เทอลิเพรสซิน (Terlipressin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 29 มิถุนายน 2562
- Tweet
- บทนำ
- เทอลิเพรสซินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- เทอลิเพรสซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เทอลิเพรสซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เทอลิเพรสซินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- เทอลิเพรสซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เทอลิเพรสซินอย่างไร?
- เทอลิเพรสซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเทอลิเพรสซินอย่างไร?
- เทอลิเพรสซินมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินอาหาร (Digestive disease)
- โรคตับ (Liver disease)
- โรคไต (Kidney disease)
- โรคตับแข็ง (Liver cirrhosis)
- Vasopressin analogue
- ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง
- อาเจียนเป็นเลือด (Hematemesis)
บทนำ
ยาเทอลิเพรสซิน(Terlipressin หรือ Terlipressin acetate) เป็นยารักษาภาวะเลือดออกจากเส้นเลือด/หลอดเลือดดำขอดในหลอดอาหารแตก (Acute esophageal variceal haemorrhage) และภาวะไตวายจากโรคตับแข็ง(Hepatorenal syndrome) โดยโรคนี้จะทำให้หลอดเลือดในช่องท้องมีการขยายตัวมากเกินไป
โครงสร้างของยาเทอลิเพรสซินมีลักษณะคล้ายกับฮอร์โมนในร่างกายที่มีชื่อเรียกว่า ‘Vasopressin’ ซึ่งผลิตได้จากสมองส่วน Hypothalamus รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาชนิดนี้เป็นแบบฉีดเข้าหลอดเลือดดำ
ยาเทอลิเพรสซินสามารถออกฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดหดตัวยาวนาน 4-6 ชั่วโมงจึงส่งผลยับยั้งภาวะเลือดออกในบริเวณหลอดอาหาร รวมถึงลดการขยายตัวของหลอดเลือดในบริเวณช่องท้อง อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยบางกลุ่มที่แพทย์จะต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษเมื่อต้องใช้ยาเทอลิเพรสซิน เช่น
- ผู้ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงที่ยังไม่สามารถควบคุมอาการให้เป็นปกติ
- ผู้ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองตีบ
- ผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด/โรคหลอดเลือดหัวใจ
- ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง(COPD)
- ผู้ป่วยด้วยโรคไตทำงานผิดปกติ
- เด็ก, สตรีมีครรภ์,และสตรีในภาวะให้นมบุตร
ยาเทอลิเพรสซินไม่มีจำหน่ายในแถบอเมริกา แต่มีการใช้ยานี้ในแถบ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ยุโรป อินเดีย และตะวันออกกลาง ส่วนในประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้กำหนดให้ยาเทอลิเพรสซินอยู่ในหมวดยาอันตราย และต้องใช้ภายใต้คำสั่งแพทย์แต่ผู้เดียว ประชาชน/ผู้บริโภคสามารถพบเห็นการจัดจำหน่ายยานี้โดยใช้ชื่อการค้าว่า ’Glypressin’
เทอลิเพรสซินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาเทอลิเพรสซินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ คือ
- ใช้รักษาภาวะเลือดออกจากเส้นเลือดขอดในหลอดอาหารแตก (Acute oesophageal variceal haemorrhage)
- รักษาภาวะไตวายจากโรคตับแข็งชนิดที่ 1 (Hepatorenal syndrome type 1)
เทอลิเพรสซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ตัวยาเทอลิเพรสซินจัดเป็นยา Vasopressin analogue โดยจะออกฤทธิ์ที่บริเวณตัวรับ (Receptor)ถึง 3 ชนิด คือ
1. Vasopressin receptor V1a: เป็นผลให้หลอดเลือดมีการหดตัว
2. Vasopressin receptor V1b: ทำให้มีการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติโคโทรปิน(Corticotropin) จากต่อมใต้สมองส่วนหน้า
3. Vasopressin receptor V2: คอยควบคุมการทำงานของไตในการดูดน้ำกลับเข้า ร่างกาย
ด้วยกลไกดังกล่าว ทำให้การรั่วซึมของเลือดออกนอกหลอดเลือดมีปริมาณลดลงและเป็นผลให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้นเป็นลำดับ
เทอลิเพรสซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเทอลิเพรสซินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เป็น
- ยาฉีด ที่ประกอบด้วยตัวยา Terlipressin acetate 1 มิลลิกรัม/8.5 มิลลิลิตร
เทอลิเพรสซินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาเทอลิเพรสซินมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
ก: สำหรับภาวะ Acute oesophageal variceal haemorrhage:
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 1–2 มิลลิกรัม ทุกๆ 4–6 ชั่วโมง ให้ฉีดยาอีก 1 มิลลิกรัม ขนาดการใช้ยาไม่ควรเกิน 72 ชั่วโมง ทั่วไป เมื่อใช้ยานี้ไปแล้ว 24 – 48 ชั่วโมง จะสามารถควบคุมการไหลของเลือดที่หลอดอาหารได้ดีขึ้น
- เด็ก: ยังไม่มีการศึกษาที่แน่ชัดในด้าน ประสิทธิผล ความปลอดภัย ผลข้างเคียง และขนาดยา ของการใช้ยานี้ในเด็ก
ข.สำหรับภาวะ Hepatorenal syndrome type 1:
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 1 มิลลิกรัม ทุก 6 ชั่วโมง
- กรณีที่ค่า Creatinine ในเลือดไม่ลดลง 25% หลังการให้ยาไปแล้ว 3 วัน แพทย์อาจปรับขนาดการให้ยานี้เป็น 2 มิลลิกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง
- ห้ามใช้ยานี้รักษา Hepatorenal syndrome type 1 ต่อเนื่องเกิน 2 สัปดาห์
- เด็ก: ยังไม่มีการศึกษาที่แน่ชัดในด้าน ประสิทธิผล ความปลอดภัย ผลข้างเคียง และขนาดยา ของการใช้ยานี้ในเด็ก
อนึ่ง:
- การเตรียมยานี้สำหรับฉีดให้ผู้ป่วย ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา
- ระหว่างการให้ยานี้ ต้องควบคุม ความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ และระดับ Creatinine ของผู้ป่วยให้เป็นปกติเสมอ
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเทอลิเพรสซิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหน้าอก/หายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเทอลิเพรสซินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
เทอลิเพรสซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเทอลิเพรสซินสามารถก่อให้เกิด ผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น เลือดมาเลี้ยงลำไส้เล็กน้อยลง ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน เป็นตะคริวที่ท้อง
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น เกิดอาการชัก ปวดศีรษะ
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย :เช่น ระดับโซเดียมในเลือดต่ำ หรือ น้ำตาลในเลือดสูง
- ผลต่อหัวใจ: เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นเร็วหรือหัวใจเต้นช้า ผิดปกติ คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น อาจมีอาการเนื้อเยื่อของผิวหนังตายลง
*อนึ่ง: กรณีใช้ยานี้เกินขนาด จะเกิดอาการความดันสูงแบบเฉียบพลัน หัวใจเต้นช้าผิดปกติ ซึ่งแพทย์จะใช้ยา Clonidine และ Atropine มาบำบัดอาการผู้ป่วย
มีข้อควรระวังการใช้เทอลิเพรสซินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเทอลิเพรสซิน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาชนิดนี้
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก นอกจากจะมีคำสั่งแพทย์
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคหัวใจล้มเหลว โรคหัวใจขาดเลือด/โรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้ที่หมดสติเพราะ หัวใจสูบฉีดโลหิตไม่เพียงพอ
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรค COPD โรคหืด โรคหัวใจ โรคไต โรคความดันโลหิตสูง
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ เภสัชกร พยาบาล อย่างเคร่งครัด และควรมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเทอลิเพรสซินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
เทอลิเพรสซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเทอลิเพรสซิน มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเทอลิเพรสซินร่วมกับยากลุ่ม Non-selective β-blockers ด้วยจะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำตามมา
- ห้ามใช้ยาเทอลิเพรสซินร่วมกับยา Propofol หรือ Sufentanil เพราะจะทำให้ มี ภาวะหัวใจเต้นช้า และหัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายไม่เพียงพอ
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเทอลิเพรสซินร่วมกับยากลุ่ม Erythromycin , Antihistamines และยากลุ่มTCAs เพราะจะทำให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ(Prolong QT interval)
ควรเก็บรักษาเทอลิเพรสซินอย่างไร?
ควรเก็บรักษายาเทอลิเพรสซิน เช่น
- กรณียาฉีดที่เป็นสารละลาย(Solution):
- ให้เก็บภายใต้อุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส(Celsius)
- กรณียาฉีดที่เป็นผงแห้งปราศจากเชื้อ:
- ให้เก็บภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส
- ห้ามเก็บยาทั้งสองลักษณะในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- เก็บยาฯในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- ไม่เก็บยาฯในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- ไม่เก็บยาที่หมดอายุแล้ว
- ไม่ทิ้งยาฯลงในแม่น้ำคูคลองตามธรรมชาติ
เทอลิเพรสซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเทอลิเพรสซิน มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Glypressin (กลีเพรสซิน) | Ferring |
บรรณานุกรม
- https://www.tga.gov.au/sites/default/files/auspar-terlipressin-acetate-121126-pi.pdf[2019,June8]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/glypressin/mechanism-of-action [2019,June8]
- https://www.drugbank.ca/drugs/DB02638[2019,June8]
- http://clmjournal.org/_fileupload/journal/29-4-10.pdf[2019,June8]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/terlipressin?mtype=generic [2019,June8]