เดสฟลูเรน (Desflurane)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 1 กุมภาพันธ์ 2560
- Tweet
- บทนำ
- เดสฟลูเรนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- เดสฟลูเรนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เดสฟลูเรนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เดสฟลูเรนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- เดสฟลูเรนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เดสฟลูเรนอย่างไร?
- เดสฟลูเรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเดสฟลูเรนอย่างไร?
- เดสฟลูเรนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ไข้สูงอย่างร้าย (Malignant Hyperthermia)
- กล้ามเนื้อลายสลาย (Rhabdomyolysis)
- ความดันในกะโหลกศีรษะสูง (Increased intracranial pressure)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบประสาท (Anatomy and physiology of nervous system)
บทนำ
ยาเดสฟลูเรน(Desflurane) เป็นสารประกอบประเภทฮาโลอัลเคน (Haloalkane, สารเคมีชนิดหนึ่งที่ใช้เป็นตัวทำละลายในอุตสาหกรรมทางเคมี) ลักษณะเป็นของเหลว และมีจุดเดือดประมาณ 23.5 องศาเซลเซียส(Celsius) ทางคลินิกนำมาใช้เป็นยาสลบแบบสูดพ่นเข้าจมูก โดยต้องใช้เครื่องพ่นยาที่ควบคุมแรงดันหรือที่เรียกว่า วาโพไรเซอร์ (Vaporizer) ซึ่งจะพบเห็นการใช้แต่ในห้องผ่าตัดเท่านั้น
ขณะที่ผู้ป่วยได้รับยาเดสฟลูเรน ตัวยาจะยับยั้งการนำส่งกระแสประสาท ทำให้ร่างกายหมดสติ รวมถึงไม่สามารถรับรู้ถึงความเจ็บปวดจากหัตถการผ่าตัด การให้ยานี้กับผู้ป่วยเพียง 1–2 นาที ตัวยาก็จะเริ่มออกฤทธิ์ และยาเดสฟลูเรนจะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้ต่ำมาก จึงไม่สามารถส่งไปทำลายที่ตับ แต่จะถูกขับออกจากร่างกายโดยผ่านมากับลมหายใจ
ยาเดสฟลูเรนสามารถใช้ได้ทั้งในผู้ใหญ่และในเด็ก ซึ่งก็พบว่าเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปีลงมา หลังได้รับยานี้อาจเกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง) อย่างเช่น ไอ แน่นหน้าอก การหายใจไม่ปกติ
ก่อนได้รับยาเดสฟลูเรน แพทย์จะทำการสัมภาษณ์สอบถามผู้ป่วยถึงโรคประจำตัวต่างๆที่เป็นอยู่ ด้วยยาเดสฟลูเรนสามารถส่งผลกระทบและทำให้โรคประจำตัวบางประเภทเกิดความรุนแรงขึ้นมาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคหืด โรค กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือเป็นอัมพาต โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด ภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง มีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนต้น ภาวะ Malignant hyperthermia โรคตับชนิดต่างๆ อย่างเช่น ตับแข็ง ตับอักเสบ
สำหรับคำเตือนที่แพทย์มักจะแนะนำผู้ป่วยภายใน 24 ชั่วโมงหลังได้รับยาเดสฟลูเรน คือ
- ยานี้อาจก่อให้เกิดอาการ ง่วงนอน อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย และทำให้การทรงตัวทำได้ลำบาก จึงถือเป็นข้อห้ามมิให้ผู้ป่วยขับขี่ยวดยานพาหนะ หรือทำงานที่เกี่ยว กับเครื่องจักรด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- ห้ามผู้ป่วยที่ได้รับการวางยาสลบชนิดนี้ภายใน 24 ชั่วโมง ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ ด้วยจะทำให้มีภาวะกดการทำงานของสมองมากขึ้น
ทั้งนี้ ระหว่างที่มีการให้ยาเดสฟลูเรนกับผู้ป่วย จะต้องมีการควบคุม สัญญาณชีพต่างๆร่วมด้วย เช่น ความดันโลหิต อัตราและจังหวะการเต้นของหัวใจ รวมถึงระดับออกซิเจนในเลือด การเปลี่ยนแปลงของระดับคาร์บอนไดออกไซด์และระดับยาเดสฟลูเรนในเลือดก่อนที่จะทำการผ่าตัด นอกจากนี้ยังต้องประเมินช่องทางเดินหายใจของผู้ป่วยว่าทำงานเป็นปกติ ไม่เกิดการตีบหรือมีสิ่งกีดขวางใดๆเกิดขึ้น
อาการข้างเคียงอื่นๆที่อาจเกิดขึ้นและพบเห็นกับผู้ที่ได้รับยาเดสฟลูเรน เช่น ริมฝีปากมีสีคล้ำ ปวดตามร่างกาย คัดจมูก ไอ คอแห้ง มีไข้ เสียงแหบ แน่นหน้าอก หายใจลำบาก การกลืนอาหารอาจทำได้ยาก/กลืนลำบาก อาการข้างเคียงเหล่านี้บางอาการ ไม่จำเป็นต้องใช้ยามาช่วยบำบัด แต่บางอาการข้างเคียงที่ส่งผลต่อการดำรง ชีวิต เช่น หายใจลำบาก แน่นหน้าอก ควรต้องรีบแจ้ง แพทย์ พยาบาลโดยเร็ว
*กรณีที่ผู้ป่วยได้รับยานี้เกินขนาด จะสังเกตได้จากเกิดภาวะกดการเต้นของหัวใจ/หัวใจเต้นช้าลง ความดันโลหิตต่ำ เกิดการคั่งของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด และมีภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ หากพบอาการดังกล่าว แพทย์จะให้การช่วยเหลือโดยให้ออกซิเจนบริสุทธิ์ผ่านเข้าทางเดินหายใจ และช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตของร่างกาย
ยาเดสฟลูเรนเป็นยาอีกรายการที่ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทยและจัดอยู่ในประเภทยาควบคุมพิเศษ คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้ระบุเงื่อนไขของการใช้ยาเดสฟลูเรนเป็นยาทางเลือกเพื่อระงับความรู้สึกในกรณีต่อไปนี้
1. โรคอ้วน (Morbidly obese) ที่มีภาวะ obstructive sleep apnea (OSA) ร่วมด้วย
2. โรคอ้วน (Morbidly obese) ที่มี Body Mass Index (BMI)/ดัชนีมวลกาย ตั้งแต่ 35 kg/m2(กิโลกรัม/ตารางเมตร) ขึ้นไป
3. การผ่าตัดซึ่งต้องการให้ผู้ป่วยตื่นเร็ว เช่น ผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉิน หรือการผ่าตัดเล็กที่ไม่ต้องรับผู้ป่วยไว้ค้างคืน
4. การผ่าตัดสมอง
อนึ่ง หากผู้บริโภค/ผู้ป่วยต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมของยาเดสฟลูเรน สามารถสอบถามได้จากแพทย์ และจากเภสัชกรได้โดยทั่วไป
เดสฟลูเรนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาเดสฟลูเรนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ โดยใช้เป็นยาสลบเพื่อหัตถการผ่าตัด
เดสฟลูเรนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาเดสฟลูเรนคือ ตัวยาเป็นยาสลบที่ระเหยได้ หลังการบรรจุยานี้เข้าเครื่องดมยาสลบ ตัวยาจะถูกขับเคลื่อนเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจของผู้ป่วยภายใน 1–2 นาที จากนั้นจะเริ่มออกฤทธิ์ยับยั้งการนำกระแสประสาทของการรับรู้ความรู้สึก และทำให้ร่างกายหมดสติ ด้วยสภาวะนี้ทำให้ผู้ป่วยไม่รับรู้ต่อความเจ็บปวดจากการผ่าตัด จึงเป็นที่มาของสรรพคุณ
เดสฟลูเรนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเดสฟลูเรนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาประเภทสารละลายที่มีขนาดบรรจุ 240 มิลลิลิตร/ขวด
เดสฟลูเรนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาเดสฟลูเรนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นให้ยาเดสฟลูเรนด้วยเครื่องดมยาสลบ โดยควบคุมการให้ยาที่ 3%(โดยปริมาตร) โดยแพทย์จะเพิ่มปริมาณยา 0.5–1% ทุกๆ 2–3 ครั้งของการหายใจ และความเข้มข้นสุดท้ายของยาควรอยู่ที่ 4–11% แพทย์อาจใช้ยาดมสลบ Nitrous oxide ร่วมกับยาเดสฟลูเรน เพื่อทำให้ร่างกายอยู่ในสภาวะสลบตลอดการผ่าตัด
- เด็ก: แพทย์อาจใช้ยาเดสฟลูเรนร่วมกับยาสลบชนิดอื่น เช่น Nitrous oxide ร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้การใช้ยาสลบอื่นร่วมด้วย รวมถึงขนาดยา ต้องเป็นไปตามดุลพินิจของแพทย์วิสัญญี/แพทย์เฉพาะทางด้านยาสลบเท่านั้น
อนึ่ง:
- ระหว่างการให้ยาเดสฟลูเรน แพทย์ พยาบาล ต้องควบคุมสัญญาณชีพของผู้ป่วยตลอดเวลา
- หลังการได้รับยาสลบนี้ แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่า สมควรให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้ ภายในวันเดียวกัน หรือให้รอพักฟื้นที่สถานพยาบาล
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเดสฟลูเรน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไต โรคตับ โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเดสฟลูเรนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
เดสฟลูเรนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเดสฟลูเรนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะเลือดออกง่าย
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ตับอ่อนอักเสบ ปวดท้อง
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีน้ำลายมากขึ้น ตัวสั่น เกิดลมชัก วิงเวียน
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นช้าหรือไม่ก็เร็ว ความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ หัวใจหยุดเต้น
- ผลต่อตับ: เช่น มีภาวะตับอักเสบ ตับวาย ตับแข็ง เกิดดีซ่าน เอนไซม์การทำงานของตับในเลือด ผิดปกติ เช่น เอนไซม์ ทรานซามิเนส(Transaminases) อะลานีน อะมิโนทรานเฟอสเฟอเรส(Alanine aminotransferase) และ แอสปาร์เตท อะมิโนทรานเฟอสเฟอเรส (Aspartate aminotransferase) เพิ่มสูงขึ้น
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ลมพิษ
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง หรือระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ เกิดภาวะเลือดเป็นกรด เอนไซม์ครีเอตินีน ฟอสโฟไคเนส(Creatinine phosphokinase, เอนไซม์การทำงานของ กล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อหัวใจ และของสมอง)ในเลือดเพิ่มขึ้น
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อลายสลาย
- ผลต่อตา: เช่น ตาเหลือง
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ไอ หายใจขัด/หายใจลำบาก/หลอดลมเกร็งตัว หยุดหายใจ คออักเสบ มีภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ
มีข้อควรระวังการใช้เดสฟลูเรนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเดสฟลูเรน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้มี ภาวะ Malignant hyperthermia โรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้ป่วยโรคตับที่มีความรุนแรงตั้งแต่ระดับปานกลางขึ้นไป
- ห้ามใช้ยานี้ที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น สียาเปลี่ยน หรืยาตกตะกอน
- การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ผู้สูงอายุ และเด็ก ต้องมีคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
- ระหว่างใช้ยานี้ให้ระวังการเกิดความดันในกระโหลกศีรษะสูงขึ้น
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคไต
- หากพบความผิดปกติหลังการได้รับยานี้ ให้รีบแจ้ง แพทย์ พยาบาล โดยเร็ว
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง เพื่อรับการตรวจร่างกายและดูความก้าวหน้าของการรักษาจากแพทย์
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเดสฟลูเรนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
เดสฟลูเรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเดสฟลูเรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาเดสฟลูเรนร่วมกับยา Epinephrine ด้วยจะทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ เกิดอาการแน่นหน้าอก ตาพร่า คลื่นไส้ และมีอาการลมชักตามมา
- กรณีที่ผู้ป่วยมีการใช้ยา Fentanyl ซึ่งเป็นยาเสพติดที่ใช้บำบัดอาการปวด หากจำเป็นต้องใช้ยาเดสฟลูเรน แพทย์จะลดขนาดการใช้ยาเดสฟลูเรนลงมาอย่างเหมาะสม ด้วยยาทั้ง 2 ตัว มีฤทธิ์ระงับปวดเสริมกันอยู่แล้ว
- ห้าม/หลีกเลี่ยงการใช้ยาเดสฟลูเรนร่วมกับยา Droperidol ด้วยจะทำให้เกิดภาวะ หัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเดสฟลูเรนร่วมกับยา Isocarboxazid ด้วยจะส่งผลกระทบต่อ ความดันโลหิต(อาจเกิดความดันโลหิตสูงหรือต่ำก็ได้) ทางคลินิกแนะนำให้เว้นระยะห่างของการใช้ยาทั้ง 2 ตัวนี้ห่างกันประมาณ 10–14 วัน
ควรเก็บรักษาเดสฟลูเรนอย่างไร?
ควรเก็บยาเดสฟลูเรน ภายใต้อุณหภูมิ 15-30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น
เดสฟลูเรนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเดสฟลูเรน ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Suprane (ซุเพรน) | Baxter Healthcare |
บรรณานุกรม
- https://www.drugs.com/cons/desflurane-inhalation-oral-nebulization.html [2017,Jan14]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/suprane/?type=brief [2017,Jan14]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Desflurane [2017,Jan14]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/desflurane/?type=brief&mtype [2017,Jan14]
- http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/193#item-10443 [2017,Jan14]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/desflurane-index.html?filter=3&generic_only= [2017,Jan14]