เดสลาโนไซด์ (Deslanoside)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 22 พฤศจิกายน 2559
- Tweet
- บทนำ
- เดสลาโนไซด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- เดสลาโนไซด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เดสลาโนไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เดสลาโนไซด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมใช้ยาควรทำอย่างไร?
- เดสลาโนไซด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เดสลาโนไซด์อย่างไร?
- เดสลาโนไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเดสลาโนไซด์อย่างไร?
- เดสลาโนไซด์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)
- ยาคาร์ดิแอกไกลโคไซด์ (Cardiac glycoside)
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจเสียจังหวะ (Arrhythmia)
- เจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อาการปวดเค้นหัวใจ (Angina Pectoris)
- ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจวาย (Heart failure)
- ไทรอยด์: โรคของต่อมไทรอยด์ (Thyroid: thyroid diseases)
บทนำ
ยาเดสลาโนไซด์(Deslanoside หรือ Desacetyl lanatoside)เป็นสารประกอบประเภทไกลโคไซด์ที่ออกฤทธิ์ต่อการทำงานของหัวใจ (Cardiac glycoside) ในธรรมชาติจะพบสารเดสลาโนไซด์ในใบของต้นพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Digitalis lanata ทั้งนี้ ยา/สารเดสลาโนไซด์ยังมีชื่อเรียกอื่นๆอีก อาทิ Desacetyllanatoside C, Deslanosido, Deslanosidum, และ Glucodigoxin
ทางคลินิก ได้ใช้ยาเดสลาโนไซด์รักษาอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ และหัวใจล้มเหลว
ยาเดสลาโนไซด์สามารถถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้พอประมาณคือประมาณ 40% จึงไม่นิยมนำมาผลิตเป็นยารับประทาน แต่ผลิตอยู่ในรูปแบบของยาฉีด โดยเมื่อตัวยานี้เข้าสู่กระแสเลือด จะรวมตัวกับสารโปรตีนในเลือดได้ประมาณ 20% ซึ่งร่างกายต้องใช้เวลานานถึงประมาณ 36 ชั่วโมงขึ้นไป เพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด
ขนาดของการรักษาของยาเดสลาโนไซด์จะเริ่มตั้งแต่การให้ยาในปริมาณน้อยๆไปจนถึง 1.6 มิลลิกรัม โดยให้เพียงครั้งเดียว หรือจะแบ่งการให้ยาตามความเห็นของแพทย์ผู้รักษาก็ได้ โดยรูปแบบยาแผนปัจจุบันที่พบเห็นของยานี้ในประเทศไทย คือ ยาฉีด
ยาเดสลาโนไซด์ มีกลไกยับยั้งกระบวนการทำงานของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการบีบตัวของหัวใจ ที่เรียกกันว่า Sodium-Potassium-ATPase membrane pump ส่งผลให้เกิดสมดุลของเกลือโซเดียมและแคลเซียมในกล้ามเนื้อหัวใจที่ส่งผลให้การทำงานของหัวใจกลับมาเป็นปกติ
การได้รับยาเดสลาโนไซด์เกินขนาด สามารถทำให้หัวใจเต้นเร็ว และหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ หรือไม่ก็ทำให้หัวใจเต้นช้าแบบผิดจังหวะได้อีกเช่นกัน จนถึงขั้นหัวใจหยุดเต้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้รับยาเดสลาโนไซด์ อย่างถูกต้องตามคำสั่งแพทย์แล้ว ก็อาจพบอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ได้เช่นกัน อาการข้างเคียงที่พบเห็นบ่อย ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดท้อง และปวดศีรษะ เป็นต้น
ข้อมูลที่จำเป็นอีกประการหนึ่งในการที่แพทย์จะเลือกใช้ยาเดสลาโนไซด์ ได้แก่ ประวัติการเจ็บป่วยหรือโรคประจำตัวต่างๆของผู้ป่วย ที่อาจจะแสดงอาการรุนแรงมากขึ้นเมื่อได้รับยาเดสลาโนไซด์ เช่น โรคไทรอยด์ โรคไต ภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ และเกลือแมกนีเซียมในเลือดต่ำ เป็นต้น ซึ่งยังรวมไปถึงยาต่างๆที่ผู้ป่วยใช้เป็นประจำอยู่ก่อน ก็อาจก่อให้เกิดภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)กับยาเดสลาโนไซด์ได้ อาทิเช่น ยาขับปัสสาวะกลุ่มไทอะไซด์(Thiazide), ยา Corticosteroid, Quinidine, Beta2-agonist, Beta-blocker, Calcium channel blockers, เป็นต้น
เราสามารถพบเห็นการใช้ยากลุ่ม Cardiac glycoside ที่รวมถึง ยาเดสลาโนไซด์ได้ในสถานพยาบาล โดยต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษา และหากต้องการทราบข้อมูลของยานี้เพิ่มเติม สามารถสอบถามได้จากแพทย์ และจากเภสัชกรโดยทั่วไป
เดสลาโนไซด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาเดสลาโนไซด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ
- รักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ภาวะหัวใจล้มเหลว
- ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
เดสลาโนไซด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาเดสลาโนไซด์คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในกระบวนการที่เรียกว่า Sodium-Potassium-ATPase membrane pump ส่งผลให้เกิดการเพิ่มเกลือโซเดียมและแคลเซียมในเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ เกิดการปรับสมดุลของประจุไฟฟ้าในการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้การบีบตัวของหัวใจเป็นจังหวะที่ดีขึ้น มีแรงมากขึ้น และเกิดเป็นฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
เดสลาโนไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ในประเทศไทย ยาเดสลาโนไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาฉีด ขนาด 0.2 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
เดสลาโนไซด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาเดสลาโนไซด์ มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
- ผู้ใหญ่: แพทย์ผู้รักษาจะให้ยาในระดับต่ำๆที่เหมาะสมกับอาการผู้ป่วย ไปจนถึงขนาด 1.6 มิลลิกรัม โดยสามารถแบ่งฉีด หรือให้ยาเพียงครั้งเดียว จากนั้นอีก 12 ชั่วโมง แพทย์จึงเปลี่ยนเป็นให้รับประทานยาในกลุ่ม Cardiac glycoside ตามที่แพทย์ผู้รักษากำหนด
- เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกด้านความปลอดภัย และขนาดการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาเดสลาโนไซด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไต โรคต่อมไทรอยด์ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเดสลาโนไซด์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้นหรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมใช้ยาควรทำอย่างไร?
ยาเดสลาโนไซด์เป็นผลิตภัณฑ์ประเภทยาฉีด การใช้ยานี้จะกระทำแต่ในสถานพยาบาล โอกาสลืมฉีดยาให้ผู้ป่วยจึงเป็นไปได้น้อยมาก อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยไม่ได้รับการฉีดยานี้ตามกำหนด สามารถสอบถามแพทย์/พยาบาลที่ดูแลรักษาเพื่อขอรับการฉีดยาและไม่ควรละเลยเพิกเฉย
เดสลาโนไซด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเดสลาโนไซด์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องเสีย ปวดท้อง
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ ปวดใบหน้า วิงเวียน ง่วงนอน มีอาการชัก
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น รู้สึกสับสน ฝันร้าย ประสาทหลอน
- ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า การมองเห็นสีสันเปลี่ยนแปลงไป
- ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น เต้านมโตในผู้ชาย (Gynecomastia)
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หลอดเลือดเกิดการหดตัว(อาการเช่น มือ เท้าเย็น) ความดันโลหิตต่ำ
มีข้อควรระวังการใช้เดสลาโนไซด์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเดสลาโนไซด์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะ Wolff-Parkinson-White syndrome (หัวใจเต้นเร็ว รัว) และ Hypertropic obstructive cardiomyopathy(กล้ามเนื้อหัวใจโต)
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพภาชนะบรรจุแตกรั่ว หรือตัวยาที่มีการปนเปื้อน ขุ่น ตกตะกอน
- ระวังการใช้ยานี้กับกลุ่มผู้ป่วยต่อไปนี้ เช่น ผู้ป่วย โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบแบบเฉียบพลัน ผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวแบบเฉียบพลัน ผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพองอย่างรุนแรง ผู้ป่วยโรคต่อมไทรอยด์ ผู้ที่มีภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ และ/หรือเกลือแมกนีเซียมในเลือดต่ำ ผู้ที่มีภาวะแคลเซียมในเลือดสูง ภาวะเลือดขาดออกซิเจน และในผู้สูงอายุ
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเดสลาโนไซด์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
เดสลาโนไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเดสลาโนไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเดสลาโนไซด์ร่วมกับยา Acebutolol, Alprenolol (ยาลดความดันโลหิต), ด้วยเสี่ยงต่อการเกิดอาการหัวใจเต้นช้า
- การใช้ยาเดสลาโนไซด์ร่วมกับยา Amikacin, Balsalazide (ยาต้านการอักเสบ), สามารถทำให้ความเข้มข้นของยาเดสลาโนไซด์ในกระแสเลือดลดลงจนอาจกระทบต่อประสิทธิภาพการรักษา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยาเดสลาโนไซด์ร่วมกับยา Amiodarone สามารถทำให้ความเข้มข้นของยา เดสลาโนไซด์ในกระแสเลือดเพิ่มขึ้นจนอาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงที่สูงขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
ควรเก็บรักษาเดสลาโนไซด์อย่างไร?
ควรเก็บยายาเดสลาโนไซด์ภายในอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงสว่าง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
เดสลาโนไซด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเดสลาโนไซด์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Deslanoside injection USP (เดสลาโนไซด์ อินเจ๊กชั่น ยูเอสพี) | Shanghai |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Cedilanide, Digilanogen, Cedilanid-d, Deacetyllanatoside C
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Cardiac_glycoside [2016,Nov5]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Deslanoside [2016,Nov5]
- http://www.drugbank.ca/drugs/DB01078 [2016,Nov5]
- http://www.druglib.com/activeingredient/deslanoside/ [2016,Nov5]
- http://www.mims.com/malaysia/drug/info/deslanoside?mtype=generic [2016,Nov5]
- http://www.drugbank.ca/drugs/DB01078 [2016,Nov5]