เด็กไม่อยากไปโรงเรียน (School refusal)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: เรื่องทั่วไปและอัตราเกิด

แม้โรงเรียนจะเป็นที่ที่เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)ส่วนใหญ่ไปแล้วมีความสุข สนุกสนาน แต่ประมาณ 1- 2% ของเด็กจะมีปัญหาไม่อยากไปโรงเรียน พบว่าปัญหาเด็กไม่อยากไปโรงเรียนได้ซ่อนเร้นความผิดปกติไว้ (อาจมีหลายภาวะในเด็กแต่ละคน) คือ 40-50% ของเด็กกลุ่มนี้ มีภาวะความวิตกกังวลร่วมด้วย  ประมาณ 50% มีภาวะซึมเศร้า  และประมาณ 50% มีพฤติกรรมต่อต้าน

 ปัญหาเด็กไม่อยากไปโรงเรียนเป็นปัญหาของครอบครัวด้วย หากพ่อแม่ไม่เข้าใจปัญหานี้ ยอมให้เด็กขาดโรงเรียนอยู่นาน อาจทำให้เกิดผลเสียในระยะยาวต่อเด็ก รวมถึงอนาคตทางการศึกษาของเด็กอาจล้มเหลวได้

ทำไมเด็กไม่อยากไปโรงเรียน?

เด็กไม่อยากไปโรงเรียน

เด็กที่มีปัญหาไม่อยากไปโรงเรียน เกิดจากความวิตกกังวลว่าจะต้องถูกพรากจากพ่อแม่ (Separation anxiety) หรือเด็กบางคนอาจมีความกลัวอะไรบางอย่างร่วมด้วย เช่น กลัวการขึ้นรถ กลัวที่จะเดินผ่านสุนัขตามทาง หรือเด็กอาจมีปัญหาอื่นๆที่โรงเรียน เช่น อ่านหนังสือไม่ออก  เรียนไม่ทันเพื่อน  คุณครูดุ

ทั้งนี้ ในเด็กเล็ก มักเกิดจากกลัวถูกพรากจากพ่อแม่ แต่ในเด็กโต มักกลัวการเข้าสังคม(Social phobia)

 

อะไรเป็นสาเหตุให้เด็กไม่อยากไปโรงเรียน?

สาเหตุที่เด็กไม่อยากไปโรงเรียน ที่พบบ่อย คือ

  1. พ่อแม่ป่วย ซึ่งเด็กมักจะเกิดอาการไม่อยากไปโรงเรียนหลังจากนั้น
  2. พ่อแม่แยกทางกัน พ่อแม่มีปัญหากัน หรือพ่อแม่ทะเลาะกันบ่อย
  3. เมื่อมีการเสียชีวิตของบุคคลในครอบครัวของเพื่อนๆ
  4. มีการย้ายบ้านในเด็กเล็กๆ
  5. มีการอิจฉาเมื่อมีน้องคนใหม่ในบ้าน

         ปัญหาอื่นๆที่อาจพบได้ ได้แก่ เด็กรู้สึกสูญเสีย (โดยเฉพาะเมื่อเปลี่ยนโรงเรียนใหม่) ไม่มีเพื่อน ถูกเด็กอื่นแกล้ง หรือเข้ากับครูและเพื่อนๆ ชั้นเรียนไม่ได้

         ในเด็กอายุน้อยกว่า 8 ปี ไม่อยากไปโรงเรียนเพราะกลัวว่าจะเกิดอันตรายกับพ่อแม่

         เด็กอายุ 9-12 ปี จะเครียดมากเมื่อจากพ่อแม่

         เด็กอายุ 13-16 ปี อาจมีโรคทางกายจึงไม่อยากไปโรงเรียน

เด็กไม่อยากไปโรงเรียนมักแสดงอาการอย่างไร?

การไม่อยากไปโรงเรียนจะเกิดในเด็กช่วงอายุใดก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะเกิดเมื่ออายุ 5-7 ปี และ 11-14 ปี ซึ่งเป็นช่วงเริ่มเข้าเรียนหรือเปลี่ยนโรงเรียน เด็กจะมีอาการทางร่างกาย เช่น บ่นปวดหัว  ปวดท้อง หรือ อาการไม่สบายอื่นๆ ซึ่งเป็นการอยากที่จะบอกว่าอาการดังกล่าวเป็นอาการจากความวิตกกังวล หรือเกิดจากความไม่สบายจริงๆของเด็ก ที่น่าสังเกต คือ เด็กกลุ่มนี้มักมีอาการในตอนเช้าเวลาจะต้องไปโรงเรียน แต่อาการจะหายไปในช่วงวันหยุด ในเด็กโต และกลุ่มวัยรุ่นมักจะไปไม่ทันรถทุกวัน ซึ่งในเด็กโตต้องแยกจากกลุ่มที่เป็นเด็กเกเรอยากหนีโรงเรียน เด็กกลุ่มหลังจะออกจากบ้านไปโรงเรียนและหายไปจากโรงเรียน

อาการของเด็กที่กลัวการถูกพรากจากพ่อแม่ (Separation anxiety disorder) เช่น

1. กังวลมากเกินไปว่า จะสูญเสียพ่อแม่

2. กังวลมากเกินไปว่า พ่อแม่จะได้รับอันตราย

3. ไม่อยากอยู่คนเดียว

4. ไม่ยอมไปนอน หากไม่มีพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่ง หรือผู้ดูแลอยู่ด้วย

5. มีการบ่นถึงความเจ็บป่วยทางกายเสมอเมื่อต้องจากพ่อหรือแม่หรือผู้ดูแล

พฤติกรรมดังกล่าวต้องเกิดในเด็กอายุน้อยกว่า 18 ปี และมีอาการอยู่นาน 4 สัปดาห์ หรือนานกว่านั้น ทำให้เกิดปัญหาในการเรียน และการเข้าสังคมหรือปัญหาเกี่ยวกับการทำกิจกรรมใด จึงจะเรียกว่าผิดปกติ

 Separation anxiety เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาของเด็กปกติ เด็กจะเริ่มมี Separation anxiety เมื่ออายุประมาณ 10 เดือน และค่อยๆหายไปเมื่ออายุประมาณ 18 เดือน  เด็กอายุ 3 ขวบส่วนใหญ่จะอยู่คนเดียวโดยไม่มีพ่อแม่หรือผู้ดูแลได้ในเวลาสั้นๆ

อาการของเด็กที่กลัวการเข้าสังคม (Social phobia) เช่น

  1. กลัว กังวลที่จะพบคนแปลกหน้า
  2. กังวลเมื่อจะต้องไปยังสถานที่ต่างๆ หรือต้องพบผู้คน
  3. ไม่กล้าแสดงออก กลัวคนมอง กลัวคนติติง เกินเหตุ
  4. เมื่อมีเหตุการณ์ มักปวดท้อง คลื่นไส้
  5. วิตกกังวลเกินเหตุ เครียด เมื่อต้องมีกิจกรรมต่างๆ
  6. มือสัน ใจสั่น เหงื่อออกมาก เมื่อมีกิจกรรมต่างๆ

ปัญหาระยะยาวในเด็กที่มีปัญหาไม่อยากไปโรงเรียนมีอะไรบ้าง?

ปัญหาระยะยาวในเด็กกลุ่มนี้ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเด็กที่มีความวิตกกังวล โดยเมื่อติดตามไปในระยะยาวจนเป็นหนุ่มสาว หรือผู้ใหญ่ อาจมีปัญหา เช่น

  1. ภาวะซึมเศร้า: เด็กที่มีปัญหาการเข้าสังคมจะมีปัญหาซึมเศร้ามากกว่าผู้ที่ไม่มีปัญหาการเข้าสังคมประมาณ 3 เท่า
  2. ต้องมีการรักษาทางจิตเวช ผู้ที่มีปัญหาไม่อยากไปโรงเรียนในวัยเด็กเมื่อติดตามไปประมาณ 20-29 ปี หลังจากนั้น พบว่ามีปัญหาทางจิตเวชมากกว่าคนทั่วไป
  3. การใช้สาร/ยาเสพติด: เด็กที่มีความวิตกกังวล ในระยาวจะมีการใช้สารเสพติด แอลกอฮอล์ กัญชา มากกว่าเด็ก/ผู้ที่ได้รับการรักษาเรื่องความวิตกกังวลจนดีแล้ว
  4. การเรียนและอาชีพ: ผู้ที่มีปัญหาทางจิตใจเมื่ออายุน้อย/วัยเด็ก  มักจะมีปัญหาความเครียดติดตัวไปตลอด  มักจะเลือกเรียนในวิชาที่ไม่ยาก และเลือกอาชีพที่ไม่ต้องแข่งขันกับใครมาก ทำให้นักเรียนเกือบครึ่ง (ประมาณ46%) ในสหรัฐอเมริกา ไม่สามารถเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายได้

ดูแลรักษาเด็กไม่อยากไปโรงเรียนอย่างไร?

การดูแลรักษาเด็กที่ไม่อยากไปโรงเรียนที่สำคัญคือ  ต้องให้เด็กกลับไปโรงเรียนโดยเร็วที่สุด เพราะการให้เด็กหยุดไปโรงเรียนนานเท่าใด จะยิ่งมีปัญหาในการให้กลับไปโรงเรียนมากยิ่งขึ้น  การไปโรงเรียนสม่ำเสมอจะทำให้เด็กค่อยๆลดความกลัวลง และเลิกกลัวการไปโรงเรียนได้ในที่สุด

ก. ด้านโรงเรียน/คุณครู: อาจมีเทคนิคให้เด็กเรียนในสิ่งที่ชอบเสียก่อน โดยให้พ่อแม่ผู้ปกครองรออยู่ด้านนอก และเมื่อครบระยะเวลาหนึ่ง เช่น 10 วัน ก็เพิ่มวิชาหรือสิ่งที่ชอบอย่างที่สองเข้าไป เช่นวิชาแรกเป็นพละ วิชาที่สองเป็นศิลปะ แล้วค่อยๆ เพิ่มวิชาทุกหนึ่งถึงสองสัปดาห์ จนเด็กสามารถเรียนได้เต็มเวลา

การแก้ไขโดยวิธีค่อยๆ ให้เด็กเรียน สิ่งที่ชอบแล้วค่อยๆเพิ่มความหลากหลายของวิชาขึ้น จะได้ผลประมาณ 50-70% ของเด็กที่มีปัญหาไม่อยากไปโรงเรียน ซึ่งเด็กมักจะดีขึ้นชัดเจน และอาการทางร่างกายต่างๆก็จะค่อยๆลดลงและหายไปได้ในที่สุด

คุณครูควรเข้าใจปัญหานี้ เข้าใจอาการของเด็ก ไม่ดุว่าทำให้เด็กอาย ที่สำคัญไม่ส่งเด็กกลับบ้านแม้ว่าเด็กจะมีอาการทางกายต่างๆ แต่ควรพูดคุยปรึกษากับพ่อ-แม่/ผู้ปกครองเด็ก เพื่อช่วยกันดูแลและปรับพฤติกรรมเด็ก

คุณครู ควรสังเกต พูดคุย สอบถาม เพื่อหาสาเหตุว่าเกิดจากทางโรงเรียนหรือไม่ เช่น เด็กถูกรังแก ถูกล้อเรียน หรือเรียนไม่ทันเพื่อน เป็นต้น เพื่อหาทางช่วยเหลือเด็ก

ถ้าเด็กมีปัญหาในการเข้าสังคมที่โรงเรียน คุณครูควรต้องคอยช่วยเหลือ หาวิธีการที่จะทำให้เด็กเข้ากับเพื่อนๆให้ได้

ข. ด้านพ่อแม่/ผู้ปกครอง: ควรเข้าใจว่าการที่เด็กไม่อยากไปโรงเรียน เกิดจากความวิตกกังวลของเด็กโดยที่เด็กไม่ได้แกล้งทำหรือเกเร ทั้งนี้ควรให้แพทย์ตรวจร่างกายว่า เด็กไม่ได้มีปัญหาทางกายก่อน เนื่องจากอาการบางอย่างแสดงออกเช่นเดียวกับปัญหาทางกาย        

การนำเด็กกลับสู่โรงเรียนควรทำด้วยความจริงจังแต่ด้วยท่าทีที่นุ่มนวล โดยจะต้องนำเด็กไปโรงเรียนให้ได้แม้เด็กจะขัดขืน หรือต่อต้าน หากเด็กดิ้นหรือแสดงอาการก้าวร้าวให้กอดเด็กไว้และพาไปโรงเรียนเมื่ออาการสงบ ไม่ดุด่าหรือลงโทษ

พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ต้องพูดคุยสอบถามเด็กและหาวิธีที่จำทำให้เด็กคลายความกังวลว่า จะไม่ถูกทิ้ง ปลอดภัย และทางบ้านจะไม่เกิดปัญหาอะไรเมื่อเด็กไปโรงเรียน

ต้องพูดคุย ปรึกษาคุณครู ให้ทราบปัญหาของเด็กที่โรงเรียน และแสดงให้เด็กเห็นว่า คุ้นเคยกับคุณครู เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการอยู่โรงเรียนให้กับเด็ก

นอกจากนี้ พ่อ-แม่ ผู้ปกครองควรทบทวนว่า ตนเองมีส่วนในการทำให้เด็กไม่อยากไปโรงเรียนหรือไม่ เพื่อสามารถแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง

ควรไปพบแพทย์เมื่อไร?

ควรนำเด็กพบแพทย์เมื่อ

1.เมื่อเด็กมีอาการแสดงทางกายต่อเนื่อง  เพื่อได้รับการตรวจร่างกายโดยละเอียดว่า เด็กไม่ได้มีโรคทางกายก่อนจะสรุปว่า เป็นอาการจากเด็กไม่อยากไปโรงเรียน

2.ในกรณีที่ไม่สามารถนำเด็กกลับไปโรงเรียนได้ เนื่องจากเด็กมีความวิตกกังวลมีความเครียด มีอาการซึมเศร้ามาก ควรต้องปรึกษาจิตแพทย์เด็ก ซึ่งอาจต้องให้ยาคลายความเครียดหรือยาความวิตกกังวล ในกรณีที่มีอาการมาก จิตแพทย์อาจมีวิธีรักษาด้วยการทำพฤติกรรมบำบัด (Cognitive-behavioral therapy หรือย่อว่า CBT) ร่วมด้วย

เด็กไม่อยากไปโรงเรียนสามารถแก้ไขได้สำเร็จหรือไม่?

การไม่อยากไปโรงเรียน หากปล่อยทิ้งไว้นานโดยยอมให้เด็กหยุดโรงเรียนการแก้ปัญหาจะยากกว่าการรีบให้เด็กได้ไปโรงเรียน  การดูแลรักษาเมื่อเป็นความร่วมมือระหว่างคุณครูกับพ่อแม่/ผู้ปกครอง มักได้ได้ผลดีเสมอ ซึ่งเมื่อติดตามไปหลัง 1 ปีพบว่าประมาณ  83% ของเด็กสามารถกลับไปเล่าเรียนได้ตามปกติ  

บรรณานุกรม

  1. Rosenberg DR, Vandana P,Chiriboga JA. Chapter 23-Anxiety Disorders. Kliegman: Nelson Textbook of Pediatrics, 19th ed
  2. https://www.emedicinehealth.com/school_refusal/article_em.htm#school_refusal_quick_overview [2022,May21]
  3. http://www.handsonscotland.co.uk/school-refusal/ [2022,May21]
  4. http://www.childanxiety.net/Social_Phobia.htm [2022,May21]