เนื้องอกต่อมพาราไทรอยด์ (Parathyroid adenoma)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ:คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

เนื้องอกต่อมพาราไทรอยด์/ เนื้องอกต่อมเคียงไทรอยด์ (Parathyroid adenoma) คือโรคที่เซลล์ต่อมพาราไทรอยด์เจริญแบ่งตัวเกินปกติจนเกิดเป็นก้อนเนื้องอก แต่ยังเป็นเนื้องอกชนิดธรรมดาทั่วไปไม่ถึงขั้นเป็นเนื้องอกมะเร็ง กล่าวคือ เนื้องอกนี้จะเจริญจำกัดอยู่เฉพาะที่ในต่อมพาราไทรอยด์เท่านั้น ร่างกายยังสามารถควบคุมไม่ให้เนื้องอกนี้รุกราน/ลุกลามทำลายตัวต่อมพาราไทรอยด์เอง หรือทำลายเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง ไม่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองหรือเข้าระบบน้ำเหลือง และไม่แพร่กระจายเข้ากระแสเลือดไปทำลายอวัยวะต่างๆข้างเคียงและทั่วร่างกาย ซึ่งโดยทั่วไป เนื้องอกนี้จะมีขนาดเล็ก จนผู้ป่วยไม่สามารถสังเกตเห็นก้อนเนื้อได้

เนื้องอกต่อมพาราไทรอยด์/เนื้องอกต่อมเคียงไทรอยด์มักเป็นสาเหตุพบบ่อยที่ทำให้เกิดโรค/ภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกิน(Hyperparathyroidism, แนะนำอ่านรายละเอียดเรื่องนี้เพิ่มเติมในเว็บ haamor.com)

ต่อมพาราไทรอยด์ หรือ ต่อมเคียงไทรอยด์ (Parathyroid gland) เป็นต่อม/อวัยวะในระบบต่อมไร้ท่อ (กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบต่อมไร้ท่อ) มีขนาดเล็ก รูปร่างค่อนข้างกลม คล้ายเมล็ดถั่วเขียว ทั่วไปพบได้ 4 ต่อม แต่ละต่อมฝังอยู่ติดใต้ต่อมไทรอยด์แต่ละกลีบซ้าย-ขวา โดยอยู่ทางส่วนหัวและส่วนท้ายของแต่ละกลีบ แต่ละต่อมมีน้ำหนักประมาณ 25-50 มิลลิกรัม และมีขนาดมักไม่เกิน 5 มิลลิเมตร

ในบางคน อาจพบต่อมพาราไทรอยด์ได้มากหรือน้อยกว่า 4 ต่อมก็ได้ นอกจากนั้น บางคน ต่อมเหล่านี้ อาจกระจายไปอยู่ที่เนื้อเยื่อ/อวัยวะตำแหน่งอื่นๆได้ เรียกว่า ‘Ectopic parathyroid gland’ เช่น ฝังอยู่ในตัวเนื้อต่อมไทรอยด์, ในเนื้อเยื่อบริเวณลำคอ, ในช่องอก, ในต่อมไทมัส, และ/หรือ อยู่รอบๆหลอดอาหาร

ต่อมพาราไทรอยด์ มีหน้าที่สร้างฮอร์โมน (ฮอร์โมนจากต่อมพาราไทรอยด์) เรียกว่า ‘พาราไทรอยด์ฮอร์โมน (Parathyroid hormone ย่อว่า PTH)’ ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการทำงานของเกลือแร่(แร่ธาตุ) แคลเซียม, ฟอสฟอรัส, และวิตามินดี ในเลือดให้อยู่ในสมดุล

ทั้งนี้ เนื้องอกต่อมพาราไทรอยด์/เนื้องอกต่อมเคียงไทรอยด์ เกิดได้ทั้งกับต่อมพาราไทรอยด์ในตำแหน่งปกติ และ/หรือในตำแหน่งอื่นๆ(พบได้ประมาณ5-15%ของเนื้องอกต่อมพาราไทรอยด์ทั้งหมด) เป็นโรคพบน้อย จึงไม่มีรายงานสถิติเกิดที่ชัดเจน แต่เป็นโรคมักพบในผู้ใหญ่ช่วงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ผู้หญิงพบบ่อยกว่าผู้ชายประมาณ 3 เท่า

เนื้องอกต่อมพาราไทรอยด์เกิดได้อย่างไร?

เนื้องอกต่อมพาราไทรอยด์

ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุเกิดเนื้องอกต่อมพาราไทรอยด์/เนื้องอกต่อมเคียงไทรอยด์ แต่เชื่อว่า

  • อาจสัมพันธ์กับการมีพันธุกรรมผิดปกติชนิดถ่ายทอดได้ เพราะพบโรคนี้บ่อยขึ้นในผู้ป่วยที่เป็นโรคทางพันธุกรรมที่เรียกว่า MEN (Multiple endocrine neoplasia, โรคพันธุกรรม พบน้อย พบทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย โดยผู้ป่วยมีเนื้องอกเกิดพร้อมกันในหลายอวัยวะ)
  • นอกจากนั้น อาจเกิดจากผลของรังสีชนิดต่างๆได้ เพราะพบโรคนี้สูงขึ้นในผู้ที่มีประวัติเคยได้รับรังสีฯในบริเวณลำคอ(ที่เป็นตำแหน่งที่อยู่ของต่อมพาราไทรอยด์)

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดเนื้องอกต่อมพาราไทรอยด์?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดเนื้องอกต่อมพาราไทรอยด์/เนื้องอกต่อมเคียงไทรอยด์ คือ

  • ผู้ป่วยด้วยโรค MEN หรือมีครอบครัวป่วยด้วยโรค MEN
  • และในผู้ที่เคยได้รับรังสีชนิดต่างๆบริเวณลำคอ

เนื้องอกต่อมพาราไทรอยด์มีอาการอย่างไร?

ประมาณ 50% ของผู้ป่วยเนื้องอกต่อมพาราไทรอยด์/เนื้องอกต่อมเคียงไทรอยด์ ไม่มีอาการ แต่แพทย์ตรวจพบจากตรวจเลือดจากการตรวจสุขภาพทั่วไปโดยตรวจเลือดพบแคลเซียมในเลือดสูงต่อเนื่อง

ส่วนในผู้ที่มีอาการ คือ จะมีอาการจากการที่มีฮอร์โมนจากต่อมพาราไทรอยด์สูง จึงส่งผลให้เกิดความไม่สมดุลของแร่ธาตุ แคลเซียม และฟอสฟอรัส ในเลือด โดยจะเป็นอาการจากมี แคลเซียมในเลือดสูง ร่วมกับ การมีฟอสฟอรัสในเลือดต่ำ ซึ่งอาการต่างๆที่พบบ่อย ได้แก่

  • อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า
  • ท้องผูกเรื้อรัง
  • สับสน
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • คลื่นไส้-อาเจียน

อนึ่ง เนื้องอกต่อมพาราไทรอยด์/เนื้องอกต่อมเคียงไทรอยด์ มักมีขนาดเล็ก โตไม่เกิน 1 เซนติเมตร และโดยขนาดและตำแหน่งของต่อมพาราไทรอยด์ที่อยู่ลึก และยังมักอยู่ปนผสมไปกับเนื้อเยื่อต่างๆ ดังนั้นจึงมักตรวจคลำลำคอไม่พบทั้งก้อนเนื้องอกฯและทั้งต่อมพาราไทรอยด์

เมื่อไรควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ

แพทย์วินิจฉัยเนื้องอกต่อมพาราไทรอยด์อย่างไร?

การวินิจฉัยโรคเนื้องอกต่อมพาราไทรอยด์/เนื้องอกต่อมเคียงไทรอยด์ ที่สำคัญ คือ

  • ตรวจเลือดพบ แคลเซียมในเลือดสูง ทั้งในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ และในผู้ป่วยที่มีอาการดังได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ อาการฯ’
  • ร่วมกับการซักถามประวัติทางการแพทย์ต่างๆของผู้ป่วยเพิ่มเติม ที่สำคัญ เช่น อาการ โรคประจำตัว การเจ็บป่วยละวิธีรักษาในอดีต ประวัติโรคในครอบครัว
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจคลำหาก้อนเนื้อผิดปกติบริเวณลำคอ (ตำแหน่งของต่อมพาราไทรอยด์/ ต่อมเคียงไทรอยด์)
  • ตรวจปัสสาวะ (ปัสสาวะ-การตรวจปัสสาวะ) ทั่วไปจะเก็บจำนวนปัสสาวะทั้งหมดใน 24 ชั่วโมงเพื่อตรวจหาปริมาณแคลเซียมทั้งหมดที่ออกมาในปัสสาวะใน 1วัน
  • การตรวจภาพลำคอเพื่อหาก้อนเนื้อด้วย อัลตราซาวด์, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) และ/หรือ เอมอาร์ไอ
  • อาจมีการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อหาก้อนเนื้อนี้ทั้งตัว เพราะดังกล่าวแล้วว่า เนื้องอกนี้สามารถเกิดได้หลายก้อน และในหลายตำแหน่งในร่างกาย ด้วยการตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ เช่น การตรวจที่เรียกว่า Technetium sestamibi

นอกจากนั้น เมื่อวินิจฉัยได้ว่า เป็นโรคนี้แล้ว มักมีการสืบค้นเพิ่มเติม เพื่อหาผลข้างเคียงที่เกิดจากภาวะมีฮอร์โมนจากต่อมพาราไทรอยด์ในเลือดสูงจากการสร้างของเซลล์เนื้องอกนี้ เช่น

  • นิ่วในไต: เนื่องจากฮอร์โมนนี้ ส่งผลให้มีแคลเซียมในเลือดสูงจึงมีการกำจัดออกทางไตมากขึ้น จึงเพิ่มโอกาสเกิดนิ่วในไต แพทย์จึงตรวจสืบค้นด้วยการเอกซเรย์ภาพไต
  • กระดูกพรุน: จากฮอร์โมนจากเนื้องอกนี้ ดึงแคลเซียมออกจากกระดูกให้เข้ามาอยู่ในเลือด จึงเพิ่มโอกาสเกิดโรค/ภาวะกระดูกพรุน/กระดูกบาง ด้วยการตรวจ ความหนาแน่นมวลกระดูก เป็นต้น

อนึ่ง เนื่องจากดังได้กล่าวแล้วว่า เนื้องอกนี้มีขนาดเล็ก และอยู่ลึก จึงมักไม่สามารถตัดชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา หรือเจาะ/ดูดเซลล์เพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยา ได้ก่อนการผ่าตัด การทราบผลตรวจทางพยาธิวิทยา จึงมักได้จากการรักษา/การผ่าตัดนำก่อน แล้วจึงนำก้อนเนื้อที่ได้จากการผ่าตัดมาตรวจทางพยาธิวิทยา

เนื้องอกต่อมพาราไทรอยด์มีกี่ระยะ?

เนื้องอกต่อมพาราไทรอยด์/เนื้องอกต่อมเคียงไทรอยด์ เป็นเนื้องอกทั่วไป ไม่ใช่เนื้องอกมะเร็ง จึงไม่มีการรุกราน/ลุกลามเข้าอวัยวะข้างเคียง, แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง, ระบบน้ำเหลือง, และ/หรือ อวัยวะต่างๆ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีการจัดระยะของโรค

รักษาเนื้องอกต่อมพาราไทรอยด์อย่างไร?

การรักษาเนื้องอกต่อมพาราไทรอยด์/เนื้องอกต่อมเคียงไทรอยด์ คือ

  • การผ่าตัด ซึ่งปัจจุบันมีหลายเทคนิค และเพื่อช่วยลดผลข้างเคียงจากการผ่าตัดลง อาจมีการใช้การตรวจทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ และ/หรือรังสีวินิจฉัยร่วมกับการผ่าตัด (Radio-guided surgery) เป็นต้น
  • ในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการและไม่ประสงค์ผ่าตัด แพทย์อาจใช้การตรวจติดตามโรคเป็นระยะๆ อาจร่วมกับให้ยาลดแคลเซียมในเลือด(Calcimimetic drugs)
  • หรือในผู้ป่วยที่มีอาการ แต่สุขภาพไม่เหมาะต่อการผ่าตัด แพทย์อาจใช้การรักษาด้วยการให้ยาลดแคลเซียมในเลือด ร่วมกับการรักษาตามอาการไปจนกว่า ผู้ป่วยจะสามารถรับการผ่าตัดได้
  • อีกวิธีรักษาที่กำลังอยู่ในการศึกษา คือ การฉีดสารบางชนิดเข้าไปในเนื้องอกนี้โดยตรง เพื่อทำให้เซลล์เนื้องอกฝ่อ ซึ่งคาดว่าอาจช่วยลดผลข้างเคียงจากการผ่าตัด จนสามารถใช้รักษาผู้ป่วยที่สุขภาพไม่สามารถผ่าตัด หรือไม่ประสงค์ผ่าตัดได้

เนื้องอกต่อมพาราไทรอยด์ก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากเนื้องอกต่อมพาราไทรอยด์/เนื้องอกต่อมเคียงไทรอยด์ คือ

  • โรคไตเรื้อรังจากการเกิดนิ่วในไต
  • และโรคกระดูกพรุน กระดูกบาง จากกระดูกสูญเสียแคลเซียมทางปัสสาวะ

อนึ่ง ผลข้างเคียงจากการผ่าตัด เช่น

  • เลือดออกมากจากแผลผ่าตัด
  • แผลผ่าตัดไม่ติด
  • ภาวะเลือดคั่งในแผลผ่าตัด
  • แผลผ่าตัดติดเชื้อ
  • และที่สำคัญ คือ ตำแหน่งต่อมพาราไทรอยด์อยู่ติดกับเส้นประสาทต่างๆของลำคอและใบหน้า การผ่าตัดจึงอาจทำให้เส้นประสาทเหล่านั้นได้รับบาดเจ็บ ส่งผลต่อกล่องเสียง ทำให้เกิด เสียงแหบ และ/หรือ ภาวะหายใจลำบาก
  • และการผ่าตัดก้อนเนื้อ/ต่อมพาราไทรอยด์ ยังอาจส่งผลให้เกิดภาวะขาดพาราไทรอยด์ฮอร์โมน(แคลเซียมในเลือดต่ำ)ที่ส่งผลให้เกิดอาการชักได้
  • บางครั้ง ผ่าตัดแล้ว แพทย์ไม่สามารถหาก้อนเนื้อได้พบ เนื่องจากดังกล่าวแล้วว่า ทั้งก้อนเนื้อและต่อมพาราไทรอยด์มีขนาดเล็กมาก เมื่ออยู่ปะปนกับเนื้อเยื่อต่างๆ จึงมักตรวจพบได้ยาก

เนื้องอกต่อมพาราไทรอยด์รุนแรงไหม?

เนื้องอกต่อมพาราไทรอยด์/ เนื้องอกต่อมเคียงไทรอยด์ มีการพยากรณ์โรคที่ดี/เป็นโรคไม่รุนแรง มักรักษาได้หายจากการผ่าตัด แต่ผู้ป่วยบางราย อาจมีอาการกลับเป็นซ้ำอีก หรือ บางรายยังคงมีอาการจากฮอร์โมนจากต่อมพาราไทรอยด์สูงอยู่(อาการดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’) โดยแพทย์หาสาเหตุไม่พบ

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเอง เมื่อมีเนื้องอกต่อมพาราไทรอยด์/เนื้องอกต่อมเคียงไทรอยด์ คือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล ที่ดูแล รักษา แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา และไม่หยุดยาเอง
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ

  • อาการต่างๆเลวลง เช่น อ่อนเพลีย วิงเวียน มากขึ้น
  • มีอาการผิดไปจากเดิม เช่น คลำได้ก้อนที่คอ
  • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ท้องเสีย เรื้อรัง
  • กังวลในอาการ

ป้องกันเนื้องอกต่อมพาราไทรอยด์อย่างไร?

เนื่องจากเนื้องอกต่อมพาราไทรอยด์/เนื้องอกต่อมเคียงไทรอยด์ เป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุ โดยมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญ คือ การถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากการมีพันธุกรรมผิดปกติ ดังนั้นจึงยังไม่มีวิธีป้องกัน แต่การตรวจสุขภาพประจำปี ทุกปี ที่ตรวจแคลเซียมในเลือดด้วย อาจช่วยให้ตรวจพบโรคนี้ได้เร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การรักษาได้ผลดีขึ้น

บรรณานุกรม

  1. Hindie, E. et al. (2009). Eur J Nucl Med Mol Imaging. 36, 1201-1216.
  2. Roy,M. et al. (2013). World J Surg. 37, 102-106.
  3. Torre, N. et al. (2003). Endocrine-Related Cancer.10,309-312.
  4. https://emedicine.medscape.com/article/384024-overview#showall [2020, May9]
  5. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/15043-parathyroid-adenoma-diagnosis--treatment [2020, May9]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Parathyroid_adenoma [2020, May9]