เดซิพรามีน (Desipramine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเดซิพรามีน(Desipramine) หรืออีกชื่อ คือ Desmethylimipramine เป็นยาต้านเศร้าในกลุ่ม Tricyclic antidepressant (TCA) ถูกพัฒนามาจากยาอิมิพรามีน (Active metabolite of Imipramine) ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจะมีความผิดปกติคือมีปริมาณน้อยลงไปของสารสื่อประสาทบางชนิดในสมอง อย่างเช่น Norepinephrine (Noradrenaline) และ Serotonin ยาเดซิพรามีนจะออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดคืนกลับเข้าสู่สมองของสารสื่อประสาทดังกล่าว ส่งผลให้ปริมาณ Norepinephrine และ Serotonin มีเพียงพอเหมาะสมจนเกิดสมดุลที่ทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาเดซิพรามีนจะเป็นยาชนิดรับประทาน และจากการศึกษาการกระจายตัวของยาในร่างกายมนุษย์พบว่า ยาเดซิพรามีนสามารถดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ประมาณ 73-92% เมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือด ตับจะคอยเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยานี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 21 - 125 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านไปกับปัสสาวะ

ยาเดซิพรามีนสามารถออกฤทธิ์ได้เร็วกว่ายาอิมิพรามีน (Imipramine) กล่าวคือ หลังจากผู้ป่วยได้รับยาเดซิพรามีนไปแล้วประมาณ 2 – 5 วัน อาการซึมเศร้าจะเริ่มดีขึ้น แต่จะให้ประสิทธิผลของการรักษาสูงสุดเมื่อใช้ยาเดซิพรามีนนี้ไปประมาณ 2 – 3 สัปดาห์

ข้อพึงระวังประการหนึ่งของการใช้ยาต้านโรคซึมเศร้าที่รวมถึงยาเดซิพรามีน คือ สามารถส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้บริโภค/ผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกอยากทำร้ายตนเอง ซึ่งอาการเหล่านี้จะปรากฏเด่นชัดในผู้ป่วยที่มีอายุน้อย ดังนั้น ทางคลินิก จึงระบุ ไม่ให้ใช้ยานี้กับกลุ่มผู้ป่วยเด็ก

นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดอื่นๆซึ่งถือเป็นข้อห้ามหรือข้อควรระวังในการใช้ยาเดซิพรามีนที่ผู้บริโภคควรทราบ ก่อนใช้ยานี้ อาทิ

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่เพิ่งมีอาการหัวใจล้มเหลวมาใหม่ๆ
  • ห้ามใช้ยานี้ภายใน 14 วัน หากผู้ป่วยมีการใช้ยากลุ่ม MAOI (อย่างเช่น Isocarboxazid, Linezolid), ยาฉีดMethylene blue, ยา Phenelzine, Rasagiline, Selegiline, หรือ Tranylcypromine(ยาต้านเศร้า)
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ด้วยยังไม่มี ข้อมูลความปลอดภัยอย่างเพียงพอว่ายาเดซิพรามีนสามารถส่งผลต่อทารกได้มากน้อย เพียงใด
  • หากผู้ป่วยมีโรคประจำตัวอื่นร่วมด้วย ควรต้องแจ้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ให้ทราบทุกครั้ง โดยเฉพาะโรคต่างๆต่อไปนี้ เช่น โรคอารมณ์สองขั้ว โรคตับ โรคหัวใจ โรคลมชัก โรคต่อมไทรอยด์ โรคเบาหวาน ต้อหิน รวมถึงผู้ที่มีปัญหาเรื่องการปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะขัด
  • กรณีที่ผู้ป่วยต้องเข้ารับการผ่าตัด แพทย์อาจต้องสั่งหยุดการใช้ยาเดซิพรามีนเป็น ระยะเวลาสั้นๆจนกว่าผู้ป่วยจะฟื้นตัวจากการผ่าตัดแล้ว
  • อาจต้องใช้ยานี้เป็นเวลาประมาณ 4 สัปดาห์ต่อเนื่อง เพื่อที่จะทำให้อาการซึมเศร้าดีขึ้น หากอาการซึมเศร้าไม่ทุเลาหรือมีอาการแย่ลง ผู้ป่วยจะต้องรีบแจ้งแพทย์ พยาบาล/รีบกลับมาโรงพยาบาลก่อนนัด
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพราะมีรายงานว่า ผู้ที่ดื่มสุราร่วมกับยานี้ อาจเสียชีวิตได้

ทั้งนี้ การใช้ยาเดซิพรามีนยังสามารถส่งผลข้างเคียงต่างๆต่อร่างกายได้อีก เช่น อ่อนเพลีย รู้สึกสับสน นอนไม่หลับ ปากแห้ง คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น แต่หากพบอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ที่รุนแรงตามมาอย่างเช่น ปัสสาวะขัด เต้านมโตขึ้น หรือประสาทหลอน ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว

ญาติผู้ป่วยจะมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยเฝ้าระวังพฤติกรรมการรับประทานยาเดซิพรามีนของผู้ป่วยให้ได้อย่างถูกขนาดยา การใช้ยานี้ต่อเนื่อง และไม่ปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง ซึ่งสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ผู้ป่วยจะต้องมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง ทั้งนี้เพื่อให้แพทย์ตรวจประเมินและติดตามผลของการรักษาว่าประสบความสำเร็จเพียงใด

เดซิพรามีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เดซิพรามีน

ยาเดซิพรามีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ บำบัดรักษาภาวะ/โรคซึมเศร้า

เดซิพรามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาเดซิพรามีนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดคืนกลับเข้าสู่เซลล์สมองของสารสื่อประสาท Norepinephrine รวมถึง Serotonin ส่งผลให้สารสื่อประสาทดังกล่าวในสมองมีปริมาณความเหมาะสม จนทำให้สภาพอารมณ์ซึมเศร้าของผู้ป่วยกลับมาดีขึ้นตามลำดับ

เดซิพรามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเดซิพรามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 10, 25, 50, 75, 100, และ 150 มิลลิกรัม/เม็ด

เดซิพรามีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเดซิพรามีนมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 100 – 200 มิลลิกรัม/วัน ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 300 มิลลิกรัม/วัน
  • วัยรุ่นและผู้สูงอายุ: รับประทานยาขนาด 25 – 100 มิลลิกรัม/วัน ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 150 มิลลิกรัม/วัน

*อนึ่ง:

  • เด็ก: ห้ามใช้ยานี้ในเด็ก
  • การเริ่มใช้ยานี้กับผู้ป่วย โดยทั่วไป แพทย์จะเลือกใช้ยาในขนาดที่ต่ำก่อน จากนั้นจะประเมินอาการผู้ป่วย ว่าสมควรปรับขนาดรับประทานอย่างใด
  • สามารถรับประทานยานี้ ก่อนหรือหลัง อาหารก็ได้
  • ความถี่ของการรับประทานยานี้ให้ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมว่า สมควรแบ่งยารับประทานในแต่ละวัน หรือจะรับประทานวันละ 1ครั้ง

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเดซิพรามีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเดซิพรามีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเดซิพรามีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิภาพของการรักษาควรรับประทานยาเดซิพรามีนตรงเวลา

เดซิพรามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเดซิพรามีนอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อสภาวะทางจิตใจ: เช่น รู้สึกสับสน ประสาทหลอน วิตกกังวล กระสับกระส่าย ฝันร้าย นอนไม่หลับ อารมณ์ทางเพศถดถอย เกิดพฤติกรรมอยากทำร้ายตนเอง
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น หูอื้อ ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน เดินเซ ตัวสั่น มีอาการชัก ง่วงนอน วิงเวียน ปวดศีรษะ เกิดภาวะ Serotonin syndrome
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำหรือไม่ก็สูง ชีพจรเต้นผิดปกติ หัวใจหยุดเต้น หัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หน้าแดง เสียชีวิตทันทีจากหัวใจหยุดเต้น
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น ทำให้เต้านมโตทั้งในชายและหญิง น้ำตาลในเลือดต่ำหรือไม่ก็สูง
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะขัด อัณฑะบวม ปัสสาวะบ่อย ปวดขณะหลั่งน้ำอสุจิ
  • ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า รูม่านตาขยาย แรงดัน/ความดันตาสูงขึ้น
  • ผลต่อตับ: เช่น ตับอักเสบ ตัวเหลืองตาเหลือง
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะกดการทำงานของไขกระดูก
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปากแห้ง ท้องผูกหรือท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน เกิดตะคริวที่ท้อง กระเพาะอาหารอักเสบ ลิ้นมีสีคล้ำ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ลมพิษ แพ้แสงแดด ผมร่วง
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำหนักตัวเพิ่มหรือไม่ก็ลดลง เบื่ออาหาร

มีข้อควรระวังการใช้เดซิพรามีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเดซิพรามีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ร่วมกับยากลุ่ม MAOI
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ด้วยมีรายงานทำให้เสียชีวิตได้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่งจาก แพทย์ผู้รักษา
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเองเด็ดขาด การได้รับยานี้เกินขนาดสามารถก่อผลเสียต่อผู้ป่วยได้อย่างรุนแรงจนอาจเสียชีวิตได้ เช่น ภาวะหัวใจหยุดเต้น
  • การใช้ยานี้กับผู้ป่วยวัยรุ่น ผู้สูงอายุ แพทย์ต้องลดขนาดการรับประทานลง ซึ่ง เป็นไปตามดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
  • ขณะใช้ยานี้ หากมีอาการวิงเวียน ให้หลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะ หรือการ ทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักร เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ระวังการใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยโรคลมชัก ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยต่อมลูกหมากโต ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคต้อหิน ผู้ป่วยที่ขับถ่ายปัสสาวะลำบาก/ปัสสาวะขัด ด้วยยาเดซิพรามีนอาจทำให้อาการป่วยดังกล่าวกำเริบมากขึ้น
  • ระหว่างการใช้ยานี้ ญาติต้องเฝ้าระวังพฤติกรรมการทำร้ายตนเองหรืออยากฆ่าตัวตายของผู้ป่วย หากพบอาการดังกล่าว ต้องรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันนัด
  • ปฏิบัติตัวตามคำสั่ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเดซิพรามีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.comบทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เดซิพรามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเดซิพรามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาเดซิพรามีนร่วมกับยา Pyrilamine, Paroxetine อาจทำให้มีอาการง่วงนอน ตาพร่า ปากแห้ง หน้าแดง เหงื่อออกน้อย ปัสสาวะลำบาก/ปัสสาวะขัด เกิดปัญหาด้านความจำ และอื่นๆตามมา เพื่อเป็นการป้องกันอาการข้างเคียงดังกล่าว ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • ห้ามใช้ยาเดซิพรามีนร่วมกับยา Anagrelide, Sotalol ด้วยจะทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเดซิพรามีนร่วมกับยา Meperidine, Milnacipran(ยาต้านเศร้า), Trazodone, ด้วยจะเพิ่มความเสี่ยงการเกิดภาวะ Serotonin syndrome ตามมา
  • การใช้ยาเดซิพรามีนร่วมกับยา Tramadol อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะลมชัก หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานยาให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป

ควรเก็บรักษาเดซิพรามีนอย่างไร?

ควรเก็บยาเดซิพรามีน ในช่วงอุณหภูมิ 15 – 30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงสว่าง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

เดซิพรามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเดซิพรามีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Norpramin (นอร์พรามีน)Sanofi-Aventis
Pertofrane (เพอโตเฟรน) Bayer Novartis

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/pro/desipramine.html [2016,Sept3]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Desipramine [2016,Sept3]
  3. https://www.drugs.com/sfx/norpramin-side-effects.html [2016,Sept3]
  4. https://www.drugs.com/drug-interactions/desipramine,norpramin-index.html?filter=3&generic_only= [2016,Sept3]
  5. http://buymedicinesx.com/buy-pertofrane-tab-25mg-price-side-effects-atc/ [2016,Sept3]