เบรไทเลียม (Bretylium)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 21 มีนาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- เบรไทเลียมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- เบรไทเลียมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เบรไทเลียมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เบรไทเลียมมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมฉีดยาควรทำอย่างไร?
- เบรไทเลียมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เบรไทเลียมอย่างไร?
- เบรไทเลียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเบรไทเลียมอย่างไร?
- เบรไทเลียมมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์ (Sodium channel blocker)
- ฟีโอโครโมไซโตมา (Pheochromocytoma)
- ดิจิทาลิส (Digitalis)
- โรคลิ้นหัวใจ (Valvular heart disease)
- โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)
บทนำ
ยาเบรไทเลียม(Bretylium หรือ Bretylium tosylate) เป็นยาประเภทโปแตสเซียม/โพแทสเซียม แชนแนลบล็อกเกอร์ (Potassium channel blocker) ทางคลินิกนำมาใช้รักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ชนิด หัวใจห้องล่างเต้นเร็ว เต้นผิดจังหวะ ตัวยาเบรไทเลียมมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาฉีดเท่านั้น ด้วยการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายจากระบบทางเดินอาหารทำได้ไม่ดีนัก กรณีฉีดยาเบรไทเลียมเข้ากล้ามเนื้อตัวยาจะออกฤทธิ์ภายใน 2 ชั่วโมง หากฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ยานี้จะออกฤทธิ์ภายใน 6–20 นาที ยานี้มีระยะเวลาของการออกฤทธิ์อยู่ในช่วงประมาณ 6–24 ชั่วโมง ซึ่งร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 4–17 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านไปกับปัสสาวะ
ยาเบรไทเลียมถูกใช้เป็นยาฉุกเฉินสำหรับช่วยผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือเต้นเร็วเกินไป ซึ่งจะสามารถพบเห็นการใช้ยานี้ในห้องไอซียู (ICU, Intensive care unit)
การใช้ยาเบรไทเลียมก็มีข้อจำกัดการใช้กับผู้ป่วยบางกลุ่ม เช่น ห้ามใช้ กับผู้ป่วยโรค Pheochromocytoma ผู้ที่มีความดันในปอดสูง ผู้ที่มีภาวะโรคลิ้นหัวใจ ชนิดAortic stenosis นอกจากนี้ยังห้ามนำยานี้ไปรักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะจากการใช้ยา Digitalis
สำหรับผลข้างเคียงสำคัญๆที่ต้องเฝ้าระวังในการใช้ยาเบรไทเลียม ได้แก่ ทำให้เกิดความดันโลหิตสูงและตามมาด้วยภาวะความดันโลหิตต่ำ กรณีมีอาการความดันโลหิตสูงจากยาเบรไทเลียม แพทย์จะใช้ยา Nitroprusside ช่วยลดความดันโลหิต หากเกิดความดันโลหิตต่ำ แพทย์จะเลือกใช้ยา Dopamine หรือ Norepinephrine มาบำบัดอาการ
เพื่อความปลอดภัยและเป็นการหลีกเลี่ยงผลข้างเคียง แพทย์มักจะใช้ยาเบรไทเลียมเพียงประมาณ 3–5 วัน จากนั้นจะเปลี่ยนมาใช้ยารับประทานชนิดอื่นเพื่อบำบัดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ
เราอาจไม่พบเห็นการใช้ยานี้ในประเทศไทย ด้วยมียาทางเลือกอื่นที่สามารถนำมาใช้รักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะได้เป็นอย่างดี แต่ในต่างประเทศจะพบเห็นการจัดจำหน่ายยาเบรไทเลียมภายใต้ชื่อการค้า เช่น Bretylol, Bromidem, และ Anxyrex
เบรไทเลียมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาเบรไทเลียมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้รักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ ชนิด ห้องล่างเต้นผิดจังหวะ
เบรไทเลียมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาเบรไทเลียมคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการนำประจุโปแตสเซียม/โพแทสเซียมเข้าสู่กล้ามเนื้อหัวใจในระดับเซลล์ ส่งผลให้จังหวะการเต้นของหัวใจถูกปรับสมดุลให้กลับมาเป็นปกติ จากกลไกนี้จึงเป็นที่มาของสรรพคุณ
เบรไทเลียมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเบรไทเลียมมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาฉีดที่มีตัวยาสำคัญ Bretylium tosylate ขนาด 50 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
เบรไทเลียมมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาเบรไทเลียมมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
- ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ ขนาด 5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยใช้เวลาการฉีดยานาน 1 นาทีขึ้นไป กรณีที่อาการของผู้ป่วยไม่ดีขึ้น แพทย์อาจปรับขนาดการใช้ยาเป็น 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมโดยการให้ยาซ้ำจะเว้นระยะเวลาห่างกันแต่ละครั้งประมาณ 15–30 นาที หากจำเป็น แพทย์อาจให้ยาผู้ป่วยในขนาด 30–35 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
- เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
อนึ่ง:
- กรณีผู้ป่วยโรคไต การให้ยาซ้ำอาจต้องเว้นช่วงของการให้ยานานกว่าผู้ป่วยที่มีไตทำงานปกติ ทั้งนี้อยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเบรไทเลียม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไต โรคลิ้นหัวใจ ชนิดลิ้นหัวใจตีบ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเบรไทเลียมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมฉีดยาควรทำอย่างไร?
ยาเบรไทเลียมเป็นยาฉีดที่ใช้กรณีฉุกเฉิน ซึ่งต้องมีคำสั่งแพทย์กำกับชัดเจนเพื่อเร่งดำเนินการช่วยเหลือผู้ป่วยโดยเร็ว โอกาสที่จะลืมฉีดยาให้คนไข้จึงเป็นไปได้น้อยมาก
เบรไทเลียมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเบรไทเลียมอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตสูงและตามมาด้วยภาวะความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นช้า เจ็บหน้าอก หน้าแดง
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เจ็บผิวหนังบริเวณที่ฉีดยา
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น กดการหายใจ คัดจมูก
มีข้อควรระวังการใช้เบรไทเลียมอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเบรไทเลียม เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยากับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ผู้สูงอายุ และเด็ก โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยโรค Pheochromocytoma ผู้ที่มีภาวะลิ้นหัวใจตีบ(Aortic stenosis) ผู้ที่มีความดันโลหิตในปอดสูง
- ห้ามนำยานี้ไปรักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะจากการใช้ยา Digitalis
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น ตัวยาตกกตะกอน
- ระหว่างที่ได้รับยานี้ ต้องเฝ้าระวังความดันโลหิตและการทำงานของหัวใจผู้ป่วยให้เป็นปกติเสมอ
- การฉีดยานี้ให้ผู้ป่วยโดยใช้อัตราการให้ยาที่เร็วเกินไป จะก่อให้เกิดอาการคลื่นไส้และอาเจียน อย่างรุนแรง รวมถึงเกิดภาวะความดันโลหิตสูงตามมา
- หลังจากใช้ยาเบรไทเลียม แพทย์อาจต้องให้ยาชนิดอื่นมารับประทานเพื่อบำบัดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะร่วมด้วย ผู้ป่วยควรรับประทานยาจ่างๆต่อเนื่องตามคำสั่งของแพทย์โดยเคร่งครัด
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง เพื่อรับการตรวจร่างกายและดูความก้าวหน้าของการรักษาจากแพทย์
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเบรไทเลียมด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
เบรไทเลียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเบรไทเลียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเบรไทเลียมร่วมกับยา Acebutolol ด้วยจะทำให้หัวใจเต้นช้าผิดปกติ
- การใช้ยาเบรไทเลียมร่วมกับยา Alprenolol อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาเบรไทเลียม ร่วมกับยา Lidocaine จะทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ วิงเวียน ปวดศีรษะ และหายใจลำบาก หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- ห้ามใช้ยาเบรไทเลียมร่วมกับยา Arbutamine (ยากระตุ้นหัวใจ), Disopyramide, ด้วยจะก่อให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ แน่นหน้าอก ตาพร่าและคลื่นไส้
ควรเก็บรักษาเบรไทเลียมอย่างไร?
ควรเก็บยาเบรไทเลียมภายใต้อุณหภูมิ 15 – 30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
เบรไทเลียมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Anxyrex (แอนซีเรกซ์) | Sanofi-Aventis |
Bretylol (เบรไทลอล) | ICI |
Bromidem (โบรมิเดม) | Nycomed |
Creosedin (ครีโอเซดิน) | AstraZeneca |
Darenthin (ดาเรนทิน) | Burroughs Wellcome |
Lexotan (เลโซเทน) | Roche |
Xionil (ไซโอนิล) | Novartis |