เดกซ์คลอเฟนิรามีน (Dexchlorpheniramine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเดกซ์คลอเฟนิรามีน(Dexchlorpheniramine หรือ Dexchlorpheniramine maleate) เป็นยาแก้แพ้/ยาต้านสารฮีสตามีน(Antihistamine)ที่มีฤทธิ์เป็นแอนติโคลิเนอร์จิก(Anticholinergic)ร่วมด้วย ทางคลินิกนำมาใช้รักษาอาการแพ้ของร่างกาย เช่น ไข้ละอองฟาง(Hay fever) ลมพิษ(Urticaria) เป็นต้น ตัวยาชนิดนี้/ยานี้มีสูตรโมเลกุลเหมือนกับยาคลอเฟนิรามีน(Chlorpheniramine) คือ C16H19ClN2 แต่มีการจัดเรียงโครงสร้างของอะตอมที่แตกต่างกัน ที่เรียกว่าเป็น ไอโซเมอร์/Isomer เราจึงเรียก ยาเดกซ์คลอเฟนิรามีน และยาคลอเฟนิรามีนว่า เป็นไอโซเมอร์กัน

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาเดกซ์คลอเฟนิรามีน เป็นแบบรับประทาน ทั้งชนิดเม็ดและยาน้ำเชื่อมสำหรับเด็ก ยาเดกซ์คลอเฟนิรามีนมีความปลอดภัยต่อการนำมาใช้กับสตรีมีครรภ์ก็จริง แต่จะต้องอยู่ภายใต้คำสั่งการใช้จากแพทย์เท่านั้น

ทั้งนี้ มีข้อมูลสำคัญบางประการที่ผู้ใช้ยาเดกซ์คลอเฟนิรามีนควรทราบ ดังนี้

  • ยาเดกซ์คลอเฟนิรามีน สามารถทำให้มีอาการ วิงเวียนหรือง่วงนอน จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรต่างๆเพราะจะส่งผลเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ ด้วยจะทำให เกิดอาการวิงเวียนมากยิ่งขึ้น
  • ห้ามเคี้ยวยาเดกซ์คลอเฟนิรามีนชนิดที่มีรูปแบบออกฤทธิ์นาน(Timed-release forms) เพราะจะทำให้ระยะเวลาของการออกฤทธิ์ของยาสั้นลง
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคต้อหิน เพราะตัวยาจะทำให้ความดันลูกตาสูงเพิ่มมากยิ่งขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้กับผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยต่อมลูกหมากโต บีพีเอช ผู้ที่มีปัญหา ปัสสาวะลำบาก ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจ หรือผู้ที่ป่วยด้วยโรคหืด ด้วยยาชนิดนี้จะทำให้อาการโรคทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาเดกซ์คลอเฟนิรามีนกับผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวแพทย์ อาจเริ่มให้ยานี้ที่ขนาดต่ำที่สุด
  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็กทารก
  • การใช้กับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีในภาวะให้นมบุตร ด้วยตัวยาสามารถส่งผ่านไปทางน้ำนมมารดา และเข้าสู่ร่างกายทารกได้

อย่างไรก็ตาม หากใช้ยาเดกซ์คลอเฟนิรามีนแล้วกลับทำให้มีอาการหอบหืด เกิดผื่นคันตามร่างกาย รู้สึกหัวใจเต้นเร็ว เจ็บแน่นหน้าอก หรือมีไข้สูง ซึ่งเป็นลักษณะของการแพ้ยานี้ ผู้ป่วยจะต้องหยุดการใช้ยานี้ทันที และรีบมาโรงพยาบาลทันที

ในประเทศไทย เราสามารถพบเห็นการใช้ยาเดกซ์คลอเฟนิรามีน ได้ตามสถาน พยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน หรือซื้อหาได้จากร้านขายยาทั่วไป

เดกซ์คลอเฟนิรามีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เดกซ์คลอเฟนิรามีน

ยาเดกซ์คลอเฟนิรามีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ

  • รักษาอาการแพ้ต่างๆ เช่น ไข้ละอองฟาง ลมพิษ ผื่นคันตามผิวหนัง อาการคันจมูก อาการจาม การระคายเคืองและคันตา

เดกซ์คลอเฟนิรามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเดกซ์คลอเฟนิรามีนมีกลไกการออกฤทธ์โดย ตัวยาจะเข้าแข่งขันกับสารฮีสตามีนในการเข้าจับกับตัวรับ(Receptor)ที่มีชื่อเรียกว่า เอชวัน รีเซพเตอร์ (H1 receptor) ซึ่งพบมากใน ระบบทางเดินอาหาร หลอดเลือด และระบบทางเดินหายใจ ทำให้ฮีสตามีนไม่สามารถแสดงฤทธิ์ออกมา จึงเป็นผลให้เกิดฤทธิ์ในการรักษาได้ตามสรรพคุณ

เดกซ์คลอเฟนิรามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเดกซ์คลอเฟนิรามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Dexchlorpheniramine maleate 2 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาเม็ดชนิดรับประทานแบบออกฤทธิ์นาน ที่ประกอบด้วย Dexchlorpheniramine maleate ขนาด 4 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาน้ำเชื่อมชนิดรับประทานที่ประกอบด้วย Dexchlorpheniramine maleate ขนาด 0.4 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

เดกซ์คลอเฟนิรามีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเดกซ์คลอเฟนิรามีน มีขนาดรับประทานสำหรับบรรเทาอาการแพ้ต่างๆ เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 2 มิลลิกรัม ทุกๆ 4 – 6 ชั่วโมง ขนาดรับประทานยาสูงสุดไม่เกิน 12 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุ 2 – 5 ปี: รับประทานยาครั้งละ 0.5 มิลลิกรัม ทุกๆ 4 – 6 ชั่วโมง ขนาดรับประทานยาสูงสุดไม่เกิน 3 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุ 6 – 12 ปี: รับประทานยาครั้งละ 1 มิลลิกรัม ทุกๆ 4 – 6 ชั่วโมง ขนาดรับประทานยาสูงสุดไม่เกิน 6 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุต่ำกว่า2ปี: ห้ามใช้ยานี้

อนึ่ง:

  • สามารถรับประทานยาก่อนหรือหลังอาหาร
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเดกซ์คลอเฟนิรามีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ โรคแผลในกระเพาะอาหาร รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเดกซ์คลอเฟนิรามีน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเดกซ์คลอเฟนิรามีน สามารถรับประทานยานี้ทันทีที่นึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยานี้ในครั้งถัดไป ห้ามรับประทานยานี้เพิ่มเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาเดกซ์คลอเฟนิรามีนที่ขนาดปกติ

การได้รับยาเกินขนาดควรทำอย่างไร?

การได้รับยาเดกซ์คลอเฟนิรามีนเกินขนาด อาจทำให้เกิดปฏิกิริยากดหรือกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง โดยเฉพาะในเด็ก ยานี้จะกระตุ้นให้มีอาการปากแห้ง รูม่านตาขยาย

  • การแก้ไขในผู้ใหญ่อาจให้ผู้ป่วยดื่มน้ำหรือดื่มนม แล้วกระตุ้นให้อาเจียน หรือ รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที
  • สำหรับเด็กที่ได้รับยานี้เกินขนาด ควรรีบนำตัวเด็กส่งโรงพยาบาลทันที

เดกซ์คลอเฟนิรามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเดกซ์คลอเฟนิรามีน อาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ทำให้ปากและคอแห้ง เกิดอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ทำให้ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะลำบาก
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น อาจทำให้เกิดลมพิษ
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ง่วงนอนหรือนอนไม่หลับ วิงเวียน อาจทำให้มีอาการเดินเซ รู้สึกสับสน กระสับกระส่าย ตัวสั่น มีอาการเคลิบเคลิ้ม เกิดความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน เส้นประสาทอักเสบ และอาจทำให้เกิดอาการชัก
  • ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า เห็นภาพซ้อน
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น มีการหลั่งเมือกในหลอดลม/เสมหะมากขึ้น แน่นหน้าอก คัดจมูก หายใจเสียงหวีด

มีข้อควรระวังการใช้เดกซ์คลอเฟนิรามีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเดกซ์คลอเฟนิรามีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาชนิดนี้
  • ห้ามรับประทานยาเกินขนาด
  • ถึงแม้จะเป็นยาที่มีความปลอดภัย แต่การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคไต
  • เมื่ออาการแพ้ดีขึ้น สามารถหยุดการใช้ยานี้ได้ นอกจากแพทย์ให้รับประทานต่อเนื่อง
  • ออกกำลังกาย รับประทานอาหาร และพักผ่อนอย่างเหมาะสม เพื่อทำให้ร่างกาย แข็งแรงและช่วยลดภาวะภูมิแพ้ต่างๆ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเดกซ์คลอเฟนิรามีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เดกซ์คลอเฟนิรามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเดกซ์คลอเฟนิรามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเดกซ์คลอเฟนิรามีนร่วมกับยา Hydrocodone , Pentazocine , และTramadol ด้วยจะทำให้เกิดอาการข้างเคียงอย่างเช่น เวียนศีรษะ ง่วงนอน รู้สึกสับสน มากยิ่งขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเดกซ์คลอเฟนิรามีนร่วมกับ ยาCarbinoxamine ด้วยจะทำให้ตาพร่า ปากแห้ง เกิดภาวะลมแดด ได้ง่ายมากขึ้น
  • ห้ามใช้ยาเดกซ์คลอเฟนิรามีนร่วมกับ ยากลุ่ม MAOI เพราะจะทำให้มีภาวะ/โรคความดันโลหิตต่ำตามมา

ควรเก็บรักษาเดกซ์คลอเฟนิรามีนอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาเดกซ์คลอเฟนิรามีน ดังนี้ เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • ไม่เก็บยาที่หมดอายุแล้ว
  • ห้ามทิ้งยาลงในแม่น้ำลำคลอง หรือในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ

เดกซ์คลอเฟนิรามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเดกซ์คลอเฟนิรามีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Polaramine (โพลารามีน)Bayer
Dexchlorpheniramine BJ (เดกซ์คลอเฟนิรามีน บีเจ)Benjaosoth

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Dexchlorpheniramine [2018,Sept29]
  2. https://www.drugs.com/mtm/dexchlorpheniramine.html [2018,Sept29]
  3. https://www.mims.com/thailand/drug/info/dexchlorpheniramine/?type=brief&mtype=generic [2018,Sept29]
  4. http://www.medsafe.govt.nz/Consumers/CMI/p/polaramine.pdf [2018,Sept29]
  5. https://www.drugs.com/sfx/dexchlorpheniramine-side-effects.html [2018,Sept29]
  6. https://www.drugbank.ca/drugs/DB09555 [2018,Sept29]
  7. https://www.goodrx.com/dexchlorpheniramine/what-is [2018,Sept29]