เด็กโง่เพราะมือถือ ? (ตอนที่ 2)

เด็กโง่เพราะมือถือ-2

      

      โดยเปลือกสมองมีหน้าที่ดังต่อไปนี้

  • กำหนดสติปัญญา (Determining Intelligence)
  • กำหนดบุคลิกภาพ (Determining Personality)
  • การเคลื่อนไหว (Motor Function)
  • การวางแผนและการจัดการ (Planning and Organization)
  • การสัมผัสรับรู้ (Touch Sensation)
  • ประมวลการรับรู้ (Processing Sensory Information)
  • ประมวลภาษา (Language Processing)

      เปลือกสมองประกอบด้วย เขตรับรู้ความรู้สึก (Sensory areas) เขตสั่งการ (Motor areas) และเขตสัมพันธ์ (Association area)

      โดยเขตรับรู้ความรู้สึก (Sensory areas) จะรับข้อมูลจากธาลามัส (Thalamus) และประมวลข้อมูลที่เกี่ยวกับประสาทรับรู้ความรู้สึก ซึ่งรวมถึงการเห็น (Visual) การได้ยิน (Auditory) การรับรส (Gustatory) และการรับความรู้สึกทางกาย (Somatosensory)

      โดยทั่วไป ซีกสมองทั้งสองข้างรับข้อมูลมาจากด้านตรงข้ามของร่างกาย ยกตัวอย่างเช่น การรับความรู้สึกทางกายของสมองซีกขวา รับข้อมูลมาจากแขนขาข้างซ้าย และการรับรู้ทางสายตาข้างขวารับข้อมูลมาจากลานสายตาด้านซ้าย

      เขตสั่งการ (Motor areas) มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการควบคุมการเคลื่อนไหวที่อยู่ใต้อำนาจจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเคลื่อนไหวมือที่แบ่งเป็นช่วง ๆ อย่างละเอียด เขตสั่งการในสมองซีกขวาควบคุมกายด้านซ้าย และในทางกลับกัน เขตสั่งการในสมองซีกซ้ายควบคุมกายด้านขวา เขตสั่งการมี 2 เขต ได้แก่ คอร์เทกซ์สั่งการปฐมภูมิ (Primary motor cortex) และ คอร์เทกซ์พรีมอเตอร์ (Premotor cortex) ซึ่งดำเนินการเคลื่อนไหวที่อยู่ใต้อำนาจจิตใจ

      เขตสัมพันธ์ (Association cortex) ทำหน้าที่เป็นที่กำเนิดของประสบการณ์การรับรู้ ที่ทำความหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมให้ปรากฏ (คือทำให้เราเข้าใจสิ่งแวดล้อม) ทำให้เราสามารถตอบสนองกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสนับสนุนให้เกิดความคิดทางนามธรรม และการใช้ภาษา

      คลื่นโทรศัพท์มือถือเป็นคลื่นรังสีชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Radio Frequency-Electromagnetic Radiation (RF-EMR) หรือคลื่นไมโครเวฟ โดยมีรายงานการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของคลื่นรังสีโทรศัพท์มือถือในเด็กดังต่อไปนี้

  • ปี พ.ศ.2553 มีรายงานการศึกษาว่า คลื่นรังสีโทรศัพท์มือถือโดยเฉลี่ยทั่วไปมีผลกระทบต่อสมองของเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ ทั้งนี้เพราะเด็กมีศีรษะและสมองที่เล็กกว่า แต่กลับได้รับปริมาณรังสีเท่าผู้ใหญ่ The American Academy of Pediatrics กล่าวว่า เมื่อเด็กใช้โทรศัพท์มือถือ เด็กจะได้รับรังสี RF เพิ่มเป็น 2 เท่า ในสมอง และเพิ่มเป็น 10 เท่าในไขกระดูกในสมอง เมื่อเทียบผู้ใหญ่

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Children and Cell Phones: Is Phone Radiation Risky for Kids?http://www.center4research.org/children-cell-phones-phone-radiation-risky-kids/ [2018, January 19].
  2. เปลือกสมอง. https://th.wikipedia.org/wiki/เปลือกสมอง [2018, January 19].
  3. Anatomy of the Brain: Cerebral Cortex Function. https://www.thoughtco.com/anatomy-of-the-brain-cerebral-cortex-373217 [2018, January 19].