เบซาไฟเบรต (Bezafibrate)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเบซาไฟเบรต (Bezafibrate)เป็นยาในกลุ่มไฟเบรต(Fibrate) ทางการแพทย์ใช้เป็นยาลดไขมันในเลือดประเภทแอลดีแอล (LDL cholesterol) และไขมันไตรกลีเซอไรด์(Triglyceride) รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาเบซาไฟเบรตเป็นยาชนิดรับประทาน ตัวยามีการดูดซึมได้อย่างรวดเร็วจากระบบทางเดินอาหาร และสามารถอยู่ในร่างกายได้นานประมาณ 1–2 ชั่วโมงก่อนที่จะถูกกำจัดทิ้งไปกับปัสสาวะและมีส่วนน้อยที่ถูกกำจัดไปกับอุจจาระ จากกลไกการกระจายตัวยาในร่างกายดังกล่าว ทำให้ผู้ป่วยต้องรับประทานยานี้วันละ 3 ครั้ง หรือรับประทานยาเบซาไฟเบรตชนิดออกฤทธิ์นาน วันละ1ครั้งซึ่งน่าจะสะดวกกับผู้ป่วยมากกว่า

ข้อจำกัดและข้อควรระวังบางประการของการใช้ยาเบซาไฟเบรต ที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ และแพ้ยาในกลุ่มยาไฟเบรต
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคนิ่วในถุงน้ำดี ผู้ป่วยโรคไตระยะรุนแรง
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีการใช้กลุ่มยา Statin
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อ ผู้ที่มีการติดเชื้ออย่างรุนแรง

การใช้ยาเบซาไฟเบรตอย่างมีประสิทธิผล ผู้ป่วยจะต้องควบคุมอาหารและออกกำลังกายอย่างเหมาะสมร่วมด้วย นอกจากนี้ต้องรับประทานยานี้ตรงตามขนาดและเวลาที่แพทย์กำหนด

*กรณีเกิดข้อผิดพลาดที่ผู้ป่วยรับประทานยาเบซาไฟเบรตเกินขนาด จะทำให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อ มีอาการบวมตามร่างกาย ไตทำงานผิดปกติ(เช่น ปัสสาวะน้อยมาก) หากพบเหตุการณ์ดังกล่าว ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

ยาเบซาไฟเบรต อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ต่างๆตามมาได้ด้วย เช่น เบื่ออาหาร คลื่นไส้ รู้สึกไม่สบายในท้อง ปวดศีรษะ วิงเวียน เกิดผื่นแพ้แสงแดดง่าย เป็นต้น มีอาการข้างเคียงบางอย่างที่อาจก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตประจำวัน อย่างเช่น เกิดผื่นคันมาก มีภาวะ Stevens-Johnsons syndrome หรือปวดกล้ามเนื้อมาก กรณีพบเห็นอาการข้างเคียงเหล่านี้ ควรรีบนำผู้ป่วยเข้ามาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอจนถึงวันแพทย์นัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการใช้ยานี้

นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังต้องระวังการรับประทานยาเบซาไฟเบรตร่วมกับยาชนิดอื่น ด้วย ยาเบซาไฟเบรตสามารถก่อให้เกิดภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)กับยาชนิดอื่นได้หลายประเภทโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มยาMAOIs ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาลดน้ำตาลในเลือด(ยารักษาโรคเบาหวาน) รวมถึงกลุ่มยาประเภทเรซิ่น/สารประกอบประเภทยาง(Rasin) อย่างเช่นยา Cholestryramine

ประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยา ได้กำหนดให้ยาเบซาไฟเบรตอยู่ในหมวดยาอันตราย ผู้ป่วยไม่ควรซื้อหายานี้มารับประทานเอง ควรต้องได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์เสียก่อนและให้แพทย์เป็นผู้สั่งการใช้ยานี้

อนึ่ง ผู้บริโภค สามารถพบเห็นการจัดจำหน่ายยาเบซาไฟเบรตได้ ตามร้านขายยาแผนปัจจุบัน และมีการใช้ในสถานพยาบาลทั่วไป

เบซาไฟเบรตมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เบซาไฟเบรต

ยาเบซาไฟเบรตมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาภาวะ/โรคไขมันในเลือดสูง (Hyperlipidaemias) โดยจะออกฤทธิ์ลดไขมันชนิด LDL cholesterol , Triglyceride แต่จะทำให้ไขมันดีอย่าง HDL เพิ่มมากขึ้น

เบซาไฟเบรตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาเบซาไฟเบรตคือ ตัวยาจะสนับสนุนกรทำงานของเอนไซม์ในร่างกายชื่อ Triglyceride lipases ส่งผลให้ไขมัน Triglyceride ถูกย่อยทำลายและมีปริมาณลดลง นอกจากนี้ยังออกฤทธิ์กระตุ้นการสลายไขมันชนิดแอลดีแอล (LDL) ในร่างกาย โดยผ่านกระบวนการที่นักวิทยาศาสตร์เรียกกันว่า LDL-receptor-mediated lipoprotein catabolism จากกลไกเหล่านี้เองจึงทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

เบซาไฟเบรตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

เบซาไฟเบรตมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทานแบบออกฤทธิ์ทันที ที่ประกอบด้วย Bezafibrate 200 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาเม็ดชนิดรับประทานแบบออกฤทธิ์นาน ที่ประกอบด้วย Bezafibrate 400 มิลลิกรัม/เม็ด

เบซาไฟเบรตมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเบซาไฟเบรตมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 200 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง พร้อมอาหาร กรณีที่ผู้ป่วยมีการตอบสนองการใช้ยาได้ดีโดยทำให้ไขมัน Triglyceride ลดลงมาเป็นปกติ แพทย์อาจสั่งลดการใช้ยาเป็น 200 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง, กรณีใช้ยานี้ชนิดออกฤทธิ์นานให้รับประทาน 400 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง
  • เด็กและวัยรุ่น: ห้ามใช้ยากับเด็ก/เด็กวัยรุ่น

อนึ่ง:

  • ผู้ป่วยต้องมารับการตรวจไขมันในเลือดตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง
  • ระยะเวลาในการใช้ยานี้จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
  • หากพบว่าระหว่างที่ใช้ยานี้แล้วมีอาการผิดปกติ อย่างเช่น ปวดตามร่างกายอย่างมาก มีลมพิษ เกิดผื่นคัน ควรหยุดใช้ยานี้ แล้วรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยทันที

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยา ยาเบซาไฟเบรต ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคตับ โรคนิ่วในถุงน้ำดี โรคไต รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเบซาไฟเบรต อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเบซาไฟเบรต สามารถรับประทานยานี้ได้ทันทีที่นึกขึ้นได้กรณีเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาในขนาดปกติ

อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการลดไขมันในเลือด ผู้ป่วยควรรับประทานยาเบซาไฟเบรต ตรงตามขนาดและเวลาที่แพทย์แนะนำ

เบซาไฟเบรตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเบซาไฟเบรตสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น เบื่ออาหาร รู้สึกไม่สบายในระบบทางเดินอาหาร ปวดท้อง ท้องผูกหรือไม่ก็ท้องเสีย อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ ตับอ่อนอักเสบ
  • ผลต่อตับ: เช่น มีภาวะคั่งของน้ำดีในถุงน้ำดี
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ลมพิษ ผื่นแพ้แสงแดด ผมร่วง Stevens-Johnsons syndrome
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดกล้ามเนื้อ เป็นตะคริว กล้ามเนื้อลายสลาย
  • ผลต่อไต: เช่น เกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน
  • ผลต่อระบบสืบพันธุ์: เช่น สมรรถภาพทางเพศถดถอย
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ซึม นอนไม่หลับ

มีข้อควรระวังการใช้เบซาไฟเบรตอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเบซาไฟเบรต เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ และ/หรือแพ้ยากลุ่มไฟเบรต
  • ห้ามใช้ยานี้กับหญิงมีครรภ์ หญิงในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคไตระยะรุนแรง ผู้ป่วยที่เป็นนิ่วในถุงน้ำดี
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานโดยมิได้ขอความเห็นจากแพทย์
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุตั้งแต่อายุ 65 ปีขึ้นไป
  • หากพบผลข้างเคียงเรื่องการทำงานของกล้ามเนื้อผิดปกติ เช่น ปวดกล้ามเนื้อ เป็นตะคริว ให้หยุดการใช้ยนี้ทันที แล้วรีบนำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว
  • กรณีใช้ยานี้ตามระยะเวลาที่เหมาะสมตามแพทย์แนะนำ แต่ผลการรักษาไม่ดีขึ้น ควรหยุดการใช้ยานี้ แล้วรีบกลับไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล โดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเบซาไฟเบรตด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เบซาไฟเบรตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเบซาไฟเบรตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาเบซาไฟเบรตร่วมกับ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น Warfarin อาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • ห้ามรับประทานยาเบซาไฟเบรตร่วมกับยากดภูมิคุ้มกัน(Immunosuppressants) ชนิดต่างๆ ด้วยจะก่อให้เกิดพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)กับไตของผู้ป่วย
  • หลีกเลี่ยง/ห้ามรับประทานยาเบซาไฟเบรตร่วมกับยา Cholestyramine ด้วยจะ ทำให้การดูดซึมของยาเบซาไฟเบรตจากระบบทางเดินอาหารน้อยลง
  • ห้ามใช้ยาเบซาไฟเบรตร่วมกับกลุ่มยา MAOIs ด้วยจะก่อให้เกิดพิษต่อตับ

ควรเก็บรักษาเบซาไฟเบรตอย่างไร?

ควรเก็บยาเบซาไฟเบรต ภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส(Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

เบซาไฟเบรตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเบซาไฟเบรต ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Benzalip (เบนซาลิบ) Actavis
Bezamil (เบซามิล)Milano
Evicta (อีวิคตา)Charoon Bhesaj
Polyzalip (โพลี่ซาลิบ)Central Poly Trading
Raset (ราเซ็ท)Unison

บรรณานุกรม

  1. http://www.mims.com/thailand/drug/info/bezafibrate/?type=brief&mtype=generic[2017,May27]
  2. https://www.drugs.com/uk/pdf/leaflet/864908.pdf[2017,May27]
  3. http://www.medsafe.govt.nz/profs/Datasheet/b/Bezaliptab.pdf[2017,May27]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Bezafibrate[2017,May27]