เซโรโทนิน-โดพามีน แอนตาโกนิสต์/เอสดีเอ (Serotonin-Dopamine Antagonists)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเซโรโทนิน-โดพามีน แอนตาโกนิสต์(Serotonin-Dopamine Antagonists)หรือเรียกย่อๆว่า เอสดีเอ(SDA) หรือ Atypical antipsychotics หรือ Atypical antipsychotic drug เป็นกลุ่มยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของสารสื่อประสาทอย่าง โดพามีน(Dopamine) และเซโรโทนิน(Serotonin)ในระบบประสาทส่วนกลางของมนุษย์ สารโดพามีนในสมองที่มีปริมาณมากสามารถสร้างอิทธิพลต่ออารมณ์ การเคลื่อนไหวของร่างกาย รวมถึงความจำ สิ่งสำคัญคือส่งผลทำให้มีอาการทางจิตเภทรุนแรงขึ้น เช่น มีอาการประสาทหลอน หลงผิด มีพฤติกรรมที่เอาแน่นอนไม่ได้ ส่วนเซโรโทนินเป็นสารสื่อประสาทอีกหนึ่งตัวที่มีความสำคัญที่ช่วย ลดความเครียด ควบคุมความวิตกกังวล ช่วยให้แผลต่างๆหายเร็ว ในทางกลับกันหากมีสารเซโรโทนินมากจนเกินไป กลับจะส่งผลเสียต่อร่างกาย เช่น ทำให้รู้สึกสับสน เวียนศีรษะ หงุดหงิดง่าย วิตกกังวล กล้ามเนื้อหดเกร็งตัว ตัวสั่น ประสาทหลอน มีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่ไวเกิน ตลอดจนทำให้มีอาการชัก

ดังนั้นการที่ร่างกายมีสารสื่อประสาททั้ง 2 ประเภทอย่างเหมาะสมไม่มากหรือน้อยจนเกินไป จึงจะส่งผลดีต่อร่างกายและสภาพจิตใจ ซึ่งยาในกลุ่มเอสดีเอ(SDA)จะทำหน้าที่ปรับสมดุลการทำงานของสารสื่อประสาทโดพามีนและเซโรโทนินให้มีปริมาณและการทำงานที่เหมาะสมมากขึ้น

ตัวอย่างของยาในกลุ่ม เอสดีเอ หลายรายการที่มีการใช้ทางคลินิก เช่น

  • Asenapine: เป็นยาอมใต้ลิ้นเพื่อรักษาอาการทางจิตเภท และโรคอารมณ์สองขั้ว
  • Blonanserin: เป็นยารับประทาน ประโยชน์ทางคลินิกเพื่อรักษาอาการจิตเภท
  • Risperidone: มีทั้งเป็นยารับประทานและยาฉีด ใช้รักษาอาการจิตเภท และ โรคอารมณ์สองขั้ว
  • Olanzapine: เป็นยารับประทานและยาฉีด นำมาใช้รักษาอาการจิตเภทและ โรคอารมณ์สองขั้ว
  • Clozapine: เป็นยารับประทานที่ใช้บำบัดอาการทางจิตเภท
  • Quetiapine: เป็นยารับประทานและมีการออกฤทธิ์เป็น Adrenergic antagonistร่วมด้วย ใช้รักษาอาการจิตเภท อารมณ์สองขั้ว และภาวะซึมเศร้า
  • Perospirone: เป็นยารับประทานที่พบเห็นการใช้อยู่ในประเทศญี่ปุ่น ใช้รักษาอาการจิตเภท และอารมณ์สองขั้ว

อนึ่ง มีรายงานทางคลินิก พบว่ายาบางตัวของกลุ่ม เอสดีเอ สามารถกระตุ้นให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง หรือเกิดความเสี่ยงทำให้หลอดเลือดในสมองผิดปกติจนทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตซึ่งมักจะพบในผู้สูงอายุ การใช้ยากลุ่มนี้จึงต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น

โดยทั่วไป ผู้ป่วยจะต้องได้รับยาเอสดีเออย่างต่อเนื่อง ห้ามหยุดการใช้ยานี้อย่างกะทันหัน ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดภาวะทางจิตประสาทกลับมาเป็นซ้ำ การหยุดใช้ยานี้จึงต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น

และหากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมในเรื่องยาเอสดีเอ ผู้บริโภค/ผู้ป่วย สามารถสอบถามข้อมูลการใช้ยานี้ได้จากแพทย์/เภสัชกรในสถานพยาบาลที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษา

เซโรโทนิน-โดพามีน แอนตาโกนิสต์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เซโรโทนินโดพามีนแอนตาโกนิสต์

ยาเซโรโทนิน-โดพามีน แอนตาโกนิสต์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาโรคจิตเภท(Schizophrenia)และ
  • รักษาโรคอารมณ์สองขั้ว(Bipolar disorder)

เซโรโทนิน-โดพามีน แอนตาโกนิสต์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลุ่มยาเอสดีเอ มีกลไกการออกฤทธิ์ต่อตัวรับ(Receptor)ของสารสื่อประสาท ในสมอง เช่น Serotonin receptor และ Dopamine receptor ซึ่งส่งผลให้ระดับสารสื่อประสาทต่างๆมีสมดุลและมีระดับที่เหมาะสมมากขึ้น นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่ากลไกนี้เอง ทำให้อาการทางจิตเภทรวมถึงอาการอารมณ์สองขั้วดีขึ้น อาการของผู้ป่วยจึงกลับมาเป็นปกติได้ตามสรรพคุณ

เซโรโทนิน-โดพามีน แอนตาโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเซโรโทนิน-โดพามีน แอนตาโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยารับประทาน ทั้งชนิดเม็ด และชนิดน้ำ
  • ยาอมใต้ลิ้น
  • ยาฉีด

เซโรโทนิน-โดพามีน แอนตาโกนิสต์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขนาดรับประทานของยากลุ่ม เอสดีเอ ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของผู้ป่วย ที่แพทย์จะต้องนำมาพิจารณาประกอบ แพทย์จึงเป็นผู้สั่งจ่ายการใช้ยานี้ โดยกำหนดขนาดรับประทาน รวมถึงระยะเวลาของการใช้ยานี้ได้อย่างเหมาะสมที่สุด

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยา เอสดีเอ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ โรคหัวใจ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยา เอสดีเออาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

กรณีลืมรับประทาน ยาเอสดีเอ สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานในมื้อถัดไปไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่าให้รับประทานในขนาดปกติ

แต่อย่างไรก็ตาม การใช้ ยาเอสดีเอ กับผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตเวชขณะอยู่ในที่พักอาศัย ต้องอาศัยญาติเป็นผู้ดูแลการจ่ายยา การหลงลืมรับประทานยานี้ การหยุดใช้ยานี้ทันที จะทำให้อาการทางจิตเวชของผู้ป่วยกำเริบขึ้น

เซโรโทนิน-โดพามีน แอนตาโกนิสต์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเซโรโทนิน-โดพามีน แอนตาโกนิสต์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำหรือไม่ก็สูง บวมตามร่างกาย หัวใจเต้นช้าหรืออาจหัวใจเต้นเร็ว คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น รับประทานอาหารมากขึ้น น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น น้ำตาลในเลือดสูง ระดับไขมันในเลือดสูงหรือต่ำ
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น ทำให้ประจำเดือนขาด มีระดับฮอร์โมนโปรแลกติน ในเลือดสูง
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึม มีความรู้สึกอยากทำร้ายตนเอง
  • ผลต่อตับ: เช่น ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ อาจเกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน การควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายผิดปกติ ตัวสั่น ปวดศีรษะ เกิดลมชัก
  • ผลต่อระบบการหายใจ: เช่น หอบหืด คัดจมูก
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องผูกหรือท้องเสีย ปากแห้ง น้ำลายมาก รู้สึกไม่สบายท้อง อาเจียน ปวดฟัน คลื่นไส้
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะเลือดจาง มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

มีข้อควรระวังการใช้เซโรโทนิน-โดพามีน แอนตาโกนิสต์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเซโรโทนิน-โดพามีน แอนตาโกนิสต์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มนี้
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง และใช้ยานี้ตามที่แพทย์แนะนำ
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก สีเม็ดยาเปลี่ยนไป
  • ห้ามหยุดใช้ยานี้อย่างกะทันหันถึงแม้อาการป่วยจะดีขึ้นเป็นลำดับก็ตาม เพราะผู้ป่วยอาจต้องได้รับยานี้ไปอีกระยะหนึ่งเพื่อป้องกันไม่ให้อาการโรคเกิดการกำเริบ แพทย์เท่านั้นที่จะปรับลดการใช้ยานี้ ได้เหมาะสมที่สุด
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุนอกจากจะมีคำสั่งแพทย์
  • หยุดการใช้ยานี้ทันที หากพบว่าผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของ ร่างกายได้ (Tardive dyskinesia)
  • หลังรับประทานยากลุ่มนี้แล้ว เกิดอาการวิงเวียน ห้ามผู้ป่วยขับขี่ยวดยานพาหนะ หรือทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรต่างๆ ด้วยจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ห้ามผู้ป่วยที่ได้รับประทานยาในกลุ่มนี้อยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนจัด ด้วยเป็นข้อห้ามของยาบางรายการของกลุ่มยาเอสดีเอ เพราะอาจส่งผลทำให้เกิดอาการไข้ที่เกิดจากความร้อนได้ง่าย
  • ระวังการใช้ยากลุ่มนี้กับ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อ ด้วยจะทำให้อาการโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น
  • ยากลุ่มนี้สามารถทำให้ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของผู้ป่วยอ่อนแอลง ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการนำผู้ป่วยไปอยู่ในบริเวณ/พื้นที่ที่ประชากรมีอาการป่วยด้วยโรคหวัด หรือพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อต่างๆ
  • หลังได้รับกลุ่มยาเอสดีเอ อาจพบระบบเผาผลาญพลังงานในระบบการทำงานของร่างกายเปลี่ยนไป เช่น พบภาวะน้ำตาลในเลือดสูง น้ำหนักตัวเพิ่ม ไขมันในเลือดสูง อาจมีภาวะโรคหัวใจแทรกซ้อน เกิดโรคความดันโลหิตต่ำ สมองเสื่อม ดังนั้นผู้ป่วยควรต้องได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์เป็นระยะๆตามแพทย์นัด
  • ผู้ป่วยกลุ่มสตรีสูงวัยที่ได้รับยากลุ่มนี้ อาจพบเห็นอาการผิดปกติของกล้ามเนื้อ เช่น การควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายอย่างการบังคับ แขน ขา ลิ้น ใบหน้า และปาก ทำได้ลำบาก หากพบเห็นอาการดังกล่าว ต้องรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
  • ผู้ป่วยอาจต้องได้รับการตรวจเลือดตามแพทย์แนะนำ เพื่อเป็นการตรวจสอบและป้องกันการเกิดอาการข้างเคียงของยากลุ่มนี้ เช่น การตรวจเลือดดูระดับน้ำตาลในเลือดและดูระดับไขมันในเลือด
  • *ผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด จะมีอาการ ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นผิดปกติ กรณีที่พบเห็นผู้ป่วยใช้ยานี้เกินขนาด ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

*****อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเซโรโทนิน-โดพามีน แอนตาโกนิสต์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เซโรโทนิน-โดพามีน แอนตาโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเซโรโทนิน-โดพามีน แอนตาโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยา Clozapine ร่วมกับยา Azithromycin สามารถเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ และอาจส่งผลรุนแรงต่อร่างกายผู้ป่วยติดตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยา Olanzapine สามารถออกฤทธิ์ต่อต้านยาประเภท Levodopa และ Dopamine agonist โดยทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาของยา Dopamine agonist และยาLevodopa ด้อยลงไป เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเหล่านี้ร่วมกัน
  • ห้ามใช้ยา Risperidone ร่วมกับยา Carbamazepine ด้วยจะส่งผลให้ระดับ ยาRisperidone ในร่างกายลดต่ำลง แต่กลับเพิ่มระดับความเข้มข้นของยา Carbamazepine ในกระแสเลือด การใช้ยาร่วมกัน แพทย์จึงต้องปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีไป
  • หลีกเลี่ยงการยา Asenapine ร่วมกับกลุ่มยา Benzodiazepines , ยาคลายกล้ามเนื้อ, ยานอนหลับประเภท Non benzodiazepine ด้วยจะก่อให้เกิดภาวะกดการหายใจ มีอาการโคม่า หรือเกิดความดันโลหิตต่ำ ตามมา

ควรเก็บรักษาเซโรโทนิน-โดพามีน แอนตาโกนิสต์อย่างไร?

ควรเก็บ ยาเอสดีเอ ภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

เซโรโทนิน-โดพามีน แอนตาโกนิสต์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยา เอสดีเอ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Clopaze (โคลแพซ)Pharminar
Cloril (โคลริล)Atlantic Lab
Clozamed (โคลซาเมด)Medifive
Clozaril (โคลซาริล)Novartis
Clozapin (โคลซาปิน)Central Poly Trading
Neuris (นูริส)NeuPharma
Risperdal Consta (ริสเพอร์ดอล คอนสตา)Janssen-Cilag
Risperdal/Risperdal Quicklet (ริสเพอร์ดอล/ริสเพอร์ดอล ควิกเลท)Janssen-Cilag
Risperidone GPO (ริสเพอริโดน จีพีโอ)GPO
SAPHRIS (ซาฟริส)Catalent UK Swindon Zydis Ltd
Sycrest (ไซเครสท์)Schering-Plough Labo N.V.
Zyprexa (ไซเพรคซา) Eli Lilly
Olapin-10 (โอราปิน)Unison

บรรณานุกรม

  1. http://www.wako-chem.co.jp/english/labchem/product/life/SDA/index.html[2017,Aug12]
  2. http://www.healthline.com/health/mental-health/serotonin#functions2[2017,Aug12]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Blonanserin[2017,Aug12]
  4. http://www.wako-chem.co.jp/english/labchem/product/life/SDA/index.htm#0[2017,Aug12]
  5. http://www.mnsu.edu/comdis/isad8/papers/lavid8.html[2017,Aug12]
  6. http://www.wiki30.com/wa?s=Clozapine#Mechanism_of_action[2017,Aug12]
  7. https://en.wikipedia.org/wiki/Quetiapine#Pharmacology[2017,Aug12]