เตตร้าไซคลีน (ตอนที่ 2)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 15 เมษายน 2560
- Tweet
พ่อแม่บางคนเป็นห่วงมาก ซื้อยาปฏิชีวนะมาให้ลูกกิน หรือเวลาไปหาหมอก็จะเจาะจงตัวยา ซึ่งบางครั้งหมอก็สั่งจ่ายให้ตามนั้น ตรงนี้เป็นปัญหามาก ที่ผ่านมาตนเคยพบเด็กอายุเพียง 6 เดือน ป่วยติดเชื้อดื้อยาทั้งๆ ที่กินเพียงนมแม่เท่านั้น เมื่อสอบประวัติพบว่าแม่มีอาชีพขายไก่ป๊อบอยู่ ดังนั้น หากจัดการอาหารไม่ดีก็จะเกิดการดื้อยาได้ ต้องระวัง
ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานวิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวว่า ประเทศไทยเคยมีรายงานวิจัยพบคนไทยติดเชื้อดื้อยาประมาณ 88,000 คน เสียชีวิต 20,000 - 38,000 คนต่อปี ส่งผลให้มีความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 46,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ มีสาเหตุมาจากการใช้ยาไม่สมเหตุผล อย่างในต่างจังหวัดมีการศึกษาพบพฤติกรรมใช้ยาตามเพื่อนบอก ตัวไหนดีก็ใช้ตาม แล้วก็ใช้ไม่ครบโดส ใช้ซ้ำๆ บางคนใช้โรยแผล ซึ่งไม่ถูกต้อง ดังนั้น ต้องย้ำเตือน และเฝ้าระวังอย่าใช้ยาเกิน ใช้ไม่สมเหตุผล
โดยเฉพาะกรณีป่วยไข้หวัด ท้องเสียนั้นไม่ควรใช้ เพราะกว่าร้อยละ 80 เกิดจากเชื้อไวรัสใช้ยาปฏิชีวนะไม่ได้ผล รวมถึงแผลสดก็ไม่ควรใช้ นอกจากนี้ ต้องเฝ้าระวังการดื้อยาในโรงพยาบาล เฝ้าระวังเรื่องการกระจ่ายยาตั้งแต่การนำเข้า ผลิต จนถึงมือเกษตรกรและผู้บริโภค
เตตร้าซัยคลิน (Tetracycline) เป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการรักษาการติดเชื้ออย่างกว้างขวาง เช่น การติดเชื้อทางเดินหายใจ การรักษาสิว ฯลฯ เป็นยาที่ใช้หยุดการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น ไม่สามารถใช้ในกรณีการติดเชื้อไวรัส เช่น หวัด นอกจากนี้ยังมีการใช้ร่วมกับยาอื่นในการรักษาการอักเสบของโรคกระเพาะบางชนิด (Helicobacter pylori)
เตตร้าซัยคลินมีจำหน่ายในรูปของเม็ด (Capsule) และยาน้ำแขวนตะกอน (Suspension) กินวันละ 2-4 ครั้ง เตตร้าซัยคลินจะทำงานได้ดีเมื่อกินตอนท้องว่าง กล่าวคือ 1 ชั่วโมงก่อนอาหารหรือ 2 ชั่วโมงหลังอาหาร แต่ไม่ควรกินยานี้แล้วล้มตัวลงนอน
ทั้งไม่ควรกินเตตร้าซัยคลินพร้อมอาหาร โดยเฉพาะกับผลิตภัณฑ์นม เช่น นม โยเกิรต์ เนย และไอศครีม ควรกินยานี้ให้ห่างจากยาที่มีส่วนประกอบของแมกนีเซียม อลูมิเนียม หรือ แคลเซียม 2-3 ชั่วโมง (เช่น ยาลดกรด อาหารเสริมวิตามิน) เพราะสิ่งเหล่านี้จะไปขัดขวางการดูดซึมของเตตร้าซัยคลิน ทำให้ยาออกฤทธิ์ไม่เต็มที่
เนื่องจากยาปฏิชีวนะจะทำงานได้ดีเมื่อมีปริมาณของตัวยาในระดับคงที่ ดังนั้นจึงควรกินยานี้ในระยะเวลาที่ห่างกันสม่ำเสมอ และควรกินยาให้ครบโด้ส (Dose) ถึงแม้อาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม เพราะการหยุดยาเร็วเกินไปจะทำให้แบคทีเรียเจริญเติบโตต่อไปได้ ทำให้ติดเชื้ออีก
กรณีลืมกินยาให้รีบกินยาทันทีที่นึกได้ แต่ถ้าใกล้กับเวลากินยาครั้งต่อไป ให้ข้ามไปกินยาครั้งต่อไปเลย ห้ามกินยาเพิ่มเป็น 2 เท่า
แหล่งข้อมูล
1. พบยาปฏิชีวนะใน “แซนด์วิชไก่อบ” ห่วงใช้ยาฆ่าเชื้อเลี้ยงสัตว์ เพิ่มโอกาสเชื้อดื้อยา. http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9590000114708 [2017, April 14].
2. Tetracycline. http://www.webmd.com/drugs/2/drug-5919-73/tetracycline-oral/tetracycline---oral/details [2017, April 14].
3. Tetracycline. https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a682098.html [2017, April 14].