เทดูกลูไทด์ (Teduglutide)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 5 มิถุนายน 2562
- Tweet
- บทนำ
- เทดูกลูไทด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- เทดูกลูไทด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เทดูกลูไทด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เทดูกลูไทด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมฉีดยาควรทำอย่างไร?
- เทดูกลูไทด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เทดูกลูไทด์อย่างไร?
- เทดูกลูไทด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเทดูกลูไทด์อย่างไร?
- เทดูกลูไทด์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินอาหาร (Digestive disease)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบทางเดินอาหาร (Anatomy and physiology of alimentary system)
- มะเร็งลำไส้เล็ก (Small intestine cancer)
- โรคโครห์น (Crohn’s disease)
- ลำไส้เล็กอักเสบ (Enteritis)
- เบกซาโรทีน (Bexarotene)
บทนำ
ยาเทดูกลูไทด์(Teduglutide) เป็นยาที่ใช้รักษากลุ่มอาการลำไส้สั้น(Short bowel syndrome) ซึ่งกลุ่มอาการนี้อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ป่วยด้วยมะเร็งลำไส้เล็ก, การบิดตัวของลำไส้เล็กที่ผิดรูปร่าง, การได้รับบาดเจ็บบริเวณลำไส้เล็ก, รวมถึงโรคลำไส้เล็กอักเสบที่เรียกว่า โรคโครห์น(Crohn’s disease), ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวมีโอกาสที่จะต้องเข้ารับการผ่าตัดลำไส้เล็ก ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดกลุ่มอาการลำไส้สั้นตามมา
ผู้ป่วยกลุ่มอาการลำไส้สั้นนี้ จะมีอาการเรื้อรังได้แก่ ปวดท้อง, ท้องเสีย , อุจจาระมีลักษณะมันหรือมีเศษอาหารปนออกมา, ร่างกายขาดน้ำ/ภาวะขาดน้ำ, น้ำหนักตัวลดลง, ร่างกายขาดสารอาหารโดยเฉพาะกลุ่มวิตามินและเกลือแร่,
ยาเทดูกลูไทด์ เป็นยาที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมโดยใช้แบคทีเรียชนิดEscherichia coli เป็นตัวผลิต โครงสร้างของยานี้จะประกอบไปด้วยกรดอะมิโนถึง 33 ชนิด และมีความคล้ายคลึงกับโปรตีนที่ผลิตจากผนังลำไส้เล็ก นักวิทยาศาสตร์เรียกโปรตีนนี้ว่า ‘Glucagon like peptide2 ย่อว่า GLP2’ ตัวยานี้จะกระตุ้นให้เกิดการไหลเวียนของเลือดที่มาหล่อเลี้ยงสำไส้ ช่วยยับยั้งการหลั่งกรดของกระเพาะอาหาร ส่งผลให้ผู้ป่วยด้วยกลุ่มอาการลำไส้สั้นมีอาการดีขึ้น
รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาเทดูกลูไทด์ เป็นแบบยาฉีดชนิดผง ที่ต้องละลายใน น้ำกลั่น และใช้ฉีดเข้าใต้ผิวหนังวันละ1ครั้ง ตัวยาในกระแสเลือดจะถูกกำจัดทิ้งออกจากร่างกายโดยผ่านไปทางไตโดยใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำหลังได้รับยานี้
ในต่างประเทศ จำหน่ายยาตัวนี้ภายใต้ชื่อการค้าว่า Gattex หรือ Revestive แต่ยังไม่มีการนำมาใช้ในประเทศไทย
เทดูกลูไทด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
เทดูกลูไทด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ คือ
- เป็นยาบำบัดกลุ่มอาการลำไส้สั้น (Short bowel syndrome)
เทดูกลูไทด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาเทดูกลูไท คือ ตัวยามีโครงสร้างคล้ายกับสายโปรตีนในลำไส้เล็ก หรือที่เรียกย่อๆว่า GLP2 ตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับ(Receptor)ที่ผนังลำไส้เล็ก (Distal intestine) ส่งผลกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนมาเลี้ยงลำไส้เล็กได้ดีขึ้น ลดการหลั่งกรดจากกระเพาะอาหาร และยังช่วยชะลอการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ นอกจากนี้ ยาเทดูกลูไทด์ยังมีคุณสมบัติบำรุงเยื่อเมือกของผนังลำไส้ให้คงสภาพได้ดีขึ้น จากกลไกเหล่านี้ส่งผลช่วยลดอาการปวดท้อง และทำให้ลำไส้เล็กมีเวลาดูดซึมสารอาหารและน้ำเข้าไปหล่อเลี้ยงร่างกายได้ยาวนานขึ้น เป็นผลให้อาการป่วยด้วยลำไส้สั้นดีขึ้นตามลำดับ
เทดูกลูไทด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
รูปแบบการจัดจำหน่ายของยาเทดูกลูไทด์ ได้แก่
- ยาฉีด ประเภทผงปราศจากเชื้อ ที่ประกอบด้วย Teduglutide ขนาด 5 มิลลิกรัม/ขวด(Vial)
เทดูกลูไทด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาเทดูกลูไทด์มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
- ผู้ใหญ่: ละลายยาเข้ากับน้ำกลั่น แล้วฉีดเข้าใต้ผิวหนังบริเวณ ต้นขา หรือ แขน หรือบริเวณท้อง ของผู้ป่วย ขนาด 0.05 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ1ครั้ง
- เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดใน ประสิทธิผลการรักษา, ผลข้างเคียง, และขนาดยานี้ในเด็ก
อนึ่ง:
- ห้ามให้ยานี้กับผู้ป่วยเกินวันละ 1 ครั้ง
- ควรเปลี่ยนบริเวณผิวหนังที่ฉีดยาตามความเหมาะสม ไม่ฉีดยาซ้ำที่เดิม
- ห้ามฉีดยานี้ เข้ากระแสเลือด หรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ให้ฉีดเข้าใต้ผิวหนังเท่านั้น
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเทดูกลูไทด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคถุงน้ำดีอักเสบ โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคมะเร็งลำไส้เล็ก, รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเทดูกลูไทด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมฉีดยาควรทำอย่างไร?
กรณีลืมฉีดยาเทดูกลูไทด์ สามารถฉีดยาทันทีที่นึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการฉีดยาในครั้งถัดไป ห้ามเพิ่มขนาดการฉีดยาเป็น 2 เท่า ให้ฉีดยาที่ขนาดปกติเท่านั้น
เทดูกลูไทด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเทดูกลูไทด์ สามารถก่อให้เกิด ผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ มีอาการ แน่นท้อง อาเจียน ตับอ่อนอักเสบ
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน อาจพบเลือดออกในสมอง/เลือดออกในกะโหลกศีรษะ มีไข้
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ
- ผลต่อถุงน้ำดี: เช่น ถุงน้ำดีอักเสบ
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น วิตกกังวล นอนไม่หลับ
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ, หายใจขัด
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เจ็บบริเวณที่ฉีดยา, เลือดออกใต้ผิวหนัง
- ผลต่อหัวใจ: เช่น หัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นผิดปกติ มือ-เท้าบวม
- ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น อาจมีอาการอยากอาหาร หรือไม่ก็เบื่ออาหาร, มีสารน้ำ/ของเหลวในร่างกายเพิ่มขึ้น (Fluid overload)
มีข้อควรระวังการใช้เทดูกลูไทด์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเทดูกลูไทด์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- การใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก ต้องเป็นไปตาม คำสั่งแพทย์เท่านั้น
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยด้วย โรคมะเร็งลำไส้เล็ก , ผู้ที่มีสภาวะลำไส้เล็กอุดตัน/ลำไส้อุดตัน, ผู้ป่วยด้วยภาวะถุงน้ำดีอักเสบ, ฯลฯ
- ยานี้สามารถเพิ่มการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายเมื่อใช้ร่วมกับตัวยาชนิดอื่น การใช้ยาใดๆร่วมกับยาเทดูกลูไทด์ จึงต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์แต่ผู้เดียว
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล อย่างเคร่งครัด และควรมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเทดูกลูไทด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
เทดูกลูไทด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเทดูกลูไทด์ มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาเทดูกลูไทด์ร่วมกับ ยา Bexarotene เพราะจะเกิดความเสี่ยงต่อภาวะตับอ่อนอักเสบได้มากยิ่งขึ้น
ควรเก็บรักษาเทดูกลูไทด์อย่างไร?
ควรเก็บรักษายาเทดูกลูไทด์ เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส(Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาที่หมดอายุ
- ไม่ทิ้งยาลงในแม่น้ำคูคลองตามธรรมชาติ
เทดูกลูไทด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเทดูกลูไทด์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Gattex (แกตเท็กซ์) | Hospira, Inc. |
Revestive (รีเวสทีฟ) | Shire Pharmaceuticals Ireland Limited |
บรรณานุกรม
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2012/203441Orig1s000lbl.pdf[2019, May18]
- https://ec.europa.eu/health/documents/community-register/2017/20171019139266/anx_139266_en.pdf [2019, May18]
- https://www.drugbank.ca/drugs/DB08900[2019, May18]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Short_bowel_syndrome#Causes[2019, May18]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Glucagon-like_peptide-2[2019, May18]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/bexarotene-with-teduglutide-378-0-3436-0.html[2019, May18]