เบรกซ์พิพราโซล (Brexpiprazole)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 19 กันยายน 2560
- Tweet
- บทนำ
- เบรกซ์พิพราโซลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- เบรกซ์พิพราโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เบรกซ์พิพราโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เบรกซ์พิพราโซลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- เบรกซ์พิพราโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เบรกซ์พิพราโซลอย่างไร?
- เบรกซ์พิพราโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเบรกซ์พิพราโซลอย่างไร?
- เบรกซ์พิพราโซลมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- จิตเภท
- โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder หรือ MDD)
- ความเครียด ภาวะซึมเศร้า และโรคซึมเศร้า (Stress, Depression and Depressive disorder)
- โรคจิต (Psychosis)
- กลุ่มอาการนิวโรเล็ปติกร้ายแรง หรือกลุ่มอาการเอ็นเอ็มเอส (Neuroleptic Malignant Syndrome : NMS)
- กลุ่มอาการยึกยือเหตุจากยา (Tardive dyskinesia)
บทนำ
ยาเบรกซ์พิพราโซล(Brexpiprazole)เป็นยาที่ใช้รักษาโรคจิตประสาท/โรคจิต/โรคทางจิตเวช(Atypical antipsychotic) ทางคลินิกนำมาบำบัดอาการ โรคซึมเศร้า(Depression) โรคจิตเภท(Schizophrenia) ซึ่งรูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาเบรกซ์พิพราโซลคือยาชนิดรับประทาน หลังการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร ตัวยานี้ในกระแสเลือดจะถูกตับทำลายอย่างต่อเนื่อง โดยร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 91 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ทิ้งไปกับอุจจาระและปัสสาวะ
ทั้งนี้การรับประทานยาเบรกซ์พิพราโซลตามขนาดที่แพทย์แนะนำเพียงครั้งเดียวต่อวันก็สามารถทำให้อาการซึมเศร้าหรืออาการจิตเภทดีขึ้นเป็นลำดับ แต่อย่างไรก็ตาม แพทย์จะไม่ใช้ยานี้รักษาอาการทางจิตประสาทกับผู้สูงอายุที่มีภาวะความจำเสื่อม เพราะยาเบรกซ์พิพราโซลอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจวาย จนทำให้ผู้สูงอายุเสียชีวิต อีกประการ การใช้ยาเบรกซ์พิพราโซลรักษาอาการซึมเศร้ากับเด็กอาจกระตุ้นให้เด็กมีความรู้สึกอยากทำร้ายตนเอง จึงมีข้อห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา
นอกจากนี้ ยังมีอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดจากการใช้ยาเบรกซ์พิพราโซล อย่างเช่น
- เกิดกลุ่มอาการเอ็นเอ็มเอส (Neuroleptic Malignant Syndrome/NMS) เป็นกลุ่มอาการอาจเกิดจากการรับประทานยารักษาโรคทางจิตเวชที่รวมถึง ยาเบรกซ์พิพราโซล อาการของเอ็นเอ็มเอสที่อาจสังเกตุเห็นได้ชัดเจนอย่างเช่น มีไข้สูง กล้ามเนื้อหดแข็งเกร็ง ชีพจรเต้นผิดปกติ หัวใจเต้นเร็ว หายใจขัด/หายใจลำบาก ตัวสั่น กรณีพบเห็นอาการเอ็นเอ็มเอส ต้องรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- กลุ่มอาการยึกยือเหตุจากยา(Tardive dyskinesia) ผู้ป่วยที่ได้รับยารักษาทางจิตเวช อาจเกิดอาการบิดตัวไปมาซึ่งอาจเกิดกับกลุ่มสตรีสูงอายุที่มีการใช้ยาเบรกซ์พิพราโซลเป็นเวลานาน การแก้ไขต้องรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนวันนัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วย
- ระวังระดับน้ำตาลในเลือดและไขมันในเลือด สูงผิดปกติ รวมถึงระบบการเผาผลาญพลังงานของ ร่างกายเปลี่ยนแปลงจนทำให้มีน้ำหนักตัวสูงขึ้น กรณีเกิดภาวะน้ำตาลในเลือด สูงอย่างรุนแรงจนทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรด อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดภาวะโคม่า และเสียชีวิตในที่สุด ดังนั้นระหว่างที่ได้รับยาเบรกซ์พิพราโซล ผู้ป่วยต้องมารับ การตรวจระดับน้ำตาลรวมถึงไขมันในเลือดตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- เกิดภาวะเลือดจางซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยอ่อนเพลียอย่างรวดเร็ว มีไข้ หนาวสั่น เจ็บคอ เจ็บช่องปาก ไอ มีอาการคล้ายเป็นโรคหวัดและหายใจขัด/หายใจลำบาก กรณีเช่นนี้ ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยด่วน
- ยารักษาอาการจิตประสาทหลายตัวอาจทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำ ผู้ป่วยจึงต้อง ได้รับการตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์/พยาบาล/เภสัชกร แนะนำ
- ผู้ที่ได้รับยาเบรกซ์พิพราโซลอาจมีอาการกลืนอาหารลำบาก ซึ่งมักจะพบในผู้ป่วยที่มีโรคปอดบวมร่วมด้วย ซึ่งหากมีอาการดังกล่าวควรรีบมาโรงพยาบาล ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
- ตัวยาเบรกซ์พิพราโซล อาจทำให้สภาพการรับรู้และการตัดสินใจด้อยลงไปแพทย์จึงแนะนำ ห้ามผู้ที่ได้รับยานี้ทำงานเกี่ยวข้องกับเครื่องจักรต่างๆรวมถึงการขับรถทุกประเภท ด้วยจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
ผู้ที่ได้รับยาเบรกซ์พิพราโซล ยังต้องระวังการรับประทานยานี้ร่วมกับยาอื่นๆ เพราะอาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา จนทำให้ผู้ป่วยได้รับผลกระทบ(ผลข้างเคียง)จากยาต่างๆที่รุนแรงตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ ยาต้านแบคทีเรีย(ยาปฏิชีวนะ) ยาต้านเชื้อรา ยาต้านเศร้า ยาต้านไวรัส ยารักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ และยากันชัก ดังนั้นห้ามผู้ป่วยที่ได้รับยาเบรกซ์พิพราโซลรับประทานยาอื่นร่วมกันโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์เสียก่อน
สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการทราบข้อมูลการใช้ยาเบรกซ์พิพราโซล เพิ่มเติมสามารถสอบถามรายละเอียดได้จากแพทย์ หรือจากเภสัชกรในสถานพยาบาลที่นำผู้ป่วยเข้ารับการรักษาได้เสมอ
เบรกซ์พิพราโซลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาเบรกซ์พิพราโซลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษาอาการทางจิตเภท
- รักษาโรคซึมเศร้า
เบรกซ์พิพราโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเบรกซ์พิพราโซล มีกลไกการออกฤทธิ์กับ ตัวรับ(Receptor)ในสมองได้หลายประเภท เช่น ที่ 5HT1A(5-hydroxytryptamine)receptor และ D2(Dopamine 2) receptor โดยตัวยาจะทำหน้าที่สนับสนุน(Agonist)กับตัวรับดังกล่าว ในขณะเดียวกันยาเบรกซ์พิพราโซล ยังออกฤทธิ์ที่ตัวรับชนิด 5HT2A, 5HT2B ซึ่งจะทำหน้าที่ปิดกั้นการทำงานของตัวรับ(Antagonist)ทั้งสอง ดังกล่าว แล้วก่อให้เกิดการปรับสมดุลของสารสื่อประสาทอย่างเช่น Dopamine จึงส่งผลให้การรับรู้ของสมองต่อสภาพแวดล้อมหรือต่อสิ่งเร้าที่ผู้ป่วยได้สัมผัส กลับมาเป็นปกติหรือใกล้เคียงกับภาวะปกติได้มากที่สุด จากกลไกในสมองนี้เองทำให้เกิดที่มาของสรรพคุณของยานี้
เบรกซ์พิพราโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเบรกซ์พิพราโซล มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Brexpiprazole ขนาด 0.25, 0.5, 1, 2, 3 และ 4 มิลลิกรัม/เม็ด
เบรกซ์พิพราโซลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาเบรกซ์พิพราโซลมีขนาดรับประทาน เช่น
ก.สำหรับรักษาอาการทางจิตเภท:
- ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18ปีขึ้นไป: เริ่มต้นรับประทานยาขนาด 1 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้งเป็นเวลา 4 วัน วันที่ 5–7 แพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 มิลลิกรัม/วัน และวันที่ 8 แพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดเป็น 4 มิลลิกรัม/วัน ทั้งนี้ขนาดรับประทานสูงสุดอยู่ที่ 4 มิลลิกรัม/วัน
ข.สำหรับรักษาอาการซึมเศร้า:
- ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18ปีขึ้นไป: เริ่มต้นรับประทานยาขนาด 0.5–1 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง หลังการใช้ยา 1 สัปดาห์ แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเป็น 2 มิลลิกรัม/วัน โดยขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 3 มิลลิกรัม/วัน
อนึ่ง:
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี
- สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
- ระยะเวลาของการใช้ยานี้ให้เป็นไปตามคำสั่งแพทย์
- กรณีใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ แพทย์อาจปรับลดขนาดรับประทานตามความเหมาะสมกับร่างกายผู้ป่วย
- แพทย์อาจปรับลดขนาดการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคไต
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเบรกซ์พิพราโซล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ โรความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเบรกซ์พิพราโซล อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเบรกซ์พิพราโซล สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ
แต่อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาเบรกซ์พิพราโซลตรงเวลา
เบรกซ์พิพราโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเบรกซ์พิพราโซลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น หิวอาหารบ่อย ระดับน้ำตาลในเลือดสูง
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น มีอาการท้องผูกหรือท้องเสีย อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ ปากแห้ง น้ำลายมาก ปวดท้อง ท้องอืด
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีอาการเปลี่ยนท่าทางบ่อย ปวดศีรษะ ง่วงนอน ตัวสั่น วิงเวียน
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น วิตกกังวล กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น มีความดันโลหิตต่ำ
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีเหงื่อหลั่งออกมาก
- ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น ฮอร์โมนCortisolในเลือดลดลง แต่ Prolactin ในเลือดเพิ่มขึ้น
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น เกิดทางเดินปัสสาวะอักเสบ/โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ บ่อย
- ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หูอักเสบ คออักเสบ หรือเกิดภาวะติดเชื้อต่างๆได้ง่าย
มีข้อควรระวังการใช้เบรกซ์พิพราโซลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเบรกซ์พิพราโซล เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามปรับเปลี่ยนขนาดรับประทานเอง
- ห้ามหยุดรับประทานยานี้อย่างกะทันหัน
- ระหว่างใช้ยานี้ต้องเฝ้าระวัง ภาวะ/โรคเบาหวาน น้ำหนักตัวเพิ่ม/โรคอ้วน ระดับไขมันในเลือดสูง รวมถึงความดันโลหิตต่ำ
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจร่างกายและตรวจติดตามอาการทางจิตประสาทตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเบรกซ์พิพราโซลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
เบรกซ์พิพราโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเบรกซ์พิพราโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาเบรกซ์พิพราโซลร่วมกับยา Fentanyl ด้วยจะทำให้มีอาการกดระบบประสาท กดระบบการหายใจ จนถึงเข้าขั้นโคม่า และอาจเสียชีวิตในที่สุด
- ห้ามใช้ยาเบรกซ์พิพราโซลร่วมกับยา Clozapine เพราะจะทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำ ตลอดจนถึงขั้นหัวใจหยุดเต้นตามมา
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเบรกซ์พิพราโซลร่วมกับยา Ketoconazole, Bupropion, Verapamil, และ Fluoxetine, ด้วยจะทำให้ระดับยาเบรกซ์พิพราโซลในกระแสเลือด มีปริมาณเพิ่มขึ้นจนทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงสูงขึ้นจากยาเบรกซ์พิพราโซลตามมา
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเบรกซ์พิพราโซลร่วมกับยาChlorpheniramine เพราะจะทำให้ มีอาการ วิงเวียน ง่วงนอน มากยิ่งขึ้น
ควรเก็บรักษาเบรกซ์พิพราโซลอย่างไร?
ควรเก็บยาเบรกซ์พิพราโซลตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
เบรกซ์พิพราโซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเบรกซ์พิพราโซล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
REXULTI (เรกซัลที) | Otsuka Pharmaceutical Co |
บรรณานุกรม
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2015/205422s000lbl.pdf[2017,Sept2]
- https://www.drugs.com/mtm/brexpiprazole.html[2017,Sept2]
- https://www.drugs.com/ppa/brexpiprazole.html[2017,Sept2]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/brexpiprazole-index.html?filter=3&generic_only=[2017,Sept2]