เนื้องอกต่อมหมวกไต (Adrenal tumor)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 25 มิถุนายน 2564
- Tweet
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- นิยามต่อมหมวกไต
- เนื้องอกต่อมหมวกไตมีกี่ชนิด?
- อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเกิดเนื้องอกต่อมหมวกไต?
- เนื้องอกต่อมหมวกไตมีอาการอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยเนื้องอกต่อมหมวกไตได้อย่างไร?
- รักษาเนื้องอกต่อมหมวกไตได้อย่างไร?
- เนื้องอกต่อมหมวกไตมีการพยากรณ์โรคอย่างไร? มีผลข้างเคียงอย่างไร?
- จัดระยะโรคเนื้องอกต่อมหมวกไตอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นเนื้องอกต่อมหมวกไต?
- ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
- มีวิธีตรวจคัดกรองให้พบเนื้องอกต่อมหมวกไตไหม?
- ป้องกันเนื้องอกต่อมหมวกไตได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- ต่อมหมวกไต (Adrenal gland)
- ฮอร์โมนต่อมหมวกไต (Adrenal gland hormones)
- เนื้องอก (Tumor)
- มะเร็ง (Cancer)
- คาร์ซิโนมา มะเร็งคาร์ซิโนมา (Carcinoma)
- ฟีโอโครโมไซโตมา (Pheochromocytoma)
- ขนดก ภาวะมีขนแบบชาย (Hisutism)
- โรคต่อมไร้ท่อ โรคระบบต่อมไร้ท่อ (Endocrine disease)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบต่อมไร้ท่อ (Anatomy and physiology of endocrine system)
บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
เนื้องอกต่อมหมวกไต(Adrenal tumor/ Adrenal gland tumor)คือ โรคที่เกิดจากเซลล์ต่อมหมวกไตเจริญเกินปกติ โดยที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมการเจริญนี้ได้ จึงเกิดเป็นก้อนเนื้อขึ้นในต่อมหมวกไต ซึ่งโดยทั่วไปมักไม่มีอาการ แต่ประมาณ 10-15%ของเนื้องอกนี้จะสร้างฮอร์โมนกลุ่มเดียวกับฮอร์โมนต่อมหมวกไต จึงส่งผลให้ร่างกายมีระดับฮอร์โมนกลุ่มนี้ในเลือดสูงเกินปกติจนก่ออาการผิดปกติต่างๆขึ้น ซึ่งอาการจะแตกต่างกันตามชนิด/หน้าที่ของฮอร์โมนนั้นๆ เช่น มีความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ถ้าเป็นเนื้องอกที่สร้างฮอร์โมนควบคุมความดันโลหิต เป็นต้น
เนื้องอกต่อมหมวกไตพบได้เรื่อยๆ ไม่ถึงกับบ่อย พบทุกวัย แต่พบสูงขึ้นในวัยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ พบในผู้หญิงและผู้ชายใกล้เคียงกัน
นิยามต่อมหมวกไต
ต่อมหมวกไต (Adrenal gland หรือ Suprarenal gland) เป็นต่อมไร้ท่อชนิดหนึ่ง แบ่งออกเป็น 2 ส่วน/ชั้น คือ ต่อมหมวกไตส่วนนอก/ต่อมหมวกไตชั้นนอก เรียกว่า “Adrenal cortex”, และต่อมหมวกไตส่วนใน/ต่อมหมวกไตชั้นใน เรียกว่า “Adrenal medulla”
ก. ต่อมหมวกไตส่วนนอก(Adrenal cortex): ฮอร์โมนจากต่อมฯส่วนนอกนี้มีหน้าที่เพื่อ คงสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย, ควบคุมความดันโลหิต, ช่วยการตอบสนองของร่างกายต่อความเครียด(Stress)ต่างๆ, รวมถึงช่วยในกระบวนการสันดาป, และกระบวนการเกิดการอักเสบของร่างกาย
นอกจากนั้น ต่อมฯส่วนนอกนี้ยังสามารถสร้างฮอร์โมนเพศชาย(แอนโดรเจน/Androgen)ได้ด้วย แต่จะมีบทบาทน้อยกว่าฮอร์โมนเพศชายจากอัณฑะมาก ซึ่งฮอร์โมนเพศชายจากต่อมหมวกไตยังช่วยการพัฒนาของอวัยวะเพศชายในช่วงวัยเด็ก ก่อนถึงวัยที่อัณฑะจะทำงานได้เต็มที่ นอกจากนั้นจะช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนเพศโดยเฉพาะในเด็กหญิงช่วงเข้าสู่วัยรุ่นจากปรับฮอร์โมนเพศชายให้เปลี่ยนเป็นฮอร์โมนเพศหญิง(เอสโตรเจน/ Estrogen)ได้
ทั้งนี้ฮอร์โมนจากต่อมฯส่วนนอกนี้ จัดเป็นฮอร์โมนสำคัญที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ซึ่งการทำงาน/การสร้างและหลั่งฮอร์โมนจากต่อมฯส่วนนี้จะอยู่ในกำกับของต่อมใต้สมอง และสมองส่วนไฮโปธาลามัส
ข. ต่อมหมวกไตส่วนใน(Adrenal medulla): ต่อมฯส่วนในนี้สร้างฮอร์โมนที่ร่างกายใช้ตอบสนองต่อตัวกระตุ้น ที่เรียกว่า “ฮอร์โมนเพื่อการต่อสู้หรือเพื่อการหนี (Fight or Flight hormone)” โดยฮอร์โมนจากต่อมฯส่วนในจัดเป็นฮอร์โมนที่ไม่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต ทั้งนี้ การทำงานของต่อมฯส่วนในจะอยู่ในกำกับของ”ระบบประสาทอัตโนมัติ” ส่วนที่เรียกว่า “ระบบประสาทซิมพาทีติก(Sympathetic nervous system”
อนึ่ง: แนะนำอ่านเพิ่มเติมเรื่องฮอร์โมนชนิดต่างๆที่สร้างจากต่อมหมวกไต เพื่อให้เข้าใจถึงอาการต่างๆที่เกิดขึ้นกรณีเป็นเนื้องอกต่อมหมวกไตชนิดสร้างฮอร์โมนได้ ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘ฮอร์โมนต่อมหมวกไต’
เนื้องอกต่อมหมวกไตมีกี่ชนิด?
เนื้องอกต่อมหมวกไตแบ่งเป็น 2กลุ่ม/ชนิดหลัก ตามชนิดเนื้อเยื่อต่อมหมวกไต ได้แก่
ก. เนื้องอกต่อมหมวกไตส่วนนอก ที่แบ่งเป็น 2ชนิดย่อย คือ
- เนื้องอกทั่วไปที่ไม่ใช่มะเร็ง (Adenocortical adenoma หรือ Benign adrenal gland tumor): แบ่งย่อย เป็น
- ชนิดสร้างฮอร์โมน พบได้ประมาณ 10-15%
- ที่เหลือประมาณ 85-90% เป็นชนิดไม่สร้างฮอร์โมน, ซึ่งพบประมาณ 1-10%จากการตรวจศพโดยที่ผู้ป่วยไม่มีอาการขณะยังมีชีวิต
- เนื้องอกมะเร็ง(Adenocortical cancer หรือ Malignant adrenal gland tumor): มีทั้งมะเร็งชนิดคาร์ซิโนมา(Carcinoma), และชนิดซาร์โคมา(Sarcoma) แต่เกือบทั้งหมดเป็นคาร์ซิโนมา(Adenocortical carcinoma) และกลุ่มนี้ยังแบ่งย่อยได้อีก เป็นชนิดสร้างฮอร์โมน, และชนิดไม่สร้างฮอร์โมน เช่นกัน
ข. เนื้องอกต่อมหมวกไตส่วนใน ที่แบ่งเป็น 2ชนิดย่อย คือ
- เนื้องอกทั่วไปที่ไม่ใช่มะเร็ง: โดยเกือบทั้งหมดคือ เนื้องอก ฟีโอโครโมไซโตมา (Pheochromocytoma) ซึ่งกลุ่มนี้แบ่งย่อยได้อีก เป็นชนิดสร้างฮอร์โมน, และชนิดไม่สร้างฮอร์โมน
- เนื้องอกที่เป็นมะเร็ง: ที่แบ่งย่อยได้อีก เป็นชนิดสร้างฮอร์โมน, และชนิดไม่สร้างฮอร์โมน โดยชนิดพบบ่อยคือ นิวโรบลาสโตมา และ ฟีโอโครโมไซโตมาชนิดเป็นมะเร็ง(Malignant pheochromocytoma)
อนึ่ง: กรณีตรวจพบเนื้องอกต่อมหมวกไตอย่างบังเอิญโดยผู้ป่วยไม่มีอาการจากเนื้องอกนี้ ซึ่งมักพบจากตรวจภาพช่องท้องในโรคอื่นๆด้วย อัลตราซาวด์, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์/ ซีทีสแกน, หรือเอมอาร์ไอ กรณีวินิจฉัยโรคต่างๆในช่องท้อง เช่น โรคตับ โรคไต โรคระบบทางเดินอาหาร, อุบัติเหตุที่ช่องท้อง, เรียกเนื้องอกที่พบโดยบังเอิญนี้ว่า ‘Adrenal incidentaloma’ ซึ่งแพทย์จะมีวิธีตรวจวินิจฉัย รักษา และการพยากรณ์โรค เช่นเดียวกับ กรณีเนื้องอกต่อมหมวกไตทั่วไป
อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเกิดเนื้องอกต่อมหมวกไต?
ปัจจุบัน ยังไม่พบสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอกต่อมหมวกไตทั้งชนิดเนื้องอกทั่วไปและชนิดเนื้องอกมะเร็ง แต่มีรายงานพบเนื้องอกต่อมหมวกไตได้สูงขึ้นในผู้ป่วยกลุ่มพบได้น้อยมากๆที่มีพันธุกรรมผิดปกติที่ทำให้เกิดเนื้องอกขึ้นพร้อมๆกันหลายๆอวัยวะในร่างกาย เช่น ที่ต่อมพาราทรอยด์ ต่อมหมวกไต ตับอ่อน และต่อมใต้สมอง ที่เรียกว่าโรค MEN1(Multiple endocrine neoplasia type1)
เนื้องอกต่อมหมวกไตมีอาการอย่างไร?
อาการพบบ่อยของเนื้องอกต่อมหมวกไต คือ ไม่มีอาการ(พบประมาณ 85-90%ของผู้ป่วย) แต่แพทย์ตรวจพบเนื้องอกนี้โดยบังเอิญจากการตรวจช่องท้องในโรคต่างๆด้วย อัลตราซาวด์, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์/ ซีทีสแกน, และ/หรือเอมอาร์ไอ เช่น กรณี ไส้ติ่งอักเสบ อุบัติเหตุช่องท้อง โรคไต โรคตับ เป็นต้น
กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการ: จะเป็นอาการจากมีฮอร์โมนผิดปกติที่เนื้องอกนี้เป็นชนิดสร้างฮอร์โมน(พบเนื้องอกกลุ่มนี้เพียงประมาณ10-15%) แต่จะไม่มีอาการจำเพาะ โดยอาการจะแตกต่างในแต่ละผู้ป่วยตามชนิดฮอร์โมนที่เนื้องอกนั้นๆสร้างขึ้น เช่น
- ความดันโลหิตสูง กรณีเป็นเนื้องอกที่สร้างฮอร์โมนควบคุมระดับเกลือแร่ หรือความดันโลหิตของร่างกาย
- น้ำตาลในเลือดสูง กรณีเป็นเนื้องอกที่สร้างฮอร์โมนที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
เนื่องจากต่อมหมวกไตเป็นอวัยวะอยู่ลึกและส่วนใหญ่เนื้องอกต่อมหมวกไตขนาดไม่โตมาก ดังนั้นทั่วไป ส่วนใหญ่ของเนื้องอกนี้ จึงมักไม่มีอาการ แพทย์ตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจช่องท้องในโรคต่างๆดังได้กล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’
นอกจากนั้น กรณีที่เนื้องอกนี้สร้างฮอร์โมน ผู้ป่วยก็จะมาพบแพทย์ด้วยอาการจากร่างกายมีฮอร์โมนเหล่านั้นในเลือดสูงเกินปกติ เช่น
- ความดันโลหิตสูงที่ควบคุมได้ยาก กรณีเป็นเนื้องอกกลุ่ม ฟีโอโครโมไซโตมา
- มีขนดก และ/หรือ มีอาการของโรคกลุ่มอาการคุชชิง กรณีเป็นเนื้องอกต่อมหมวกไตส่วนนอก
ดังนั้น ในการพบแพทย์/มาโรงพยาบาล ผู้ป่วยจึงใช้หลักทั่วไปได้คือ เมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆ ซึ่งไม่ดีขึ้น หรือแย่ลงหลังการดูแลตนเองในเบื้องต้นภายในระยะเวลาประมาณ 7-10วัน ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ
แพทย์วินิจฉัยเนื้องอกต่อมหมวกไตได้อย่างไร?
เนื้องอกต่อมหมวกไตเป็นโรควินิจฉัยยากมาก อย่างไรก็ตาม หลักในการวินิจฉัยจะเช่นเดียวกับการวินิจฉัยทุกโรค คือ
- ซักถามประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในปัจจุบันและในอดีต ยาต่างๆที่กำลังใช้อยู่
- ตรวจสัญญาณชีพ
- การตรวจร่างกาย
- ตรวจเลือดทั่วไปเพื่อดู การทำงานของไขกระดูก/ตรวจซีบีซี, การทำงานของ ตับ, ของไต,
- การตรวจปัสสาวะ
- และเมื่อตรวจพบความผิดปกติ อาจมีการสืบค้นเพิ่มเติมโดยเฉพาะเมื่อสงสัยโรคของต่อมหมวกไต คือ การตรวจภาพช่องท้องด้วย อัลตราซาวด์, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์/ซีทีสแกน, และ/หรือเอมอาร์ไอ
และเมื่อพบมีเนื้องอกที่ต่อมหมวกไต แพทย์ต้องวินิจฉัยแยกโรคว่า เป็นเนื้องอกชนิดใดใน3ชนิด/กลุ่ม ได้แก่
- เนื้องอกชนิดทั่วไปที่ไม่ใช่มะเร็ง ที่พบได้ประปราย
- เนื้องอกชนิดเป็นมะเร็งของต่อมหมวกไตเอง ที่พบน้อย ที่เรียกอีกชื่อว่า’มะเร็งต่อมหมวกไตปฐมภูมิ(Primary adrenal gland cancer) หรือ
- มะเร็งอวัยวะอื่นที่แพร่กระจายมาต่อมหมวกไตซึ่งเป็นกลุ่มพบบ่อย โดยกลุ่มมะเร็งอื่นที่แพร่กระจายมาต่อมหมวกไต เรียกว่า ‘เนื้องอกต่อมหมวกไตทุติยภูมิ(Secondary adrenal gland cancer)’, มะเร็งที่พบมีการแพร่กระจาย(ระยะที่4)มาต่อมหมวกไตบ่อย ได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งไต มะเร็งตับอ่อน
อนึ่ง: การวินิจฉัยที่แน่นอนว่า เป็นเนื้องอกชนิดใดจะต้องได้จากการตรวจชิ้นเนื้อ ของเนื้องอกต่อมหมวกไตเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา อาจโดยการตัดชิ้นเนื้อ หรือ การผ่าตัดต่อมหมวกไต ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
รักษาเนื้องอกต่อมหมวกไตได้อย่างไร?
หลักการรักษาเนื้องอกต่อมหมวกไต แพทย์จะประเมินวิธีรักษาจากปัจจัยสำคัญ คือ
- อาการผู้ป่วย
- ประวัติเป็นโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคมะเร็ง
- ขนาดก้อนเนื้อและลักษณะทางรังสีวิทยาของก้อนเนื้อที่ตรวจด้วยซีทีสแกน และ/หรือเอมอาร์ไอ
- อายุ และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย
- และถ้าจำเป็น อาจต้องตัดชิ้นเนื้อเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
ทั้งนี้ แนวทางการรักษาจะโดย
- กรณีไม่มีอาการ, ก้อนเนื้อขนาดเล็ก, ไม่มีประวัติเป็นมะเร็ง, ลักษณะภาพก้อนเนื้อทางรังสีวิทยาไม่ใช่ลักษณะก้อนเนื้อมะเร็ง: แพทย์จะให้การดูแลรักษาโดยการเฝ้าติดตามโรคเป็นระยะๆ อาจทุก3-6เดือน ด้วย การสอบถามอาการ, การตรวจร่างกาย, อัลตราซาวด์/เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ก้อนเนื้องอก, เมื่อก้อนโตขึ้นจึงแนะนำการผ่าตัด
- กรณีมีอาการ: แพทย์จะให้การรักษาทางยา เช่น ยาลดความดัน กรณีความดันโลหิตสูง ร่วมกับการตรวจติดตามขนาดก้อนเนื้อ แต่ถ้าควบคุมความดันโลหิตไม่ได้ หรือก้อนฯมีขนาดใหญ่ตั้งแต่แรก หรือ ก้อนฯมีลักษณะทางรังสีวิทยาสงสัยมะเร็ง หรือก้อนฯโตขึ้น แพทย์จะแนะนำการผ่าตัดต่อมหมวกไตข้างเป็นก้อนฯ
- กรณีมีโรคมะเร็งอื่นร่วมด้วย/เป็นก้อนที่เป็นมะเร็งทุติยภูมิที่แพร่กระจายมาจากมะเร็งของอวัยวะอื่นๆ การรักษาคือ รักษาโรคมะเร็งนั้นๆ เช่น รักษามะเร็งปอด กรณีเป็นมะเร็งปอดแพร่กระจายมาต่อมหมวกไต เป็นต้น
เนื้องอกต่อมหมวกไตมีการพยากรณ์โรคอย่างไร? มีผลข้างเคียงอย่างไร?
การพยากรณ์โรคของเนื้องอกต่อมหมวกไต ขึ้นกับว่า ผู้ป่วยมีอาการหรือไม่, เป็นเนื้องอกขนาดเท่าไร, เนื้องอกสร้างฮอร์โมนหรือไม่, เป็นเนื้องอกทั่วไป, หรือเป็นเนื้องอกมะเร็ง, หรือเป็นเนื้องอกทุติยภูมิ
- กรณีผู้ป่วยไม่มีอาการ ก้อนเนื้อฯขนาดเล็ก ลักษณะก้อนทางรังสีวิทยาเป็นก้อนเนื้อทั่วไป และเมื่อติดตามโรคแล้วก้อนไม่โตขึ้น: การพยากรณ์โรคจะดี โรคไม่มีผลต่ออายุขัยของผู้ป่วย, ไม่จำเป็นต้องมีการรักษา
- กรณีก้อนเนื้อฯ ขนาดใหญ่ หรือก้อนเนื้องอกฯที่สร้างฮอร์โมน: โรครักษาหายได้ด้วยการผ่าตัดต่อมหมวกไตด้านนั้น อาจร่วมกับยารักษาควบคุมอาการต่างๆ
- กรณีเป็นมะเร็งปฐมภูมิ/เป็นมะเร็งของเซลล์ต่อมหมวกไต: การพยากรณ์โรคขึ้นกับว่า ผ่าตัดก้อนมะเร็งออกได้หมดหรือไม่ ถ้าผ่าตัดออกได้หมด การพยากรณ์โรคดี ถ้าผ่าตัดออกไม่ได้หมด การพยากรณ์โรคไม่ดี, เพราะมะเร็งต่อมหมวกไตมักดื้อต่อยาเคมีบำบัดและรังสีรักษา, และ/หรือโรคกลับเป็นซ้ำสูง และ/หรือมักแพร่กระจายเข้าสู่ปอด ผู้ป่วยมักตายภายใน 2-5 ปีหลังวินิจฉัยโรคได้
- กรณีเป็นมะเร็งแพร่มาจากอวัยวะอื่น(มะเร็งทุติยภูมิ): การพยากรณ์โรคขึ้นกับมะเร็งที่เป็นต้นกำเนิด
จัดระยะโรคเนื้องอกต่อมหมวกไตอย่างไร?
การจัดระยะโรคของเนื้องอกต่อมหมวกไต ได้แก่
ก. โรคเนื้องอกต่อมหมวกไตทั่วไปที่ไม่ใช่มะเร็ง: ไม่มีการจัดระยะโรคด้วยไม่ใช่โรคมะเร็ง
ข. เนื้องอกต่อมหมวกไตชนิดเป็นมะเร็งปฐมภูมิ: เนื่องจากเป็นโรคพบน้อย และมีกลุ่มโรคหลากหลายชนิดย่อย ทั่วไปแพทย์จัดเป็นระยะต่างๆ ตามลักษณะทางคลินิก คือ
- ระยะผ่าตัดออกได้หมด: การพยากรณ์โรคปานกลาง
- ระยะผ่าตัดออกได้ไม่หมด: การพยากรณ์โรคไม่ดี
- ระยะโรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองใกล้ๆต่อมหมวกไต: การพยากรณ์โรคไม่ดี
- ระยะโรคแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่นๆ, หรือเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกลต่อมหมวกไต ซึ่งจัดเป็นระยะที่4 เหมือนกับมะเร็งทุกชนิด, ระยะนี้การพยากรณ์โรคแย่
- โรคระยะโรคกลับเป็นซ้ำหลังผ่าตัด: การพยากรณ์โรคแย่
แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีการจัดระยะโรคเป็น4ระยะเช่นเดียวกับมะเร็งอื่นๆ ได้แก่
- ระยะที่1: โรคจำกัดเฉพาะในต่อมหมวกไตและขนาดไม่เกิน 5 ซม.
- ระยะที่2: โรคจำกัดอยู่ในต่อมหมวกไต แต่ขนาดก้อนโตมากกว่า5ซม.
- ระยะที่3: มี3กรณีคือ
- โรคจำกัดอยู่เฉพาะต่อมหมวกไต, ขนาดเท่าไรก็ได้, แต่ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อรอบหมวกไต และ/หรือ
- โรคลุกลามเข้าอวัยวะติดกับหมวกไตที่รวมถึงหลอดเลือดขนาดใหญ่ และ/หรือ
- โรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง
- ระยะที่4:
- โรคแพร่กระจายทางกระแสเลือดไปยังอวัยวะต่างๆ พบบ่อยที่ ปอด
- และ/หรือ โรคแพร่กระจายทางระบบน้ำเหลืองออกสู่ต่อมน้ำเหลืองนอกช่องท้อง เช่น ต่อมน้ำเหลืองเหนือไหปลาร้า หรือ ลำคอ
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นเนื้องอกต่อมหมวกไต?
เนื้องอกต่อมหมวกไตมีการดูแลตนเองที่ต่างกันเป็นรายผู้ป่วยขึ้นกับ อาการที่เกิดขึ้น, และชนิดของเนื้องอกแต่ละชนิด, แต่หลักในการดูแลตนเองที่สำคัญที่สุดและเหมือนกันในโรคทุกกลุ่ม เช่น
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่ง ให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่หยุดยาเอง
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ)เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อต่างๆ และเพื่อให้มีสุขภาพจิตที่ดี เพราะโรคเนื้องอกต่อมหมวกไตจัดเป็นโรคเรื้อรังที่จะส่งผลต่อสุขภาพจิต
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
ผู้ป่วยเนื้องอกต่อมหมวกไตควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
- อาการต่างๆแย่ลง เช่น ควบคุมความดันโลหิต และ/หรือระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้, อ้วนขึ้นรวดเร็ว
- มีอาการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น ปวดศีรษะเรื้อรัง และกินยาแก้ปวดศีรษะแล้วไม่ดีขึ้น
- มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งอย่างต่อเนื่องจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น นอนไม่หลับทุกคืน, น้ำหนักตัวเพิ่มมากและเพิ่มเร็ว, วิงเวียนศีรษะ, ท้องผูกหรือท้องเสีย
- กังวลในอาการ
มีวิธีตรวจคัดกรองให้พบเนื้องอกต่อมหมวกไตไหม?
ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองเพื่อให้พบเนื้องอกต่อมหมวกไตตั้งแต่ยังไม่มีอาการ
ป้องกันเนื้องอกต่อมหมวกไตได้อย่างไร?
ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีป้องกันเนื้องอกต่อมหมวกไตเพราะเรายังไม่ทราบทั้งสาเหตุ และปัจจัยเสี่ยงของโรคนี้
บรรณานุกรม
- AJCC: Cancer staging manual, 8th ed.
- N. Hitzeman and E. Cotton . Am Fam Physician. 2014;90(11):784-789
- https://en.wikipedia.org/wiki/Adrenal_tumor [2021,June19]
- https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/17769-adrenal-tumors [2021,June19]
- https://emedicine.medscape.com/article/116587-overview#showall [2021,June19]