เนฟาโซโดน (Nefazodone)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเนฟาโซโดน (Nefazodone) เป็นยารักษาทางจิตเวชที่ใช้บำบัดรักษาอาการโรคซึมเศร้า โดยตัวยาเป็นอนุพันธุ์ของยาต้านเศร้า/ยารักษาอาการซึมเศร้ากลุ่มฟีนิลพิเพอราซีน (Derived phenylpiperazine antidepressant) ทั้งนี้กลไกการออกฤทธิ์ของยานี้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดทั้งหมด แต่พบว่ายานี้สามารถกระตุ้นการทำงานของสารสื่อประสาทในสมองอย่าง Norepinephrine และ Serotonin จึงช่วยทำให้อาการซึมเศร้าดีขึ้นเป็นลำดับ อย่างไรก็ตามมีบางประเทศได้เพิกถอนการใช้ยาเนฟาโซโดนนี้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003 (พ.ศ. 2546) ด้วยพบว่ายานี้สามารถก่อให้เกิดภาวะเป็นพิษกับตับโดยแสดงอาการปัสสาวะมีสีคล้ำ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อย่างรุนแรง ปวดท้อง ตัวเหลืองตาเหลือง ทำให้ประเทศในแถบซีกโลกตะวันตกยกเลิกการใช้ยาชนิดนี้

ทั้งนี้ผู้ที่สามารถใช้ยาเนฟาโซโดนได้จะต้องมีสุขภาพร่างกายเป็นไปตามเงื่อนไขต่อไปนี้เช่น

  • ไม่เป็นผู้ที่มีประวัติแพ้ยาเนฟาโซโดนมาก่อน
  • ไม่เป็นผู้ป่วยโรคตับหรือมีการทำงานของตับผิดปกติ
  • ต้องไม่ใช่ผู้ที่มีการใช้ยา Astemizole, Carbamazepine, Cisapride, Pimozide, Terfena dine หรือ Triazolam ด้วยการใช้ยาเหล่านี้ร่วมกับยาเนฟาโซโดนจะทำให้เกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ของยาเหล่านี้และของยาเนฟาโซโดนต่อผู้ป่วยมากขึ้น
  • ไม่ใช่ผู้ที่ได้รับยากลุ่ม MAOIs ภายใน 14 วันที่ผ่านมา ด้วยการใช้ยา MAOIs ร่วมกับยาเนฟาโซโดนอาจทำให้เกิดภาวะสงบประสาท/กดการทำงานของระบบประสาทกับผู้ป่วยได้
  • สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการใช้ยาทุกประเภทรวมยาเนฟาโซโดนด้วยเช่นกัน ดังนั้นการใช้ยาต่างๆในผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงต้องเป็นคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น

ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาเนฟาโซโดนก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้ และผู้ที่ได้รับยาเนฟาโซโดนอาจมีอาการวิงเวียน ตาพร่า เกิดขึ้นได้ แพทย์จึงมักจะแนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวด ยานพาหนะต่างๆรวมถึงการทำงานกับเครื่องจักรด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

นอกจากนั้นขณะผู้ป่วยรับประทานยาเนฟาโซโดน ญาติจะต้องคอยสังเกตภาวะอารมณ์ของผู้ป่วยโดยเฉพาะที่เป็นกลุ่มวัยรุ่น ด้วยยาบำบัดโรคซึมเศร้าหลายตัวรวมถึงยาเนฟาโซโดนสามารถกระตุ้นให้เกิดความคิดอยากทำร้ายตนเอง

การใช้ยาเนฟาโซโดนไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีอาการดีขึ้นในทันทีทันใด อาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าจะเห็นประสิทธิผล จึงต้องทำความเข้าใจกับญาติและผู้ป่วยว่าต้องใช้ยานี้อย่างต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง ห้ามปรับขนาดรับประทานหรือหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบด้วยจะทำให้เกิดอาการข้างเคียงจากยานี้เพิ่มสูงขึ้น

ยาเนฟาโซโดนอาจก่อปัญหาต่อการมองเห็นของสายตา แพทย์จึงต้องคอยตรวจสอบสายตาผู้ป่วยเป็นระยะๆ รวมถึงตรวจสอบการทำงานของตับ-ไตและระบบเลือดของผู้ป่วยร่วมด้วย

กรณีที่มีการใช้ยาเนฟาโซโดนอย่างต่อเนื่องตรงตามคำสั่งแพทย์ แต่อาการซึมเศร้ายังไม่ดีขึ้นในระยะเวลาที่แพทย์กำหนด ควรต้องนำผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา

เนฟาโซโดนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

เนฟาโซโดน

ยาเนฟาโซโดนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อบำบัดและรักษาอาการโรคซึมเศร้า

เนฟาโซโดนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเนฟาโซโดนมีกลไกการออกฤทธิ์คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ที่สมองโดยจะยับยั้งการดูดกลับเข้าสู่สมองของสารสื่อประสาทที่มีผลต่อการเกิดอาการซึมเศร้าที่มีชื่อว่า Serotonin และ Norepine phrine ทำให้เกิดการปรับสมดุลของสารสื่อประสาทในสมองเสียใหม่ จึงส่งผลให้อาการซึมเศร้าดีขึ้นเป็นลำดับ

เนฟาโซโดนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเนฟาโซโดนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 200 และ 250 มิลลิกรัม/เม็ด

เนฟาโซโดนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเนฟาโซโดนมีขนาดรับประทานเช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 200 มิลลิกรัม/วันโดยแบ่งการรับประทานเป็น 2 ครั้งเช้า - เย็น แพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดรับประทานในแต่ละวันได้ทั้งนี้ขึ้นกับการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา ซึ่งขนาดรับประทานที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 300 - 600 มิลลิกรัม/วัน
  • ผู้สูงอายุ: เริ่มต้นรับประทาน 100 มิลลิกรัม/วันโดยแบ่งการรับประทานเป็น 2 ครั้งเช้า - เย็น แพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดรับประทานในแต่ละวันได้ ทั้งนี้ขนาดคงระดับการรักษาขึ้นกับการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย โรคประจำตัว และดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกถึงการใช้ยานี้กับผู้ป่วยเด็ก การใช้ยานี้กับเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*อนึ่งระหว่างการใช้ยานี้หากพบว่ามีอาการของตับทำงานผิดปกติ (เช่น คลื่นไส้อาเจียน ต้ว-ตาเหลือง เบื่ออาหารมาก) ต้องหยุดการใช้ยานี้และรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอจนถึงวันนัด

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาเนฟาโซโดน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเนฟาโซโดนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

กรณีลืมรับประทานยาเนฟาโซโดนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาเนฟาโซโดนตรงเวลา การหยุดใช้ยานี้เองสามารถส่งผลทำให้การรักษาไม่ได้ผล

เนฟาโซโดนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเนฟาโซโดนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้เช่น

  • ผลต่อตับ: เช่น ระดับเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มสูงขึ้นเช่น SGOT (Serum glutamic oxaloacetic transaminase) และ SGPT (Serum glutamic-pyruvic transaminase) มีภาวะตับแข็ง ตับอักเสบ เกิดภาวะตับวาย จนอาจทำให้ผู้ป่วยต้องเปลี่ยนตับหรือเสียชีวิตในที่สุดได้
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ ประสาทหลอน อยากทำร้ายตนเอง
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ ง่วงนอน วิงเวียน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน ขาดสมาธิ อุณหภูมิของร่างกายลดต่ำลงกว่าปกติ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น มีภาวะปากแห้ง คลื่นไส้ ท้องอืด ท้องผูก ท้องเสีย กระเพาะอาหารอักเสบ ลำไส้ใหญ่อักเสบ เกิดแผลในช่องปาก
  • ผลต่อตา: เช่น การมองเห็นภาพผิดปกติ ตาพร่า ปวดตา ตาแห้ง รูม่านตาขยาย ตาบอดกลางคืน อาจมีภาวะต้อหินเกิดขึ้นได้
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น มีความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะบ่อย ติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ ปวดท้องน้อย/อุ้งเชิงกราน ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด
  • ผลต่อระบบสืบพันธุ์: เช่น ช่องคลอดอักเสบ (ในผู้ป่วยสตรี)
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น มีภาวะเต้านมโต มีน้ำนมไหล ทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin, ฮอร์โมนเกี่ยวกับการหลั่งน้ำนม) มากขึ้น
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน เกิดสิว ผมร่วง มีลมพิษ
  • ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย: เช่น ร่างกายมีภาวะติดเชื้อง่ายเช่น เป็นโรคหวัดบ่อย
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น เกิดภาวะคออักเสบ ไอ หลอดลมอักเสบ หอบหืด ปอดบวม
  • ผลต่อไต: เช่น อาจพบนิ่วในไต

มีข้อควรระวังการใช้เนฟาโซโดนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเนฟาโซโดนเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานหรือหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
  • หากเกิดความผิดปกติต่อการทำงานของตับ (อาการเช่น คลื่นไส้อาเจียน ตัวเหลืองตาเหลือง เบื่ออาหาร) ต้องหยุดการใช้ยานี้และรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคตา ผู้ป่วยโรคตับ โรคหัวใจ ผู้ที่มีภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร ผู้ป่วยโรคลมชัก ผู้ป่วยโรคหัวใจ
  • เฝ้าสังเกตอารมณ์ของผู้ป่วยว่าเกิดอาการคิดทำร้ายตนเองหรือไม่ ถ้ามีอาการดังกล่าวต้องรีบนำผู้ป่วยมาโรงพยาบาลโดยด่วน ไม่ต้องรอจนถึงวันนัด
  • แจ้งแพทย์ทุกครั้งว่ามีการใช้ยาอื่นๆร่วมด้วยหรือไม่เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยานั้นๆกับยาเนฟาโซโดน
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจร่างกายตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเนฟาโซโดนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่องข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด)รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เนฟาโซโดนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเนฟาโซโดนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • การใช้ยาเนฟาโซโดนร่วมกับยา Hydrocodone อาจทำให้ระดับยา Hydrocodone ในกระแสเลือดเพิ่มขึ้นจนทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยา Hydrocodone ตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป
  • การใช้ยาเนฟาโซโดนร่วมกับยา Dextromethorphan อาจทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะ Serotonin syndrome เพื่อเลี่ยงภาวะดังกล่าวจึงไม่สมควรใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาเนฟาโซโดนร่วมกับยา Alprazolam อาจทำให้ระดับยา Alprazolam เพิ่มสูงขึ้นจนก่อให้เกิดอาการข้างเคียงต่างๆจากยา Alprazolam ตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับลดขนาดการใช้ยา Alprazolam ลงครึ่งหนึ่ง
  • การใช้ยาเนฟาโซโดนร่วมกับยา Oxycodone อาจทำให้เกิดอาการง่วงนอน วิงเวียน ขาดการครองสติ รบกวนความทรงจำของผู้ป่วย ในผู้ป่วยบางรายจะทำให้มีภาวะความดันโลหิตต่ำตามมา มีอาการหายใจขัด/หายใจลำบาก จนถึงขั้นโคม่าและเสียชีวิตในที่สุด หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาเนฟาโซโดนอย่างไร?

ควรเก็บยายาเนฟาโซโดนในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

เนฟาโซโดนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเนฟาโซโดนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
SERZONE (เซอโซน)Bristol-Myers

อนึ่งยาชื่อการค้าอื่นของยาเนฟาโซโดนในต่างประเทศเช่น Dutonin, Nefadar

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Nefazodone [2016,July16]
  2. https://www.drugs.com/cdi/nefazodone.html [2016,July16]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/nefazodone/?type=brief&mtype=generic [2016,July16]
  4. https://www.drugs.com/drug-interactions/nefazodone-index.html?filter=3&generic_only= [2016,July16]