เพนทามิดีน (Pentamidine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

ยาเพนทามิดีน (Pentamidine) คือ ยาที่ใช้รักษาโรคปอดอักเสบ/ปอดบวมที่เกิดจากโรคเชื้อรา Pneumocystis jirovecii ที่ดื้อต่อยา Co-Trimoxazole ซึ่งมักพบอาการป่วยลักษณะนี้กับผู้ที่เป็นโรคเอดส์

นอกจากนี้ ยาเพนทามิดีนยังสามารถรักษาอาการของโรคอันมีสาเหตุจากเชื้อโปรโตซัว (โรคติดเชื้อสัตวเซลล์เดียว)ที่ก่อให้เกิดโรคลิชมาเนีย (Leishmaniasis) รวมถึงการติดเชื้อประเภทยีสต์ (Yeast: เชื้อราประเภทหนึ่ง)ตามอวัยวะต่างๆของร่างกาย โดยปกติระยะเวลาของการใช้ยานี้กับผู้ป่วยอยู่ในช่วง 14 - 21 วัน, การใช้ยานี้เกิน 21 วันขึ้นไปอาจเพิ่มความเป็นพิษของยาต่อร่างกายได้

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นประเภทยาฉีดโดยให้ฉีดทางหลอดเลือดดำ และยาสูดพ่นเข้าระบบทางเดินหายใจ

ขณะที่ยาเพนทามิดีนเข้าสู่กระแสเลือด จะมีการรวมตัวกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 69% ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 6 - 9 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านไปกับปัสสาวะ

องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้ยาเพนทามิดีนเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานสำหรับชุมชน คณะกรรม การอาหารและยาของไทยก็ได้บรรจุยานี้ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติและจัดอยู่ในหมวดยาอันตราย เราจึงพบเห็นการใช้ยาได้ตามสถานพยาบาลเท่านั้น

เพนทามิดีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

เพนทามิดีน

ยาเพนทามิดีนมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • รักษาอาการปอดอักเสบ/ปอดบวมจากโรคเชื้อรา Pneumocystis jirovecii

เพนทามิดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเพนทามิดีนมีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะยับยั้งกระบวนการทางชีวภาพเพื่อการดำรงชีวิตของเชื้อราที่มีชื่อเรียกว่า Oxidative phosphorylation นอกจากนี้ยังเข้ารบกวนการรวมตัวของสารพันธุกรรม DNA/RNA รวมถึงการสังเคราะห์โปรตีนของเชื้อรานี้อีกด้วย จากกลไกเหล่านี้จึงมีผลให้เกิดฤทธิ์รักษาตามสรรพคุณ

เพนทามิดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเพนทามิดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาสูดพ่นเข้าระบบทางเดินหายใจ และ
  • ยาฉีด ขนาด 300 มิลลิกรัม

เพนทามิดีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ในบทความนี้ขอยกตัวอย่างเฉพาะขนาดยาสำหรับรักษาโรคปอดบวมที่ติดเชื้อ Pneumocystis jirovecii ชนิดที่เป็นยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำเท่านั้น การใช้ยานี้ด้วยวิธีพ่นเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา และจะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน

  • ผู้ใหญ่: เช่น ฉีดทางหลอดเลือดดำโดยปรับอัตราการหยดยาตามคำแนะนำของเอกสารกำกับยา/ฉลากยา ขนาดยาคือ 4 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันเป็นเวลา 14 - 21 วัน
  • เด็กอายุ 4 เดือน - 18 ปี: เช่น ให้ยา/หยดยาทางหลอดเลือดดำโดยปรับอัตราการหยดยาตามคำ แนะนำของเอกสารกำกับยาเช่นกัน ขนาดยาคือ 4 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันเป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 4 เดือน: ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนในขนาดการใช้ยานี้ ขนาดยานี้ในเด็กกลุ่มนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเพนทามิดีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเพนทามิดีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

เพนทามิดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเพนทามิดีนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • ทำให้ไตวายหรือไตทำงานผิดปกติ
  • ตรวจเลือดจะพบระดับเอนไซม์การทำงานของตับเพิ่มสูงขึ้น
  • เกิดความผิดปกติต่อระบบเลือด เช่น มีภาวะ Leukopenia (เม็ดเลือดขาวต่ำ), Anemia (โรคซีด), Thrombocytopenia (เกล็ดเลือดต่ำ), เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจากนั้นติดตามด้วยการมีน้ำตาลในเลือดสูงคล้ายกับเป็นเบาหวานประเภทที่ 1
  • นอกจากนั้น หลังจากการฉีดยานี้อาจเกิด ภาวะความดันโลหิตต่ำ
  • หากให้ยาทางหลอดเลือดดำเร็วเกินไป จะก่อให้เกิดอาการ วิงเวียน ปวดหัว อาเจียน อึดอัด/หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว และเป็นลม

*อนึ่ง:

  • การฉีดยานี้เข้ากล้ามเนื้อมักจะทำให้เกิดการปวดระบมบวมบริเวณที่ฉีดยา และอาจทำให้กล้ามเนื้อลายสลาย (Rhabdomyolysis)ได้, นอกจากนี้ยังอาจพบอาการอื่นๆ เช่น เกลือแคลเซียมในเลือดต่ำ, ขณะที่เกลือโพแทสเซียมในเลือดสูง, มีภาวะผื่นคัน, เป็นไข้, ใบหน้าแดง, ชัก, ประสาทหลอน, อาหารไม่ย่อย, ปวดท้อง
  • *สำหรับผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด จะพบอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งแพทย์จะให้การรักษาผู้ป่วยตามอาการที่เกิดขึ้น

มีข้อควรระวังการใช้เพนทามิดีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเพนทามิดีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติเป็นโรคหืด ผู้สูบบุหรี่จัด ผู้ป่วยด้วยภาวะเกลือแมกนิเซียมและเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ, ผู้ป่วยโรคหัวใจเช่น มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหัวใจเต้นช้า, ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงหรือผู้ป่วยความดันโลหิตต่ำ, ผู้ป่วยที่มีภาวะทั้งน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำ, ผู้ป่วยโรคตับ, โรคไต, ผู้ป่วยที่มีปัญหาทางเม็ดเลือด เช่น Leukopenia (เม็ดเลือดขาวต่ำ) Anemia (ซีด/เม็ดเลือดแดงต่ำ) และ Thrombocytopenia (เกล็ดเลือดต่ำ)
  • ระวังการใช้ยานี้ในสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • หลีกเลี่ยงการฉีดยานี้เข้ากล้ามเนื้อและการฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำอย่างรวดเร็ว
  • ระหว่างการใช้ยานี้ต้องคอยควบคุมความดันโลหิตของผู้ป่วยให้เป็นปกติเสมอ
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเพนทามิดีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

เพนทามิดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเพนทามิดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาเพนทามิดีน ร่วมกับยา Amiodarone หรือ Levacetylmethadol (ยาแก้ปวดกลุ่ม Opioid) อาจก่อให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาเพนทามิดีน ร่วมกับยา Didanosine หรือ Zalcitabine (ยาต้านไวรัส) อาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะตับอ่อนอักเสบ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาเพนทามิดีน ร่วมกับยา Tenofovir อาจทำให้ไตทำงานผิดปกติ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันและเพื่อหลีกเลี่ยงอาการดังกล่าว แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยากับคนไข้ให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาเพนทามิดีน ร่วมกับยา Sotalol (ยาควบคุมการเต้นของหัวใจ) สามารถก่อให้เกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ รวมถึงมีภาวะเกลือแร่/แร่ธาตุในร่างกายเสียสมดุล ร่วมกับเกิดอาการท้องเสียและอาเจียนตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาเพนทามิดีนอย่างไร?

ควรเก็บยาเพนทามิดีน: เช่น

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

เพนทามิดีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเพนทามิดีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Pentacarinat (เพนทาคาริแนท) sanofi-aventis

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Pentamidine [2021,Oct30]
  2. https://www.mims.com/thailand/drug/info/pentacarinat [2021,Oct30]
  3. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Pentacarinat/?type=brief [2021,Oct30]
  4. https://www.drugs.com/mtm/pentamidine.html [2021,Oct30]