น มีจำนวนเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิล(Neutrophil) ไม่ต่ำกว่า 1,500 เซลล์/ลูกบาศก์มิลลิเมตร มีจำนวนเกล็ดเลือดไม่ต่ำกว่า 100,000 เซลล์/ลูกบาศก์มิลลิเมตร มีการทำงานของไตวัดจากค่าคลีเอตินินเคลียแรนซ์ไม่ต่ำกว่า 45 มิลลิลิตร/นาที เป็นต้น หากผลการตรวจเลือดดังกล่าว ไม่เข้าข่ายตามข้อกำหนดข้างต้น แพทย์จะเลื่อนการนัดการให้ยาเพมิเทรกเซดในรอบถัดไป จนกว่าผลเลือดต่างๆจะอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถให้ยานี้ได้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ ด้วยตัวยาเพมิเทรกเซดเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ โดยก่อให้เกิดการวิกลรูป(พิการ)ของทารก สตรีที่อยู่ในระหว่างการใช้ยาเคมีบำบัดทุกชนิดรวมถึงยาเพมิเทรกเซด ควรต้องป้องกันการตั้งครรภ์โดยใช้วิธีคุมกำเนิดร่วมด้วย เช่น การใช้ถุงยางอนามัยชาย
  • ยาเพมิเทรกเซดสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียงต่อระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆในร่างกายได้หลายระบบ เช่น ระบบการสร้างเม็ดเลือดของไขกระดูก การทำงานของไต การทำงานของระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาท ผลต่อผิวหนัง ระบบหายใจ ระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย ตลอดจนถึงสภาพทางจิตใจของผู้ป่วยและมีการแสดงออกของอาการข้างเคียงในแต่ละระบบแตกต่างกันออกไป บางกรณีอาจต้องใช้ยาอื่นๆเพื่อบำบัดผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น เช่น การใช้ยาวิตามินต่างๆเพื่อช่วยสร้างเม็ดเลือด รวมถึงการปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ก็สามารถบรรเทาอาการข้างเคียงต่างๆได้อย่างเหมาะสม
  • ยาเพมิเทรกเซดสามารถเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นได้เช่นเดียวกัน ระหว่างการใช้ยานี้ จึงห้ามมิให้ผู้ป่วยซื้อหายาอื่นใดมารับประทานเองโดยมิได้ขอคำแนะนำจากแพทย์ ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา) ที่จะส่งผลกระทบ/ผลข้างเคียงรุนแรงต่อผู้ป่วยได้โดยตรง
  • ยาเพมิเทรกเซดถูกออกแบบมาใช้กับผู้ใหญ่เท่านั้น ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิก มายืนยันความปลอดภัยการใช้ยานี้กับผู้ป่วยเด็ก จึงถือเป็นข้อห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วย เด็กหรืออาจต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาโดยพิจารณาเป็นกรณีไป
  • สำหรับการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุซึ่งจัดเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่เกิดอาการข้างเคียงได้ง่ายกว่ากลุ่มอายุอื่น แพทย์เท่านั้นที่สามารถพิจารณาการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุได้อย่างเหมาะสมที่สุด
  • ไม่มีข้อจำกัดการใช้ยานี้ระหว่างผู้ป่วยบุรุษและสตรี การใช้ยานี้ในผู้ป่วยทั้ง 2เพศ ใช้หลักการบริหารยานี้/ใช้ยานี้เช่นเดียวกัน

กระทรวงสาธารณสุขไทย ได้ระบุให้ยาเพมิเทรกเซดที่มีวางจำหน่ายภายใน ประเทศไทย เป็นยาควบคุมพิเศษ โดยมีการใช้ในสถานพยาบาลหรือในศูนย์บำบัดโรคมะเร็งเท่านั้น และไม่พบเห็นการจำหน่ายยานี้ตามร้านขายยาทั่วไป

อนึ่ง มีรายละเอียดของยาเพมิเทรกเซดอีกหลายประการ ที่ไม่สามารถนำมาเขียนลงในบทความนี้ได้หมด หากผู้บริโภค/ผู้ป่วยมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับยานี้ สามารถสอบถามข้อมูลได้จากแพทย์ผู้รักษา หรือจากเภสัชกรที่ประจำในสถานพยาบาลที่เข้ารับการรักษาได้ตลอดเวลา

เพมิเทรกเซดมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เพมิเทรกเซด

ยาเพมิเทรกเซดมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น เพื่อบรรเทารักษาอาการของ

  • มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต (Non small cell lung cancer)
  • เนื้องอกของเยื่อหุ้มปอด (Pleural Mesothelioma)

โดยตัวยานี้จะออกฤทธ์ชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งและเนื้องอกดังกล่าว

เพมิเทรกเซดมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเพมิเทรกเซดมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะออกฤทธิ์ต่อต้านการสังเคราะห์สาร Purine และ Pyrimidine ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่เซลล์มะเร็งใช้ในการเจริญเติบโต โดยยาจะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ 3 ตัวในเซลล์มะเร็ง คือ Thymidylate synthase , Dihydrofolate reductase, และ Glycinamide ribonucleotide formyltransferase, ด้วยกลไกนี้เอง ทำให้เซลล์มะเร็งและเซลล์เนื้องอกหยุด การเจริญเติบโต และก่อให้เกิดฤทธิ์การรักษาได้ตามสรรพคุณ

เพมิเทรกเซดมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเพมิเทรกเซดมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เป็น

  • ยาฉีดชนิดผง ที่มีส่วนประกอบของยา Pemetrexed ขนาด 100 และ 500 มิลลิกรัม/ขวด

เพมิเทรกเซดมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาเพมิเทรกเซดมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

ก. บำบัดมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโตและเนื้องอกของเยื่อหุ้มปอดโดยใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัด Cisplatin:

  • ผู้ใหญ่: หยดยาเพมิเทรกเซดที่เตรียมเป็นสารละลายเข้าหลอดเลือดดำในขนาด 500 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวของร่างกาย 1 ตารางเมตร โดยใช้เวลาในการหยดยาเข้าหลอด เลือดดำในระยะเวลานานมากกว่า 10 นาที ขึ้นไป รอเวลาประมาณ 30 นาที เพื่อให้ยาเพมิเทรกเซดกระจายทั่วร่างกายและเข้าถึงปอด จากนั้นให้ยา Cisplatin ขนาด 75 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวของร่างกาย 1 ตารางเมตร โดยใช้เวลาของการให้ยานานมากกว่า 2 ชั่วโมงขึ้นไป การใช้ยาทั้ง 2 ตัวนี้กับผู้ป่วย 1 ครั้ง/รอบ ให้เว้นระยะเวลารออีก 21 วัน จึงสามารถใช้ยานี้ ได้อีก 1 ครั้ง และจำนวนรอบของการฉีดยาให้เป็นไปตามที่แพทย์นัดหมาย

ข. บำบัดมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโตโดยใช้ในลักษณะยาเดี่ยว:

  • ผู้ใหญ่: หยดยาเพมิเทรกเซดที่เตรียมเป็นสารละลายเข้าหลอดเลือดดำในขนาด 500 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวของร่างกาย 1 ตารางเมตร โดยใช้เวลาให้ยานานมากกว่า 10 นาที ขึ้นไป การใช้ยานี้กับผู้ป่วย 1 ครั้ง ให้เว้นช่วงรอ 21 วัน เพื่อมารับยาครั้งถัดไป

อนึ่ง:

  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
  • ยาเพมิเทรกเซดเป็นเภสัชภัณฑ์ยาฉีดที่มีลักษณะเป็นผง บุคลากรทางการแพทย์จะเตรียมยาให้เป็นสารละลายก่อนนำมาใช้ โดยเจือจางด้วยน้ำยา 0.9% Sodium chloride ประมาณ 20 มิลลิลิตร ต่อยาเพมิเทรกเซดขนาด 500 มิลลิกรัม
  • เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ผู้ป่วยควรมารับการฉีดยานี้ตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง
  • ก่อนการใช้ยาเพมิเทรกเซด 1 อาทิตย์ แพทย์จะให้ยาวิตามินเพื่อบำรุงเลือด เช่น Folic acid ขนาด 400-1000 ไมโครกรัม/วัน สำหรับป้องกันภาวะโลหิตจาง และภาวะเม็ดเลือดขาวนิวโทรฟิลลดต่ำลง นอกจากนี้แพทย์จะให้ Vitamin B12 ฉีดเข้ากล้าม/กล้ามเนื้อให้ผู้ป่วย อาจจะฉีดก่อนรับยาเพมิเทรกเซดในสัปดาห์เดียวกันและฉีดให้อีกทุกๆ 3 รอบของการรับยา
  • เพื่อป้องกันการเกิดอาการผื่นคันทางผิวหนัง แพทย์อาจจะสั่งจ่ายยา Dexamethasone ขนาด 4 มิลลิกรัม แบบรับประทาน วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ให้กับผู้ป่วย
  • ผู้ป่วยต้องมารับ การตรวจเลือดต่างๆ เช่น CBC ตรวจเลือดดูการทำงานของไตเพื่อดูความเหมาะสมในการรับยาครั้งถัดไปตามแพทย์นัดทุกครั้ง

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง เท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเพมิเทรกเซด ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไต มีภูมิต้านทาน (ภูมิคุ้มกัน หรือภูมิคุ้มกันต้านทานโรค)ของร่างกายต่ำ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่เพราะยาเพมิเทรกเซดอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?

การรับการบำบัดรักษาด้วยยาเคมีบำบัดทุกชนิดรวมยาเพมิเทรกเซด ต้องอาศัยความต่อเนื่อง ประกอบกับสภาพร่างกายผู้ป่วยต้องพร้อมต่อการให้ยา กรณีที่ผู้ป่วยไม่ได้มารับการฉีดยาตามที่แพทย์นัดหมาย ให้รีบแจ้งและทำการนัดหมายครั้งใหม่กับแพทย์/พยาบาลที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว

เพมิเทรกเซดมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเพมิเทรกเซดสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะ Neutropenia(เม็ดเลือดขาวชนิด Neutrophil ต่ำ) , Granulocytopenia (เม็ดเลือดขาวชนิด Granulocyte ต่ำ) , Leukopenia (เม็ดเลือดขาวทุกชนิดต่ำ), Hemoglobinemia (มีสารฮีโมโกลบินในพลาสมา) ,Thrombocytopenia(เกล็ดเลือดต่ำ), มีภาวะโลหิตจางด้วยเม็ดเลือดแดงแตก
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน กระเพาะอาหารอักเสบ คออักเสบ ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก อาหารไม่ย่อย แสบร้อนกลางอก ลำไส้ใหญ่อักเสบ มีเลือดออกในทางเดินอาหาร เช่นในลำไส้เล็ก
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น เส้นประสาทอักเสบ การรับรสชาติอาหารผิดปกติ มีไข้
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจล้มเหลว เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เลือดไปเลี้ยงปลายมือ-เท้าไม่เพียงพอ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นเร็ว
  • ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น ตับอักเสบ
  • ผลต่อไต: เช่น ค่าครีเอตินิน(Creatinine)ในเลือดเพิ่มขึ้น เกิดภาวะไตวาย
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ผมร่วง ลมพิษ Stevens-Johnson syndrome
  • ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ร่างกายอยู่ในภาวะขาดน้ำ
  • ผลต่อตา: เช่น เยื่อตาอักเสบ
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ซึม
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ปอดอักเสบ
  • ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย: เช่น ติดเชื้อในกระแสเลือด(ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ)

มีข้อควรระวังการใช้เพมิเทรกเซดอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเพมิเทรกเซด เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับ
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีค่า Creatinine clearance น้อยกว่า 45 มิลลิลิตร/นาที
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลต่ำกว่า 1,500 เซลล์/ลูกบาศก์มิลลิเมตร หรือมีจำนวนเกล็ดเลือด ต่ำกว่า 100,000 เซลล์/ลูกบาศก์มิลลิเมตร
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่ง จากแพทย์
  • ห้ามใช้ร่วมกับวัคซีนชนิดต่างๆ ด้วยอาจทำให้ผู้ป่วยมีการติดเชื้อจากวัคซีนเหล่านั้น
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น ยาตกตะกอนไม่ละลาย หรือสียาเปลี่ยนไป
  • ห้ามผู้ป่วยใช้ยาเพมิเทรกเซดร่วมกับยาอื่นๆโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ระวังการใช้ยาเพมิเทรกเซดร่วมกับยาที่ถูกขับทิ้งโดยไต เช่นกลุ่มยาNSAIDs ด้วยจะส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่ของไตจนอาจทำให้เกิดไตวาย
  • มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัด เพื่อรับการตรวจร่างกายจากแพทย์ เพื่อดูความก้าวหน้าของการรักษา รวมถึงการตรวจความสมบูรณ์ของระบบเลือด การทำงานของไต ว่าเหมาะสมต่อการฉีดยานี้ในครั้งต่อไปหรือไม่
  • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด เช่น การพักผ่อน การรับประทานอาหาร รวมถึงการใช้ยาบำรุงเลือดตามที่แพทย์แนะนำ และมารับยากรดโฟลิก หรือการฉีดวิตามิน บี12 ตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเพมิเทรกเซดด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

เพมิเทรกเซดมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเพมิเทรกเซดมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ระหว่างที่ได้รับยาเพมิเทรกเซด ห้ามผู้ป่วยฉีดวัคซีนชนิดต่างๆ เช่น วัคซีนหัด วัคซีนหัดเยอรมัน วัคซีนบีซีจี วัคซีนงูสวัด วัคซีนฝีดาษ ด้วยจะเกิดความเสี่ยงของการติดเชื้อจากตัววัคซีนเอง รวมถึงการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายจากวัคซีนมีโอกาสล้มเหลวสูง
  • ห้ามใช้ยาเพมิเทรกเซดร่วมกับยาบำบัดโรคข้อรูมาตอยด์ อย่างเช่นยา Golimumab, Infliximab ด้วยจะก่อให้เกิดภาวะติดเชื้อต่อร่างกายได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเพมิเทรกเซดร่วมกับยากลุ่ม NSAIDs อย่างเช่นยา Ibuprofen, Ketoprofen, ด้วยยาNSAID ส่งผลต่อการทำงานของไตในการกำจัดยาเพมิเทรกเซดออกจากร่างกายได้น้อยลง ผลที่ตามมา จะทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงของยาเพมิเทรกเซดมากขึ้น เช่น เกิดไข้ ปวดตามร่างกาย มีอาการคล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่ ปากเป็นแผล เป็นต้น และอาจเกิดไตวายได้
  • ห้ามใช้ยาเพมิเทรกเซดร่วมกับยา Lithium ด้วยจะทำให้ระดับยาเพมิเทรกเซด ในเลือดเพิ่มขึ้นจนส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการ โลหิตจาง เลือดออกง่าย เกิดการติดเชื้อหรือเส้นประสาทถูกทำลายตามมา

ควรเก็บรักษาเพมิเทรกเซดอย่างไร?

ควรเก็บยาเพมิเทรกเซดภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

เพมิเทรกเซดมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเพมิเทรกเซดที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Alimta (อะลิมทา)Eli Lilly
Emetex (อีมีเทกซ์)Shanghi Chemo Wangbang Biopharma

อนึ่งยาชื่อการค้าของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Pexate, Giopem

บรรณานุกรม

  1. http://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2008/021462s015lbl.pdf[2017,April1]
  2. https://www.drugs.com/drug-interactions/pemetrexed-index.html?filter=3&generic_only=#I[2017,April1]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/emetex/?type=brief[2017,April1]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/pemetrexed/?type=brief&mtype=generic[2017,April1]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Pemetrexed#Mechanism_of_action[2017,April1]
  6. https://www.drugs.com/drug-interactions/pemetrexed-index.html?filter=3&generic_only=[2017,April1]