เทอร์บูทาลีน (Terbutaline)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเทอร์บูทาลีน(Terbutaline หรือ Terbutaline sulfate) เป็นยากลุ่ม เบต้า2- อะดริเนอร์จิก อะโกนิสต์ (Beta2-adrenergic agonist) ทางคลินิกนำมาใช้รักษาอาการหอบหืดจากโรคหืด รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้มีทั้งชนิด ยารับประทาน ยาฉีด และยาพ่นปาก เมื่อตัวยานี้เข้าสู่ร่างกาย/กระแสเลือด จะมีการรวมตัวกับพลาสมาโปรตีน ได้ประมาณ 25% ตัวยานี้จะถูกทำลายที่ตับ และที่ผนังลำไส้ ยานี้ยังสามารถแทรกซึมผ่านรกตลอดจนเข้าในน้ำนมของมารดาได้ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 16 – 20 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยาออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

ข้อจำกัดบางประการของการใช้ยาเทอร์บูทาลีนที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบ อาทิ เช่น

  • เป็นผู้ที่มีประวัติแพ้ยาเทอร์บูทาลีน
  • เป็นสตรีที่อยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรืออยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • เป็นผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคเบาหวาน โรคลมชัก และผู้ป่วยด้วยโรคดังกล่าว ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยาเทอร์บูทาลีนทุกครั้ง
  • ผู้ป่วยที่มีการใช้ยาอื่นๆบางประเภทอยู่ก่อน จะต้องแจ้งให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบ ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)โดยเฉพาะยาประเภท MAOIs, TCAs, Beta-blockers, Insulin, และ ยาขับปัสสาวะ

ผู้ที่ได้รับยาเทอร์บูทาลีนอาจได้รับอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ต่างๆจากยานี้ เช่น นอนไม่หลับ วิงเวียน ง่วงนอน ปวดศีรษะ คลื่นไส้ กระสับกระส่าย เป็นต้น

*กรณีที่ได้รับยาเทอร์บูทาลีนเกินขนาด ให้สังเกตจาก อาการเจ็บแน่นหน้าอก ปากแห้ง เป็นลม หัวใจ/ชีพจรเต้นเร็ว ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนแรง เป็นตะคริว กระสับกระส่าย เกิดอาการชัก ปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ วิงเวียน อาเจียน ซึ่งหากพบอาการดังกล่าว ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

ประโยชน์ทางคลินิกของยาเทอร์บูทาลีน นอกเหนือจากบรรเทาอาการหอบหืดแล้ว ทางการแพทย์ยังใช้ยานี้ระงับการหดรัดของมดลูกในสตรีตั้งครรภ์ ส่งผลช่วยชะลอการคลอดออก(การคลอดก่อนกำหนด)ได้ แต่ห้ามใช้ยานี้เป็นเวลานานกว่า 48 – 72 ชั่วโมง การสั่งจ่ายยานี้กับสตรีตั้งครรภ์จะต้องมีคำสั่งจากแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ด้วยยาเทอร์บูทาลีนสามารถก่อให้เกิดผลกระทบ(ผลข้างเคียง)อย่างรุนแรง โดยสามารถกระตุ้นให้มารดามีหัวใจเต้นเร็ว น้ำตาลในเลือดสูง เกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด จนกระทั่งอาจเสียชีวิตได้

ยาเทอร์บูทาลีนจัดอยู่ในประเภทยาอันตราย ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้ป่วย จึงจำเป็นต้องใช้ยาตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

เทอร์บูทาลีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เทอร์บูทาลีน

ยาเทอร์บูทาลีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดรักษาอาการหอบหืด จากโรคหืด
  • บำบัดอาการหอบหืดที่เกิดแบบเฉียบพลันโดยจะใช้ในลักษณะยาพ่นปาก
  • ใช้เป็นยาชะลอการคลอดก่อนกำหนด

เทอร์บูทาลีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ตัวยาเทอร์บูทาลีน มีกลไกการออกฤทธิ์ต่อกล้ามเนื้อเรียบที่ผนังหลอดลมและที่ มดลูก ส่งผลทำให้อวัยวะดังกล่าวคลายตัวและลดการหดเกร็ง จากกลไกดังกล่าวจึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

เทอร์บูทาลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเทอร์บูทาลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 2.5 และ 5 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาพ่นปาก ขนาด 0.2 มิลลิกรัม/การพ่น 1 ครั้ง
  • ยาฉีด ขนาด 0.5 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
  • ยาน้ำชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่น Terbutaline sulfate 1.5 มิลลิกรัม +Glyceryl guaiacolate(Guaifenesin) 66.5 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร

เทอร์บูทาลีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

บทความนี้ ขอยกตัวอย่างขนาดรับประทานของยาเทอร์บูทาลีนเฉพาะบางกรณี เช่น

ก.สำหรับบำบัดรักษาอาการหอบหืดจากโรคหืด:

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป: รับประทานยาครั้งละ 5 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง โดยรับประทานยาห่างกัน 6 ชั่วโมง หากพบอาการข้างเคียงมาก แพทย์อาจลดขนาดรับประทานเป็น ครั้งละ 2.5 มิลลิกรัม ขนาดรับประทานยาสูงสุดห้ามเกิน 15 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุน้อยกว่า 12 ปี: รับประทานยาขนาด 0.05 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่ง รับประทานเป็น 3 ครั้ง แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเป็นระยะๆ จนได้ขนาดรับประทานที่ 0.15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน ขนาดรับประทานยาสูงสุด ห้ามเกิน 5 มิลลิกรัม/วัน

ข.สำหรับบำบัดอาการหอบหืดแบบเฉียบพลัน:

  • ผู้ใหญ่: ใช้ยาพ่นปาก 2 ครั้งเมื่อมีอาการ โดยการพ่นแต่ละครั้งห่างกันอย่างน้อย 1 นาที สามารถพ่นยาได้ทุกๆ 4 – 6 ชั่วโมง ห้ามใช้ยาซ้ำโดยไม่เว้นช่วงห่างกัน 4 – 6 ชั่วโมง ด้วยอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับยามากเกินขนาดซึ่งจะก่อให้เกิดอาการข้างเคียงรุนแรงตามมา
  • เด็ก: ทางคลินิก ยังไม่มีการแนะนำการใช้ยานี้ชนิดพ่นกับเด็ก เพราะเด็กอาจพ่นยาไม่เป็น ดังนั้น แพทย์จึงเป็นผู้พิจารณาการใช้เป็นรายผู้ป่วยไป

*อนึ่ง:

  • การใช้ยานี้ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ยังมีขนาดและวิธีการใช้ที่แตกต่างกัน ทั้งนี้แพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้พิจารณาการเลือกใช้ยาได้เหมาะสมที่สุด
  • ยานี้สามารถรับประทาน ก่อน หรือหลัง อาหารก็ได้

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเทอร์บูทาลีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคเบาหวาน รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเทอร์บูทาลีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยา/ใช้ยาเทอร์บูทาลีนสามารถรับประทาน/ใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยา/ใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

แต่อย่างไรก็ดี การลืมรับประทานยา/ใช้ยาเทอร์บูทาลีนบ่อยๆ หลายครั้ง สามารถก่อให้เกิดผลกระทบกับตัวผู้ป่วยได้ เช่น อาการหอบหืดไม่ทุเลาลง

เทอร์บูทาลีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเทอร์บูทาลีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ชีพจรเต้นผิดปกติ หลอดเลือดเกิดการขยายตัวส่งผลให้ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตอาจเพิ่มหรือลดลงก็ได้ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น เป็นตะคริว
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ และเกลือแมกนีเซียมในเลือดต่ำ น้ำตาลในเลือดสูง
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย วิตกกังวล นอนไม่หลับ

มีข้อควรระวังการใช้เทอร์บูทาลีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเทอร์บูทาลีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้เพื่อชะลอการคลอดในสตรีมีครรภ์ นานกว่า 48 – 72 ชั่วโมง
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่งแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวดังต่อไปนี้ เช่น โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคลมชัก โรคหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  • แจ้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทุกครั้งว่ามียาอื่นใดที่ใช้อยู่ก่อนที่เข้ารับการรักษา
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเทอร์บูทาลีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.comบทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เทอร์บูทาลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเทอร์บูทาลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเทอร์บูทาลีนร่วมกับการดมยาสลบ ด้วยเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกง่าย รวมถึงเกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเทอร์บูทาลีนร่วมกับยารักษาโรคเบาหวาน ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพของยารักษาเบาหวานด้อยลง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเทอร์บูทาลีนร่วมกับยา Beta-agonist หรือยา Corticosteroid ด้วยอาจทำให้เกิดภาวะ ปอดบวมน้ำ(Pulmonary edema)
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเทอร์บูทาลีนร่วมกับยากลุ่ม Beta-blockers ด้วยอาจทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยากลุ่ม Beta-blocker ดังกล่าวด้อยลง

ควรเก็บรักษาเทอร์บูทาลีนอย่างไร?

ควรเก็บยาเทอร์บูทาลีนในช่วงอุณหภูมิ 20 – 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

เทอร์บูทาลีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเทอร์บูทาลีน ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Asmadon (แอสมาดอน)Acdhon
Asmaline (แอสมาลีน) Polipharm
Asthmasian (แอสมาเซียน) Asian Pharm
Asthmic (แอสมิค) T.Man Pharm
Asthnyl (แอสนิล)Osoth Interlab
Broncholine (บรอนโชลีน)T.O. Chemicals
Cofbron (คอฟบรอน)MacroPhar
Terbu Expectorant (เทอร์บู เอกซ์เปคโทแรนท์) Community Pharm PCL
Terbutaline Sulfate GPO (เทอร์บูทาลีน ซัลเฟต จีพีโอ)GPO
Terbutaline T.O. (เทอร์บูทาลีน ที.โอ.)T. O. Chemicals
Tolbin (ทอลบิน)Unison
Zarontin (ซารอนติน)Pfizer

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/cdi/terbutaline.html [2016,Sept24]
  2. https://www.drugs.com/dosage/terbutaline.html [2016,Sept24]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/terbutaline/?type=brief&mtype=generic [2016,Sept24]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Terbutaline [2016,Sept24]