เดย์แคร์นมแม่คุณภาพใกล้บ้าน ตอนที่ 6

รูปธรรมการจัดบริการ เดย์แคร์นมแม่คุณภาพ

     จากประสบการณ์ การจัดทำโครงการพัฒนาเดย์แคร์นมแม่และการเลี้ยงดูแบบบูรณาการ เด็ก 3 ขวบปีแรก ในเดย์แคร์นมแม่ 7 แห่ง ภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข 4 แห่ง กระทรวงศึกษาธิการ 2 แห่งและ กรุงเทพมหานคร 1 แห่ง ทุกแห่งผ่านการประเมินตัวเอง ในระดับ A หมายถึงประเมินผ่านเกินร้อยละ 80  ภาพรวมรูปธรรมการจัดบริการ ที่ทุกหน่วยเห็นพ้องว่าควรมีการปรับปรุง เพื่อให้สอดรับแนวทาง การดูแลอย่างเอาใจใส่ เพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยรอบด้าน ผ่านขบวนการในกิจกรรมรายวัน  ดังนี้

  • การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ (Nutrition)
  • การให้อาหารตามวัย
  • การปลูกฝังพฤติกรรม ลดเสี่ยง โรคกลุ่ม NCDs เช่น ไม่ปฏิเสธผัก
  • Good health และ สุขภาพปากและช่องฟัน (Good health)
  • การคัดกรองพัฒนาการ DSPM และ Early detection (Red flag)
  • การให้ความสำคัญ การสร้าง ความรู้สึก ปลอดภัยและมั่นคง (Safe & security)
  • การเลี้ยงดูอย่างเอาใจใส่ (Responsive care)
  • การเลี้ยงดูคู่เรียนรู้ ในทุกโอกาส (Opportunity for early learning)
  • การใส่ใจปลูกฝัง รักโลก รักสิ่งแวดล้อม
  • การใส่ใจภัยสุขภาพจากเทคโนโลยี
  • ภาษาที่ 2
  • การพัฒนาสถานที่ อุปกรณ์และของใช้ในอาคาร
  • การพัฒนาสนามเด็กเล่น
  • การพัฒนาคุณภาพครู ผู้ดูแลเด็ก
  • การเชื่อมต่อผู้ปกครอง

ขอยกตัวอย่าง รูปธรรมกิจกรรมที่ควรจัดให้มีในการเลี้ยงดูเด็กรายวัน 

  • กลุ่มแนวทางโภชนาการ (Nutrition) เดย์แคร์จัดระบบสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้แม่ท้องที่ต้องการพาลูก มาใช้บริการเดย์แคร์ สนใจการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เมื่อจะรับเด็กเข้าเดย์แคร์ ให้คำแนะนำในการเตรียมนมแม่ มาส่งและมีการเตรียมพื้นที่ให้แม่มาให้นมได้ เรื่องการให้อาหารตามวัยนอกจากชนิดและปริมาณอาหารที่เด็กควรได้รับในแต่ละมื้อ ให้ให้ความสำคัญในการให้เด็กอยากกินอาหาร และจัดการเอาอาหารเข้าปากเอง เช่น มีพื้นที่ทำอาหารง่าย ๆ และหรือพาดูวิธีทำอาหาร และจัดภาชนะพื้นที่ให้เหมาะสมกับการให้เด็กฝึกกินเองได้ เรื่องการไม่ปฏิเสธผัก ซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญในการวิตามินเกลือแร่และสารป้องกันการอักเสบในโรคกลุ่ม NCDs ให้จัดระบบในเดย์แคร์ให้เด็กมีส่วนร่วมในการปลูกผัก เก็บ ล้าง หั่น และนำผักปรุงอาหาร จัดเมนูและมีวิธีให้เด็กกินเป็นเวลา และกินได้เอง เป็นต้น
  • กลุ่มแนวทางการส่งเสริมสุขภาพดี (Good health) ให้ความสำคัญกับการได้รับอาหารถูกหลักโภชนาการดังกล่าวข้างต้น พื้นที่เลี้ยงเด็กมีการถ่ายเทอากาศ ภาชนะของใช้ อุปกรณ์การเล่นไม่เสี่ยงการติดต่อของเชื้อโรค มีการดูแลสุขภาพฟัน เช่นการตรวจคราบจุลินทรีย์ (กรมอนามัย) การตรวจคัดกรอง พัฒนาการตามแนว DSPM การจัดเวลาและพื้นที่เพื่อการออกกำลังกายทั้งในร่มและกลางแจ้ง อย่างจริงจัง
  • กลุ่มแนวทางการเลี้ยงดู สร้างความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย ให้กับเด็ก (Safe & security) เรื่องนี้เป็นเรื่องต้องให้ความสำคัญมาก เพราะเป็นหัวใจของการจะก้าวต่อของพัฒนาการอื่น ๆ (จิตใจมีอิทธิพลมากกว่าร่างกาย) เด็ก 3 ขวบปีแรกยังไม่พร้อมการแยกจาก (Separation) จากครอบครัว นอกจากจะให้พ่อแม่เตรียมตัวเด็ก เช่นทำความรู้จักครู พื้นที่เดย์แคร์ การจะมารับลูกกลับเป็นเวลา ก็ควรให้มีพี่เลี้ยงที่เด็กให้ความไว้วางใจ มีเวลาดูแลเฉพาะ และถ้าเป็นไปได้ควรยืดหยุ่นให้ผู้เลี้ยงดูเข้ามาอยู่เป็นเพื่อนเด็กในเดย์แคร์ได้ จนกว่าเด็กจะพร้อมแยกจาก การจัดพื้นที่ในเดย์แคร์ที่ลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ เด็กสามารถวิ่ง เล่น ทำกิจกรรม ง่ายไม่ต้องเจอคำห้าม ดุ บ่อย ๆ การใช้โทนเสียงนุ่มนวล ในการคุย การปฏิบัติต่อเด็กอย่างให้เกียรติ เช่นการย่อตัวลดระดับคุยกับเด็ก เป็นต้น
  • กลุ่มการเลี้ยงดูอย่างเอาใจใส่ (Responsive care) ครูพี่เลี้ยงเดย์แคร์นมแม่คุณภาพ เข้าใจการตอบสนองความสนใจ ของเด็กอย่างเหมาะสม จากพื้นฐานเด็กวัยนี้เพิ่งได้พบโลก การเห็นสิ่งใด ๆ ถ้าสนใจ เด็กจะอยาก สัมผัส อม จับ ถือ เขวี้ยง ปา เขย่า ฯลฯ การให้เวลาเด็กสัมผัส เป็นการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ ครูไม่ควรรีบห้าม หรือหยุดพฤติกรรมเหล่านี้ ตราบใดที่ไม่ได้ทำเกิดปัญหา ทำร้ายตัวเอง ทำร้ายผู้อื่น และทำร้ายสิ่งของ รวมทั้งการต่อยอด กระตุ้นการอยากรู้ และเติมความรู้ วันละเล็กละน้อย เป็นต้น
  • กลุ่มการเลี้ยงดูคู่เรียนรู้ตั้งแต่เริ่มต้นวัย (Opportunity for early learning) เดย์แคร์นมแม่คุณภาพ เข้าใจว่า เด็กสามารถเรียนรู้ได้ทุกวัย และเรียนรู้กับ วิถีปฏิบัติของครูพี่เลี้ยง หรือสิ่งรอบตัวหรืออุปกรณ์ของใช้ทั่วไปได้ เช่น พาเด็กอาบน้ำ สัมผัส เสียงพูด อธิบายว่ากำลังทำอะไร พาเด็กถอดรองเท้าคุยกับเด็กเรื่องรองเท้า พาเก็บ พาเคาะผงฝุ่น จับรองเท้านิ่มแข็ง พาเด็กดูต้นไม้ใบไม้เด็ดฉีก ผีเสื้อ รังมด ฯลฯ
  • สำหรับ หัวข้อ การใส่ใจปลูกฝัง รักโลก รักสิ่งแวดล้อม การใส่ใจภัยสุขภาพจากเทคโนโลยี ภาษาที่ 2 การพัฒนาสถานที่ อุปกรณ์และของใช้ในอาคาร การพัฒนาสนามเด็กเล่น การพัฒนาคุณภาพครู ผู้ดูแลเด็ก การเชื่อมต่อผู้ปกครอง เป็นหัวข้อที่เดย์แคร์นมแม่คุณภาพ ต้องพัฒนาให้เกิดรูปธรรมการนำสู่การเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งปัจจุบันมีหลักสูตร ทั้งของกรมอนามัย สถาบันเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ของสวนเด็กสุทธาเวช ของภาคเอกชนและต่างประเทศ ที่มีการกล่าวถึงวิธีการเหล่านี้

จะเห็นว่ารูปธรรมกิจกรรมต่าง ๆ มีความเกี่ยวเนื่องกัน เช่นการส่งเสริม good health เกี่ยวเนื่องกับทั้งโภชนาการ และการปรับปรุงสนามเด็กเล่น การเลี้ยงดูเอาใจใส่ก็เกี่ยวเนื่องกับการสร้างโอกาสการเรียนรู้แต่เบื้องต้น จากประสบการณ์การลงเยี่ยมเดย์แคร์นมแม่คุณภาพทั้ง 7 แห่ง มีความพยายามในการปรับปรุงการดำเนินกิจกรรม ในแนว 15 ข้อรูปธรรม ในระดับทีมีการแตกต่างกันบ้าง แต่อยู่ในวิสัยที่สามารถทำได้ ปัจจัยที่จะช่วยให้เดย์แคร์นมแม่คุณภาพเกิดได้มากขึ้นคือ

  • นโยบายผู้บริหาร
  • สังคมเห็นความสำคัญของ การปลูกฝังโครงสร้างสมองในเด็ก 3 ขวบปีแรก
  • มีระบบการโคช ครูพี่เลี้ยงให้เข้าใจหลักการการเลี้ยงดู
  • การปรับสิ่งแวดล้อม อาคารสถานที่ ให้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ เช่น รก ร้อน สีสันฉูดฉาด ฯลฯ
  • มีอัตราครู ต่อ จำนวนเด็กตามมาตรฐานการพัฒนาเด็กปฐมวัย
  • มีระบบการดูแลบุคลากร ให้มีความสุขและมีสุขภาวะที่ดี