เบลลาดอนนา อัลคาลอยด์ (Belladonna alkaloid)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเบลลาดอนนา อัลคาลอยด์(Belladonna alkaloid หรือ Atropa belladonna หรือ Belladonna/เบลลาดอนนา หรือ Deadly nightshade)เป็นสารประกอบที่นักวิทยาศาสตร์สกัดจากใบและรากของต้นเบลลาดอนนา มนุษย์ได้นำสารสกัดประเภทเบลลาดอนนามาใช้ตั้งแต่อดีต เช่น น้ำเบลลาดอนนา เบอร์รี่ จุ้ย (Belladonna berry juice) ถูกนำมาช่วยขยายรูม่านตาของสตรีทำให้ดูโดดเด่น แต่ก็ไม่ใช่เรื่องดีนักเพราะสารสกัดจากเบลลาดอนนาสามารถก่อให้เกิดพิษขึ้นได้ นอกจากนี้ ยาเบลลาดอนนายังถูกใช้อย่างกว้างขวางในฐานะเป็นยาสงบประสาท(ยาคลายเครียด) ยาบรรเทาอาการหอบหืด ลดอาการไอ ลดอาการแพ้ของไข้ละอองฟาง บำบัดอาการของโรคพาร์กินสัน ลดอาการปวดเกร็ง/ปวดบีบประเภทที่เรียกว่า โคลิก(Colic) บรรเทาอาการเมารถ-เมาเรือ คลื่นไส้ อาเจียน และใช้ระงับอาการปวดต่างๆ

รูปแบบผลิตภัณฑ์ของยาเบลลาดอนนา/เบลลาดอนนาอัลคาลอยด์ มีทั้งเป็น ขี้ผึ้งทาผิวเพื่อบรรเทาอาการปวดข้อ ปวดขา ปวดเส้นประสาท หรือในรูปแบบพลาสเตอร์ปิดผิวหนังเพื่อบำบัดอาการของผู้ป่วยโรคจิตประสาท สำหรับรูปแบบยาเหน็บทวารจะใช้บรรเทาอาการปวดของริดสีดวงทวาร จนกระทั่งปัจจุบัน ยาเบลลาดอนนาได้ถูกพัฒนารูปแบบเป็นยารับประทานแล้ว ประโยชน์มากมายทางคลินิกดังกล่าวของยานี้ มาจากกลไกการออกฤทธิ์ของตัวยาเบลลาดอนนา ที่ปิดกั้นการทำงานของระบบประสาทนั่นเอง

การใช้สาร/ยาเบลลาดอนนาอัลคาลอยด์ อาจก่อให้เกิดอาการ วิงเวียน ตาพร่า ง่วงนอน และห้ามใช้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ เพราะจะทำให้อาการวิงเวียนทวีความรุนแรงขึ้น ผู้ที่ได้รับสารประกอบ/ยาเบลลาดอนนาควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ร้อน เพราะยาเบลลาดอนนามีฤทธิ์กดการขับเหงื่อ จึงทำให้การระบายความร้อนของร่างกายถูกปิดกั้น และอาจเกิดภาวะลมแดดได้มากขึ้น

ทั้งนี้ มีผู้ป่วยบางกลุ่มที่ไม่เหมาะต่อการใช้ยาเบลลาดอนนา อัลคาลอยด์ เช่น ผู้ป่วยโรคไต ผู้ที่มีภาวะทางเดินปัสสาวะอุดกั้น/ปัสสาวะขัด ผู้ที่มีสภาพทางเดินอาหารตีบตัน/ลำไส้อุดตัน มีแผลที่ลำไส้ใหญ่/ลำไส้ใหญ่อักเสบ เป็นโรคต้อหิน หรือโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีโรคบางประเภทในผู้ป่วยบางกลุ่มที่จะต้องเฝ้าระวังการกำเริบของอาการโรคเป็นพิเศษหากได้รับตัวยาที่มีเบลลาดอนนา เช่น โรคตับ โรคต่อมไทรอยด์ โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจเต้นผิดปกติที่รวมถึงโรคหัวใจประเภทต่างๆ โรคกรดไหลย้อน โรคต่อมลูกหมากโต โรคปอด

อนึ่ง สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ไม่สมควรใช้ยาเบลลาดอนนา อัลคาลอยด์อย่างยิ่ง

สำหรับผู้ที่ได้รับสาร/ยาเบลลาดอนนาเกินขนาด มักจะพบเห็นอาการ ปวดศีรษะมาก คลื่นไส้ อาเจียน ปากแห้ง กลืนลำบาก ตาพร่ามาก รูม่านตาขยาย ตัวร้อน ผิวแห้ง วิงเวียนมาก ง่วงนอน สับสน มีอาการวิตกกังวล เกิดลมชัก และหัวใจเต้นผิดปกติ หากพบเห็นอาการต่างๆดังกล่าว ให้รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

ส่วนผู้ที่แพ้ยาเบลลาดอนนา อัลคาลอยด์ มักจะมีอาการ ใบหน้าบวม ริมฝีปาก-ลิ้นบวม หายใจลำบาก รวมถึงมีอาการผื่นคันทั้งตัว ปวดตา และอาการแพ้อาจทวีความรุนแรงมากขึ้นจนเกิดอาการช็อก หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันเวลา

ตัวยาเบลลาดอนนา อัลคาลอยด์ ยังอาจทำให้เกิดภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)กับผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบันหลายรายการ(ไม่มีข้อมูลในการใช้กับยาแผนโบราณ) จึงถือเป็นเหตุผลสำคัญที่ผู้ป่วยต้องแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้งว่า มีการใช้ยาประเภทใด ก่อนที่จะได้รับการสั่งจ่ายเบลลาดอนนา โดยเฉพาะมีการใช้ยาในกลุ่มยาดังต่อไปนี้ เช่น Amantadine, Quinidine, ยาต้านฮีสตามีน/ยาแก้แพ้(Antihistamine)ชนิดต่างๆ ยาลดน้ำมูก ยาที่มีฤทธิ์กดศูนย์ความรู้สึกหิวในสมอง(เช่นยา Phentermine) ยากลุ่มTCAs ยาPhenothiazines และยา Digoxin

ยาเบลลาดอนนา อัลคาลอยด์เป็นสารประกอบที่มีฤทธิ์รักษาได้หลายอาการโรค สูตรตำรับต่างๆที่มีอยู่จึงมีความแตกต่างกัน โดยมักมีส่วนผสมของยาอื่นๆร่วมด้วย ในประเทศไทยสูตรตำรับของเบลลาดอนนา อัลคาลอยด์ได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ดังนั้นการใช้ยาที่มีส่วนประกอบของยาเบลลาดอนนา จึงต้องอยู่ภายใต้คำสั่งและการควบคุมดูแลของแพทย์เท่านั้น อาจสอบถามข้อมูลของยาเบลลาดอนนา อัลคาลอยด์ เพิ่มเติมได้จากแพทย์ผู้ที่ทำการรักษาหรือจากเภสัชกรได้โดยทั่วไป

เบลลาดอนนา อัลคาลอยด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เบลลาดอนนาอัลคาลอยด์

ยาเบลลาดอนนา อัลคาลอยด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ช่วยให้นอนหลับ เป็นยาสงบประสาท(ยาคลายเครียด) บำบัดอาการปวดศีรษะไมเกรน และปวดประจำเดือน ที่ในสูตรตำรับมักจะประกอบด้วยยา Belladonna alkaloid + Ergotamine tartrate และ Phenobarbital
  • ลดอาการปวดเกร็งจากแผลในกระเพาะอาหาร บำบัดอาการลำไส้แปรปรวน ที่สูตรตำรับประกอบด้วย Belladonna alkaloid + Phenobarbital หรือไม่ก็เป็นลักษณะ Belladonna tincture (ยาที่ตัวละลายเป็นสารแอลกอฮอลล์)
  • บำบัดอาการปวด ซึ่งไม่ตอบสนองกับยาแก้ปวดประเภทที่ไม่ใช่ยากลุ่มฝิ่น(Nonopiate analgesics เช่นยาต้านอักเสบกลุ่ม NSAID) ที่สูตรตำรับประกอบด้วย Belladonna alkaloid + Opium/ฝิ่น หรือไม่ก็เป็นลักษณะ Belladonna tincture

เบลลาดอนนา อัลคาลอยด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเบลลาดอนนา อัลคาลอยด์มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะปิดกั้นการทำงานของระบบประสาทในร่างกายทำให้เกิดกลไกที่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวหรือการทำงานของอวัยวะภายในร่างกายได้ เช่น ลดการหลั่งเหงื่อ ควบคุมการบีบตัวของท่อ ปัสสาวะ ควบคุมการหดเกร็งและการเคลื่อนตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ นอกจากนี้ยังออกฤทธิ์และควบคุมการทำงานของหลอดเลือดในสมองและอื่นๆ จากคุณสมบัติที่กล่าวมาข้างต้นส่งผลให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

เบลลาดอนนา อัลคาลอยด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเบลลาดอนนา อัลคาลอยด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยยา Belladonna alkaloid 100 ไมโครกรัม + Ergotamine tartrate 300 ไมโครกรัม + Phenobarbital 20 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาน้ำชนิดรับประทานประเภททิงเจอร์ (Belladonna tincture) ที่มีส่วนประกอบของยา Belladonna alkaloid 0.3 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
  • ยาเหน็บทวารหนัก(ลักษณะเป็นแท่ง) ที่ประกอบด้วยยา Belladonna alkaloid 0.203 มิลลิกรัม + Opium/ฝิ่น 30 มิลลิกรัม/แท่ง, Belladonna alkaloid 0.203 มิลลิกรัม + Opium 60 มิลลิกรัม/แท่ง

เบลลาดอนนา อัลคาลอยด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ในบทความนี้ขอยกตัวอย่างขนาดการใช้ยาเบลลาดอนนาเฉพาะชนิดรับประทาน ดังนี้เช่น

ก.สำหรับ สงบประสาท/คลายเครียด ป้องกันไมเกรน บรรเทาอาการปวดประจำเดือน: ใช้เป็นยาเม็ดชนิดรับประทานที่ประกอบด้วย Belladonna alkaloid 100 ไมโครกรัม + Ergotamine tartrate 300 ไมโครกรัม + Phenobarbital 20 มิลลิกรัม/เม็ด

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 1 – 2 เม็ด วันละ 3 ครั้ง ก่อน หรือ พร้อมมื้ออาหาร

ข.สำหรับอาการปวดแผลในกระเพาะอาหาร และรักษาภาวะลำไส้แปรปรวน: ใช้ยาเบลลาดอนนา ทิงเจอร์ที่มีความเข้มข้น Belladonna alkaloid 0.3 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

  • ผู้ใหญ่: รับประทานวันละ 0.03 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยแบ่งรับประทานเป็น 3 – 4 ครั้ง ก่อน หรือ พร้อมมื้ออาหาร

อนึ่ง:

  • เด็ก: การใช้ยานี้กับเด็กให้เป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา
  • สูตรตำรับของยาเบลลาดอนนา อัลคาลอยด์มีความเจาะจงเฉพาะกับอาการโรคที่แตกต่างกันในแต่ละโรค แพทย์จะเป็นผู้ที่พิจารณาเลือกว่า จะใช้สูตรตำรับยาใดในการรักษาได้เหมาะสมที่สุด

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเบลลาดอนนา ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไต โรคหัวใจ โรคต่อมลูกหมากโต รวมถึง กำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเบลลาดอนนาอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเบลลาดอนนา สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

แต่อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาเบลลาดอนนาตรงเวลา

เบลลาดอนนา อัลคาลอยด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเบลลาดอนนา อัลคาลอยด์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ง่วงนอน วิงเวียน กระสับกระส่าย
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องผูก ปากแห้ง น้ำลายน้อย
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น ลดการขับเหงื่อ/เหงื่อออกน้อย
  • ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า รูม่านตาขยาย
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะขัด/ปัสสาวะไม่ออก

มีข้อควรระวังการใช้เบลลาดอนนา อัลคาลอยด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเบลลาดอนนา อัลคาลอยด์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้าม/หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ดังต่อไปนี้ เช่น โรคหัวใจล้มเหลว ท้องผูก ปัญญาอ่อน(Down syndrome) โรคกรดไหลย้อน ผู้ที่มีไข้ ผู้ที่มีการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร โรคความดันโลหิตสูง โรคต้อหิน โรคจิต ผู้ที่มีภาวะทางเดินปัสสาวะอุดตัน/ปัสสาวะขัด โรคต่อมลูกหมากโต
  • ยาเบลลาดอนนา อัลคาลอยด์ อาจทำให้ความสามารถในการขับขี่ยวดยานพาหนะ และ/หรือการควบคุมเครื่องจักรด้อยลงไปจากมีอาการวิงเวียนที่เป็นผลข้างเคียง ของยา ดังนั้นระหว่างใช้ยานี้ จึงควรงดการขับขี่ยวดยานพาหนะและ/หรือการทำงานกับเครื่องจักร ด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • กรณีใช้ยานี้แล้วอาการไม่ดีขึ้น หรืออาการเลวลง ควรต้องรีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเบลลาดอนนา) ยาแผนโบราญทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

เบลลาดอนนา อัลคาลอยด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเบลลาดอนนา อัลคาลอยด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาเบลลาดอนนา อัลคาลอยด์ร่วมกับยา Digoxin อาจทำให้ระดับ ยาDigoxin ในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้นจนอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลกระทบ(ผลข้างเคียง)จาก Digoxin สูงขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเบลลาดอนนา อัลคาลอยด์ร่วมกับยา Potassium chloride ชนิดรับประทาน ด้วยอาจก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น
  • การใช้ยาเบลลาดอนนา อัลคาลอยด์ร่วมกับยา Topiramate, Zonisamide อาจทำให้ภาวะการหลั่งเหงื่อลดลง และส่งผลให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเบลลาดอนนา อัลคาลอยด์ร่วมกับยา Diphenhydramine ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการข้างเคียงจากยาเบลลาดอนนา อัลคาลอยด์มากขึ้น เช่น ง่วงนอน ตาพร่า ปากแห้ง หน้าแดง ลดการหลั่งเหงื่อ ท้องผูก ปัสสาวะขัด หัวใจเต้นผิดปกติ

ควรเก็บรักษาเบลลาดอนนา อัลคาลอยด์อย่างไร

ควรเก็บยาเบลลาดอนนาภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น หรือเก็บตามเงื่อนไขที่ระบุมากับเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

เบลลาดอนนา อัลคาลอยด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเบลลาดอนนา ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Belladonna Alkaloids w/ Phenobarbital (เบลลาดอนนา อัลคาลอยด์ ดับเบิ้ลยู/ฟีโนบาร์บิทัล)Samakeephaesaj (Union Drug Lab)
Neuramizone (นูรามิโซน)Sriprasit Pharma

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Donnatal, Bellergal-S, Bellamor, Bellamine, Bel-Phen-Ergot, Belcomp-PB, Cafatine PB, Micomp-PB, Ergocomp-PB, B & O Supprettes

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/mtm/belladonna.html [2016,Nov19]
  2. https://www.drugs.com/monograph/antispasmodic.html [2016,Nov19]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Atropa_belladonna [2016,Nov19]
  4. http://www.webmd.com/vitamins-supplements/ingredientmono-531-belladonna.aspx?activeingredientid=531&activeingredientname=belladonna [2016,Nov19]
  5. http://www.webmd.com/vitamins-supplements/ingredientmono-531-belladonna.aspx?activeingredientid=531&activeingredientname=belladonna [2016,Nov19]
  6. http://www.mims.com/thailand/drug/info/neuramizone/?type=brief [2016,Nov19]