เทโพรทิวมูแมบ (Teprotumumab)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเทโพรทิวมูแมบ(Teprotumumab) เป็นยาที่เคยนำมาศึกษาทดลองใช้กับมนุษย์ในฐานะโมโนโคลนอล แอนตีบอดี(Monoclonal antibodies) ยานี้ได้รับการพัฒนาโดยบริษัท Genmab และ Roche ในช่วงแรกของการศึกษาทดลอง ยาเทโพรทิวมูแมบถูกนำมาใช้รักษาโรคมะเร็งที่มีลักษณะเป็นก้อนเนื้อ(Solid tumors) เช่น มะเร็งเต้านม,มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต(Non small cell lung cancer) มะเร็งซาร์โคมา(Sarcoma); และมะเร็งลักษณะไม่ใช่ก้อนเนื้อ /มะเร็งเม็ดเลือด/มะเร็งระบบโลหิตวิทยา(Non solid tumor หรือ Hematologic tumors)เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลืองทั้งแบบ Hodgkin’s lymphoma และ Non-Hodgkin’s lymphoma แต่ด้วยเหตุผลทางธุรกิจ ทำให้ยาเทโพรทิวมูแมบถูกระงับการศึกษาทดลองใช้ในปี ค.ศ.2009 (พ.ศ.2552) อย่างไรก็ตามอีก 3 ปีต่อมายาเทโพรทิวมูแมบได้รับการรื้อฟื้นและนำมาปรับใช้รักษาโรคที่เกี่ยวกับตา ในปี ค.ศ.2017(พ.ศ.2560) ยานี้ได้ถูกนำมาใช้บำบัดอาการผิดปกติทางตาจากโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ/ตาโปนจากต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ที่เรียกว่า Graves’ ophthalmopathy และภาวะ/โรคจอตาส่วนกลางเสื่อมจากโรคเบาหวาน(Diabetic macular edema) จากรายงานการรักษา Graves’ ophthalmopathy ที่ออกมาเป็นระยะๆพบว่า ยาเทโพรทิวมูแมบมีประสิทธิผลการรักษาเหนือกว่ายาหลอก(Placebo)อยู่หลายเท่าตัว

กลไกการออกฤทธิ์ของเทโพรทิวมูแมบเป็นอย่างไร?

เทโพรทิวมูแมบ

อาจกล่าวได้ว่า ยาเทโพรทิวมูแมบเป็นยาประเภทโมโนโคลนอล แอนตีบอดี มีกลไกต่อเซลล์ที่มีลักษณะผิดปกติหรือเซลล์แปลกปลอมที่กระตุ้นให้มีอาการตาโปนจากโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โดยยาเทโพรทิวมูแมบจะบดบังความสามารถกระตุ้นการปลดปล่อยสารภูมิต้านทานของเซลล์แปลกปลอมดังกล่าว อาจเป็นด้วยกลไกนี้เองที่ทำให้ภาวะอาการตาโปนในผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษบรรเทาลง อย่างไรก็ตามกลไกการออกฤทธิ์เหล่านี้คงต้องได้รับการสรุปอย่างเป็นทางการหลังจากได้ศึกษาทดลองใช้ยาเทโพรทิวมูแมบรักษาอาการโรคที่ได้ติดตามผลนานพอเพียง(PhaseIII trial หรือ Final testing, อ่านเพิ่มเติมเรื่องการศึกษาทางการแพทย์ได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “การศึกษาทางการแพทย์”)

การบริหารยาเทโพรทิวมูแมบเป็นอย่างไร?

สำหรับการบำบัดอาการตาโปนในผู้ป่วยต่อมไทรอยด์เป็นพิษด้วยยาเทโพรทิวมูแมบจะโดยการฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ 1 ครั้ง ทุก 3 สัปดาห์ ผู้ป่วยต้องได้รับยา 8 ครั้ง พบว่าอาการดีขึ้นเมื่อได้รับยาในสัปดาห์ที่ 6 จากนั้นอาการจะดีขึ้นเรื่อยๆในสัปดาห์ที่ 12, 18 และ 24

ผลข้างเคียงจากการใช้เทโพรทิวมูแมบมีอะไรบ้าง?

เท่าที่มีรายงานอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง/อาการไม่พึงประสงค์จากยา)ของผู้ป่วยในระหว่างที่ได้รับยาเทโพรทิวมูแมบ คือ ผู้ป่วยจะมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง แต่อาการข้างเคียงอื่นๆ ยังคงต้องรอรายงานการสรุปผลเมื่อการศึกษาทดลองใช้ยานี้ทางคลินิกเข้าสู่การศึกษาทางการแพทย์ในระยะยาวที่ติดตามผลการรักษาได้ชัดเจน(Final testing)

เทโพรทิวมูแมบจะมีวางจำหน่ายเมื่อใด?

ยาเทโพรทิวมูแมบจัดว่าเป็นยากลุ่มใหม่ที่อยู่ในขั้นตอนการศึกษาทดลองและยังต้องใช้เวลาอีกเป็นแรมปีเพื่อสรุปข้อมูลความปลอดภัยการใช้งานทางคลินิก หากยานี้มีประสิทธิภาพในการรักษาได้ดีและไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายร้ายแรง ก็มีความเป็นไปได้ว่า จะพบเห็นการจัดจำหน่ายยานี้อย่างแน่นอน หรือกรณีที่ยาเทโพรทิวมูแมบตกอยู่ในสถานะเป็นยากำพร้า(Orphan drug) กล่าวคือ ยาเทโพรทิวมูแมบเป็นที่ยอมรับทางคลินิกว่ามีประสิทธิผลในการรักษาโรคได้เป็นอย่างดี แต่อาจติดเงื่อนไขว่ามีผู้ป่วยน้อยรายที่ต้องใช้ยานี้ หรือสภาพทางเศรษฐกิจไม่เอื้อต่อการจัดจำหน่ายหรือไม่คุ้มทุน ก็อาจเป็นเหตุให้ยาเทโพรทิวมูแมบตกอยู่ในสถานะยากำพร้าซึ่งจะไม่มีการผลิตออกมาจำหน่ายในที่สุด

บรรณานุกรม

  1. https://specialty.mims.com/topic/teprotumumab-provides-clinical-benefit-in-patients-with-thyroid-associated-ophthalmopathy?topic-grouper=news [2018,Jan20]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Teprotumumab [2018,Jan20]
  3. https://www.researchgate.net/publication/316700765_Teprotumumab_for_Thyroid-Associated_Ophthalmopathy [2018,Jan20]