เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ (Benzoyl peroxide)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 6 ตุลาคม 2557
- Tweet
- บทนำ
- เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์มีวิธีการใช้อย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์อย่างไร?
- เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์อย่างไร?
- เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- สิว (Acne)
- สิวเสี้ยน (Trichostasis spinulosa)
- สิวผู้สูงอายุ หรือ สิวแดด (Senile comedones หรือ Solar comedones)
- สิวอุดตัน (Comedone)
บทนำ
ยาเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ (Benzoyl peroxide) เป็นสารประกอบอินทรีย์ที่วงการแพทย์นำมาใช้เป็นยาทารักษาสิว นอกจากนี้มีการนำไปใช้ในวงการเครื่องสำอางเพื่อฟอกสีผม ฟอกสีฟัน เป็นต้น องค์การอนามัยโลกจัดเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์เป็นยาที่มีความจำเป็นขั้นพื้นฐานและควรมีใช้ในระบบสาธารณสุขของประเทศ ในบางอุตสาหกรรมจัดเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์เป็นวัตถุอันตรายที่มีฤทธิ์ก่อให้เกิดการระเบิดและมีฤทธิ์กัดกร่อนได้ การนำมาใช้กับมนุษย์จึงมีการเจือจางให้อยู่ในขั้นที่ปลอดภัย แล้วจึงนำไปผสมเป็นยารักษาโรค หรือเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง การเลือกใช้ยาเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ควรต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนซื้อทุกครั้ง
เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์มีสรรพคุณดังนี้
- ใช้ทารักษาสิวบริเวณใบหน้าและผิวหนังส่วนอื่น
- ใช้ทารักษาแผลผิวหนังที่เกิดจากการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงผิวหนังบริเวณนั้นๆไม่ดีพอ (Stasis ulcer)
เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์มีกลไกการออกฤทธิ์ โดยทำให้เกิดการลอกของผิวหนังอย่างค่อยเป็นค่อยไป ร่วมกับฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรียโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเชื้อแบคทีเรียกลุ่ม S.epider midis และ P. acne ซึ่งเป็นสาเหตุของสิว
เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้
- รูปแบบยาเจล ขนาดความเข้มข้น 2.5%, 5% และ 10%
- รูปแบบยาครีม ขนาดความเข้มข้น 4%
- รูปแบบยาเจลผสมยาต้านแบคทีเรียสำหรับทาผิวหนัง
เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์มีวิธีการใช้อย่างไร?
ยาเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์มีวิธีการใช้ดังนี้
ก. สำหรับรักษาสิว: ทายาขนาดความเข้มข้น 2.5% - 10% วันละ 1 - 2 ครั้ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษาอาจใช้ยาที่มีส่วนผสมของยาต้านเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย
ข. สำหรับทารักษาแผลผิวหนัง (Stasis ulcer): ทายาชนิดโลชั่นที่ความเข้มข้น 20% ทุกๆ 8 - 12 ชั่วโมง
*****หมายเหตุ:
- ไม่ควรใช้ยานี้ทาในปริมาณมากเกินไปเพราะอาจก่อการระคายผิวได้
- ทายาเฉพาะบริเวณรอยโรค ระมัดระวังไม่ให้เข้า ตา ปาก ช่องจมูก เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคืองได้
- ระมัดระวังไม่ให้ถูกผมเพราะอาจกัดสีผมได้
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทาเฉพาะที่ชนิดใดหรือไม่
- มีโรคผิวหนังชนิดเรื้อรังอื่นๆร่วมด้วยหรือไม่ รวมถึงระยะเวลาของอาการโรค เป็นมานานกี่วัน
เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์สามารถทำให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) ดังนี้ เช่น ใน บริเวณที่ทายาอาจมีภาวะผิวแห้งและรู้สึกคันหรือระคายเคือง หากไปสัมผัสกับผมหรือเสื้อผ้าอาจทำให้มีรอยด่างขาว บริเวณที่ใช้ยาเกิดรอยด่างมีผื่นคันหรือมีอาการบวมในบริเวณที่ทายา
มีข้อควรระวังการใช้เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ดังนี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์
- หยุดใช้ยานี้ทันทีหากพบว่ามีอาการระคายเคืองรุนแรงเกิดขึ้น
- ระวังมิให้ยาเข้าปากและตาหรือบริเวณผิวที่มีลักษณะอ่อนบาง
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
***** อนึ่ง
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้ คือ เมื่อใช้ยานี้ร่วมกับครีมกันแดดที่มีสาร PABA (Para-aminobenzoic acid) อาจก่อให้เกิดจุดด่างขาวบนเสื้อผ้าที่ไปสัมผัสกับยาและสารกันแดดดังกล่าว
ควรเก็บรักษาเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์อย่างไร
สามารถเก็บยาเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ในอุณหภูมิห้อง บรรจุในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Acnexyl (แอคเนซิล) | Pharmasant Lab |
Aczee (แอคซี) | Zee Lab |
Benzac AC (เบนแซค เอซี) | Galderma |
Brevoxyl (บรีโวซิล) | Stiefel |
Duac Once Daily Gel (ดูแอค วันส์ เดย์ลี เจล) | Stiefel |
Enzoxid (เอ็นโซซิด) | Zyg Pharma |
Epiduo (แอพิดูโอ) | Galderma |
Panoxyl (แพน็อกซิล) | Stiefel |
บรรณานุกรม
1 http://en.wikipedia.org/wiki/Benzoyl_peroxide [2014,Aug23]
2 http://www.mims.com/USA/Drug/info/benzoyl%20peroxide/?type=full&mtype=generic#Dosage [2014,Aug23]
3 http://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=benzoyl+peroxide [2014,Aug23]
4 http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=benzoyl%20peroxide [2014,Aug23]
5 http://www.healthcentral.com/skin-care/r/medications/benzoyl-peroxide-top-1344/dosage [2014,Aug23]