เทกาเฟอร์-ยูราซิล (Tegafur-Uracil)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคมะเร็งเป็นโรคที่เกิดขึ้นจากการเพิ่มจำนวนของเซลล์ในร่างกายอย่างผิดปกติจนทำให้ส่งผลกระทบ/ความผิดปกติต่อการทำหน้าที่ของอวัยวะต่างๆในร่างกาย ซึ่งในการเพิ่มจำนวนเซลล์นั้นจำเป็นต้องมีการจำลองสารพันธุกรรมดีเอ็นเอ (DNA) และอาร์เอ็นเอ (RNA) ก่อนจึงจะมีการแบ่งตัวของเซลล์ตามมา

หนึ่งในแนวทางการพัฒนายารักษามะเร็งคือ การยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็งในขั้นตอนการจำลองดีเอ็นเอ (DNA) หรืออาร์เอ็นเอ (RNA) โดยมีการใช้ยาฟลูออโรยูราซิล (Fluorou racil อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ยา Fluorouracil) ในการรักษามะเร็งบางชนิด แต่ทว่ายา Fluorouracil ดังกล่าวเป็นยาฉีดทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับความสะดวกในการใช้ยานี้เนื่องจากต้องมารับยาที่สถานพยาบาล ทางการแพทย์จึงได้มีการพัฒนายา Fluorouracil ในรูปแบบแคปซูลรับประทานขึ้นคือ “ยาเทกาเฟอร์ (Tegafur)” ซึ่งในตัวยา Tegafur จะมีส่วนผสมร่วมกับ “ยายูราซิล (Uracil)” ที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพของยาเทกาเฟอร์ด้วยการแย่งเข้าจับกับเอนไซม์ที่ทำการเมทาบอไลต์ (Metabolite)/การเปลี่ยนรูปและกำจัดตัวยาเทกาเฟอร์ออกนอกร่างกาย จึงช่วยทำให้ยาเทกาเฟอร์สามารถอยู่ในร่างกายได้นานขึ้น โดยเรียกชื่อยาร่วมทั้ง 2 ชนิดนี้ว่า “เทกาเฟอร์-ยูราซิล (Tegafur-Uracil)” แต่มักนิยมเรียกสั้นๆว่ายา “เทกาเฟอร์ (Tegafur)” ทั้งนี้อีกชื่อหนึ่งของยาเทกาเฟอร์-ยูราซิลคือยา “ยูเอฟที (UFT; Uracil + f torafur)”

ปัจจุบันยาเทกาเฟอร์-ยูราซิลเป็นยาควบคุมพิเศษตามกฎหมายยาของไทยที่ต้องใช้ในความดูแลของแพทย์เฉพาะทางอย่างเคร่งครัด

อนึ่งตัวยาเทกาเฟอร์ (Tegafur) เป็นโปรดรัก (Prodrug)/ยาที่อยู่ในรูปยังไม่แสดงฤทธิ์การรักษาต่อเมื่อผ่านการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารแล้วจึงจะเปลี่ยนไปเป็นยาฟลูออโรยูราซิล (Fluorouracil) ที่ออกฤทธิ์ทางการรักษามะเร็ง

ยาเทกาเฟอร์-ยูราซิลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

เทกาเฟอร์-ยูราซิล-01

ยาเทกาเฟอร์-ยูราซิลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้รักษาได้แก่

  • ก. โรคมะเร็งเต้านม
  • ข. โรคมะเร็งในระบบทางเดินอาหารเช่น โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Collon Cancer) และมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนลำไส้ตรง (Rectal Cancer)

ยาเทกาเฟอร์-ยูราซิลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธ์ของยาเทกาเฟอร์-ยูราซิลคือ

สารพันธุกรรม/สารรหัสพันธุกรรมดีเอ็นเอ (DNA) และอาร์เอ็นเอ (RNA) เป็นสารที่มีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตและเป็นตัวกำหนดหน้าที่การทำงานของเซลล์ โดยมีโครงสร้างพื้นฐานเรียกว่า “นิวคลีโอไทด์ (Nucleotide)” ซึ่งประกอบไปด้วยสารอินทรีย์ชนิดต่างๆที่เข้ารวมกันแล้วเกิดเป็น “กรดนิวคลิอิก (Nucleic Acid)” เพื่อประกอบร่วมกันเป็นสารพันธุกรรมดีเอ็นเอและอาร์เอ็นเอ

ในการแบ่งตัวของเซลล์ในร่างกายต้องมีการจำลองสารรหัสพันธุกรรมดีเอ็นเอและอาร์เอ็นเอขึ้นก่อน โดยจะมีการสร้างอาร์เอ็นเอก่อนแล้วจึงจะเกิดการจำลองสร้างดีเอ็นเอต่อจากสร้างอาร์เอ็นเอ เซลล์มะเร็งก็มีกลไกการแบ่งเพิ่มจำนวนเซลล์เช่นเดียวกับเซลล์ปกติของร่างกายแต่เป็นไปด้วยความรวดเร็วกว่า

ตัวยาเทกาเฟอร์เป็นโปรดรัก (Prodrug)/ยาที่อยู่ในรูปไม่แสดงฤทธิ์ เมื่อผ่านการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะเปลี่ยนรูปเป็นยาฟลูออโรยูราซิล (Fluorouracil; 5FU) ก่อนเปลี่ยนรูปอีกครั้งเป็นสารฟลูออโรดีออกซียูรีดีนโมโนฟอสเฟต (Fluorodeoxyuridine Mono phosphate; FdUMP) และสารฟลูออโรดีออกซียูริดีนไทรฟอสเฟต (Fluorodeoxyuridinetrio phosphate; FUTP)

FdUMP มีบทบาทยับยั้งการสร้างดีเอ็นเอด้วยการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทมิดีเลต ซินเทส (Thymidylate Syntase) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ใช้สร้างสารไทมิดีน (Thymidine) ที่เป็นสารโครงสร้างพื้นฐานของดีเอ็นเอ ยาฟลูออโรยูราซิลจึงทำให้เซลล์มะเร็งไม่สามารถสร้างดีเอ็นเอที่สมบูรณ์ได้ เซลล์มะเร็งจึงตายลงในที่สุด

อนึ่งในขั้นตอนการใช้ยาเทกาเฟอร์-ยูราซิลนี้ หากผู้ป่วยได้รับยาอีกชนิดเพิ่มร่วมด้วยคือ “ยาแคลเซียมโฟลิเนต” (Calcium Folinate/ยาเสริมการรักษาของยาเทกาเฟอร์-ยูราซิล) ที่มีบทบาทเพิ่มสารเมธิลีนเททราไฮโดรฟอเลต (Methylene tetrahydrofolate; CH2THF) ในเซลล์มะเร็ง ซึ่ง Methylene tetrahydrofolate จะช่วยการทำงานของ FdUMP จึงยิ่งช่วยเพิ่มประสิทธิ ภาพยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง ส่งผลให้ประสิทธิภาพการรักษาด้วยยาเทกาเฟอร์-ยูราซิลสูงยิ่งขึ้น

ส่วน FUTP จะเข้าจับสารอาร์เอ็นเอและรบกวนกระบวนการทำงานของอาร์เอ็นเอทำให้ได้อาร์เอ็นเอที่ไม่สามารถทำงานได้สมบูรณ์ จึงส่งผลให้เซลล์มะเร็งแบ่งตัวเพิ่มจำนวนไม่ได้เช่นกัน

สารสำคัญทั้งสองชนิดคือ FdUMP และ FTUP จะถูกเมตาบอไลต์ (Metabolite)/เปลี่ยนรูปที่ตับและถูกกำจัดออกนอกร่างกายด้วยเอนไซม์ไดไฮโดรไพริมิดีนดีไฮโดรจิเนส (Dihydropyri midine Dehydrogenase; DPD) แต่ตัวยายูราซิลในยาเทกาเฟอร์-ยูราซิลจะแย่งเข้าจับกับเอนไซม์ DPD จึงส่งผลให้เอนไซม์ DPD ทำการเมตาบอไลต์/เปลี่ยนรูปสารสำคัญทั้ง 2 ชนิดได้ช้าลง จึ่งยิ่งช่วยให้ตัวยาเทกาเฟอร์ออกฤทธิ์ได้นานขึ้น จึงยิ่งส่งผลลดการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง ประสิทธิภาพการรักษาของยาเทกาเฟอร์-ยูราซิลจึงยิ่งเพิ่มสูงขึ้น

จากกลไกการออกฤทธิ์ของยาเทกาเฟอร์-ยูราซิลดังทีได้กล่าวมาจึงส่งผลให้ยานี้สามารถยับยั้งการเจริญเติบโต/ฆ่าเซลล์มะเร็งได้

ยาเทกาเฟอร์-ยูราซิลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเทกาเฟอร์-ยูราซิลเป็นยาในรูปแบบเภสัชภัณฑ์ยาเม็ดแคปซูลขนาดความแรง ยาเทกาเฟอร์ 100 มิลลิกรัมและยายูราซิล 224 มิลลิกรัมต่อเม็ดแคปซูล (Tegafur 100mg/Uracil 224 mg)

ยาเทกาเฟอร์-ยูราซิลมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?

ยาเทกาเฟอร์-ยูราซิลเป็นยาชนิดแคปซูลรับประทาน ขนาดการรับประทานยาจะกำหนดโดยแพทย์ผู้รักษาจากพื้นที่ผิว (Body surface area) ของผู้ป่วย ซึ่งแพทย์จะกำหนดให้ผู้ป่วยเฉพาะรายไปตามสูตรคำนวณเฉพาะจากส่วนสูงและน้ำหนักตัวของผู้ป่วย

โดยทั่วไปแบ่งให้ยาเทกาเฟอร์-ยูราซิลวันละ 3 ครั้งโดยให้รับประทานขณะท้องว่างคือประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนหรือหลังรับประทานอาหาร โดยรับประทานทั้งเม็ดแคปซูล ห้ามเปิดเปลือกแคปซูลเด็ดขาด

ควรรับประทานยานี้ติดต่อกันทุกวันเป็นเวลา 21 - 28 วันนับเป็น 1 รอบ (Course) การรักษา และหยุดยาเป็นเวลา 7 วันก่อนผู้ป่วยเริ่มรอบการรักษาใหม่

ทั้งนี้โดยทั่วไปแพทย์มักนิยมให้ใช้ยาเทกาเฟอร์-ยูราซิลร่วมกับยาแคลเซียมโฟลิเนต (Calcium Folinate หรืออีกชื่อหนึ่งว่า Leucovorin) 90 มิลลิกรัมต่อวันเพื่อเสริมประสิทธิภาพของยาเทกาเฟอร์-ยูราซิล โดยให้แบ่งรับประทานยาแคลเซียมโฟลิเนตเป็น 3 ครั้งต่อวัน ครั้งละ 30 มิลลิกรัมและสามารถรับประทานได้พร้อมกับยาเทกาเฟอร์-ยูราซิล

*****หมายเหตุ:

  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่ สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาเทกาเฟอร์-ยูราซิล ควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรเช่น

  • ประวัติการแพ้ยา แพ้อาหาร และแพ้สารเคมีทุกชนิด
  • ประวัติการใช้ยารักษาทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ซื้อทานเอง วิตามิน ผลิตภัณฑ์ เสริมอาหารและสมุนไพร โดยเฉพาะยาบางชนิดเช่น ยาบริวูดีน (Brivudine) ที่ใช้รักษาโรคงูสวัด, ยาต้านการแข็งตัวของเลือดเช่น ยาวาร์ฟาริน (Warfarin), ยาต้านชัก/ยากันชักเช่น ยาฟีไนทอยด์ (Phenytoin), ยาฆ่าเชื้อรา/ยาต้านเชื้อราเช่น ยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ยาโคลไทรมาโซล (Clotrimazole) และยาไมโคนาโซล (Miconazole)
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังตั้งครรภ์ วางแผนที่จะตั้งครรภ์ หรืออยู่ในระหว่างการให้นมบุตร
  • แจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติโรคประจำตัวต่างๆหรือโรคที่เคยเป็น โดยเฉพาะโรคตับ โรคไต โรคหัวใจ และลำไส้อุดตัน

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเทกาเฟอร์-ยูราซิล ให้ข้ามไปทานยาในมื้อยาถัดไปตามปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า และเมื่อพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงมื้อยาที่ผู้ป่วยลืมรับประทาน

ยาเทกาเฟอร์-ยูราซิลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเทกาเฟอร์-ยูราซิลอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการไม่พึงประสงค์/ อาการข้างเคียง) เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย มีแผลในช่องปาก อ่อนเพลีย มีการรับรู้ความรู้สึกผิดปกติ ง่วงซึม ข้อเท้าบวม น้ำหนักตัวลด ปวดเมื่อยตามข้อและกล้ามเนื้อ ท้องผูกหรือท้องเสีย อาหารไม่ย่อย ปากแห้ง ผมร่วง เกิดผื่นคัน ผิวหนังไวต่อแสงแดดมากกว่าปกติ ผิวหนังมีสีคล้ำขึ้น ซึ่งหากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้นหรือมีอาการแย่ลง ผู้ป่วยควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบ/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด

ยาเทกาเฟอร์-ยูราซิลอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงเช่น เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย อย่างรุนแรง มีอาการเหมือนเกิดการติดเชื้อเช่น มีไข้ เจ็บคอ มีจ้ำ/ห้อเลือดขึ้นตามตัว ปัสสาวะเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะขัดหรือไม่สามารถปัสสาวะโดยสะดวก อุจจาระเป็นสีดำเข้มเหนียวหรือมีเลือดปน/อุจจาระเป็นเลือด ท้องเสียอย่างต่อเนื่องหรือเกิดขึ้นหลัง จากเริ่มรับประทานยาไปไม่นาน รวมไปถึงอาการแพ้ยานี้เช่น เกิดผื่นคันขึ้นตามตัว ริมฝีปาก/เปลือกตา/ใบหน้าบวม หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก ให้รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน

อย่างไรก็ดีผู้ป่วยควรตระหนักว่า การที่แพทย์สั่งใช้ยานี้เนื่องจากแพทย์พิจารณาแล้วเห็นว่า ยานี้จะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากกว่าโทษหรือมากกว่าการได้รับผลข้างเคียงจากยา ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้ส่วนมากมีพบว่าเกิดอาการไม่พีงประสงค์ชนิดรุนแรง ผู้ป่วยจึงควรเฝ้าระวังผลข้างเคียงดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นและรีบแจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบ/ไปโรงพยาบาลหากเกิดอาการรุนแรงดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

มีข้อควรระวังการใช้ยาเทกาเฟอร์-ยูราซิลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเทกาเฟอร์-ยูราซิลเช่น

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้ในสตรีตั้งครรภ์หรือที่วางแผนที่จะตั้งครรภ์ เนื่องจากยานี้จะก่อให้เกิดอันตรายแก่ทารกในครรภ์ได้ ผู้ป่วยทั้งชายและหญิงที่ใช้ยานี้ควรคุมกำเนิดระหว่างการใช้ยานี้และหลังจากใช้ยานี้ไปแล้วอย่างน้อย 3 เดือนเนื่องจากยานี้อาจถูกขับออกทางอสุจิได้ ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสม
  • ห้ามใช้ยานี้ในสตรีที่อยู่ระหว่างการให้นมบุตรเนื่องจากยานี้สามารถขับออกทางน้ำนมได้
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ที่เป็นโรคตับขั้นรุนแรง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่เคยได้รับยาเคมีบำบัดชนิดอื่นหรือการรักษาด้วยรังสีรักษาแล้วพบว่าเกิดภาวะกดการทำงานของไขกระดูก (Bone Marrow Suppression)
  • เอนไซม์ไดไฮโดรไพริมิดีนดีไฮโดรจิเนส (Dihydropyrimidine Dehydrogenase; DPD) มีความสำคัญในฐานะที่ช่วยเมทาบอไลต์ (Metabolite)/การเปลี่ยนรูปและกำจัดยาเทกาเฟอร์-ยูราซิลออกจากร่างกาย หากเคยมีประวัติว่ามี DPD ต่ำกว่าปกติ ควรแจ้งให้แพทย์/เภสัชกร ทราบเนื่องจากผู้ป่วยอาจเกิดการสะสมของยาเทกาเฟอร์-ยูราซิลในร่างกายและมีโอกาสได้รับผลข้างเคียงที่รุนแรงจากยานี้มากกว่าคนปกติ
  • ระมัดระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีประวัติโรคไต โรคหัวใจ ลำไส้อุดตัน และผู้สูงอายุ
  • ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบ/ไปโรงพยาบาลทันทีหากเกิดอาการท้องเสียอย่างรุนแรงหลังเริ่มใช้ยาเทกาเฟอร์-ยูราซิลไปแล้วเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ
  • ยานี้อาจทำให้เกิดอาการสับสนในผู้ป่วยบางราย ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะรวมไปถึงการทำงานที่มีความเสี่ยงในการเกิดอันตรายหรืองานที่ต้องทำงานเกี่ยวกับเครื่อง จักรในระหว่างการใช้ยานี้ จนกว่าจะพบว่าไม่มีผลข้างเคียงดังกล่าวจากยานี้ หรืออาจสอบถามจากแพทย์ถึงความพร้อมของผู้ป่วยในการปฏิบัติกิจกรรมข้างต้น
  • ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจเลือด CBC และตรวจเลือดดูการทำงานของตับและไตอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุก ชนิด (รวมยาเทกาเฟอร์-ยูราซิล) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาเทกาเฟอร์-ยูราซิลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเทกาเฟอร์-ยูราซิลอาจมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชนิดอื่นเช่น

ก. ห้ามใช้ยาเทกาเฟอร์-ยูราซิลร่วมกับยาบริวูดีน (Brivudine) ซึ่งเป็นยารักษาโรคงูสวัด เนื่องจากยาบริวูดีนจะไปยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไดไฮโดรไพริมิดีนดีไฮโดรจิเนส (Dihydro pyrimidine Dehydrogenase; DPD) ทำให้เกิดการสะสมของยาเทกาเฟอร์-ยูราซิลในร่างกาย ผู้ป่วยจะมีความเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงจากยาเทกาเฟอร์-ยูราซิลมากขึ้น

ผู้ป่วยที่ได้รับยาเทกาเฟอร์-ยูราซิลควรหลีกเลี่ยงการรับวัคซีนเชื้อเป็น (Live Vaccines/วัคซีนที่ประกอบไปด้วยเชื้อโรคชนิดที่ยังมีชีวิตแต่อ่อนแรงจนไม่ก่อโรคในคนปกติทั่วไป) เนื่องจากผู้ป่วยที่ได้รับยาเทกาเฟอร์-ยูราซิลอาจมีความเสี่ยงในการติดเชื้อจากวัคซีนนั้นได้ เนื่องจากยาเทกาเฟอร์-ยูราซิลจะกดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของผู้ป่วยให้ต่ำกว่าคนปกติ

นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเทกาเฟอร์-ยูราซิลร่วมกับยากดภูมิคุ้มกันฯและยาโคลซาพีน (Clozapine) ยารักษาทางจิตเวชเนื่องจากอาจทำให้ระดับเม็ดเลือดต่ำลง

ข. ยาเทกาเฟอร์-ยูราซิลอาจมีความเข้มข้นในเลือดลดลงหรือประสิทธิภาพลดลง เมื่อใช้ร่วมกับยาบางชนิด แพทย์อาจต้องประเมินประสิทธิภาพการรักษาของยานี้เป็นกรณีๆไปเมื่อใช้ร่วมกับยาอื่นๆดังต่อไปนี้เช่น

  • ยารักษาโรคเกาต์: เช่น ยาแอลโลพูรินอล (Allopurinol)
  • ยารักษาวัณโรค: เช่น ยาไอโซไนอะซิด (Isoniazid)
  • ยาฆ่าเชื้อรา/ยาต้านเชื้อรา: เช่น ยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole)
  • ยารักษามะเร็งเต้านม: เช่น ยาเลโทรโซล (Letrozole)

ค. ยาเทกาเฟอร์-ยูราซิลอาจมีความเข้มข้นในเลือดสูงขึ้นเมื่อใช้ร่วมกับยาบางชนิด ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาเทกาเฟอร์-ยูราซิลมากขึ้น แพทย์จึงจะเฝ้าระวังผลข้างเคียงจากยาเทกาเฟอร์-ยูราซิลมากขึ้นหากผู้ป่วยใช้ร่วมกับยาอื่นๆดังต่อไปนี้เช่น

  • ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร: เช่น ยาไซเมทิดีน (Cemetidine)
  • ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย: เช่น ยาเมโทรนิดาโซล (Metronidazole)

ง. ยาบางชนิดเมื่อใช้ร่วมกับยาเทกาเฟอร์-ยูราซิลแล้วอาจทำให้ความเข้มข้นของยาเหล่านั้นในเลือดสูงขึ้น แพทย์อาจต้องเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์จากยาเหล่านั้นหรืออาจต้องมีการปรับขนาดยาทั้งนี้ขึ้นกับดุลยวินิจของแพทย์ ซึ่งยาอื่นๆเหล่านั้นเช่น

  • ยาต้านชัก/ยากันชัก: ยาฟอสฟีไนทอยด์ (Fosphenytoin) และยาฟีไนทอยด์ (Phenytoin)
  • ยาต้านการแข็งตัวของเลือด: เช่น ยาวาร์ฟาริน (Warfarin)
  • ยารักษาโรคมะเร็ง/ยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค: เช่น ยาเมโธรเทรกเซต (Methotrexate)
  • อนุพันธุ์กรดโฟลิก (Folic acid): เช่น ยาลิวโคโวริน (Leucovorin)

ควรเก็บรักษายาเทกาเฟอร์-ยูราซิลอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาเทกาเฟอร์-ยูราซิลดังนี้เช่น

  • เก็บยาในภาชนะบรรจุดั้งเดิมของบริษัท ปิดฝาให้สนิท
  • เก็บยาในที่แห้ง อุณหภูมิห้องไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่อง แช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาให้พ่นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • หากครบกำหนดการรักษาหรือแพทย์สั่งให้หยุดยานี้แล้วปรากฏว่ายังมียานี้เหลืออยู่ ผู้ป่วยไม่ควรทิ้งยาลงในถังขยะทั่วไป ควรสอบถามเภสัชกรของโรงพยาบาลหรือของสถานพยาบาลที่ทำการรักษาอยู่ว่ามีนโยบายการกำจัดยานี้อย่างไรหรือนำยาที่เหลือมอบคืนแพทย์ผู้รักษา

ยาเทกาเฟอร์-ยูราซิลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเทกาเฟอร์-ยูราซิลมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ยูเอฟที (UFT, Uracil + f torafur) หรือ ยูเฟอร์ (UFUR/ยาชื่อการค้า) มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตในประเทศไทยดังต่อไปนี้

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
ยูเฟอร์ (UFUR) บริษัท อเมริกัน ไต้หวัน ไบโอฟาร์ม จำกัด

บรรณานุกรม

  1. Tegafur-uracil. National Cancer Institute. http://www.cancer.gov/publications/dictionaries/cancer-drug?cdrid=461135 [2016,April23]
  2. Wellington K, Goa KL. Oral tegafur/uracil. Drugs Aging. 2001;18(12):935-48; discussion 949-50.
  3. Macmillan Cancer Support. Tegafur-uracil (Ultoral). http://www.nhs.uk/ipgmedia/national/macmillan%20cancer%20support/assets/tegafur-uracil(cb).pdf [2016,April23]
  4. NHS England. UFToral (Tegafer/Uracil) Protocol. http://www.nescn.nhs.uk/wp-content/uploads/2012/12/CR011-UFToral-CNTW-protocol-CRP09-CR011-v1.3.pdf [2016,April23]
  5. Summary of Product Characteristic. Teysuno 15mg/4.35mg/11.8mg hard capsules. Emc http://www.medicines.org.uk/emc/medicine/26160 [2016,April23]
  6. Package Leaflet. Uftoral 100 mg/224 mg hard capsules. Merck. UFT Capsules. http://www.old.health.gov.il/units/pharmacy/trufot/alonim/3994.pdf [2016,April23]
  7. UFT Capsules. http://www.old.health.gov.il/units/pharmacy/trufot/alonim/3994.pdf [2016,April23]
  8. U.S. FDA Product Overview. Tegafur-uracil capsules . http://www.fda.gov/downloads/Drugs/GuidanceComplianceRegulatoryInformation/EnforcementActivitiesbyFDA/WarningLettersandNoticeofViolationLetterstoPharmaceuticalCompanies/UCM166444.pdf [2016,April23]
  9. Drugbank [Online] http://www.drugbank.ca/drugs/DB09256 [2016,April23]
  10. ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา http://wwwapp1.fda.moph.go.th/consumer/conframe.asp [2016,April23]