เดกซ์แลนโซพราโซล (Dexlansoprazole)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเดกซ์แลนโซพราโซล(Dexlansoprazole) เป็นยาลดกรดประเภทโปรตอน-ปั๊ม อินฮิบิเตอร์ (Proton-pump inhibitor) ทางคลินิกใช้รักษาแผลในหลอดอาหารด้วยกรดของกระเพาะอาหาร/หลอดอาหารอักเสบ(Erosive esophagitis)ที่เกิดจากภาวะกรดไหลย้อน ยาเดกซ์แลนโซพราโซลมีสูตรโมเลกุลเหมือนยาแลนโซพราโซล (Lansoprazole) คือ C16H14F3N3O2S แต่มีการจัดเรียงตัวของอะตอมในโมเลกุลที่แตกต่างกัน รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาเดกซ์แลนโซพราโซลเป็นยาแบบรับประทาน ตัวยาในกระแสเลือดจะโดนเปลี่ยนโครงสร้างโดยตับ และถูกกำจัดออกจากร่างกายโดยผ่านไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

อย่างไรก็ตามมีข้อควรระวังและคำเตือนสำหรับการใช้ยาเดกซ์แลนโซพราโซล ดังนี้ เช่น

  • ผู้ป่วยต้องทำความเข้าใจว่า ยาเดกซ์แลนโซพราโซลไม่สามารถนำมารักษาโรคมะเร็ง กระเพาะอาหารได้
  • การใช้ยาเดกซ์แลนโซพราโซล จะก่อให้เกิดความเสี่ยงของการติดเชื้อแบคทีเรียชนิด Clostridium difficile ที่เป็นสาเหตุให้มีอาการท้องเสีย ซึ่งมักจะพบในผู้ป่วยที่ใช้ยานี้ขณะอยู่ในสถานพยาบาล และเป็นสาเหตุหนึ่งที่แพทย์ต้องแนะนำการใช้ยานี้ที่ขนาดต่ำ และใช้ระยะเวลาของการรับประทานยานี้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
  • ผู้ที่ใช้ยาเดกซ์แลนโซพราโซลจะมีความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนและเป็นเหตุให้ กระดูกหักง่ายโดยเฉพาะกระดูกสะโพกและกระดูกสันหลัง
  • การใช้ยากลุ่มโปรตอน-ปั๊ม อินฮิบิเตอร์อย่างเช่น เดกซ์แลนโซพราโซลเป็นเวลาต่อเนื่อง 3 เดือน อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง โดยทำให้มีภาวะแมกนีเซียมในเลือด/ในร่างกายต่ำ เป็นผลให้มีอาการชักและหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • การใช้ยาเดกซ์แลนโซพราโซลร่วมกับยาMethotrexate สามารถทำให้ร่างกายได้รับพิษ/ผลข้างเคียงรุนแรงจากยา Methotrexate มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมียาอีกหลายรายการที่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกับยาเดกซ์แลนโซพราโซล เช่นยา Ampicillin, Atazanavir, Digoxin, Ketoconazole, Warfarin, Tacrolimus เป็นต้น
  • แจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทุกครั้ง เมื่อเข้ารับการตรวจรักษาว่า ตนเองมีโรคประจำตัวอะไรบ้าง โดยเฉพาะโรคตับ หรืออยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมของมารดา

ในประเทศไทย ยาเดกซ์แลนโซพราโซลถูกจัดให้อยู่ในหมวดยาควบคุมพิเศษที่มีอันตราย ซึ่งต้องใช้ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น และเราจะพบเห็นการใช้ยานี้แต่ในสถานพยาบาลภายใต้ชื่อการค้าว่า Dexilant

เดกซ์แลนโซพราโซลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เดกซ์แลนโซพราโซล

ยาเดกซ์แลนโซพราโซลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาแผลในหลอดอาหารที่เกิดจากหลอดอาหารอักเสบด้วยเหตุจากกรดของกระเพาะอาหาร(Erosive esophagitis)จากโรคกรดไหลย้อน
  • รักษาอาการกรดไหลย้อนที่ไม่มีภาวะหลอดอาหารอักเสบ (Non-erosive GERD)

เดกซ์แลนโซพราโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเดกซ์แลนโซพราโซล มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะกดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร โดยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ชนิด (H+,K+)-ATPase ซึ่งอยู่ภายในเซลล์ของต่อมน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร คือ Parietal cell การที่กระเพาะอาหารมีการปลดปล่อยกรดน้อยลงอย่างเหมาะสม จะทำให้อาการหลอดอาหารอักเสบดีขึ้น และมีภาวะกรดไหลย้อนลดลงตามลำดับ

เดกซ์แลนโซพราโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเดกซ์แลนโซพราโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ที่บรรจุตัวยา Dexlansoprazole 30 และ 60 มิลลิกรัม/แคปซูล

เดกซ์แลนโซพราโซลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเดกซ์แลนโซพราโซลมีขนาดรับประทาน เช่น

ก. สำหรับบำบัดแผลในหลอดอาหารที่เกิดจากกรดในกระเพาะอาหาร(Erosive esophagitis)

  • ผู้ใหญ่ รับประทาน 60 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง เป็นเวลา 8 สัปดาห์

ข. สำหรับบำบัดอาการกรดไหลย้อนที่ไม่มีภาวะหลอดอาหารอักเสบ (Non-erosive GERD):

  • ผู้ใหญ่ รับประทาน 30 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง เป็นเวลา 4 สัปดาห์

ค. สำหรับควบคุมอาการหลอดอาหารอักเสบและบำบัดภาวะแสบร้อนกลางอก:

  • ผู้ใหญ่ รับประทาน 30 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง ในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน

อนึ่ง:

  • รับประทานยานี้ต่อเนื่อง ตรงตามขนาด และเวลาที่แพทย์กำหนด
  • สามารถรับประทานยานี้ ก่อนหรือพร้อม อาหารก็ได้
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ หรือหยุดรับประทานด้วยตนเอง
  • เด็ก: การใช้ยานี้ และขนาดยา ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวม ยาเดกซ์แลนโซพราโซล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต รวมถึงกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่เพราะยาเดกซ์แลนโซพราโซลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเดกซ์แลนโซพราโซล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อนึ่งในผู้ป่วยแต่ละราย แพทย์อาจแนะนำวิธีรับประทานยาเมื่อลืมรับประทานในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นกับอาการเจ็บป่วยของโรคแต่ละประเภท ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ล่วงหน้าไว้ก่อนว่า ควรทำอย่างไรเมื่อตนเองลืมรับประทานยา

และเพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาเดกซ์แลนโซพราโซลตรงเวลาเสมอ

เดกซ์แลนโซพราโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเดกซ์แลนโซพราโซลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น ทำให้มีภาวะโลหิตจาง
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นช้า หรือหัวใจเต้นเร็ว เจ็บหน้าอก บวมตามร่างกาย หัวใจขาดเลือด ชีพจรเต้นผิดปกติ ความดันโลหิตสูง
  • ผลต่อหู: เช่น ปวดในรูหู หูดับ
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น เกิดภาวะคอพอก ประจำเดือนผิดปกติ
  • ผลต่อตา: เช่น ระคายเคืองตา รอบตาบวม
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น รู้สึกไม่สบายในช่องท้อง แน่นท้อง อุจจาระผิดปกติ มีอาการเรอ ลำไส้ใหญ่อักเสบ ปั่นป่วนในกระเพาะอาหาร ท้องผูก ปากแห้ง ท้องอืด เกิดภาวะ/โรคไอบีเอส(IBS) อุจจาระมีเมือกปน เกิดเม็ด/ตุ่มภายในปาก เลือดออกบริเวณทวารหนัก
  • ผลต่อตับ: เช่น เกิดภาวะตับโต ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่ม
  • ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค: เช่น เกิดเริมที่บริเวณริมฝีปาก เยื่อจมูกอักเสบ และคออักเสบ ไซนัสอักเสบ ติดเชื้อบริเวณช่องคลอด/ช่องคลอดอักเสบ
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ฝันประหลาด วิตกกังวล ซึมเศร้า นอนไม่หลับ
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หอบหืด หลอดลมอักเสบ ไอ หายใจขัด สะอึก เจ็บคอ หายใจลำบาก
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดสิว ผื่นผิวหนังอักเสบ มีผื่นคัน ผิวหนังเป็นแผล มีลมพิษ เกิดภาวะStevens-Johnson syndrome
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เกลือโซเดียมในเลือดต่ำ และเกลือแมกนีเซียมในร่างกาย/ในเลือดต่ำ
  • ผลต่อไต: เช่น ไตวายเฉียบพลัน
  • ผลต่อกระดูก: เช่น กระดูกหักง่าย

มีข้อควรระวังการใช้เดกซ์แลนโซพราโซลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเดกซ์แลนโซพราโซล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคตับระยะรุนแรง ผู้ที่มีเกลือแมกนีเซียมในร่างกายอยู่ในระดับต่ำ ผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุน
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มี คำสั่งแพทย์
  • ห้ามรับประทานยานี้เกินขนาด หรือปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • หลังการรับประทานยานี้แล้วพบอาการปวดท้องอย่างรุนแรง ถ่ายเหลวเป็นน้ำ อุจจาระมีเลือดปน/อุจจาระเป็นเลือด เกิดภาวะชัก ปัสสาวะถี่/บ่อย มีเลือดปนในปัสสาวะ/ปัสสาวะเป็นเลือด ตัวบวม ต้องรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที
  • กรณีที่เกิดภาวะเกลือแมกนีเซียมในร่างกายต่ำกว่าปกติหลังจากการใช้ยานี้ จะ สังเกตได้จากอาการชี้นำ เช่น รู้สึกวิงเวียน สับสน หัวใจเต้นเร็ว มีภาวะตัวสั่น ไอ เป็นตะคริวที่มือและเท้า ให้หยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรีบพาผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที
  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคไต
  • มาตรวจร่างกาย/มาโรงพยาบาลตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเดกซ์แลนโซพราโซลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เดกซ์แลนโซพราโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเดกซ์แลนโซพราโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาเดกซ์แลนโซพราโซลร่วมกับยาต้านไวรัส อย่างยา Atazanavir, Nelfinavir, Rilpivirine ด้วยฤทธิ์ลดการหลั่งกรดของยาเดกซ์แลนโซพราโซลจะทำให้การดูดซึมของยาต้านไวรัสดังกล่าวลดต่ำลงจนส่งผลต่อการรักษาของผู้ป่วยเอชไอวี
  • ห้ามใช้ยาเดกซ์แลนโซพราโซลร่วมกับยาMethotrexate ด้วยจะทำให้ระดับยา Methotrexateในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้น จนทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงต่างๆของยาMethotrexateสูงขึ้นตามมา กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยาเดกซ์แลนโซพราโซลร่วมกับยาErlotinib ด้วยจะทำให้ การดูดซึมของยาErlotinib ลดต่ำลง กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน อาจเว้นระยะเวลาการรับประทานให้ห่างกันอย่างเหมาะสมตามคำแนะนำของแพทย์/เภสัชกร

ควรเก็บรักษาเดกซ์แลนโซพราโซลอย่างไร?

ควรเก็บยาเดกซ์แลนโซพราโซล ภายใต้อุณหภูมิ 15-30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ ไม่เก็บยาที่หมดอายุแล้ว และ ห้ามทิ้งยาลงในแม่น้ำลำคลองหรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติ

เดกซ์แลนโซพราโซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเดกซ์แลนโซพราโซล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Dexilant(เดกซิแลนต์)Takeda

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Kapidex

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Dexlansoprazole [2018,July21]
  2. https://www.drugs.com/drug-interactions/dexlansoprazole-index.html?filter=3 [2018,July21]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/dexilant [2018,July21]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/dexlansoprazole/?type=brief&mtype=generic [2018,July21]
  5. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2012/022287s014lbl.pdf [2018,July21]