เดลิเรียนท์ (Deliriant)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 25 กุมภาพันธ์ 2561
- Tweet
- บทนำ
- เดลิเรียนท์แสดงฤทธิ์ในลักษณะใด?
- เดลิเรียนท์แสดงฤทธิ์ในลักษณะใด?
- ประโยชน์ของเดลิเรียนท์มีอะไรบ้าง?
- บทสรุปของเดลิเรียนท์
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- Psychedelics
- Dissociative
- แอนตี้มัสคารินิก (Antimuscarinic drugs)
- ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาแอนติฮิสตามีน (Antihistamine drug)
- ยากระตุ้นความบันเทิง (Recreational drug)
บทนำ
เดลิเรียนท์(Deliriant)เป็นสารหลอนประสาท/สารที่ทำให้เกิดประสาทหลอนที่ มีความรุนแรงมากที่สุดจากสารหลอนประสาท 3 ประเภท (Psychedelics, Dissociative และ Deliriant) ด้วยจะก่อให้มีอาการเพ้อ และคลุ้มคลั่ง ไม่สามารถควบคุมอารมณ์หรือสติได้อย่างปกติ อาจเห็นภาพหลอนที่ทำให้เกิดความกลัว สร้างความสับสนและงุนงงอย่างรุนแรง ได้ยินเสียงแว่วหรือสามารถสนทนากับสิ่งที่สร้างจากจินตนาการของสมองที่ทำงานผิดปกติ และก่อให้เกิดความเสื่อมทางสภาพจิตเป็นอย่างสูง
อาจแบ่งเดลิเรียนท์ออกเป็นกลุ่มดังนี้
1. กลุ่มยาแอนตี้คอลิเนอร์จิก(Anticholinergic) หรือเรียกว่า กลุ่มยาแอนตี้มัสคารินิก(Antimuscarinic drugs) กลุ่มยานี้จะมีโครงสร้างทางเคมีเป็นสารอัลคาลอยด์ที่มีชื่อ เรียกว่า Tropane alkaloids เช่น Atropine, Hyoscyamine, และ Scopolamine
2. กลุ่มยาแอนตี้คอลิเนอร์จิก(Anticholinergic)ที่มีโครงสร้างเคมีแตกต่างจากกลุ่มแรก(Tropane alkaloids) โดยมีโครงสร้างในลักษณะเอสเทอร์(Ester)ของกรดไกลโคลิก(Glycolic acid)เป็นหลัก ยากลุ่มนี้ยังไม่เป็นที่แพร่หลายแต่มีการศึกษาวิจัยและค้นพบประโยชน์ทางคลินิก เช่น Benactyzine, Dicyclomine, N-ethyl-3-piperidyl benzilate, N-methyl-3-piperidyl benzilate, 3-quinuclidinyl benzilate และ Ditran
3. กลุ่มยาแอนตี้ฮีสตามีน(Antihistamine drug) เช่น Chlorpheniramine, Cyclizine, Dimenhydrinate, Diphenhydramine, Doxylamine, Meclizine และ Promethazine
ตามกฎหมายของไทยได้จัดให้กลุ่มยาข้างต้นหลายรายการเป็นประเภทยาอันตราย สามารถพบเห็นการวางจำหน่ายตามร้านขายยาและมีใช้ในสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน
การได้รับยาเหล่านี้(ยาในกลุ่มเดลิเรียนท์)เป็นปริมาณมาก สามารถกระตุ้นให้เกิดภาวะหลอนประสาทในลักษณะที่เรียกว่าเดลิเรียนท์ ร่วมกับผลข้างเคียงอื่นๆได้อย่างรุนแรง เช่น หลอดลมหดเกร็ง ผิวหนังบวม เกิดผื่นคันตามร่างกาย ผิวแพ้แสงแดดได้ง่าย วิงเวียน ซึม หัวใจเต้นเร็ว ปัสสาวะขัด เป็นต้น
เดลิเรียนท์แสดงฤทธิ์ในลักษณะใด?
กลุ่มยาเดลิเรียนท์สามารถกระตุ้นให้เกิดผลกระทบ(ผลข้างเคียงรุนแรง)ต่อสมองได้คล้ายและแตกต่างกันตามโครงสร้างเคมีและขนาดยาที่ได้รับเข้าสู่ร่างกาย ดังตัวอย่างต่อไปนี้
1. Atropine: ใช้เป็นยาป้องกันการเกิดสารคัดหลั่งในหลอดลมก่อนดมยาสลบหรือใช้ต้านพิษของผู้ที่ได้รับยาฆ่าแมลง ผลข้างเคียงด้านการเห็นภาพหลอนอาจเป็นในขณะที่กำลังเคลิ้มหลับหรือฝันขณะนอนหลับร่วมกับมีอาการเพ้อโดยไม่รู้ตัว
2. Hyoscyamine: ใช้ลดอาการปวดเกร็ง/ปวดบีบของกระเพาะอาหารและลำไส้ ช่วยบรรเทาอาการปวดจากแผลในกระเพาะอาหาร ปวดจากตับอ่อนอักเสบ การได้รับยาHyoscyamine เกินขนาด จะทำให้เกิดอาการหลอนประสาทโดยประสาทสัมผัสต่างๆมีความผิดเพี้ยน/สัมผัสเพี้ยน การมองเห็นภาพมัวจนอาจทำให้แปลผลผิด เกิดหูแว่ว การรับรสชาติและการดมกลิ่นผิดปกติ ร่วมกับสูญเสียความทรงจำในระยะสั้น มีอาการสับสน และวิตกกังวลร่วมด้วย
3. Scopolamine: เป็นยาลดอาการเมารถ-เมาเรือ บรรเทาอาการคลื่นไส้-อาเจียนหลังจากการผ่าตัด อาการหลอนประสาทของ Scopolamine มักมีอาการหวาดระแวง ความจำเสื่อม รู้สึกสับสน และมีอาการเพ้อร่วมกับมีไข้สูง
4. Chlorpheniramine: ใช้เป็นยาแก้แพ้ หลายครัวเรือนจะมียานี้ติดบ้าน การได้รับยานี้เกินขนาดสามารถทำให้เกิด อาการเข้าใจผิด เห็นภาพหรือได้ยินเสียงที่ไม่ได้มีอยู่จริง หรือมีอาการคล้ายเป็นโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar) ร่วมด้วย
5. Dimenhydrinate: ใช้เป็นยาแก้อาการเมารถ-เมาเรือ บรรเทาอาการคลื่นไส้ ผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดภาวะประสาทหลอนจะเป็นลักษณะของการได้ยินเสียงหรือ มีอาการหูแว่ว มีความจำเสื่อมชั่วคราว รู้สึกสับสนและไม่เป็นตัวของตัวเอง
6. Diphenhydramine: ใช้บรรเทาอาการแพ้จากหวัด บางครั้งก็ถูกใช้เป็นยานอนหลับ การได้รับยานี้เกินขนาดจะก่อให้เกิดภาวะหลอนประสาทแบบเห็นภาพที่ไม่มีอยู่จริง หรือได้ยินเสียงแว่วที่ไม่ได้เกิดขึ้น ร่วมกับมีอาการเพ้อคลั่ง
7. Doxylamine: ใช้เป็นยาแก้แพ้ช่วยลดน้ำมูก หรือใช้เป็นยานอนหลับระยะสั้นๆ การได้รับยานี้เกินขนาดจะมีภาวะหลอนประสาทต่างๆ เช่น รู้สึกว่าร่างกายตนเองขยายตัวขึ้น ได้ยินเสียงแว่วไกลๆ ได้ยินเสียงหัวเราะ เห็นภาพผู้คนที่ไม่มีอยู่จริงในขณะนั้น
กลไกการออกฤทธิ์ของเดลิเรียนท์เป็นอย่างไร?
เดลิเรียนท์เป็นกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ต่อต้านการทำงานของสารสื่อประสาทประเภท แอซิติลโคลีน(Acetylcholine) ทำให้ระดับของสารแอซิติลโคลีนถูกปลดปล่อยออกมา ได้ลดน้อยลงและขาดความสมดุล จึงส่งผลต่อการแปลสัญญาณประสาทผิดจากปกติ โดยทำให้ผู้ป่วยมีอาการเพ้อคลั่ง เซลล์ประสาทของการรับรู้ทำงานผิดเพี้ยนจนส่งผล ให้เห็นภาพหลอนและได้ยินเสียงแว่วต่างๆตามมา
ประโยชน์ของเดลิเรียนท์มีอะไรบ้าง?
เดลิเรียนท์เป็นกลุ่มยาที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางคลินิก อาทิ ใช้เป็นยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาป้องกันการเมารถเมาเรือ อย่างไรก็ตาม ยาเดลิเรียนท์มักถูกลักลอบนำมาใช้เป็นยากระตุ้นความบันเทิง หรือตั้งใจใช้เพื่อให้เกิดอาการหลอนประสาทในพิธีกรรมต่างๆ เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกายจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่มเดลิเรียนท์อย่างผิดวัตถุประสงค์เพราะมีผลต่อสภาพจิตและไม่ก่อให้เกิดประโยชน์เท่าใดนัก
บทสรุปของเดลิเรียนท์
ยาในกลุ่มเดลิเรียนท์เป็นกลุ่มยาที่กระตุ้นให้เกิดอาการหลอนประสาท/ประสาทหลอนแบบลักษณะเพ้อหรือคลุ้มคลั่ง ร่วมกับการเห็นภาพหลอน ได้ยินเสียงแว่วต่างๆ สารหลอนประสาทกลุ่มนี้เป็นยาประเภท Anticholinergic ซึ่งพบเห็นการใช้ในลักษณะของยาแก้แพ้ชนิดต่างๆ ประชาชนสามารถเข้าถึงยากลุ่มนี้ได้ง่ายด้ วยมีจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป ยากลุ่มนี้บางตัว ถูกนำมาใช้ในลักษณะของยากระตุ้นความบันเทิง ซึ่งผิดจากวัตถุประสงค์ทางคลินิก ส่งผลสุ่มเสี่ยงต่ออาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ที่ค่อนข้างรุนแรง และมีหลายกรณีที่ต้องนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลด้วยมีอาการรุนแรงและบางกรณีถึงกับทำให้เสียชีวิตไม่ว่าจากผลการรับประทานยาเกินขนาดหรือผลจากอุบัติเหตุที่มีสาเหตุจากภาพหลอนต่างๆ การใช้ยาประเภทนี้ไม่ว่าจะด้วยวัตถุประสงค์ใดก็ตาม ควรต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น
บรรณานุกรม
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/2036612 [2018,Feb10]
- http://www.rxwiki.com/hyoscyamine [2018,Feb10]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Hallucination [2018,Feb10]
- https://www.webmd.com/brain/what-are-hallucinations#1 [2018,Feb10]
- https://www.drugs.com/sfx/scopolamine-side-effects.html [2018,Feb10]
- http://patientsville.com/chlorpheniramine/hallucination.html [2018,Feb10]
- https://www.drugs.com/cdi/dimenhydrinate-injection.html [2018,Feb10]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Diphenhydramine#Overdose [2018,Feb10]
- https://www.reddit.com/r/Drugs/comments/1fa5hh/interesting_experience_with_doxylamine/ [2018,Feb10]
- https://psychonautwiki.org/wiki/Deliriant [2018,Feb10]