เทริฟลูโนไมด์ (Teriflunomide)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเทริฟลูโนไมด์ (Teriflunomide) เป็นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์สารไพริมิดีน (Pyrimidine synthesis inhibitor, สารไพริมิดีนคือสารที่เกี่ยวข้องกับสาร DNA และ RNA) ส่งผลให้มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ในทางคลินิกนำมาใช้รักษาโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple sclerosis) ยานี้มีรูปแบบยาแผนปัจจุบันจะเป็นยาชนิดรับประทาน

หลังการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร ตัวยาเทริฟลูโนไมด์จะเข้าสู่ร่างกาย/กระแสเลือดและจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนได้มากกว่า 99.3% ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์เป็นอย่างต่ำ เพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับอุจจาระและปัสสาวะ

จากการศึกษาพบว่ายาเทริฟลูโนไมด์นี้สามารถส่งผลต่อทารกในครรภ์ถึงขั้นทำให้ทารกเสียชีวิต จึงถือเป็นข้อห้ามอย่างเด็ดขาดที่จะใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร หรือ ในผู้ป่วยบางรายพบว่ายานี้ก่อปัญหา (ผลข้างเคียง) กับตับอย่างรุนแรง

ทั้งนี้มีเงื่อนไขอื่นๆอีกที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ยาเทริฟลูโนไมด์อาทิ

  • เป็นผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้มาก่อน
  • เป็นผู้ที่มีภาวะไขกระดูกทำงานผิดปกติ มีระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ หรืออยู่ในภาวะการอักเสบติดเชื้อที่ยังไม่สามารถควบคุมอาการได้
  • เป็นผู้ที่ใช้ยา Leflunomide อยู่ก่อนหน้านี้

นอกจากนี้ตัวยาเทริฟลูโนไมด์ยังสามารถก่อให้เกิดความผิดปกติ (ผลข้างเคียง) อื่นต่อร่างกายได้อีกอย่างเช่น ทำให้ระดับเกล็ดเลือดในร่างกายต่ำจึงอาจเป็นเหตุให้เลือดออกง่ายหรือเลือดหยุดช้าเมื่อมีบาดแผล ในผู้ป่วยบางรายจะมีอาการของ Stevens-Johnson syndrome หรือกรณีที่ผู้ป่วยรับประทานยานี้พร้อมสุราก็จะก่อให้เกิดปัญหาของตับ/ตับอักเสบได้อย่างรุนแรง

เด็กและผู้สูงอายุจัดเป็นอีกกลุ่มเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังการใช้ยาเทริฟลูโนไมด์เป็นอย่างมาก ยาเทริฟลูโนไมด์จัดว่าเป็นยาใหม่ด้วยเพิ่งได้รับการจดทะเบียนยาจากต่างประเทศเมื่อปีค.ศ. 2012 (พ.ศ. 2555) จึงอาจยังไม่ค่อยพบเห็นหรือเป็นที่แพร่หลายในประเทศไทยเท่าใดนัก และหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ยานี้ ผู้ป่วยสามารถสอบถามข้อมูลจากแพทย์ผู้รักษาหรือจากเภสัชกรโดยทั่วไป

เทริฟลูโนไมด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

เทริฟลูโนไมด์

ยาเทริฟลูโนไมด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อรักษาโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple sclerosis)

เทริฟลูโนไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเทริฟลูโนไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะปิดกั้นการทำงานของเอนไซม์ชื่อ ไดไฮโดรออโรเทตดีไฮโดรจีเนส (Dihydroorotate dehydrogenase, เอนไซม์เกี่ยวข้องกับสารไพริมิดีน) เป็นผลให้ร่างกายหยุดการสร้างสารไพริมิดีน (Pyrimidine) ส่งผลช่วยปรับระบบภูมิคุ้มกันฯของร่างกายและสนับสนุนการบำบัดรักษาโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งได้ตามสรรพคุณ

เทริฟลูโนไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเทริฟลูโนไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 7 และ 14 มิลลิกรัม/เม็ด

เทริฟลูโนไมด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเทริฟลูโนไมด์มีขนาดรับประทานเช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยา 7 - 14 มิลลิกรัมวันละครั้ง โดยระยะเวลาในการใช้ยาเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ และสามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
  • เด็ก: ยังไม่มีการศึกษาทางคลินิกในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเทริฟลูโนไมด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเทริฟลูโนไมด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเทริฟลูโนไมด์สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาเทริฟลูโนไมด์ตรงเวลา การลืมรับประทานยานี้บ่อยครั้งนอกจากจะไม่ทำให้อาการป่วยดีขึ้นแล้วยังอาจทำให้สภาพโรคทรุดหนักลง

เทริฟลูโนไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเทริฟลูโนไมด์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระ บบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้เช่น

  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น ทำให้มีภาวะเม็ดเลือดขาวลดต่ำ (Leucopenia) อย่างเช่นภาวะ Neutropenia
  • ผลต่อตับ: เช่น อาจมีภาวะตับวาย
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตสูง ชีพจรเต้นผิดปกติ หัวใจเต้นเร็ว
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน หรือภาวะ Steven-Johnson syndrome
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ ปวดท้อง ปวดฟัน ติดเชื้อในบริเวณฟัน ตับอ่อนอักเสบ
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น เกิดการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ เกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
  • ผลต่ออวัยวะตา: เช่น มีอาการตาพร่า
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น วิตกกังวล และซึมเศร้า

มีข้อควรระวังการใช้เทริฟลูโนไมด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาทริฟลูโนไมด์เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็กและผู้สูงอายุโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดการรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคปอด วัณโรค โรคตับ โรคเบาหวาน
  • ปฏิบัติตัวตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดในระหว่างใช้ยานี้และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเทริฟลูโนไมด์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เทริฟลูโนไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเทริฟลูโนไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • การใช้ยาเทริฟลูโนไมด์ร่วมกับยา Orlistat, Abacavir (ยาต้านไวรัส/ยาเอ็นอาร์ทีไอ/NRTIs), Ibuprofen, Isotretinoin อาจส่งผลข้างเคียงต่อตับของผู้ป่วย หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาเทริฟลูโนไมด์ร่วมกับยา Hydrocortisone อาจทำให้เกิดการติดเชื้อต่างๆในร่างกายอย่างรุนแรงตามมา กรณีที่ไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเทริฟลูโนไมด์ร่วมกับยา Abatacept (ยาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรครูมาตอยด์) ด้วยอาจทำให้เกิดการทำงานของไขกระดูกผิดปกติจนเป็นผลให้เม็ดเลือดต่างๆของร่างกายลดต่ำลง

ควรเก็บรักษาเทริฟลูโนไมด์อย่างไร?

ควรเก็บยาเทริฟลูโนไมด์ในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

เทริฟลูโนไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเทริฟลูโนไมด์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Aubagio (อาวแบจิโอ)Sanofi

บรรณานุกรม

  1. http://www.drugs.com/cdi/teriflunomide.html [25june16]
  2. https://www.aubagio.com/ [25june16]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Teriflunomide [25june16]
  4. http://www.drugs.com/drug-interactions/teriflunomide-index.html?filter=3&generic_only= [25june16]
  5. http://www.fda.gov/downloads/Drugs/DrugSafety/UCM322204.pdf [25june16]