เทลาแวนซิน (Telavancin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 3 เมษายน 2561
- Tweet
- บทนำ
- เทลาแวนซินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- เทลาแวนซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เทลาแวนซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เทลาแวนซินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- เทลาแวนซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เทลาแวนซินอย่างไร?
- เทลาแวนซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเทลาแวนซินอย่างไร?
- เทลาแวนซินมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- ลำไส้อักเสบ (Enterocolitis)
- Lipoglycopeptide antibiotic
บทนำ
ยาเทลาแวนซิน(Telavancin) เป็นยาปฏิชีวนะกึ่งสังเคราะห์(Semisynthetic glycopeptides antibiotic หรือ Lipoglycopeptide antibiotic) มีโครงสร้างทางเคมีคล้ายกับ ยาVancomycin ทางคลินิก นำมาใช้ต่อต้านแบคทีเรียจำพวกสแตฟฟิโลคอคคัส ออเรียส(Staphylococcus aureus ย่อว่า S. aureus)ที่ดื้อต่อยาเมทิซิลลิน (Methicillin-resistant staphylococcus aureus/MRSA) รวมถึงแบคทีเรียชนิดแกรมบวกชนิดอื่น เช่น Streptococcus pyogenes, Streptococcus agalactiae, Streptococcus anginosus, Staphylococcus intermedius, Streptococcus constellatus และ Enterococcus faecalis
ยาเทลาแวนซินมีกลไกออกฤทธิ์หลักคือ ยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ของแบคทีเรีย ยาชนิดนี้ได้ผ่านการขึ้นทะเบียนเมื่อปี ค.ศ.2009(พ.ศ.2552) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังในระดับซับซ้อนและมีความรุนแรง อีก 4 ปีต่อมาทางการแพทย์ได้ค้นพบว่า ยาเทลาแวนซินสามารถบำบัดอาการปอดอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียในสถานพยาบาลหรือติดเชื้อฯผ่านจากเครื่องช่วยหายใจ
ยาเทลาแวนซิน มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาฉีดชนิดผง ที่ต้องเตรียมเป็นสารละลายก่อนให้ยากับผู้ป่วยทางหลอดเลือดดำ กลไกของการทำลายยาเทลาแวนซินในร่างกายยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่จากการศึกษาพบว่าร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมงขึ้นไปเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะถึง 76% และอุจจาระน้อยกว่า 1%
มีข้อห้ามใช้ยาเทลาแวนซินบางประการที่ทำให้แพทย์ ไม่สามารถใช้ยานี้รักษาผู้ป่วยได้ เช่น ห้ามใช้กับ
- ผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ และแพ้ยา Dalbavancin, หรือยา Vancomycin
- ผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับ ยาHeparin ด้วยตัวยาเทลาแวนซินจะรบกวน ผลทดสอบเรื่องการแข็งตัวของเลือดจากการใช้ยา Heparin
- ผู้ที่มีคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ เช่น ช่วงเวลา Q wave และ T wave ยาวนาน ผิดปกติ หรือผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจล้มเหลว ผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจโต ผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางกลุ่ม แต่มีความจำเป็นต้องได้รับยาเทลาแวนซิน แพทย์จะประเมินสภาพร่างกายผู้ป่วย และใช้ยานี้ด้วยความระมัดระวัง เช่น ผู้ป่วยโรคไต แพทย์จะต้องปรับลดขนาดการใช้ยานี้ลงมาตามค่า Creatinine clearance ของผู้ป่วย หรือผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง หากได้รับยาเทลาแวนซินก็มีความเสี่ยงเกิดโรคไตเพิ่มขึ้น
ยาเทลาแวนซินยังสามารถก่อผลข้างเคียงต่อระบบการทำงานของร่างกายได้หลายระบบ อาทิ ต่อระบบประสาท ระบบเลือด ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินปัสสาวะ และการใช้ยานี้ต่อเนื่องเป็นเวลานานๆอาจกระตุ้นให้เกิดอาการท้องเสียรุนแรงด้วยแบคทีเรียที่มีประโยชน์ในระบบทางเดินอาหารโดนทำลาย และมีเชื้อโรคชนิดอื่นที่ไม่ตอบสนองต่อยาชนิดนี้เข้าแทรกแซงเล่นงาน เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียชนิด Clostridium difficile ในลำไส้ใหญ่
ทั่วไป ระยะเวลาของการใช้ยาเทลาแวนซินอาจอยู่ในช่วง 7–14 วัน ทั้งนี้ขึ้นกับอาการความรุนแรงของโรค ซึ่งยาเทลาแวนซินถูกวางจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า Vibativ และจะพบเห็นการใช้ยาชนิดนี้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น
เทลาแวนซินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาเทลาแวนซินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรียอย่างรุนแรงในชั้นโครงสร้างของผิวหนัง
- รักษาอาการปอดอักเสบติดเชื้อแบคทีเรียที่เกิดในสถานพยาบาล (Hospital-acquired pneumonia)
เทลาแวนซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเทลาแวนซินสามารถออกฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียจำพวก S.aureus และ แบคทีเรียชนิดแกรมบวกที่ตอบสนองต่อยานี้ โดยตัวยาจะยับยั้งการสร้างผนังเซลล์และรบกวนทำลายความสมบูรณ์ของเยื่อหุ้มเซลล์ของแบคทีเรีย ส่งผลให้แบคทีเรียไม่สามารถคงรูปร่างของตัวมัน หมดสภาพในการเจริญเติบโต หยุดการแบ่งเซลล์และตายลงในที่สุด
เทลาแวนซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเทลาแวนซินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาฉีดชนิดผงปราศจากเชื้อ ที่บรรจุตัวยาTelavancin ขนาด 250 และ 750 มิลลิกรัม/ขวด
เทลาแวนซินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาเทลาแวนซินมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
ก. สำหรับการติดเชื้อแบคทีเรียที่ระดับโครงสร้างภายในผิวหนัง:
- ผู้ใหญ่: ให้ยาทางหลอดเลือดดำขนาด 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ1ครั้ง อัตราการหยดยาเข้าหลอดเลือดฯ ควรใช้เวลานาน 60 นาทีขึ้นไป ระยะเวลาการใช้ยาอยู่ในช่วง 7–14 วัน หรือตามดุลยพินิจของแพทย์
ข. สำหรับการป่วยด้วยโรคปอดบวม/ปอดอักเสบจากติดเชื้อแบคทีเรียในสถานพยาบาล:
- ผู้ใหญ่: ให้ยาทางหลอดเลือดฯขนาด 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ1 ครั้ง อัตราการหยดยาเข้าหลอดเลือดควรใช้เวลานาน 60 นาทีขึ้นไป ระยะเวลาการใช้ยาอยู่ในช่วง 7–14 วัน หรือตามดุลยพินิจของแพทย์
อนึ่ง:
- การเตรียมยาก่อนฉีดให้ผู้ป่วย โดยนำยาเทลาแวนซินมาผสมกับตัวทำละลายในอัตราส่วนตัวยา 250 มิลลิกรัมต่อตัวทำละลาย 15 มิลลิลิตร หรือตัวยา 750 มิลลิกรัมต่อตัวทำละลาย 45 มิลลิลิตร
- ตัวทำละลายที่สามารถใช้ร่วมกับยาเทลาแวนซินได้แก่ 5% Dextrose หรือน้ำกลั่นปราศจากเชื้อ หรือ 0.9% Sodium chloride
- บุคลากรทางการแพทย์จะนำยาเตรียมข้างต้นผสมกับ 5% Dextrose หรือ 0.9% Sodium chloride ในอัตราส่วนดังนี้ คือ ตัวยา 150–800 มิลลิกรัม ต่อ 5% Dextrose หรือ 0.9%Sodium chloride จำนวน 100–250 มิลลิลิตร จากนั้นจึงหยดสารละลายยาเข้าหลอดเลือดดำของผู้ป่วย
- หากพบสิ่งเจือปนในขวดยา ห้ามใช้ยาขวดนั้น ให้ทิ้งทำลาย แล้วใช้ยาขวดใหม่แทน
- ห้ามผสมยาชนิดอื่นร่วมกับยาเทลาแวนซินเพื่อให้ทางหลอดเลือดพร้อมกัน ด้วยเสี่ยงต่อการเกิดตะกอน/การสูญเสียคุณสมบัติในการรักษาโรค
- เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการใช้ยานี้ในเด็ก
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเทลาแวนซิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเทลาแวนซินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
เทลาแวนซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเทลาแวนซินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น ตับอักเสบ
- ผลต่อไต: เช่น อาจเกิดภาวะไตวาย ค่าCreatinine ในเลือดเพิ่มขึ้น ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดโลหิตจาง เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำหรือภาวะเกล็ดเลือดสูง มีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ เม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซีโนฟิล(Eosinophil)เพิ่มสูง
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด :เช่น คลื่นไฟฟ้าหัวใจช่วง Q wave ถึง T wave ยาวนานขึ้น มีภาวะหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นช้าหรือไม่ก็หัวใจเต้นเร็ว หัวใจล้มเหลว ชีพจรเต้นผิดปกติ ใบหน้าแดง ความดันโลหิตสูง
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก เกิดการติดเชื้อในลำไส้ใหญ่(Clostridium colitis) ปวดท้อง ช่องปากแห้ง ท้องอืด ท้องเฟ้อ เกิดภาวะหย่อนรับรู้ร้อน-เย็นในปาก สะอึก
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น การรับรสชาติอาหารเปลี่ยนไป ปวดศีรษะ วิงเวียน ปวดศีรษะ ไมเกรน เกิดความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน ง่วงนอน ตัวสั่น
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะเป็นฟอง โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ปัสสาวะขัด ปัสสาวะมีเลือดปน ปัสสาวะกระปริดกระปรอย กลิ่นปัสสาวะผิดปกติ
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ใบหน้าบวม มีลมพิษ มีภาวะเหงื่อออกมาก
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เบื่ออาหาร น้ำตาลในเลือดสูงหรือไม่ก็ต่ำ เกลือโปแตสเซียมในเลือดสูงหรือไม่ก็ต่ำ ระดับเกลือแมกนีเซียมในเลือดลดลง
- ผลต่อระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดข้อ ปวดหลัง กล้ามเนื้อเป็นตะคริว
- ผลต่อตา: เช่น ระคายเคืองตา ตาพร่า
- ผลต่อจิตประสาท: เช่น นอนไม่หลับ วิตกกังวล กระสับกระส่าย รู้สึกสับสน มีอาการซึม
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจขัด คัดจมูก ปวดบริเวณคอหอยหรือกล่องเสียง
มีข้อควรระวังการใช้เทลาแวนซินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเทลาแวนซิน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับยา Heparin
- ห้ามใช้ยานี้ ที่บรรจุภัณฑ์ชำรุด หรือมีสิ่งปนเปื้อนลงในตัวยา
- ห้ามหยุดใช้ยาโดยไม่มีคำสั่งแพทย์ ผู้ป่วยต้องได้รับยานี้จนครบเทอมการรักษา เพื่อป้องกันการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรีย
- การใช้ยากับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก ต้องเป็นไปตามดุลยพนิจของแพทย์เท่านั้น
- ระหว่างการใช้ยานี้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานอาจเปิดโอกาสให้เชื้อโรคบางชนิดเข้ามาเล่นงานร่างกายและระบบทางเดินอาหาร หากพบอาการท้องเสียรุนแรงต้องรีบแจ้ง แพทย์ พยาบาล ทันที
- หากพบอาการแพ้ยา เช่น อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก เกิดผื่นคันตามร่างกาย ท้องเสียบ่อยครั้ง ต้องหยุดใช้ยานี้ แล้วแจ้งให้ แพทย์ พยาบาลทราบทันที
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเทลาแวนซินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่องข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
เทลาแวนซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเทลาแวนซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาเทลาแวนซินร่วมกับวัคซีนอหิวาตกโรค เพราะจะทำให้การกระตุ้นภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของวัคซีนนี้ไม่ได้ผล ก่อนใช้วัคซีนนี้ควรต้องหยุดการใช้ยาเทลาแวนซินอย่างน้อย 14 วันไปแล้ว
- ห้ามใช้ยาเทลาแวนซินร่วมกับยา Efavirenz , Haloperidol ด้วยจะทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา
- ห้ามใช้ยาเทลาแวนซินร่วมกับ ยาIopromide(สารทึบแสง) เพราะจะทำให้เกิดพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)ต่อไตของผู้ป่วยตามมา
ควรเก็บรักษาเทลาแวนซินอย่างไร?
ควรเก็บยาเทลาแวนซิน ในช่วงอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
เทลาแวนซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเทลาแวนซิน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
VIBATIV (ไวบาทีฟ) | Theravance Biopharma |
บรรณานุกรม
- https://www.fda.gov/downloads/Drugs/DrugSafety/UCM183838.pdf [2018,March17]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Telavancin [2018,March17]
- https://davisplus.fadavis.com/3976/meddeck/pdf/telavancin.pdf [2018,March17]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/telavancin-index.html?filter=3&generic_only=#G [2018,March17]