เบนิดิปีน (Benidipine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 18 ตุลาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- เบนิดิปีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- เบนิดิปีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เบนิดิปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เบนิดิปีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- เบนิดิปีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เบนิดิปีนอย่างไร?
- เบนิดิปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเบนิดิปีนอย่างไร?
- เบนิดิปีนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- แคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ (Calcium channel blocker)
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- เจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อาการปวดเค้นหัวใจ (Angina Pectoris)
- ยาลดความดัน ยาลดความดันเลือดสูง ยาลดความดันโลหิตสูง (Antihypertensive drug)
- ความดันโลหิตต่ำ (Hypotension)
บทนำ
ยาเบนิดิปีน(Benidipine หรือ Benidipine hydrochloride หรือ Benidipine HCl)หรืออีกชื่อคือ Benidipinum เป็นยาในกลุ่ม Calcium channel blocker ทางคลินิกนำมาใช้รักษาภาวะ/โรคความดันโลหิตสูง และภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โดยตัวยาเบนิดิปีนจะมีกลไกทำให้หลอดเลือดขยายตัวและช่วยเพิ่มปริมาณการไหลเวียนเลือดในหลอดเลือดแดงที่ไปหล่อเลี้ยงบริเวณหัวใจ รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาเบนิดิปีนเป็นยาชนิดรับประทาน หลังการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร ตัวยานี้จะเข้าสู่กระแสเลือด และตัวยาเบนิดิปีนจะเริ่มออกฤทธิ์ แต่ขณะเดียวกันก็จะถูกกำจัดทิ้งไปกับอุจจาระและปัสสาวะอย่างสม่ำเสมอ
ข้อจำกัดการใช้ยาเบนิดิปีน ที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบ อาทิ
- ห้ามใช้ยาเบนิดิปีนกับผู้ที่มีภาวะ/โรคความดันโลหิตต่ำ
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับระยะรุนแรง เพราะสามารถทำให้อาการโรครุนแรงยิ่งขึ้น
- การใช้ยานี้กับผู้สูงอายุอาจทำให้ความดันโลหิตต่ำมากๆ ทางคลินิกจึงมีข้อแนะนำห้ามใช้ยานี้ในผู้สูงอายุเกิน 2 มิลลิกรัม/วัน และผู้ป่วยต้องคอยตรวจสอบสภาพความดันโลหิตเป็นประจำตามคำแนะนำของ แพทย์ เภสัชกร และพยาบาล
- ธรรมชาติของยาลดความดันโลหิตอย่างเช่นยาเบนิดิปีน สามารถทำให้เกิดอาการ วิงเวียนศีรษะ จึงเป็นเหตุผลที่ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีความเสี่ยงและอาจจะก่อให้เกิดอันตรายอย่างเช่น การทำงานกับเครื่องจักรและการขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆ
- การใช้ยาชนิดอื่นใดร่วมกับยาเบนิดิปีน จะต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)
- ยาเบนิดิปีนสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ต่อการทำงานของตับ ไต หลอดเลือด หัวใจ ระบบทางเดินอาหาร รวมถึงระบบประสาท ของร่างกาย กรณีเกิดอาการข้างเคียงจากยานี้ที่รบกวนการดำรงชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลอีกครั้งโดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร เพื่อเป็นการป้องกันการส่งผ่านตัวยาเบนิดิปีนไปถึงทารกในครรภ์
- ห้ามใช้ยานี้กับเด็ก ด้วยทางคลินิกยังไม่มีผลสรุปถึงความปลอดภัยของการใช้ยานี้กับกลุ่มผู้ป่วยเด็ก
- ห้ามรับประทานยานี้เกินขนาดจากคำสั่งแพทย์ เพราะจะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตรุนแรงต่ำตามมา
ยาเบนิดิปีนมีสูตรตำรับทั้งที่เป็นลักษณะแบบยาเดี่ยว และแบบยาผสมร่วมกับยา Telmisartan เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย การใช้ยาเบนิดิปีนจะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์แต่เพียงผู้เดียว ตามสิทธิบัตรของการจัดจำหน่ายของยานี้ ก็มีเพียงในบางประเทศในแถบทวีปเอเชีย อย่างเช่นญี่ปุ่น และอินเดีย เท่านั้นเอง
เบนิดิปีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาเบนิดิปีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษาโรคความดันโลหิตสูง ที่รวมถึงความดันโลหิตสูงด้วยภาวะโรคไต
- รักษาอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
เบนิดิปีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเบนิดิปีนเป็นยาประเภท แคลเซียม แชนแนล บล็อกเกอร์ ที่มีการออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดซึมของประจุแคลเซียมที่ผนังหลอดเลือด ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของหลอดเลือด และทำให้ปริมาณเลือดไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆของร่างกายได้มากขึ้น รวมถึงความดันโลหิตลดลง ด้วยกลไกนี้ จึงเกิดฤทธิ์ของการรักษาได้ตามสรรพคุณ
เบนิดิปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเบนิดิปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Benidipine HCl ขนาด 2, 4 และ 8 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Telmisartan 40 มิลลิกรัม+ Benidipine HCl 4 มิลลิกรัม/เม็ด
เบนิดิปีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาเบนิดิปีนมีขนาดรับประทาน เช่น
ก. สำหรับรักษาภาวะ/โรคความดันโลหิตสูง:
- ผู้ใหญ่: รับประทานยา 2–4 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง หลังอาหารเช้า หากจำเป็น แพทย์อาจอาจปรับขนาดรับประทานเป็น 8 มิลลิกรัม วันละครั้ง
ข.สำหรับบำบัดอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด:
- ผู้ใหญ่: รับประทานยา 4 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง หลังอาหารเช้า-เย็น
อนึ่ง:
- ขนาดและระยะเวลาในการรับประทานยานี้ต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
- ระหว่างใช้ยานี้ ผู้ป่วยต้องตรวจสอบความดันโลหิตของตนเองเป็นประจำตามคำแนะนำของ แพทย์ เภสัชกร และพยาบาล
- เด็ก: ห้ามใช้ยานี้ ด้วยยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่เพียงพอในด้านความปลอดภัยและในขนาดยา
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเบนิดิปีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเบนิดิปีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเบนิดิปีน สามารถรับประทานยาทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ
แต่อย่างไรก็ดี การลืมรับประทานยาเบนิดิปีนอาจส่งผลให้อาการโรคกำเริบตามมา
เบนิดิปีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเบนิดิปีนสามารถก่อให้เกิด ผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อตับ: เช่น ตับทำงานผิดปกติ/ตับอักเสบ ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มมากขึ้น
- ผลต่อไต: เช่น ค่าครีเอตินิน(Creatinine)ในเลือดสูงขึ้น
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ชีพจรเต้นผิดปกติ ใบหน้าแดง ความดันโลหิตต่ำ มีอาการบวมของใบหน้า-มือ-เท้า หัวใจเต้นช้า หรือไม่ก็หัวใจเต้นเร็ว
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ รู้สึกวิงเวียน
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น เกิดท้องผูก รู้สึกไม่สบายในท้อง คลื่นไส้ แสบร้อนกลางอก และ กระหายน้ำ
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น อาจพบเกิดผื่นคัน
มีข้อควรระวังการใช้เบนิดิปีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเบนิดิปีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยากับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก นอกจากมีคำสั่งแพทย์
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะโรคตับรุนแรง และผู้ที่มีโรคความดันโลหิตต่ำ
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเบนิดิปีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด)รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยา ใช้เองเสมอ
เบนิดิปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเบนิดิปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาเบนิดิปีนร่วมกับ ยา Digoxin จะทำให้ระดับยาDigoxin ในเลือดสูงขึ้น จนอาจเป็นเหตุให้ผู้ป่วยได้รับพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)ของยา Digoxin หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเบนิดิปีนร่วมกับยา Cimetidine ด้วยจะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำตามมา
- ห้ามใช้ยาเบนิดิปีนร่วมกับยา Rifampicin เพราะจะทำให้ฤทธิ์ในการรักษาของยาเบนิดิปีนลดลง
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเบนิดิปีนร่วมกับยา Itraconazole ด้วยอาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำอย่างรุนแรงเกิดขึ้น
ควรเก็บรักษาเบนิดิปีนอย่างไร?
ควรเก็บยาเบนิดิปีนภายใต้คำแนะนำของเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
เบนิดิปีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเบนิดิปีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
BENIZEX-T (เบนิเซ็กซ์-ที) | Zenacts |
Caritec (แคริเท็ค) | Ranbaxy |
Coniel (โคเนียล) | Kyowa Hakko Kogyo |
บรรณานุกรม
- http://www.e-search.ne.jp/~jpr/PDF/KYOWA01.PDF[2017,Sept30]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Aldosterone[2017,Sept30]
- http://www.mims.com/india/drug/info/telmisartan/?type=full&mtype=generic#Indications[2017,Sept30]
- http://www.mims.com/india/drug/info/caritec/caritec%20tab[2017,Sept30]
- http://www.nevapress.com/cdr/full/17/1/1.pdf[2017,Sept30]