เพนิซิลลิน จี (Penicillin G) หรือ เบนซิลเพนิซิลลิน (Benzylpenicillin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 15 สิงหาคม 2564
- Tweet
- บทนำ: คือยาอะไร?
- เพนิซิลลิน จี มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
- เพนิซิลลิน จี มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เพนิซิลลิน จี มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เพนิซิลลิน จี มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- เพนิซิลลิน จี มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เพนิซิลลิน จี อย่างไร?
- เพนิซิลลิน จี มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเพนิซิลลิน จี อย่างไร?
- เพนิซิลลิน จี มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- คอตีบ (Diphtheria)
- ปอดบวม ปอดอักเสบ (Pneumonia)
- เยื่อบุหัวใจอักเสบ เยื่อบุหัวใจอักเสบติดเชื้อ (Endocarditis and Infective endocarditis)
- เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis)
- โลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก (Hemolytic anemia)
บทนำ: คือยาอะไร?
ยาเพนิซิลลิน จี (Penicillin G) หรือ ยาเบนซิลเพนิซิลลิน (Benzylpenicillin) คือยาปฏิชีวนะใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียโดยฉีดเข้าทางหลอดเลือดหรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อก็ได้ ทั้งนี้ด้วยเหตุผลที่ยาเพนิซิลลิน จี ไม่สามารถทนต่อกรดในกระเพาะอาหารได้ดีนัก เราจึงไม่พบเห็นในรูปแบบของยารับประทาน
วงการแพทย์นำยาเพนิซิลลิน จี มารักษาเยื่อบุหัวใจอักเสบ การติดเชื้อแบคทีเรียที่เยื่อหุ้มสมอง/เยื่อหุ้มสมองอักเสบ การติดเชื้อที่ปอด/ปอดอักเสบ /ปอดบวม, โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, ตลอดจนภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด
มีการศึกษาเรื่องการกระจายตัวของยาเพนิซิลลิน จี เมื่อผ่านเข้ากระแสเลือด พบว่า เพนิซิลลิน จี จะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 60% และจะถูกเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีที่อวัยวะตับ ซึ่งร่างกายใช้เวลา 30 นาทีโดยประมาณก็สามารถขับยาเพนิซิลลิน จี จำนวน 50% ออกจากกระ แสเลือดและทิ้งไปกับปัสสาวะ
องค์การอนามัยโลกได้จัดให้เพนิซิลลิน จี เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานของชุมชน สำหรับประ เทศไทยก็ได้บรรจุยานี้ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติเช่นกัน โดยการใช้ยาส่วนใหญ่จะพบเห็นที่สถานพยาบาลเท่านั้นเนื่องจากต้องใช้หัตถการทางการแพทย์ที่เหมาะสมตามมาตรฐานในการบริหารยา/ใช้ยากับผู้ป่วย
เพนิซิลลิน จี มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
ยาเพนิซิลลิน จี มีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียที่ตอบสนองกับยานี้ (Susceptible infections)
- รักษาเยื่อบุหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial endocarditis)
- รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียที่เยื่อหุ้มสมอง/ เยื่อหุ้มสมองอีกเสบ (Meningitis)
- รักษาโรคปอดบวม (Pneumonia)
- ป้องกันการติดเชื้อระหว่างการคลอด
เพนิซิลลิน จี มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาเพนิซิลลิน จี คือ ตัวยาจะหยุดการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย โดยตัวยาจะเข้าไปยับยั้งการสร้างสารเปบทิโดกลัยแคน (Peptidoglycan) ซึ่งเป็นตัวประกอบสำคัญของผนังเซลล์ในแบคทีเรีย จากการก่อกวนนี้ทำให้การสร้างผนังเซลล์ในแบคทีเรียหยุดชะงัก จึงไม่สามารถเจริญเติบโตหรือแพร่พันธุ์ได้และทำให้แบคทีเรียตายลงในที่สุด
เพนิซิลลิน จี มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเพนิซิลลิน จี มีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เช่น
- ยาฉีดชนิดผง ขนาดความแรง 0.5, 1 และ 5 ล้าน ยูนิตสากล/ขวด
เพนิซิลลิน จี มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาเพนิซิลลิน จี มีขนาดการบริหารยา/การใช้ยา: เช่น
ก. สำหรับการติดเชื้อแบคทีเรียที่เยื่อบุหัวใจ/เยื่อบุหัวใจอักเสบ (Bacterial endocarditis): เช่น
- ผู้ใหญ่: ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ 15 - 20 ล้านยูนิต/วันเป็นเวลา 4 สัปดาห์
ข. สำหรับการติดเชื้อแบคทีเรียที่เยื่อหุ้มสมอง/เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningococcal meningitis): เช่น
- ผู้ใหญ่: ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ 24 ล้านยูนิต/วันโดยแบ่งฉีด 6 ล้านยูนิตทุก 4 ชั่งโมงเป็นเวลา14 วัน
ค. สำหรับภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด /ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (Septicemia): เช่น
- ผู้ใหญ่: ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ 24 ล้านยูนิต/วันอาจทุก 4 - 6 ชั่วโมงหรือตามดุลพินิจของแพทย์ที่รวมถึงระยะเวลาในการใช้ยาด้วย
ง. สำหรับการติดเชื้อในปอด/ปอดบวม (Pneumonia): เช่น
- ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ 1 - 2 ล้านยูนิต/วันทุก 4 ชั่งโมงเป็นเวลา 7 - 14 วันทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค
อนึ่ง: เด็ก: การใช้ยานี้ในเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)ที่รวมถึงขนาดยาในกรณี ข้อ ก.- ง. ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์โดยประเมินจากชนิดเชื้อแบคทีเรีย, ติดเชื้อกับอวัยวะอะไร, ความรุนแรงของอาการ, อายุ, และน้ำหนักตัวของเด็ก
จ. สำหรับโรคคอตีบ (Diphtheria): เช่น
- ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ 2 - 3 ล้านยูนิต/วันโดยแบ่งการฉีดยาทุกๆ 4 - 6 ชั่วโมงเป็นเวลา 10 - 12 วัน
- เด็ก: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำหรือเข้ากล้ามเนื้อ 150,000 - 250,000 ยูนิต/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันโดยแบ่งการให้ยาทุกๆ 6 ชั่วโมงเป็นเวลา 7 - 10 วัน
ฉ.ใช้ป้องกันการติดเชื้อระหว่างการคลอด (Prevention of Perinatal Group B Streptococcal Disease): เช่น
- หญิงตั้งครรภ์: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำเริ่มต้นที่ 5 ล้านยูนิต เมื่อเริ่มเจ็บครรภ์คลอด แล้วฉีดยา 2.5 ล้านยูนิต ทุก 4 ชั่วโมง จนกระทั่งคลอด
- อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การติดเชื้อสเตรปโตคอคคัสกรุ๊ป - บี ระหว่างตั้งครรภ์:
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเพนิซิลลิน จี ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเพนิซิลลิน จี อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
เพนิซิลลิน จี มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเพนิซิลลิน จี สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง /อาการข้างเคียง) เช่น
- อาจกระตุ้นให้เกิดการแพ้ยาในผู้ป่วยบางราย
- ลมพิษ
- มีไข้
- ปวดข้อ
- มีผื่นคันขึ้นตามผิวหนัง
- ภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก
- ไตอักเสบ
- มีอาการชัก
- เกิดพิษต่อประสาทส่วนกลาง เช่น อาการชา หรือรู้สึกแปลกๆที่มือ เท้า
- เกล็ดเลือดต่ำ
- ท้องเสีย
- ลำไส้อักเสบ
มีข้อควรระวังการใช้เพนิซิลลิน จี อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้เพนิซิลลิน จี เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ยานี้, แพ้ยาเพนิซิลลิน, หรือผู้ที่แพ้ยาในตระกูลเบต้า-แลคแตม(Beta lactam) เช่น เซฟาโลสปอริน (Cephalosporin), ก่อนการใช้ยานี้จึงควรสอบถามประวัติการใช้ยาโดยละเอียดจากผู้ป่วยเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยเอง
- หากพบอาการเหล่านี้หลังใช้ยานี้ให้หยุดการใช้ยาทันทีแล้วรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันทีเช่น มีลมพิษ มีผื่นคันขึ้นเต็มตัว หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ปวดท้องรุนแรง ท้องเสียอย่างมาก หรือคลื่นไส้-อาเจียนอย่างรุนแรง
- ระวังการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เพราะถึงแม้ว่าเพนิซิลลินจะจัดว่าปลอดภัยในผู้ป่วยกลุ่มนี้ แต่ก็ต้องระวังในเรื่องผลข้างเคียงที่อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของผู้ป่วยเช่น มีอาการท้องเสียหรือผื่นคันขึ้นหลังการใช้
- ยาเพนิซิลลิน จี อาจรบกวนผลการตรวจน้ำตาลในปัสสาวะของผู้ป่วยเบาหวานทำให้ผลการวิเคราะห์โรคคลาดเคลื่อน ดังนั้นระหว่างมีการใช้ยาเพนิซิลลิน จี ควรนำประวัติการใช้ยานี้มาประกอบในการพิจารณาวิเคราะห์ผลการตรวจปัสสาวะจากทางห้องปฏิบัติการทุกครั้ง
- ระวังการใช้ยาเพนิซิลลิน จี ในขนาดสูงกับผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตผิดปกติ ด้วยอาจก่อให้ เกิดความเสี่ยงเกิดภาวะไตล้มเหลว/ ไตวาย หรือ ภาวะหัวใจล้มเหลว
- ระหว่างการใช้ยาเพนิซิลลิน จี ต้องคอยควบคุมปริมาณเกลือโพแทสเซียมในกระแสเลือดให้อยู่ในระดับที่ปกติเสมอ
- เฝ้าระวังการทำงานของไตและของระบบเลือดอย่างใกล้ชิดเมื่อใช้ยานี้
- หลีกเลี่ยงการฉีดยานี้เข้าไขสันหลัง
- การใช้ยาเพนิซิลลิน จี เป็นเวลานานอาจกระตุ้นให้เชื้อโรคกลับลุกลามจากเชื้อดื้อยา จึงควรเฝ้าระมัดระวัง
- หยุดการใช้ยานี้ทันทีถ้าพบอาการผื่นคัน หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก คลื่นไส้-อาเจียน รุนแรง ท้องเสียรุนแรง และต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเพนิซิลลิน จี ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
เพนิซิลลิน จี มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเพนิซิลลิน จี มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาเพนิซิลลิน จี ร่วมกับยา Probenecid จะทำให้ยาเพนิซิลลิน จี อยู่ในร่างกายได้นานขึ้นและส่งผลต่อการออกฤทธิ์และประสิทธิภาพต่อการรักษา การจะใช้ยาทั้งคู่ได้อย่างเหมาะสมต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
- การใช้ยากลุ่มเพนิซิลลิน จี ร่วมกับ ยาต้านเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่น เช่นยา Tetracycline อาจทำให้ประสิทธิภาพในการต้านเชื้อแบคทีเรียของเพนิซิลลิน จี น้อยลงจึงควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยากลุ่มเพนิซิลลิน จี ร่วมกับ ยา Methotrexate สามารถทำให้ระดับยา Methotrexate ในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้นจนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกันหรือปรับขนาดการใช้ให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป
- การใช้ยากลุ่มเพนิซิลลิน จี ร่วมกับ ยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีส่วนประกอบของ Ethinyl Estradiol อาจทำให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดด้อยลงไป ดังนั้นขณะใช้ยาทั้ง 2 กลุ่มนี้ร่วมกันควรใช้วิธีอื่นในการป้องกันการตั้งครรภ์ด้วย เช่น การใช้ถุงยางอนามัยชาย
- การใช้ยากลุ่มเพนิซิลลิน จี ร่วมกับ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่นยา Warfarin อาจก่อให้เกิดภาวะตกเลือดได้ง่ายโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคไต โรคตับ การใช้ยาร่วมกัน จึงต้องคอยเฝ้าระ วังและควบคุมกลไกการแข็งตัวของเลือดให้อยู่ในระดับปกติอยู่เสมอ
ควรเก็บรักษาเพนิซิลลิน จี อย่างไร?
ควรเก็บยาเพนิซิลลิน จี เช่น
- เก็บยาที่อุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และ ความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
เพนิซิลลิน จี มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเพนิซิลลิน จี มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Pen G (เพน จี) | PP LAB |
Penicillin G Sodium General Drugs House (เพนิซิลลิน จี โซเดียม เจเนอรอล ดรักซ์ เฮาส์) | General Drugs House |
Penicillin G Sodium MH (เพนิซิลลิน จี โซเดียม เอ็มเฮช) | M & H Manufacturing |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Penicillin#Medical_uses [2021,Aug14]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Benzylpenicillin [2021,Aug14]
- https://www.drugs.com/dosage/penicillin-v-potassium.html [2021,Aug14]
- https://www.mims.com/THAILAND/drug/info/Pen%20G/?tabrecent=2 [2021,Aug14]
- https://www.drugs.com/mtm/penicillin-g-potassium.html [2021,Aug14]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=benzylpenicillin&page=0 [2021,Aug14]