เตตราเบนาซีน (Tetrabenazine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเตตราเบนาซีน(Tetrabenazine) เป็นยาที่นำมารักษา “โรคฮันติงตัน(Huntington's disease)” หรือที่เรียกว่า “โรคฮันติงตัน โคเรีย(Huntington's chorea)” เป็นโรคทางพันธุกรรมที่พบได้น้อยมาก โดยผู้ป่วยจะมีความผิดปกติจากเซลล์สมองตายส่งผลให้มีอาการทางอารมณ์และจิตใจผิดปกติ อีกทั้งทำให้การประสานงานและการเคลื่อนไหวของร่างกายผิดปกติ พัฒนาการของโรคนี้จะทำให้ความสามารถทางกายภาพของผู้ป่วยถดถอยและเกิดภาวะสมองเสื่อมในที่สุด โรคนี้สามารถพบได้ระหว่างอายุ 30 ถึง 50 ปี นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ายาเตตราเบนาซีนจะทำให้ปริมาณสารสื่อประสาทประเภทโมโนเอมีน (Monoamine, สารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องในการทำงานของสมอง เช่น การรับรู้ อารมณ์ การตื่นตัว และความจำ)มีปริมาณลดลงและส่งผลให้อาการป่วยดีขึ้น รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาเตตราเบนาซีนคือยารับประทาน ตัวยาในร่างกายจะถูกทำลายโดยตับ และถูกขับทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

อนึ่ง มีผู้ป่วยบางกลุ่มที่ถูกจำกัดและห้ามใช้ยาเตตราเบนาซีน อาทิ

  • ผู้ป่วยที่มีประวัติชอบทำร้ายตนเอง ผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าที่ยังรักษาไม่ได้ อาการป่วยดังกล่าวจะรุนแรงมากขึ้นหากได้รับยาเตตราเบนาซีน
  • ผู้ที่มีสภาวะตับทำงานลดลง การใช้ยาเตตราเบนาซีนกับผู้ป่วยกลุ่มนี้จะทำให้ตัวยาเตตราเบนาซีนสะสมในร่างกายได้นานมากขึ้นจนเป็นเหตุให้ได้รับอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)จากยานี้ที่สูงขึ้นตามมา
  • ผลข้างเคียงประการหนึ่งของยานี้ คือ ทำให้ความดันโลหิตต่ำ จึงถือเป็นเหตุผลห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มี โรคหัวใจ ชนิดที่มีหัวใจเต้นผิดปกติ
  • ยาบางประเภทที่ใช้ร่วมกับยาเตตราเบนาซีนสามารถส่งผลกระตุ้นให้หัวใจเต้นผิดปกติจึงถือเป็นข้อห้ามใช้ยาร่วมกัน ยากลุ่มดังกล่าว เช่นยา Moxifloxacin, Amiodarone, Sotalol, Quinidine, Procainamide, Chlorpromazine, Thioridazine, Ziprasidone
  • ผู้ที่ได้รับยากลุ่ม MAOI (อย่างเช่นยา Phenelzine) จะทำให้ลดประสิทธิภาพการรักษาขอยาเตตราเบนาซีน, หรือ การใช้ยา Reserpine จะเป็นกลุ่มยาที่สนับสนุนให้เกิดอาการข้างเคียงจากยาเตตราเบนาซีนได้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้การจะใช้ยาเตตราเบนาซีน ต้องเว้นระยะเวลาและหยุดใช้ยา MAOI และ Reserpine ไปแล้วอย่างน้อย 20 วัน
  • สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร ล้วนเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการใช้ยาหลายประเภทที่จะเกิดผลข้างเคียงจากยาที่รุนแรง ซึ่งรวมถึงยาเตตราเบนาซีน การจะใช้ยาเตตราเบนาซีนกับผู้ป่วยกลุ่มนี้หรือไม่นั้น ขึงต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์แต่ผู้เดียว
  • ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้ ห้ามปรับขนาดรับประทานยาเพิ่มขึ้นด้วยตนเอง และมีรายงานทางคลินิกพบว่า การใช้ยานี้เป็นเวลานานๆสามารถส่งผลต่อการเคลื่อนไหวผิดปกติของกล้ามเนื้อร่างกาย กรณีเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ ควรต้องรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
  • การใช้ยานี้ ต้องอาศัยความต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง หากหยุดใช้ยานี้กะทันหัน จะทำให้เกิดความผิดปกติของการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายภายใน 12–18 ชั่วโมง หลังหยุดรับประทานยา

ผู้ป่วยที่ใช้ยาเตตราเบนาซีนเป็นประจำ ต้องมาพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตรวจการทำงานของตับและหัวใจว่า เกิดความผิดปกติหรือไม่

*กรณีมีข้อผิดพลาดจากการรับประทานทำให้ผู้ป่วยได้รับยาเตตราเบนาซีนเกินขนาด จะพบอาการการทำงานของกล้ามเนื้อร่างกายผิดปกติ รู้สึกสับสน ท้องเสีย ประสาทหลอน ผิวหนังมีสีแดง ง่วงนอน หรือวิงเวียน อย่างรุนแรง เหงื่อออกมาก และมีอาการตัวสั่น หากพบเห็นผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

ทั้งนี้ ในตลาดยาแผนปัจจุบัน เราจะพบเห็นการจัดจำหน่ายยาเตตราเบนาซีนภายใต้ชื่อการค้าว่า Xenazine และ Nitoman

เตตราเบนาซีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เตตราเบนาซีน

ยาเตตราเบนาซีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดรักษาโรคฮันติงตัน (Huntington’s disease)

เตตราเบนาซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเตตราเบนาซีน มีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะลดปริมาณสารสื่อประสาทในสมองประเภท Monoamine เช่น Dopamine, Serotonin, Norepinephrine, ส่งผลทำให้ร่างกายสามารถรักษาสมดุลการเคลื่อนไหวได้ใกล้เคียงปกติ และเป็นเหตุให้เกิดฤทธิ์การรักษาได้ตามสรรพคุณ

เตตราเบนาซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเตตราเบนาซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่มีส่วนประกอบ Tetrabenazine 12.5 และ 25 มิลลิกรัม/เม็ด

เตตราเบนาซีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเตตราเบนาซีน มีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานยา 12.5 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง ก่อนหรือหลังอาหารเช้าแพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเพิ่มอีก 12.5–25 มิลลิกรัม โดยแบ่งรับประทาน เป็น 3 ครั้ง/วัน ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 200 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็ก: การใช้ยานี้ในเด็กอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป

อนึ่ง:

  • การปรับขนาดรับประทานยานี้เพิ่มขึ้นหรือลดลง ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์
  • ห้ามหยุดใช้ยานี้โดยกะทันหันด้วยจะทำให้เกิดภาวะถอนยาตามมา

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเตตราเบนาซีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคหัวใจ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเตตราเบนาซีน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้นหรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเตตราเบนาซีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่า ให้รับประทานยาขนาดปกติ

แต่อย่างไรก็ดี การลืมรับประทานยาเตตราเบนาซีน อาจก่อให้เกิดอาการถอนยาตามมา

เตตราเบนาซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเตตราเบนาซีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องผูกหรือ ท้องเสีย
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ง่วงนอน วิงเวียน ปวดศีรษะ การทรงตัวทำได้ยาก ตัวสั่น
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะขัด
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ หายใจขัด/หายใจลำบาก ปอดบวม
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เหงื่อออกมาก เกิดผื่นคันตามผิวหนัง
  • ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น กล้ามเนื้อหดเกร็งและแข็ง
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เบื่ออาหาร
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำ
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ ซึม วิตกกังวล กระสับกระส่าย รู้สึกฉุนเฉียวง่าย
  • ผลต่อตา: เช่น ตากลัวแสง

มีข้อควรระวังการใช้เตตราเบนาซีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเตตราเบนาซีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง และให้ใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำ
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
  • ห้ามหยุดการใช้ยานี้อย่างกะทันหัน
  • กรณีที่ใช้ยานี้แล้วไม่ได้ผล ให้รีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเตตราเบนาซีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เตตราเบนาซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเตตราเบนาซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาเตตราเบนาซีนร่วมกับยา Amoxapine , Promethazine, เพราะจะทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ รวมถึงมีอาการคล้ายเป็นโรคพาร์กินสันเกิดขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเตตราเบนาซีนร่วมกับ Diphenhydramine ด้วยจะทำให้มีอาการ วิงเวียน ง่วงนอน รู้สึกสับสน ตามมา
  • ห้ามใช้ยาเตตราเบนาซีนร่วมกับยา Selegiline ด้วยจะทำให้เกิดความดันโลหิตสูงมากจนอาจเป็นอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิต
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเตตราเบนาซีนร่วมกับยา Fluphenazine ด้วยจะทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และได้รับอาการข้างเคียงจากยา Fluphenazine สูงขึ้นตามมา

ควรเก็บรักษาเตตราเบนาซีนอย่างไร?

ควรเก็บยาเตตราเบนาซีนภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

เตตราเบนาซีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเตตราเบนาซีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Nitoman (ไนโตแมน) Recipharm Fontaine
Xenazine (เซนาซีน)Prestwick Pharmaceuticals Inc

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Revocon, Tetmodis

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/cdi/tetrabenazine.html[2017,Aug19]
  2. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2008/021894lbl.pdf[2017,Aug19]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/tetrabenazine/?type=brief&mtype=generic[2017,Aug19]
  4. http://www.lundbeck.com/upload/us/files/pdf/Products/Nitoman_PIL_IE_EN.pdf[2017,Aug19]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Tetrabenazine[2017,Aug19]
  6. https://www.drugs.com/drug-interactions/tetrabenazine-index.html?filter=3&generic_only=[2017,Aug19]