เบนาซีพริล (Benazepril)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 29 พฤศจิกายน 2559
- Tweet
- บทนำ
- เบนาซีพริลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- เบนาซีพริลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เบนาซีพริลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เบนาซีพริลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- เบนาซีพริลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เบนาซีพริลอย่างไร?
- เบนาซีพริลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเบนาซีพริลอย่างไร?
- เบนาซีพริลมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เอซีอี อินฮิบิเตอร์ (ACE inhibitor)
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจวาย (Heart failure)
- เบาหวานขึ้นตา เบาหวานกินตา (Diabetic retinopathy)
- โรคไต (Kidney disease)
- เบาหวาน (Diabetes mellitus)
- ยาแอมโลดิปีน (Amlodipine)
บทนำ
ยาเบนาซีพริล(Benazepril หรือ Benazepril hydrochloride) เป็นยาในกลุ่ม ACE inhibitors ทางคลินิกนำมารักษาโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจล้มเหลว รวมถึงช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนของตาและไตในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ยาเบนาซีพริลมีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดคลายตัว ช่วยลดปริมาตรโลหิตที่ออกจากหัวใจ และลดความต้องการออกซิเจนจากการสูบฉีดโลหิตของกล้ามเนื้อหัวใจ อันที่จริง ยาเบนาซีพริล ยังไม่สามารถออกฤทธิ์ได้ด้วยตัวยาเอง แต่จะต้องผ่านการเปลี่ยนโครงสร้างเคมีโดยตับ แล้วได้สารประกอบที่มีชื่อ เรียกว่า “เบนาซีพริแลต (Benazeprillat)” จึงจะสามารถออกฤทธิ์ในการรักษาได้
รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาเบนาซีพริลเป็นยาชนิดรับประทาน หลังการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร เมื่อตัวยาเข้าสู่กระแสเลือด ตัวยาจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนได้ถึงประมาณ 96.7% ซึ่งร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 10 – 11 ชั่วโมง เพื่อขจัดยานี้ทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ
เราอาจจะพบเห็นการใช้ยาเบนาซีพริลในลักษณะ ยาเดี่ยว หรือ จะใช้ร่วมกับยาอื่นอย่างเช่น Amlodipine ก็ได้ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลดความดันโลหิต
ข้อจำกัดสำคัญบางประการที่ทำให้ผู้ป่วยบางกลุ่มไม่สามารถใช้ยาเบนาซีพริลได้ เช่น
- เป็นสตรีตั้งครรภ์ ด้วยยานี้เป็นพิษต่อทารกในครรภ์ สามารถทำให้ทารกเสียชีวิตได้
- เคยมีประวัติแพ้ยานี้หรือแพ้ยาในกลุ่ม ACE inhibitors ตัวอื่นๆ
- เป็นผู้ที่มีประวัติป่วยด้วยภาวะ Angioedema โดยมีอาการบวมของมือ ใบหน้า ริมฝีปาก รอบตา คอ ลิ้น รวมถึง การกลืนลำบาก และหายใจขัด/หายใจลำบาก
- ผู้ป่วยเด็ก ที่ป่วยด้วยโรคไตระยะรุนแรง จัดเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ห้ามใช้ยานี้
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือผู้ป่วยโรคไตที่ได้รับยา Aliskiren ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับ อาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ต่างๆมากขึ้น เช่น ไตทำงานหนัก/ไตอักเสบ ความดันโลหิตต่ำ มีภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดสูง เป็นต้น
- การมีโรคประจำตัวต่างๆ ที่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเบนาซีพริล อาทิเช่น โรคข้อรูมาตอยด์ โรคลูปัส โรคหัวใจล้มเหลว ภาวะไขกระดูกถูกกดการทำงาน(เช่น การได้รับยาเคมีบำบัด) ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ(เช่น จากการได้รับยาเคมีบำบัด) มีปริมาตรเลือดน้อย(ภาวะซีด) มีเกลือโพแทสเซียมในเลือดสูง ร่างกายมีภาวะขาดน้ำ มีเกลือโซเดียมในเลือดต่ำ
- ผู้ที่มีการใช้ยาต่างๆดังต่อไปนี้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกับยาเบนาซีพริล อาทิ เช่น Eplerenone, Amiloride (Potassium-sparing diuretics), Trimethoprim ยาที่เสริมด้วยเกลือโพแทสเซียม (Potassium supplements, เช่นยา Potassium chloride), Everolimus, Sirolimus, Valsartan, ยาInsulin, Glyburide, Sodium aurothiomalate, Dextran sulfate, NSAIDs, Lithium
เบนาซีพริลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาเบนาซีพริลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ รักษาโรคความดันโลหิตสูง โดยสามารถใช้ยานี้ได้กับผู้ใหญ่ และเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป
เบนาซีพริลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเบนาซีพริลในร่างกายจะถูกตับเปลี่ยนไปเป็นสาร Benazeprillat ซึ่งสารนี้จะมีกลไกการออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในร่างกายที่มีชื่อว่า Angiotensin-converting enzyme ส่งผลให้หลอดเลือดขยายตัว นอกจากนี้ยังส่งผลลดการหลั่งฮอร์โมนชื่อ Aldosterone hormone(ฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตที่ช่วยควบคุมความดันโลหิตและระดับเกลือแร่ในร่างกาย) ทำให้ลดภาวะการคั่งของน้ำและของโซเดียมในร่างกาย จากกลไกเหล่านี้ จึงส่งผลให้ลดความดันโลหิตได้ตามสรรพคุณ
เบนาซีพริลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเบนาซีพริลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทานที่มีส่วนประกอบของ Benazepril hydrochloride/ Benazepril HCl ขนาด 5,10, 20, และ 40 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาเม็ดชนิดรับประทานที่มีส่วนผสมของยาอื่น เช่น Amlodipine besylate 5 มิลลิกรัม +Benazepril HCl 10 มิลลิกรัม/เม็ด
เบนาซีพริลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาเบนาซีพริลมีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 5 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง พร้อมยาขับปัสสาวะที่แพทย์แนะนำหรือ รับประทาน 10 มิลลิกรัม วันละ1 ครั้ง โดยไม่ต้องใช้ยาขับปัสสาวะ(ขึ้นกับแพทย์แนะนำเช่นกัน) ซึ่งขนาดรับประทานที่ใช้คงการรักษาของยาเบนาซีพริลอยู่ที่ 20 – 40 มิลลิกรัม วันละ1 ครั้ง หรือ แพทย์อาจให้แบ่งรับประทานเป็นวันละ 2 ครั้งก็ได้ โดยขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 80 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป: เริ่มต้นรับประทาน 0.2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 1 ครั้ง แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเป็น 0.6 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ1ครั้ง โดยห้ามใช้ยาเกิน 40 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กอายุต่ำกว่า 6ปี: ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปีลงมา
อนึ่ง:
- การจะเลือกใช้ยาเบนาซีพริลที่เป็นสูตรตำรับเดี่ยว หรือสูตรตำรับผสมกับยาอื่น ให้เป็นหน้าที่ของแพทย์ผู้รักษาเป็นผู้กำหนด
- การปรับขนาดรับประทานยานี้จะต้องเป็นขั้นตอน ซึ่งต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์
- ยานี้บริโภคได้ทั้ง ก่อน พร้อม และหลังอาหาร
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเบนาซีพริล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคลูปัส โรคหัวใจล้มเหลว ภาวะไขกระดูกถูกกการทำงาน ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเบนาซีพริลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเบนาซีพริล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
แต่อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาเบนาซีพริลตรงเวลา
เบนาซีพริลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเบนาซีพริลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน ง่วงนอน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น ฮีโมโกลบินลดลง โลหิตจางด้วยมีเม็ดเลือดแดงแตก เกิดภาวะ Eosinophilia(มีเม็ดเลือดขาวชนิด Eosinophil ในเลือดสูง) Thrombocytopenia (เกล็ดเลือดต่ำ)
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น อาจพบภาวะ Steven-Johnson syndrome ผื่นผิวหนังอักเสบ ผื่นคัน ผื่นแพ้แสงแดด เหงื่อออกมาก ผิวหนังส่วนต่างๆในร่างกายบวม ผมร่วง
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หอบหืด หลอดลมอักเสบ ไซนัสอักเสบ ไอ หยุดหายใจ
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย: เช่น กรดยูริคในเลือดเพิ่มขึ้น น้ำตาลในเลือดสูง เกลือโซเดียมในเลือดต่ำ
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ใบหน้าแดง ความดันโลหิตต่ำ
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ ตับอ่อนอักเสบ ท้องผูก กระเพาะอาหารอักเสบ อาเจียน
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น เกิดทางเดินปัสสาวะอักเสบ/ โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อย มีโปรตีนในปัสสาวะ
- ผลต่อตับ: เช่น ค่าบิลิรูบินในเลือดสูง ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น
- ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค: เช่น มีโอกาสติดเชื้อต่างๆง่ายขึ้น
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น วิตกกังวล อารมณ์ทางเพศถดถอย นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย
มีข้อควรระวังการใช้เบนาซีพริลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเบนาซีพริล เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี
- ห้ามปรับขนาดรับประทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์
- ห้ามหยุดการรับประทานยานี้เอง
- การใช้ยานี้ต้องอาศัยความต่อเนื่อง จึงจะเห็นประสิทธิผลของการรักษา
- หยุดการใช้ยานี้ทันที เมื่อพบอาการแพ้ยา เช่น มีผื่นคันเต็มตัว หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ตัวบวม ซึ่งหากพบอาการดังกล่าว ให้รีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- เรียนรู้วิธีการปฏิบัติตัวให้พ้นจากอาการข้างเคียงต่างๆ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดเพื่อรับ การตรวจร่างกาย การตรวจเลือด เพื่อประเมินประสิทธิภาพของการรักษา
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเบนาซีพริลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
เบนาซีพริลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเบนาซีพริลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามรับประทานยาเบนาซีพริลร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ ด้วยจะทำให้เกิดภาวะวิงเวียน ปวดศีรษะ และความดันโลหิตต่ำตามมา
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเบนาซีพริลร่วมกับยา Losartan, Valsartan, Olmesartan,ด้วยจะเพิ่มความเสี่ยงต่อ ความดันโลหิตต่ำ ไตทำงานผิดปกติ ไตวาย เกิดภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดสูง กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต รวมถึงหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเบนาซีพริลร่วมกับยา Potassium chloride, Trimethoprim ด้วยอาจทำให้มีภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดสูง จนทำให้เกิดภาวะไตวาย กล้ามเนื้อ เป็นอัมพาต หัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเบนาซีพริลร่วมกับยา Sodium biphosphate ด้วยอาจทำให้เกิดไตวาย หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
ควรเก็บรักษาเบนาซีพริลอย่างไร?
ควรเก็บยาเบนาซีพริล ภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
เบนาซีพริลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเบนาซีพริลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Amtrel (แอมเทรล) | American Taiwan Biopharm |
Lotensin (โลเทนซิน) | Pharmaceuticals |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ที่จำหน่ายในต่างประเทศ เช่น Amlobenz, Lotrel, Benace
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Benazepril [2016,Nov12]
- https://www.drugs.com/mtm/benazepril.html [2016,Nov12]
- https://www.drugs.com/pro/benazepril.html [2016,Nov12]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/benazepril-index.html?filter=3&generic_only= [2016,Nov12]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/benazepril/?type=brief&mtype=generic [2016,Nov12]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/amtrel/?type=brief [2016,Nov12]