เนื้องอกกระดูก (Benign bone tumor)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร?พบบ่อยไหม?

เนื้องอกกระดูก หรือ เนื้องอกกระดูกชนิดไม่ร้าย หรือเนื้องอกกระดูกชนิดไม่ใช่มะเร็ง(Benign bone tumor หรือ Non cancerous bone tumor)คือ โรคที่เซลล์กระดูก เจริญผิดปกติจนเกิดเป็นก้อนเนื้อขึ้นแต่ก้อนเนื้อของโรคกลุ่มนี้จะไม่ลุกลามอวัยวะข้างเคียง ต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง หรือแพร่กระจายทางกระแสเลือดและทางระบบน้ำเหลือง กล่าวคือ ‘ไม่ใช่โรคมะเร็ง, ไม่ใช่มะเร็งกระดูก’

เนื้องอกกระดูก มีหลากหลายชนิดย่อยขึ้นกับว่าเป็นเนื้องอกของเซลล์กระดูกชนิดใด ทั้งนี้เนื้องอกกระดูกแต่ละชนิดย่อย จะมีรูปลักษณะที่ต่างกันที่ช่วยการวินิจฉัยของแพทย์ได้จากการตรวจภาพกระดูกด้วย เอกซเรย์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) และ/หรือเอมอาร์ไอ แต่บางกรณีก็ยังจำเป็นต้องใช้การตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อเพื่อ การตรวจทางพยาธิวิทยาร่วมในการวินิจฉัยด้วย

ทั่วไป แบ่งเนื้องอกกระดูก(Bone tumor)เป็น3กลุ่มหลัก คือ

ก. เนื้องอกกระดูกชนิดร้าย(Malignant bone tumor)ซึ่งก็คือ มะเร็งกระดูก(Bone cancer) ซึ่งจะ ไม่กล่าวถึงในบทความนี้ แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ‘มะเร็งกระดูก’

ข. เนื้องอกกระดูกชนิดไม่ร้าย(Benign bone tumor) คือ เนื้องอกกระดูกชนิดไม่ใช่มะเร็ง(Non cancerous bone tumor) ซึ่งคำว่า ‘เนื้องอก’ ทั่วไปมักหมายถึง เนื้องอกชนิดไม่ร้าย หรือ เนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง หรือ เนื้องอกทั่วไป และเนื้องอกกลุ่มนี้ยังรวมถึงเนื้องอกชนิดลักษณะคล้ายซีสต์/ถุงน้ำที่เรียกว่า ‘โบนซีสต์(Bone cyst)’

*ซึ่งบทความนี้ จะกล่าวเฉพาะ ‘เนื้องอกกลุ่มไม่ใช่มะเร็ง’เท่านั้น และขอเรียกว่า ‘เนื้องอกกระดูก’

ค.เนื้องอกกระดูกที่ลักษณะทางพยาธิไม่ใช่มะเร็ง(ข้อ ข.)แต่มีธรรมชาติของโรคสามารถเปลี่ยนเป็นมะเร็ง/แพร่กระจายทางกระแสเลือดได้ ซึ่งถ้าแพร่กระจาย มักแพร่กระจายสู่ ปอด คือ กลุ่มที่เรียกว่า ‘Intermediate bone tumor’ เป็นกลุ่มพบน้อยมาก

ทั่วไป เนื้องอกกระดูกทุกชนิดพบได้ทั่วโลก เป็นโรคพบน้อย พบทั้งเพศหญิงและเพศชาย พบทุกอายุ แต่พบบ่อยขึ้นในอายุช่วงวัยกระดูกกำลังเจริญเติบโต คือช่วงวัยประมาณ 5-30 ปี ทั้งนี้ยังไม่มีการศึกษาสถิติเกิดเนื้องอกกระดูกในภาพรวมของทุกชนิดย่อย เพราะมักแยกศึกษาสถิติเกิดเป็นแต่ละชนิดๆไป

เนื้องอกกระดูกมีกี่ชนิด?

เนื้องอกกระดูก

เนื้องอกกระดูก มีหลากหลายชนิดย่อย ในที่นี้ขอกล่าวเฉพาะชนิดพบบ่อย ได้แก่

  • Osteochodroma
  • Osteoblastoma
  • Osteoid osteoma
  • Osteoma
  • Enchondroma
  • Nonossifying fibroma unicameral
  • Giant cell tumor
  • Fibrous dysplasia
  • Aneurysmal bone cyst
  • Bone hemangioma
  • Chondroblastoma
  • Fibrous dysplasia

ก. Osteochodroma: เป็นเนื้องอกกระดูกพบบ่อยที่สุด(35-40%)ของเนื้องอกกระดูกทั้งหมด เกิดจากความผิดปกติทั้งของเซลล์กระดูกและของเซลล์กระดูกอ่อนร่วมกัน พบทั้งเพศหญิงและเพศชาย มักพบในวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว มักเกิดที่ส่วนปลายของกระดูก พบบ่อยที่ กระดูกต้นขา กระดูกขา และกระดูกต้นแขน แต่พบเกิดกับกระดูกอื่นๆก็ได้ ทั่วไปมักพบเกิดเพียงตำแหน่งเดียว

เนื้องอกชนิดนี้มีโอกาส ‘เปลี่ยนเป็นมะเร็ง’ได้ ซึ่งกรณีทั่วไป โอกาสเปลี่ยนเป็นมะเร็งกระดูกอ่อน/Chondrosarcoma ประมาณ 1% แต่ในกรณีสาเหตุเกิดจากพันธุกรรม(พบน้อยมากๆ) จะพบเกิดเนื้องอกหลายก้อนและกับกระดูกหลายชิ้นพร้อมๆกันและมีโอกาสเปลี่ยนไปเป็นมะเร็งกระดูกอ่อนได้ประมาณ 10%

ข. Osteoblastoma: เป็นเนื้องอกที่เกิดจากเซลล์กระดูก พบประมาณ 1-15%ของเนื้องอกกระดูกทั้งหมด พบในเพศชายบ่อยกว่าเพศหญิง พบทุกอายุ แต่มักพบก่อนอายุ40ปี พบเกิดกับกระดูกทุกชิ้นแต่พบบ่อยที่ กะโหลก กระดูกสันหลัง และกระดูกซี่โครง

เนื้องอกฯชนิดนี้มีธรรมชาติของโรคเป็นมะเร็งได้ คือ สามารถแพร่กระจายทางกระแสเลือดได้(แต่พบได้น้อย) และหลังการรักษาด้วยการผ่าตัด พบโรคย้อนกลับเป็นซ้ำได้ประมาณ 10-20%

ค. Osteoid osteoma: เป็นเนื้องอกกระดูกที่เกิดจากเซลล์กระดูก พบได้ประมาณ 12% ของเนื้องอกกระดูกทั้งหมด ก้อนเนื้อมักมีขนาดเล็กประมาณ 1.5 ซม. เกิดได้กับกระดูกทุกชิ้นของร่างกาย แต่ส่วนใหญ่มักพบที่กระดูกขา พบในเพศชายบ่อยกว่าเพศหญิง มักพบในอายุต่ำกว่า 40ปี

*เนื้องอกฯชนิดนี้ ‘ไม่เปลี่ยนเป็นมะเร็ง’

ง. Osteoma: เป็นเนื้องอกเกิดจากเซลล์กระดูก พบน้อย พบเกิดกับกระดูกทุกชิ้น แต่พบบ่อยที่ โพรงอากาศข้างจมูก (ไซนัส) กะโหลก เนื้องอกชนิดนี้สามารถเกิดในเนื้อเยื่อเกี่ยวพันได้ ทั่วไปมักพบก้อนเดียว ขนาดเล็ก ไม่ก่ออาการ ตรวจพบโดยบังเอิญจากเอกซเรย์กระดูกสาเหตุอื่น เช่น เพื่อวินิจฉัยโรคไซนัสอักเสบ แต่ก็พบหลายก้อนและเกิดกับกระดูกหลายชิ้นพร้อมกันได้ พบทุกอายุ ทุกวัย ทุกเพศ

*เนื้องอกฯชนิดนี้ ไม่เปลี่ยนเป็นมะเร็ง

จ. Enchondroma: พบประมาณ3%ของเนื้องอกกระดูกทั้งหมด เป็นเนื้องอกเกิดจากเซลล์กระดูกอ่อน พบทุกเพศ ทุกอายุ ส่วนใหญ่เกิดในวัยช่วง 10-30 ปี พบได้กับกระดูกทุกชิ้น แต่มักเกิดที่กระดูกขนาดเล็ก คือ กระดูกมือและเท้า ส่วนใหญ่มักเป็นก้อนเดียวและมีขนาดเล็ก ซึ่งในเนื้องอกขนาดใหญ่ที่รักษาด้วยการผ่าตัด มีโอกาสโรคย้อนกลับเป็นซ้ำได้ประมาณ 0.05%ที่10ปีหลังการรักษา

*เนื้องอกฯชนิดนี้ อาจกลายเป็นมะเร็งได้แต่เกิดได้น้อยมากๆ มีเพียงรายงานผู้ป่วยเท่านั้น

ฉ. Non-ossifying fibroma :เป็นเนื้องอกที่เกิดจากเซลล์เนื้อเยื่อเส้นใยของกระดูก พบทุกเพศ แต่พบในเพศชายบ่อยกว่าเพศหญิงประมาณ 2 เท่า พบทุกวัย แต่พบบ่อยกว่าในวัยต่ำกว่า 20 ปี เกิดได้กับกระดูกทุกชิ้น แต่มักพบที่ปลายกระดูกต้นขาและกระดูกขา ชื่ออื่นได้แก่ Metaphyseal fibrous defects, หรือ Fibrous cortical defects, หรือ Non-osteogenic fibromas, หรือ Cortical desmoids, หรือ Solitary bone cyst, หรือ Nonossifying fibroma unicameral มักมีลักษณะทางพยาธิวิทยาเป็นซีสต์ อาจเป็นซีสต์เดี่ยวหรือหลายๆซีสต์รวมกัน ทั่วไปขนาดมักประมาณ 2 ซม.

เนื้องอกชนิดนี้ เนื่องจากมีลักษณะเป็นซีสต์ ดังนั้นถ้าก้อนโตเกิน50%ของความกว้างของกระดูก จะเป็นสาเหตุให้กระดูกหักได้ *แต่เนื้องอกฯชนิดนี้ ไม่เปลี่ยนเป็นมะเร็ง

ช. Giant cell tumor ย่อว่า GCT : พบประมาณ 20%ของเนื้องอกกระดูกทั้งหมด พบทุกอายุแต่ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ20-40ปี พบทุกเพศ เกิดได้กับกระดูกทุกชิ้น แต่ส่วนใหญ่เกิดที่ กระดูกข้อเข่า รองๆลงไปคือที่ ข้อมือ กระดูกสะโพก และ หัวไหล่

GCT เป็นเนื้องอกฯเกิดจากเซลล์กระดูกชนิด Osteoclast/เซลล์สลายมวลกระดูก ดังนั้น จึงมีอีกชื่อว่า Osteoclastoma และมีเซลล์ขนาดใหญ่(Giant cell)ที่ผิดปกติเกิดร่วมด้วย รวมถึงเนื้องอกฯมีลักษณะเป็นหลายๆซีสต์อยู่ในก้อนเนื้อ จึงส่งผลให้เมื่อก้อนเนื้อขนาดใหญ่กระดูกจะหักได้ง่าย ซึ่งพบภาวะกระดูกหักร่วมด้วยประมาณ 10-40%

ทั้งนี้ ประมาณ 80-90%-ของ GCT เป็นเนื้องอกฯชนิด ไม่ใช่มะเร็ง แต่ 10-20% มีธรรมชาติของโรคเป็น มะเร็ง คือ แพร่กระจายทางกระแสเลือดได้และถ้าแพร่กระจาย มักเข้าสู่ ปอด

ซ. Aneurysmal bone cyst ย่อว่า ABC: พบได้ประมาณ 10%ของเนื้องอกกระดูกทั้งหมด เป็นเนื้องอกฯที่เกิดจากการเจริญผิดปกติของกลุ่มหลอดเลือดขนาดเล็กในกระดูก เนื้องอกจึงมีลักษณะเป็นซีสต์หลายซีสต์ที่ภายในเป็นน้ำเลือด โดยมักเริ่มเกิดในไขกระดูกก่อน เกิดได้กับกระดูกทุกชิ้น แต่พบบ่อยที่กระดูก ต้นขา ขา หัวไหล่ และกระดูกสันหลัง พบทุกเพศ ทุกวัย แต่มักพบในช่วงวัยแรกเกิดถึงอายุ25ปี

*ทั้งนี้ ABC เป็นชนิด ไม่กลายเป็นมะเร็ง

ฌ. Bone hemangioma: เป็นเนื้องอกหลอดเลือดฝอยและหลอดเลือดแดงขนาดเล็กของกระดูกที่เจริญผิดปกติโดยไม่เกิดเป็นซีสต์ แต่เป็นก้อนจากตัวหลอดเลือดเอง พบเกิดกับกระดูกได้ทุกชิ้น แต่พบบ่อยที่ กะโหลก และกระดูกสันหลัง พบทุกเพศ ทุกอายุ แต่พบบ่อยช่วงอายุ 50-70ปี เป็นเนื้องอกที่มักมีขนาดเล็ก ไม่ก่ออาการ และมักตรวจพบโดยบังเอิญจากการเอกซเรย์ภาพกระดูกจากโรค/ภาวะต่างๆ เช่น อุบัติเหตุ

*เนื้องอกฯชนิดนี้ มักไม่เปลี่ยนเป็นมะเร็ง

ญ. Chondroblastoma อีกชื่อคือ Codman’s tumor: เป็นเนื้องอกพบน้อยประมาณ 1-2%ของเนื้องอกกระดูกทุกชนิด พบทุกอายุ แต่มักพบช่วงวัย 10-25ปี พบใน เพศชายบ่อยกว่าเพศหญิง พบเกิดได้กับกระดูกทุกชิ้นรวมถึงกะโหลก มักเกิดส่วนปลายสุดของกระดูก พบบ่อยที่ปลายสุดของกระดูกข้อเข่า รองลงไปคือ กระดูกส้นเท้า

เนื้องอกชนิดนี้ มีโอกาสย้อนกลับเป็นซ้ำหลังผ่าตัดได้ 5-40% ขึ้นกับขนาดและตำแหน่งที่เกิดโรค

*เนื้องอกชนิดนี้กลายเป็นมะเร็งได้ประมาณ 1% และแพร่กระจายทางกระแสเลือดได้ ซึ่งถ้าแพร่กระจายมักพบที่ปอด แต่มีรายงานพบที่ตับได้

ฎ. Fibrous dysplasia of bone ย่อว่า FD of bone: เป็นเนื้องอกพบน้อย ประมาณ 5%ของเนื้องอกกระดูกทั้งหมด เป็นเนื้องอกของเซลล์กระดูกชนิด Osteoblast/เซลล์สร้างกระดูกและชนิดเนื้อเยื่อเส้นใย พบได้กับกระดูกทุกชิ้น แต่พบบ่อยที่กะโหลกและกระดูกใบหน้า อาจเกิดกับกระดูกชิ้นเดียว หรือหลายๆชิ้นพร้อมกัน

*เนื้องอกชนิดนี้ มีโอกาสย้อนกลับเป็นซ้ำหลังการผ่าตัดประมาณ 10-20% และมีโอกาสเปลี่ยนเป็นมะเร็ง 1-4%

เนื้องอกกระดูกเกิดจากอะไร? อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยง?

ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุเกิดเนื้องอกกระดูก แต่บางการศึกษาพบว่า อาจมีปัจจัยเสี่ยง คือ

  • มีพันธุกรรมผิดปกติ ซึ่งการศึกษาเชื่อว่า ความผิดปกติน่าจะเกิดเองตามธรรมชาติของผู้ป่วย ไม่ใช่พันธุกรรมชนิดถ่ายทอด
  • กระดูกชิ้นนั้นเคยได้รับรังสีในปริมาณสูงมาก่อน
  • กระดูกชิ้นนั้นเคยมีการบาดเจ็บรุนแรง(Severe bone injury)มาก่อน

เนื้องอกกระดูกมีอาการอย่างไร?

ไม่มีอาการเฉพาะของเนื้องอกกระดูก แต่เป็นอาการของเนื้องอกทั่วไป ทั้งนี้ อาการจะขึ้นกับ ขนาดเนื้องอก, และตำแหน่งที่เกิดเนื้องอก

อาการที่พบได้บ่อย คือ

ก. ไม่มีอาการ: เมื่อเนื้องอกมีขนาดเล็ก และเกิดในจุดที่ไม่มีการเคลื่อนไหวของกระดูก เช่น ที่ส่วนกลางของท่อนกระดูก เป็นต้น

ข. เมื่อมีอาการ: อาการพบบ่อย คือ

  • คลำได้ก้อนเนื้อที่กระดูก อาจคลำแล้วเจ็บปวด หรือไม่เจ็บ/ปวดก็ได้ ก้อนเนื้อจะโตขึ้นตลอดเวลา บางชนิดโตช้า บางชนิดโตเร็ว
  • รู้สึกเจ็บกระดูกตรงรอยโรค/ก้อนเนื้องอก ที่อาจจะคลำได้ก้อนเนื้อหรือไม่ก็ได้ และอาการเจ็บปวดจะรุนแรงมากขึ้นในช่วงกลางคืน อาจปวดจนต้องตื่นขึ้นมา
  • ถ้าเนื้องอกเกิดบริเวณใกล้ข้อ จะมีผลต่อการเคลื่อนไหวข้อนั้นๆ
  • เนื้องอกบางชนิดอาจทำให้เกิดกระดูกหักได้ง่าย เช่น ชนิดที่เป็นซีสต์ เช่น Giant cell tumor, Aneurysmal bone cyst
  • บางครั้ง อาจมีอาการ อ่อนเพลีย มีไข้ไม่รู้สาเหตุ และ/หรือเหงื่อออกกลางคืน
  • มักคลำไม่พบต่อมน้ำเหลืองใกล้เนื้องอก

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการดังกล่าวใน ‘หัวข้อ’อาการฯ’ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุ

แพทย์วินิจฉัยเนื้องอกกระดูกอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยเนื้องอกกระดูกได้จาก

  • การซักถามประวัติอาการของผู้ป่วย การมีก้อนตามกระดูกต่างๆ การเจ็บ/ปวดกระดูกเรื้อรังโดยอาจคลำได้ก้อนหรือไม่ก็ได้ ประวัติโรคมะเร็งต่างๆ(เพื่อแยกว่าไม่ใช่มะเร็งจากอวัยวะอื่นแพร่กระจายมากระดูก) โรคต่างๆของคนในครอบครัว ประวัติโรคกระดูก/ที่รวมถึงกระดูกหัก ประวัติการรักษาด้วยแสง/รังสีต่างๆ
  • การตรวจร่างกาย การคลำต่อมน้ำเหลือง การตรวจคลำลักษณะก้อนเนื้อ
  • เอกซเรย์ภาพกระดูกที่มีอาการ หลังจากนั้น แพทย์จึงจะพิจารณาว่า สมควรมีการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติมหรือไม่ เช่น
    • ตรวจภาพก้อนเนื้อกระดูกด้วย เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) และ/หรือเอมอาร์ไอ และ/หรือ
    • ต้องมีการตัดชิ้นเนื้อร่วมด้วยเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

ทั้งนี้ เนื้องอกกระดูก ไม่จำเป็นต้องมีการตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อตรวจทางพยาธิวิทยาทุกราย เพราะเนื้องอกบางชนิดวินิจฉัยได้ถูกต้องจากภาพเอกซเรย์ เช่น เนื้องอก Osteoma เป็นต้น

มีการจัดระยะโรคเนื้องอกกระดูกไหม?

ปัจจุบัน ไม่มีการจัดระยะโรคของเนื้องอกกระดูกเพราะ ’ไม่ใช่มะเร็ง’ จึงไม่มีการรุกราน/ลุกลามอวัยวะข้างเคียง, ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง, หรือ แพร่กระจายทางกระแสเลือดก็พบน้อยมากๆ

อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจพบว่า เป็นเนื้องอกกระดูก และมีการแพร่กระจาย จะเรียกว่า ‘โรคระยะที่4’ เช่น เนื้องอก Giant cell tumor/ GCT ระยะที่4 เมื่อพบโรคแพร่กระจายไปปอด เป็นต้น

รักษาเนื้องอกกระดูกอย่างไร?

แนวทางการรักษาเนื้องอกกระดูกจะขึ้นกับหลายปัจจัย ที่สำคัญ ได้แก่

  • อาการผู้ป่วย
  • ชนิดของเนื้องอก
  • เนื้องอกโตเร็วหรือช้า
  • ตำแหน่งที่เกิดเนื้องอก
  • ขนาดเนื้องอก

ซึ่งวิธีรักษาเนื้องอก มีได้หลากหลายวิธี ขึ้นกับ ปัจจัยต่างๆดังกล่าว ซึ่งแพทย์จะรักษาด้วยวิธีใด จะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นรายผู้ป่วยไป

วิธีรักษาเนื้องอกกระดูก ได้แก่

ก. ไม่จำเป็นต้องมีการรักษา ใช้การเฝ้าสังเกตติดตามโรคจากแพทย์ โดยแพทย์จะนัดตรวจผู้ป่วยดูรอยโรค/ก้อนเนื้องอกเป็นระยะๆ อาจทุก 2-3 เดือน ไปจนถึงทุกปี ตามดุลพินิจของแพทย์

ซึ่งวิธีนี้ แพทย์จะเลือกใช้ในเนื้องอกฯที่ ก้อนเล็ก ไม่มีอาการ โตช้า และเป็นชนิดไม่เปลี่ยนเป็นมะเร็ง

ข. เมื่อมีอาการ วิธีรักษาซึ่งจะเป็นวิธีการเดียว หรือใช้หลายวิธีร่วมกัน เช่น

  • การขูดก้อนเนื้อออกด้วยหัตถการทางการแพทย์
  • การใส่สารบางชนิดที่ใช้ทำลายเซลล์เนื้องอกเข้าไปในตัวก้อนเนื้อหลังการขูดหรือการผ่าตัดก้อนเนื้อ
  • การใส่วัสดุเข้าไปในรอยโรคเพื่อป้องกันกระดูกหัก เช่น การปลูกถ่ายกระดูกผู้ป่วยเอง(Bone graft), การใส่วัสดุBone cement
  • การรักษาด้วยเทคนิครังสีร่วมรักษาเพื่อใส่สารเข้าไปอุดตันหลอดเลือดของก้อนเนื้อ
  • การจี้ก้อนเนื้อด้วย เลเซอร์ หรือด้วยคลื่นความถี่สูง
  • การผ่าตัดก้อนเนื้อออก
  • การตัดกระดูกส่วนเกิดโรคออก
  • การฉายรังสีรักษา และ/หรือยาเคมีบำบัด กรณีเป็นเนื้องอกฯที่กลายเป็นมะเร็งได้, โรคแพร่กระจายแล้ว, หรือโรคเกิดซ้ำๆ
  • การใช้ยาต่างๆเพื่อ เพิ่มมวลกระดูก และชะลอการเจริญเติบโตของเนื้องอก และลดโอกาสเกิดกระดูกหัก เช่น ยากลุ่มฺ Bisphosphonates
    • รวมถึงยากลุ่มยารักษาตรงเป้า /ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิจัย
    • การใช้ยาเพื่อการรักษาตามอาการผู้ป่วย เช่น ยาแก้ปวด, ยานอนหลับ, ยาลดไข้ เป็นต้น

เนื้องอกกระดูกก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากเนื้องอกกระดูก เช่น

  • ปวดกระดูกจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น มีผลต่อการนอนกลางคืน
  • อวัยวะผิดรูปจากก้อนเนื้อ
  • การเคลื่อนไหวกระดูก/ข้อกระดูกผิดปกติ หรือ ทำไม่ได้ หรือถูกจำกัด
  • กระดูกหัก
  • บางชนิดสามารถแพร่กระจายทางกระแสเลือดได้/กลายพันธ์เป็นมะเร็ง ซึ่งมักแพร่กระจายสู่ปอด อย่างไรก็ตาม โรคกลุ่มนี้พบน้อยมาก

เนื้องอกกระดูกมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

ทั่วไป เนื้องอกกระดูกมีการพยากรณ์โรคที่ดี แพทย์รักษาให้หายได้ และไม่เป็นเหตุของการตาย ยกเว้นเมื่อโรคแพร่กระจายสู่อวัยวะต่างๆ (มะเร็งระยะ4)

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นเนื้องอกกระดูก?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นเนื้องอกกระดูกหลังพบแพทย์แล้ว คือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด แนะนำ
  • กินยา/ ใช้ยาต่างๆตามที่แพทย์สั่งให้ ถูกต้อง ไม่หยุดยาเอง
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

ผู้ป่วยเนื้องอกกระดูกควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ

  • อาการต่างๆเลวลง เช่น ก้อนเนื้อโตเร็วขึ้น เจ็บปวดกระดูกมากขึ้นโดยเฉพาะช่วงกลางคืน
  • มีอาการใหม่เกิดขึ้น เช่น มีไข้บ่อยโดยไม่รู้สาเหตุ ไอเรื้อรัง เหนื่อยง่าย
  • มีผลข้างเคียงต่อเนื่องจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น คลื่นไส้-อาเจียนทุกครั้งที่กินยา/ใช้ยา ท้องผูกเรื้อรัง นอนไม่หลับทุกคืน
  • กังวลในอาการ

มีการตรวจคัดกรองเนื้องอกกระดูกไหม?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองให้พบเนื้องอกกระดูกตั้งแต่ยังไม่มีอาการ/ไม่มีก้อนเนื้อ เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุเกิดโรคนี้

ดังนั้น ที่ดีที่สุดในการดูแลตนเอง คือ เมื่อมีอาการดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อการวินิจฉัยโรคแต่เนิ่นๆที่จะได้ประสิทธิผลการรักษาที่ดีกว่า และลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากโรค

ป้องกันเนื้องอกกระดูกได้ไหม?

ปัจจุบัน เนื่องจากไม่ทราบสาเหตุ จึงยังไม่สามารถป้องกันการเกิดเนื้องอกกระดูกได้

บรรณานุกรม

  1. Hakim, D. et al. Journal of Bone Oncology 2015; 4: 37-41
  2. Nogueira Drumond, J. M .Rev Bras Ortop. 2009 Jan; 44(5): 386–390
  3. Sugiyama, H. et al. The Journal of Bone and Joint Surgery 2018. https://journals.lww.com/jbjsoa/FullText/2018/06000/Characteristics_of_Benign_and_Malignant_Bone.8.aspx [2020,Sept19]
  4. https://www.msdmanuals.com/professional/musculoskeletal-and-connective-tissue-disorders/tumors-of-bones-and-joints/benign-bone-tumors-and-cysts [2020,Sept19]
  5. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/16775-benign-bone-tumors [2020,Sept19]
  6. https://www.emoryhealthcare.org/orthopedic-oncology/benign-bone-tumors.html [2020,Sept19]
  7. https://en.wikipedia.org/wiki/Chondroblastoma [2020,Sept19]