เทลบิวูดีน (Telbivudine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเทลบิวูดีน(Telbivudine) เป็นยาที่ใช้รักษาโรคไวรัสตับอักเสบ บี แบบเรื้อรัง ซึ่งถึงแม้ตัวยาสามารถลดปริมาณไวรัสตับอักเสบ บีที่มีอยู่ในร่างกายได้ก็จริง แต่ก็ไม่สามารถรักษาโรคนี้ให้หายขาด ผู้ป่วยยังคงต้องปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันการติดต่อไปยังผู้อื่น เช่น ห้ามใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น หรือกรณีมีเพศสัมพันธ์ต้องใส่ถุงยางอนามัยชายป้องกันร่วมด้วยเสมอ

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาเทลบิวูดีน เป็นยารับประทาน ตัวยาสามารถอยู่ในกระแสเลือดได้ยาวนานประมาณ 40–49 ชั่วโมงก่อนที่จะถูกขับทิ้งไปกับปัสสาวะ กรณีผู้ป่วยโรคตับอักเสบ บี ที่มีการทำงานของไตเป็นปกติ ก็สามารถรับประทานยานี้ได้วันละ 1 ครั้งต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์ แต่กรณีที่ไตมีการทำงานไม่สมบูรณ์ แพทย์อาจลดความถี่ของการรับประทานยานี้ลงตามความเหมาะสมกับสภาพการทำงานของไต

นอกจากนี้ ยังมีคำเตือนทางคลินิก ที่ผู้ป่วยต้องให้ความสำคัญ และเฝ้าระวังติดตามขณะได้รับยาเทลบิวูดีน อาทิ ยาเทลบิวูดีนสามารถสร้างความเสียหายกับตับของผู้ป่วยและอาจทำให้เกิดอาการเลือดเป็นกรด (Lactic acidosis) เพื่อป้องกันภาวะดังกล่าว ขณะใช้ยาเทลบิวูดีนผู้ป่วยต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ดังนี้

  • ห้ามดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบระหว่างที่ใช้ยาชนิดนี้/ยานี้
  • แจ้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทุกครั้งเมื่อเข้ารับการรักษาว่า ตนเองมีการใช้ยาประเภทอื่นใดอยู่บ้าง ด้วยยาหลายชนิดจะต้องทำลายโดยผ่านตับ และอาจเกิดผล ข้างเคียงกับตับตามมา เช่น ยาลดไข้ อย่างยาAcetaminophen, ยาลดไขมันในเลือดกลุ่มStatins, ยาที่เสริมด้วยธาตุเหล็ก, ยารักษาวัณโรคอย่างIsoniazid, ยารักษาโรคเอชไอวี, ยาMethotrexate, ยาNiacin, และยาRifampin เป็นต้น
  • กรณีตรวจพบว่าอุจจาระมีสีซีดจาง ตัวเหลืองตาเหลือง หายใจไม่ออก /หายใจลำบาก ปวดท้อง ตัวบวม คลื่นไส้อาเจียน ปวดกล้ามเนื้อ เบื่ออาหาร รู้สึกไม่มีแรง/อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย รู้สึกเย็นตามแขนหรือขา วิงเวียน หัวใจเต้นเร็ว ต้องรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที
  • ห้ามหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเองโดยไม่ขอคำปรึกษาจากแพทย์ก่อน ด้วยการหยุดใช้ยานี้ในเวลาที่ไม่เหมาะสม สามารถทำให้อาการไวรัสตับอักเสบ บี กลับมาทวีความรุนแรงมากขึ้น
  • ทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลเชิงประจักษ์ว่า ยาเทลบิวูดีนสามารถใช้รักษาโรคตับอักเสบ บีในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนตับ กรณีนี้ผู้ป่วยต้องแจ้งประวัติการเปลี่ยนตับให้แพทย์ทราบ เพื่อจะได้ประเมินผลดี-ผลเสียของการใช้ยานี้กับผู้ป่วย
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อการตรวจเลือดและดูความก้าวหน้าของการรักษาตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง

ในบ้านเรา ตัวยาเทลบิวูดีนถูกจัดให้เป็นยาอันตราย การใช้ยาต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น และสามารถพบเห็นการใช้ยานี้ตามสถานพยาบาล และมีจำหน่ายในร้านขายยาภายใต้ชื่อการค้าว่า Sebivo

เทลบิวูดีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เทลบิวูดีน

เทลบิวูดีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดอาการผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบ บี ชนิดเรื้อรัง ยานี้จะช่วยลดปริมาณไวรัสตับอักเสบบีในร่างกาย และทำให้ความรุนแรงของโรคชะลอตัวลง

เทลบิวูดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเทลบิวูดีน มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ ชื่อ DNA polymerase ในตัวไวรัสตับอักเสบ บี เป็นผลให้ไวรัสไม่สามารถจำลองหรือสร้างไวรัสรุ่นใหม่ขึ้นมาได้ ซึ่งการใช้ยานี้อย่างต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์จะทำให้ปริมาณไวรัสตับอักเสบ บีในร่างกายลดลง

เทลบิวูดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเทลบิวูดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Telbivudine ขนาด 600 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาน้ำชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Telbivudine ขนาด 100 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร

เทลบิวูดีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเทลบิวูดีน มีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: ขนาดการใช้ยาชนิดนี้ แพทย์จะใช้ค่าครีอะตินิน เคลียรานซ์(Creatinine clearance)ของผู้ป่วยมาเป็นเกณฑ์อ้างอิง ดังนี้

อนึ่ง:

  • สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
  • รับประทานยานี้ตรงเวลา ตรงขนาด ตามคำสั่งแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับ Peginterferon alpha-2a
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีในภาวะให้นมบุตร
  • เด็ก: การใช้ยานี้ในเด็กจะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเทลบิวูดีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเทลบิวูดีนอาจ ส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเทลบิวูดีน สามารถรับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ห้ามเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติเท่านั้น

เทลบิวูดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเทลบิวูดีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง กล้ามเนื้ออักเสบ กล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อลายสลาย เกิดตะคริว
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน เส้นประสาทส่วนปลายอักเสบ ปวดศีรษะไมเกรน
  • ผลต่อตับ: เช่น ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูง ค่าบิลิรูบินในเลือดสูง มีภาวะตับโตอย่างรุนแรง
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสีย ปวดท้องทั้งช่วงบนและล่าง ท้องอืด กระเพาะอาหารอักเสบ เป็นแผลในคอ ปากแห้ง เบื่ออาหาร
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ไอ เจ็บคอ โรคติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน เยื่อจมูกอักเสบ คออักเสบ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีผื่นคัน เกิดสิว
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เม็ดเลือดขาวต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังง่นของร่างกาย: เช่น เกิดภาวะเลือดเป็นกรด (Lactic acidosis)
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะมาก
  • อื่นๆ: ประจำเดือนผิดปกติในสตรี

มีข้อควรระวังการใช้เทลบิวูดีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเทลบิวูดีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ และ/หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีในภาวะให้นมบุตร
  • การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • เข้ารับการตรวจสภาพร่างกาย และการตรวจเลือดดูการทำงานของตับตามคำแนะนำของแพทย์
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง และไม่ควรหยุดการรักษาไปเฉยๆโดยมิได้ปรึกษาแพทย์
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเทลบิวูดีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่องข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เทลบิวูดีนมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเทลบิวูดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาเทลบิวูดีน ร่วมกับยา Peginterferon alpha-2a , Interferon alfa-2a ด้วยจะทำให้เกิดความเสียหายต่อเส้นประสาทตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเทลบิวูดีน ร่วมกับยาHydrocortisone และ Zidovudine เพราะจะทำให้เกิดความผิดปกติของกล้ามเนื้อหรืออาจเกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย
  • ห้ามใช้ยาเทลบิวูดีนร่วมกับยา Ibuprofen , Aspirin ด้วยจะทำให้ระดับยาเทลบิวูดีน ในเลือดเพิ่มขึ้นจนทำให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงกับ ตับ กล้ามเนื้อ และระบบประสาท

ควรเก็บรักษาเทลบิวูดีนอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาเทลบิวูดีน ดังนี้ เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 15-30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแข็งตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาที่เสื่อมสภาพหรือยาที่หมดอายุแล้ว
  • ห้ามทิ้งยาลงคูคลองหรือแหล่งน้ำธรรมชาติ กรณีแพทย์สั่งหยุดการใช้ยานี้ ผู้ป่วยสามารถนำยานี้ที่มีสภาพดียังไม่หมดอายุ บริจาคคืนให้กับสถานพยาบาลเพื่อแพทย์นำไปใช้เป็นประโยชน์กับผู้ป่วยท่านอื่นต่อไป

เทลบิวูดีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเทลบิวูดีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Sebivo (เซบิโว)Novartis
Tyzeka (ไทเซคา)Novartis

บรรณานุกรม

  1. https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a607045.html [2018,June2]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/sebivo/?type=brief [2018,June2]
  3. https://www.drugs.com/cdi/telbivudine-tablets.html [2018,June2]
  4. https://www.drugs.com/sfx/telbivudine-side-effects.html [2018,June2]
  5. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2013/022011s013lbl.pdf [2018,June2]