เพนโตซาน พอลิซัลเฟต โซเดียม (Pentosan polysulfate sodium)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 29 สิงหาคม 2562
- Tweet
- บทนำ
- เพนโตซาน พอลิซัลเฟต โซเดียมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- เพนโตซาน พอลิซัลเฟต โซเดียมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เพนโตซาน พอลิซัลเฟต โซเดียมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เพนโตซาน พอลิซัลเฟต โซเดียมมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- เพนโตซาน พอลิซัลเฟต โซเดียมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เพนโตซาน พอลิซัลเฟต โซเดียมอย่างไร?
- เพนโตซาน พอลิซัลเฟต โซเดียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเพนโตซาน พอลิซัลเฟต โซเดียมอย่างไร?
- เพนโตซาน พอลิซัลเฟต โซเดียมมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis)
- ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia)
- ยาเฮพาริน (Heparin)
- สไปโรโนแลคโตน (Spironolactone)
- ยาฆ่าเชื้อ (Antimicrobial drug) ยาแก้อักเสบ (Anti inflammatory drug)
บทนำ
ยาเพนโตซาน พอลิซัลเฟต โซเดียม (Pentosan polysulfate sodium) เป็นสารประกอบกึ่งสังเคราะห์ที่มีโครงสร้างเคมีคล้ายกับสารเฮพารินชนิดมวลโมเลกุลต่ำ(Low-molecular weight heparinoid) ทางคลินิก นำมาใช้เป็นยารักษาอาการปวดกระเพาะปัสสาวะอักเสบแบบเรื้อรังที่ไม่ทราบสาเหตุและไม่มีการติดเชื้อ(Interstital cystitis)
ยาเพนโตซาน พอลิซัลเฟต โซเดียม มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นแบบรับประทาน กรณีที่มีอาการปวดกระเพาะปัสสาวะไม่มากผู้ป่วยต้องใช้ยานี้ต่อเนื่อง 6–8 สัปดาห์จึงเห็นประสิทธิผล หากมีอาการปวดกระเพาะปัสสาวะแบบรุนแรงอาจจะต้องใช้ยาประมาณ 6 เดือนขึ้นไป
ร่างกายของมนุษย์จะใช้เวลา 20–27 ชั่วโมงในการกำจัดยาเพนโตซาน พอลิซัลเฟต โซเดียม ทิ้ง โดยผ่านไปกับอุจจาระเป็นส่วนมาก และบางส่วนถูกกำจัดไปทางปัสสาวะ
ด้วยยาเพนโตซาน พอลิซัลเฟต โซเดียม มีคุณสมบัติต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด การใช้ยานี้ต่อเนื่องจึงต้องระวังการเกิด ภาวะเลือดออกง่าย, ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ตลอดจนกระทั่งมีอาการผิดปกติที่ตับและที่กระเพาะอาหาร รวมถึงอาการข้างเคียงอื่นๆจึงเป็นเหตุผลให้แพทย์มักจะใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป
ในต่างประเทศ ยาเพนโตซาน พอลิซัลเฟต โซเดียมถูกผลิตและจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า ‘Elmiron-100 mg.’ ประเทศไทยจะหาใช้ยาชนิดนี้ได้ยากทั้งนี้อาจมีเหตุผลจากความชุกชุมของโรคประกอบกับมียาอื่นที่ใช้เป็นทางเลือกและมีคุณภาพในการรักษาใกล้เคียงกัน
เพนโตซาน พอลิซัลเฟต โซเดียมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาเพนโตซาน พอลิซัลเฟต โซเดียม มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ คือ
- บำบัดอาการปวดจากกระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรังที่ไม่มีการติดเชื้อร่วมด้วย (Interstitial cystitis)
เพนโตซาน พอลิซัลเฟต โซเดียมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเพนโตซาน พอลิซัลเฟต โซเดียมที่ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายจะถูกส่งผ่านไปกับกระแสเลือดจนถึงกระเพาะปัสสาวะ ตัวยาจะเข้าจับกับพื้นผิวของกระเพาะปัสสาวะ(Epithelium of bladder) และออกฤทธิ์ป้องกันมิให้สารที่ก่ออาการระคายเคืองเข้ามาสัมผัสกับผนังกระเพาะปัสสาวะ(Buffer to protect epithelium) จากกลไกนี้เองจึงช่วยบรรเทาอาการปวดกระเพาะปัสสาวะได้ตามสรรพคุณ
เพนโตซาน พอลิซัลเฟต โซเดียมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเพนโตซาน พอลิซัลเฟต โซเดียม มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Pentosan polysulfate sodium ขนาด 100 มิลลิกรัม/แคปซูล
เพนโตซาน พอลิซัลเฟต โซเดียมมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาเพนโตซาน พอลิซัลเฟต โซเดียม มีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป: รับประทานยาขนาด 100 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลาต่อเนื่อง 3 เดือน หรือเป็นไปตามคำสั่งแพทย์
อนึ่ง: ควรรับประทานยานี้ก่อนอาหาร 1 ชั่วโมงหรือหลังอาหาร 2 ชั่วโมง
- เด็กที่รวมถึงผู้อายุต่ำกว่า16ปี: ยังไม่มีข้อมูลการใช้ยานี้อย่างปลอดภัย
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาเพนโตซาน พอลิซัลเฟต โซเดียม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคตับ โรคกระเพาะอาหาร รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเพนโตซาน พอลิซัลเฟต โซเดียม อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
กรณีลืมรับประทานยาเพนโตซาน พอลิซัลเฟต โซเดียม สามารถรับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ห้ามเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติเท่านั้น
เพนโตซาน พอลิซัลเฟต โซเดียมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเพนโตซาน พอลิซัลเฟต โซเดียมสามารถก่อให้เกิด ผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร:เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย ปากเป็นแผล อาเจียน ท้องผูก กระเพาะอาหารอักเสบ เลือดออกตามไรฟัน
- ผลต่อระบบประสาท:เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน
- ผลต่อสภาพทางจิตใจ:เช่น อาจมีอาการ ซึมเศร้า นอนไม่หลับ อารมณ์แปรปรวน
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ:เช่น คออักเสบ เยื่อจมูกอักเสบ หายใจขัด/หายใจลำบาก
- ผลต่อกล้ามเนื้อ:เช่น ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ:เช่น ปัสสาวะบ่อย
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย:เช่น น้ำหนักตัวเพิ่มหรือไม่ก็ลด
- ผลต่อระบบเลือด:เช่น โลหิตจาง/ซีด โปรทรอมบินไทม์(Prothrombin time, ระยะเวลาที่เลือดใช้ในการแข็งตัว)เพิ่มขึ้น ระดับเม็ดเลือดขาวต่ำ, เกล็ดเลือดต่ำ
- ผลต่อตับ:เช่น ตับทำงานผิดปกติ
- ผลต่อตา:เช่น เยื่อตาอักเสบ ประสาทตาอักเสบ
- ผลต่อผิวหนัง:เช่น มีอาการ ผมร่วง ผื่นคัน
*อนึ่ง: กรณีรับประทานยาเพนโตซาน พอลิซัลเฟต โซเดียมเกินขนาด จะเกิดอาการ เลือดออกง่าย, ตับทำงานผิดปกติ, ปวดกระเพาะอาหาร/ปวดท้อง, ซึ่งการช่วยเหลือผู้ป่วยคือ ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว/ทันที
มีข้อควรระวังการใช้เพนโตซาน พอลิซัลเฟต โซเดียมอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเพนโตซาน พอลิซัลเฟต โซเดียม เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยากับ สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปีนอกจากมีคำสั่งแพทย์
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วย อาการเลือดออกง่าย ผู้ป่วยโรคตับ ผู้ป่วยโรคแผลในกระเพาะอาหาร
- ห้ามปรับขนาดรับประทานยาด้วยตนเอง
- หลังรับประทานยานี้แล้วมีอาการวิงเวียนศีรษะ ห้ามขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆ รวมถึงการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรทุกชนิดเพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- หากพบอาการข้างเคียงจากยานี้ที่รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น ท้องเสียบ่อยครั้ง วิงเวียนศีรษะมาก ให้หยุดใช้ยา แล้วรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- ระหว่างที่ใช้ยานี้ ผู้ป่วยต้องมาโรงพยาบาลรับการตรวจเลือดเพื่อดู ระดับเม็ดเลือด/ซีบีซี, ระดับแคลเซียม, การทำงานของตับ-ไต, ตลอดจนกระทั่ง Prothrombin time
- ปฏิบัติตามคำแนะนำการใช้ยาของแพทย์อย่างเคร่งครัดและควรมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเพนโตซาน พอลิซัลเฟต โซเดียมด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
เพนโตซาน พอลิซัลเฟต โซเดียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเพนโตซาน พอลิซัลเฟต โซเดียม มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเพนโตซาน พอลิซัลเฟต โซเดียมร่วมกับยา Heparin, ยากลุ่มNSAIDs , Streptokinase , Tissue plasminogen activator ด้วยจะทำให้ เกิดภาวะเลือดออกง่ายตามมา
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเพนโตซาน พอลิซัลเฟต โซเดียม ร่วมกับ ยาSpironolactone ด้วยจะทำให้ระดับโพแทสเซียมในร่างกายสูงผิดปกติ ซึ่งส่งผลก่อให้เกิดภาวะไตวาย กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต/กล้ามเนื้ออ่อนแรง หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจหยุดเต้น
ควรเก็บรักษาเพนโตซาน พอลิซัลเฟต โซเดียมอย่างไร?
ควรเก็บรักษาเพนโตซาน พอลิซัลเฟต โซเดียม เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 15–30 องศาเซลเซียส(Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาที่หมดอายุ
- ไม่ทิ้งยาลงในแม่น้ำคูคลองตามธรรมชาติ
เพนโตซาน พอลิซัลเฟต โซเดียมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเพนโตซาน พอลิซัลเฟต โซเดียม มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Elmiron (เอลมิรอน) | Janssen Ortho LLC |
บรรณานุกรม
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/pentosan%20polysulfate%20sodium/?type=brief&mtype=generic [2019,Aug10]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Pentosan_polysulfate [2019,Aug10]
- http://www.janssenlabels.com/package-insert/product-monograph/prescribing-information/ELMIRON-pi.pdf[2019,Aug10]
- https://www.drugs.com/ppa/pentosan-polysulfate-sodium.html [2019,Aug10]